วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ บูรพกษัตริย์ไทย กับพระไตรปิฎก

บทความน่าอ่าน     
เรื่อง : Tipitaka (DTP)

 


บูรพกษัตริย์ไทย
กับพระไตรปิฎก

 


    พระไตรปิฎก คือ คัมภีร์ที่บันทึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สันนิษฐานว่าพระไตรปิฎกภาษาบาลีเข้ามาสู่ประเทศไทยใน ๒ ช่วง คือ ประมาณปี พ.ศ. ๑๖๐๐ เมื่อพระพุทธศาสนาเถรวาทเผยแผ่จากประเทศพม่าเข้าสู่ภาคเหนือของไทย และประมาณปี พ.ศ. ๑๘๐๐ เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่จากประเทศศรีลังกามาทางนครศรีธรรมราช 


    ในช่วงเวลาดังกล่าว บูรพกษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักรหลายพระองค์  ได้น้อมรับเอาหลักธรรมอันดีงามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกมาใช้เป็นแม่บทแบบแผนในการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น และทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างพุทธศาสนิกชนที่ดี

 

    อาณาจักรสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง ลำดับที่ ๓ ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา    เป็นอย่างดี ทรงอาราธนาพระมหาเถรสังฆราช     ผู้เรียนจบพระไตรปิฎกขึ้นมาจากเมืองนครศรีธรรมราชให้มาพำนักที่วัดอรัญญิก เพื่อมาเผยแผ่พระธรรมวินัยแก่ประชาราษฎร์และตั้งคณะสงฆ์แบบลังกาวงศ์ในอาณาจักรสุโขทัย จนพระพุทธศาสนามีความรุ่งเรืองไพศาล      ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้านที่ ๒ ว่า

 

    “.. คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้         ทั้งชาวแม่ชาวเจ้าท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้ญีง ฝูงท่วยมีศรัทธาใน     *พระพุทธศาสน  ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน...”


    “...พ่อขุนรามคำแหงกระทำ โอยทานแก่มหาเถร สังฆราชปราชญ์ เรียนจบปิฎกไตรหลวก กว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา ...”


           (คำอ่านจารึกจากฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)


    ต่อมาในสมัยพระยาลิไทย พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วงลำดับที่ ๖ ทรงทำนุบำรุง  พระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองจนสุโขทัยกลายเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา พระองค์มักจะทรงเผดียงพระสงฆ์เข้าไปเรียนพระไตรปิฎก     ในมหาปราสาท และทรงจัดระเบียบคณะสงฆ์    แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่าย “คามวาสี” และฝ่าย “อรัญวาสี” โดยให้ฝ่ายคามวาสีเน้นการสั่งสอนราษฎรในเมืองและเน้นการศึกษาพระไตรปิฎก ส่วนฝ่ายอรัญวาสีให้เน้นการวิปัสสนาและประจำอยู่ตามป่าหรือชนบท

 

ตู้พระธรรมไม้จำหลักปิดทอง เขียนสีประดับกระจก   เล่าเรื่องทศชาติ ศิลปะอยุธยาพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑

 

หมายเหตุ *พระพุทธศาสน สะกดตามคำอ่านในศิลาจารึก  

 

    ส่วนพระองค์เองทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จออกผนวช ทรงมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และปกรณ์วิเสสเป็นอย่างดี จนทรงพระปรีชาสามารถนิพนธ์หนังสือไตรภูมิพระร่วง สอนเรื่องนรกสวรรค์ บุญบาป นับเป็นงานวรรณคดีที่เก่าแก่ที่สุด  เรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ทั้งยังทรงมีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเถรวาท แบบลังกาวงศ์ไปสู่แผ่นดินล้านนาอีกด้วย

 

สมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา การศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมได้รับการส่งเสริม พระภิกษุสงฆ์ที่มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกได้รับการเคารพยกย่อง ทำให้มีกุลบุตรมาบวชเรียนเป็นจำนวนมาก

 

    อาณาจักรล้านนา ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช เป็นยุคที่มีพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในการรจนาคัมภีร์ภาษาบาลีและรอบรู้พระไตรปิฎกจำนวนมาก ก่อให้เกิดการทำสังคายนาครั้งแรกของประเทศไทย ในปี พ.ศ. ๒๐๒๐ ที่วัดมหาโพธารามหรือวัดเจ็ดยอด เมืองเชียงใหม่ โปรดให้ชุมนุมพระเถรานุเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกหลายร้อยรูป มีพระธรรมทินเถระเป็นประธานสอบชำระพระไตรปิฎกและจารลงในใบลาน ใช้เวลา ๑ ปี จึงแล้วเสร็จ เรียกการสังคายนาที่เชียงใหม่ครั้งนี้ว่า การสังคายนาครั้งที่ ๘ หรือ “อัฏฐสังคายนา” เมื่อนับตั้งแต่การสังคายนาครั้งแรกในอินเดียโบราณ

 

(บน) แผ่นลานสมัยอยุธยาจารพระไตรปิฎก ด้วยอักษรขอม
(ซ้าย) คัมภีร์ใบลานฉบับข้างลาย ตกแต่งเป็นลายกรวยเชิงบนพื้นแดง

 

    อาณาจักรอยุธยา พระมหากษัตริย์ที่ทรงมีบทบาทด้านการพระศาสนาอย่างยิ่งพระองค์หนึ่ง ได้แก่ สมเด็จพระบรมราชาที่ ๑ พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๒๑ แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งประชาชนยกย่องถวายพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม 


    ก่อนขึ้นเสวยราชสมบัติ พระองค์ทรงพระผนวชอยู่ที่วัดระฆัง ทรงรอบรู้ทางด้านพระไตรปิฎกมาก
จนได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรมอนันตปรีชา แม้ภายหลังลาสิกขาขึ้นเสวยราชย์แล้ว พระองค์ก็ยังมีพระราชศรัทธาเสด็จลงพระที่นั่งจอมทองสามหลังบอกบาลีแก่พระภิกษุสามเณร    อยู่เนือง ๆ มีพระภิกษุสามเณรจากวัดต่าง ๆ ผลัดกันเข้ามาเรียนเป็นประจำ ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมราชบัณฑิตแต่งกาพย์มหาชาติเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๐ และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระไตรปิฎกด้วย

 

 

    อาณาจักรธนบุรี เป็นอาณาจักรสุดท้ายก่อนเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์ พระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว  ที่ทรงปกครองกรุงธนบุรีระยะสั้น ๆ เพียง ๑๕ ปี  นอกจากทรงเป็นนักรบที่แกล้วกล้านำไพร่พลตีฝ่าวงล้อมกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า   หลังเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นนักการศาสนาที่เคร่งครัดอีกด้วย ทรงปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานและฟื้นฟูวัดวาอาราม            ทรงเห็นว่าช่วงสงครามคัมภีร์พระไตรปิฎกกระจัดกระจาย สูญหาย และถูกเผาทำลายไปเป็นจำนวนมาก จึงทรงมุ่งมั่นรวบรวมต้นฉบับที่หลงเหลืออยู่ เพื่อนำมาคัดลอกสร้างเป็น  พระไตรปิฎกฉบับหลวงต่อไป  และโปรดเกล้าฯ ให้ไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากหลายเมือง อาทิ นครศรีธรรมราช อุตรดิตถ์ และทรงสถาปนาพระอาจารย์สี ผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกตั้งแต่สมัยอยุธยา     ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช แม้กรุงธนบุรีจะสิ้นสุดลงก่อนที่พระไตรปิฎกฉบับหลวงจะสำเร็จลุล่วง แต่ต้นฉบับที่ได้จากเมืองนครศรีธรรมราชถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสังคายนาพระไตรปิฎกในสมัยต่อมา


    การนับถือพระพุทธศาสนาของบูรพกษัตริย์ไทยนั้น มิได้เป็นไปตามขนบประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาเท่านั้น    แต่พระองค์ทรงศึกษาพระธรรมคำสอนในพระไตรปิฎกจนทรงมีความรู้แตกฉาน และนำไปสู่การปฏิบัติเป็นต้นแบบแก่พสกนิกรใต้พระบรมโพธิสมภาร เมื่อผู้นำปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจนเป็นที่ประจักษ์ ย่อมยังศรัทธาให้เกิดขึ้น และหมู่ชนย่อมเกิดความเลื่อมใสที่จะดำเนินรอยตามพระมหากษัตริย์     ผู้เป็นที่รักของตน เมื่อทั้งฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักรให้การส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกันเช่นนี้     จึงเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาปักหลักตั้งมั่น สืบทอดมายาวนานจนนำความผาสุกมาสู่ผืนแผ่นดินนี้ตลอดมา 
    

สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับหลวง สมัยธนบุรี แสดงภาพสวรรค์ชั้นดุสิต
“บุคคลจำพวกใดเป็นพหูสูต ตั้งอยู่ในทสกุศลกรรมบถ กอปรด้วยปัญญา ปรารถนาพระนิพพาน แลยินดี     ในคุณพระรัตนตรัย ผู้นั้นได้เกิดในดุสิตสวรรค์” 

 

    อาณาจักรธนบุรี เป็นอาณาจักรสุดท้ายก่อนเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์ พระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว  ที่ทรงปกครองกรุงธนบุรีระยะสั้น ๆ เพียง ๑๕ ปี  นอกจากทรงเป็นนักรบที่แกล้วกล้านำไพร่พลตีฝ่าวงล้อมกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า   หลังเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นนักการศาสนาที่เคร่งครัดอีกด้วย ทรงปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานและฟื้นฟูวัดวาอาราม            ทรงเห็นว่าช่วงสงครามคัมภีร์พระไตรปิฎกกระจัดกระจาย สูญหาย และถูกเผาทำลายไปเป็นจำนวนมาก จึงทรงมุ่งมั่นรวบรวมต้นฉบับที่หลงเหลืออยู่ เพื่อนำมาคัดลอกสร้างเป็น  พระไตรปิฎกฉบับหลวงต่อไป  และโปรดเกล้าฯ ให้ไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากหลายเมือง อาทิ นครศรีธรรมราช อุตรดิตถ์ และทรงสถาปนาพระอาจารย์สี ผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกตั้งแต่สมัยอยุธยา     ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช แม้กรุงธนบุรีจะสิ้นสุดลงก่อนที่พระไตรปิฎกฉบับหลวงจะสำเร็จลุล่วง แต่ต้นฉบับที่ได้จากเมืองนครศรีธรรมราชถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสังคายนาพระไตรปิฎกในสมัยต่อมา

 


    การนับถือพระพุทธศาสนาของบูรพกษัตริย์ไทยนั้น มิได้เป็นไปตามขนบประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาเท่านั้น    แต่พระองค์ทรงศึกษาพระธรรมคำสอนในพระไตรปิฎกจนทรงมีความรู้แตกฉาน และนำไปสู่การปฏิบัติเป็นต้นแบบแก่พสกนิกรใต้พระบรมโพธิสมภาร เมื่อผู้นำปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจนเป็นที่ประจักษ์ ย่อมยังศรัทธาให้เกิดขึ้น และหมู่ชนย่อมเกิดความเลื่อมใสที่จะดำเนินรอยตามพระมหากษัตริย์     ผู้เป็นที่รักของตน เมื่อทั้งฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักรให้การส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกันเช่นนี้     จึงเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาปักหลักตั้งมั่น สืบทอดมายาวนานจนนำความผาสุกมาสู่ผืนแผ่นดินนี้ตลอดมา 
    

 

ก่องแก้ว วีระประจักษ์. (๒๕๔๕). สารนิเทศจากคัมภีร์ใบลานสมัยอยุธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร
ณัฏฐภัทร จันทวิช. (๒๕๕๓). วัดพนัญเชิงวรวิหาร พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง
บุญเตือน ศรีวรพจน์, ประสิทธิ์ แสงทับ. (๒๕๔๒). สมุดข่อย. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา
วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ. พระมหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๔๙ เดือนมีนาคม ๒๕๕๘

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล