อานิสงส์แห่งบุญ
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ.๙
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
มหาทานบารมีเพื่อที่สุดแห่งธรรม
“เราได้สั่งให้ประกาศทุก ๆ วัน วันละ ๓ ครั้งว่า ใครปรารถนาอะไร เราจะให้สิ่งนั้นใครหิวกระหายใครต้องการดอกไม้ ใครต้องการเครื่องลูบไล้ ใครขาดแคลนผ้าสีต่างๆก็จงมารับไปนุ่งห่มใครต้องการร่มกันแดด ก็จงมารับไป ใครต้องการรองเท้าก็จงมารับไป ทานนั้นเรามิใช่ตกแต่งไว้ในที่ ๑๐ แห่ง หรือในที่ ๑๐๐ แห่งแต่เราตกแต่งทรัพย์ไว้สำหรับพวกยาจกในที่หลายร้อยแห่ง พวกยาจกจะมาในเวลากลางวันหรือในเวลากลางคืนก็ตาม ก็จะได้โภคะตามความปรารถนาพอเต็มมือกลับไป”
(มหาสุทัศนจริยา)
การสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่โลกนั้นไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะธรรมกายมีอยู่แล้วในตัวของมนุษย์ทุกๆคนโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา และเผ่าพันธุ์ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์แล้ว ทุกคนสามารถเข้าถึงธรรมกายได้ทั้งนั้น ด้วยการฝึกใจให้หยุดนิ่งณ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้ว ความสุข ความบริสุทธิ์ และความเบิกบานที่เกิดขึ้นจากการเข้าถึงธรรมกายภายในของแต่ละคน จะแผ่ขยายออกไปกลั่นบรรยากาศรอบข้างและทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวให้สะอาดบริสุทธิ์ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งขยายครอบคลุมไปทั่วทั้งโลก แล้วในไม่ช้า โลกทั้งโลกก็จะเข้าถึงสันติสุขที่แท้จริง
มีธรรมภาษิตที่ปรากฏในมหาสุทัศนจริยา ความว่า
“เราได้สั่งให้ประกาศทุก ๆ วัน วันละ๓ ครั้งว่า ใครปรารถนาอะไร เราจะให้สิ่งนั้น ใครหิวกระหาย ใครต้องการดอกไม้ ใครต้องการเครื่องลูบไล้ ใครขาดแคลนผ้าสีต่าง ๆ ก็จงมารับไปนุ่งห่ม ใครต้องการร่มกันแดด ก็จงมารับไป ใครต้องการรองเท้า ก็จงมารับไปทานนั้นเรามิใช่ตกแต่งไว้ในที่ ๑๐ แห่ง หรือในที่ ๑๐๐ แห่ง แต่เราตกแต่งทรัพย์ไว้สำหรับพวกยาจกในที่หลายร้อยแห่ง พวกยาจกจะมาในเวลากลางวันหรือในเวลากลางคืนก็ตาม ก็จะได้โภคะตามความปรารถนาพอเต็มมือกลับไป”
ชีวิตเราตั้งแต่ถือกำเนิดมา แล้วดำเนินไปจนถึงลมหายใจเฮือกสุดท้ายของชีวิต ล้วนต้องเกี่ยวพันอยู่กับการเป็นผู้ให้และเป็นผู้รับอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการเดินทางข้ามวัฏสงสาร เราจำเป็นที่จะต้องให้ หากให้สิ่งที่ดี ก็จะได้สิ่งที่ดี ให้สิ่งที่เลิศ ผลบุญอันเลิศก็จะบังเกิดขึ้น เพื่อเป็นเสบียงในการเดินทางผลทานที่ทำไปนั้น ไม่สูญหายไปไหน แต่จะคอยเป็นเพื่อนแท้ติดตามตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติ จะคอยอำนวยความสะดวกทุกอย่างให้เราสมบูรณ์พร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ และนิพพานสมบัติ
พระโพธิสัตว์ทั้งหลายต่างตระหนักดีถึงอานุภาพของทานว่าเป็นอุบายเครื่องเปลื้องตนและสัตว์โลกให้ข้ามพ้นจากภพทั้งสาม จึงมุ่งบำเพ็ญมหาทานบารมีเพื่อให้ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ และยิ่งกว่านั้น อานุภาพแห่งทาน นอกจากจะทำให้พระองค์เต็มเปี่ยมด้วยทรัพย์ต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว กำลังของทานยังจะแผ่ไปสู่พุทธสาวก สาวิกา ที่จะออกบวชตามมาอีกมากมาย ทำให้เหล่าสาวกไม่ลำบากในเรื่องของการแสวงหาบิณฑบาตเพราะฉะนั้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่มีจิตใจกว้างใหญ่เหนือมนุษยชาติทั่วไป อีกทั้งมองการณ์ไกล เมื่อมีทรัพย์แล้ว ก็ไม่ตระหนี่หวงแหนในทรัพย์ มุ่งมั่นที่จะบำเพ็ญทานใครมาขออะไร ก็ให้หมด เหมือนดังเรื่องของพระเจ้ามหาสุทัศนโพธิสัตว์ที่นำมาให้ศึกษากันดังต่อไปนี้
ย้อนไปในสมัยที่พระบรมโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นคฤหบดีใหญ่ วันหนึ่ง ท่านได้เดินทางเข้าไปทำงานในป่า พบพระเถระรูปหนึ่งนั่งอยู่ใต้โคนไม้ในราวป่าแห่งนั้น ก็มีจิตเลื่อมใสศรัทธาในจริยวัตรของพระเถระ จึงคิดที่จะสร้างบรรณศาลาสักหลังหนึ่งไว้ในป่าเพื่อถวายพระเถระ คิดดังนั้นแล้วก็ไม่รอช้าตัดสินใจลงมือสร้างทันที ไม่นานนักก็สำเร็จเป็นบรรณศาลากลางป่า ที่เหมาะต่อการบำเพ็ญสมณธรรม
จากนั้น ท่านจึงนิมนต์พระเถระให้รับบรรณศาลาหลังนั้น แล้วนิมนต์ท่านมารับภัตตาหารที่บ้านเป็นประจำทุกวัน นอกจากนี้ยังจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ มาประดับบรรณศาลาให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น โดยถวายเสื่อลำแพนเตียง ตั่ง แท่นผิงไฟ ขุดสระโบกขรณีให้ดูร่มรื่น นำทรายมาเกลี่ยทำเป็นทางเดินจงกรมและถวายเครื่องสมณบริขารต่าง ๆ แด่พระเถระทั้งยังดูแลอุปัฏฐากอย่างดี ฝ่ายพระเถระเมื่อได้รับการบำรุงอย่างดี ก็ไม่ประมาท หมั่นเจริญสมาธิภาวนาไม่ขาด ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
หลังจากที่อุบาสกทำบุญกุศลตลอดชีวิตแล้ว เมื่อละโลก ก็ได้ไปเสวยสุขในเทวโลก มีวิมานสว่างไสวกว่าเหล่าเทวดาทั้งปวง เสวยทิพยสมบัติที่พรั่งพร้อมด้วยบริวารอยู่อย่างนั้นเป็นเวลายาวนาน จากนั้นได้จุติลงมาเกิดในเมืองกุสาวดี เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่า มหาสุทัศนะ ทรงเป็นผู้มีอานุภาพมากพรั่งพร้อมด้วยสมบัติทุกอย่าง ทั้งรูปสมบัติทรัพย์สมบัติ และคุณสมบัติ พร้อมทั้งรัตนะ ๗ ประการ
แม้พระเจ้ามหาสุทัศนะทรงได้เสวยสิริราชสมบัติเป็นราชาธิราชที่ยิ่งใหญ่กว่าราชาทั้งปวงและมีฤทธานุภาพมาก แต่พระองค์ไม่ทรงประมาท กลับทรงอาศัยโอกาสนี้บำเพ็ญประโยชน์ที่เอื้อต่อการบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณยิ่งๆขึ้นไป ด้วยการสร้างโรงทานจำนวนหลายร้อยแห่งทั่วชมพูทวีป แล้วรับสั่งให้ราชบุรุษตีกลองป่าวประกาศไปทั่วพระนครว่า “ท่านทั้งหลายจงมารับสิ่งของตามใจชอบจากโรงทานแห่งนี้เถิด”
พระบรมศาสดาตรัสกับพระอานนท์ว่า “เมื่อครั้งที่เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่า มหาสุทัศนะ ในนครกุสาวดี สมัยนั้น เราได้สั่งให้ประกาศทุก ๆ วัน วันละ ๓ครั้งว่า ใครปรารถนาอะไร เราจะให้สิ่งนั้น ใครหิวกระหาย ใครต้องการดอกไม้ เครื่องลูบไล้ใครขาดแคลนผ้าสีต่าง ๆ ก็จงมารับไปนุ่งห่มใครต้องการร่มกันแดดเพื่อเดินตามถนน ก็จงมารับไป ใครต้องการรองเท้า ก็จงมาสวมไปเราให้ประกาศอย่างนี้ทั้งเวลาเช้า เที่ยง และเย็นทุกวัน อีกทั้งยังตกแต่งทรัพย์ไว้สำหรับยาจกในที่หลายร้อยแห่ง วณิพกจะมาในเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ตาม ก็ได้โภคะตามความปรารถนากลับไปทุกครั้ง
“เราได้ให้มหาทานตราบกระทั่งสิ้นชีวิตไม่เคยให้ทรัพย์ที่ด้อยค่า ไม่เคยมีการกักตุนไว้เปรียบเสมือนคนไข้ที่กระสับกระส่ายต้องการหายจากโรคร้าย แม้หมอจะเรียกร้องทรัพย์เท่าไรก็ยอมให้ เราก็เช่นกัน เมื่อรู้อยู่ว่าการบริจาคทานเป็นอุบายเครื่องเปลื้องตนและสัตว์โลกทั้งปวงให้พ้นจากภพสาม ให้พ้นจากโลก คือ สังขารทุกข์ทั้งสิ้นได้ จึงบำเพ็ญทานให้บริบูรณ์โดยไม่มีเศษเหลือ เพื่อยังใจที่บกพร่องให้เต็ม เรามิได้อาลัย มิได้หวงแหนได้ให้ทานเพื่อบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ฉะนี้แล”
พระเจ้ามหาสุทัศนะทรงขวนขวายในการบริจาคทานทุกวัน ในสมัยนั้น ชาวชมพูทวีปไม่ต้องทำมาหากินและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทุกคนรักษาศีล ๕ ไม่มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ไม่มีการลักขโมยยินดีในคู่ครองของตนเอง มีวาจาสัตย์ พูดแต่คำจริง ไม่ดื่มสุราหรือของมึนเมาต่างๆ ดำรงชีวิตอยู่ด้วยสิ่งที่พระราชาพระราชทานให้
พระเจ้ามหาสุทัศนะทรงบำเพ็ญมหาทานอยู่อย่างนี้เป็นเวลานานหลายหมื่นปี วันหนึ่งพระองค์เสด็จขึ้นสู่ธรรมปราสาทที่เกิดขึ้นด้วยบุญญานุภาพของพระองค์ ประทับนั่งเหนือราชบัลลังก์ที่ทำด้วยทองคำ ทรงสมาทานศีล ๘ แล้วทำสมาธิเจริญภาวนาทำลายกามวิตกที่เกิดขึ้น ทำฌานอภิญญาให้บังเกิดขึ้น ทรงเจริญพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ อยู่ด้วยฌานสมาบัติตลอด ๘๔,๐๐๐ปี เมื่อสิ้นอายุขัยแล้ว ก็ไปบังเกิดในพรหมโลก