อ่านอดีต ขีดอนาคต
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.
ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
ตอนที่ ๘ : อาศรม ๔...ลำดับขั้นในการดำเนินชีวิตตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
ในคัมภีร์พระเวทได้กล่าวถึงหลักการดำเนินชีวิตเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของชีวิตมนุษย์ที่เรียกว่า “อาศรม ๔” (āśrama) อันประกอบด้วย
๑. พรหมจารี (brahmacārin) เป็นวัยที่ต้องศึกษาเล่าเรียน โดยจะเริ่มต้นที่พิธีฝากตัวเป็นศิษย์กับอาจารย์ และจะต้องให้ความเคารพต่ออาจารย์ ศึกษาศิลปวิทยากับผู้เป็นอาจารย์
๒. คฤหัสถ์ (gṛhastha) เป็นวัยของผู้ครองเรือน แสวงหาความสุขทางโลก และประกอบอาชีพให้มีฐานะมั่นคง
๓. วานปรัสถ์ (vānaprastha) เป็นวัยของผู้แสวงหาความสุขสงบ ปลีกวิเวกอยู่ในป่า เพื่อบำเพ็ญเพียรทางจิต มุ่งบำเพ็ญเพื่อสัมปรายภพ
๔. สันนยาสี (saṃnyāsin) เป็นวัยของผู้สละเรือน บุตรและภรรยา ออกบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าจนสิ้นอายุขัย เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิต คือ โมกษะ (mokṣa)
จะเห็นได้ว่า “อาศรม ๔” เป็นลำดับขั้นในการดำเนินชีวิตตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งมีกล่าวมาตั้งแต่ “ยุคพระเวท” แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า “อาศรม ๔” นี้กลับไม่ได้ถูกให้ความสำคัญเท่าที่ควร เพราะในยุคทั้งสองนั้น ยังคงให้ความสำคัญกับการบูชายัญเพื่อเซ่นสรวงเทพเจ้าต่าง ๆ
แต่ทว่า เมื่อมาถึงใน “ยุคอุปนิษัท” ได้มีแนวคิดในเรื่อง “พรหมัน-อาตมัน” ขึ้น เพื่อตอบปัญหาเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏและความหลุดพ้น ที่เรียกว่า “โมกษะ” โดยยกหลักปฏิบัติ “อาศรม ๔” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของ “สันนยาสี” ขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์ข้อสงสัยในเรื่องการบรรลุ “โมกษะ” ที่ว่า การบูชายัญนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ในโลกหน้า แต่ยังไม่อาจเป็นไปเพื่อการบรรลุ “โมกษะ” เข้าถึง “พรหมัน” ได้ เป็นการเสริมเพิ่มเติมในเรื่องการบำเพ็ญเพียรทางจิตด้วยการสละเรือนอยู่ป่าในช่วง “สันนยาสี” ขึ้น โดยไม่ขัดต่อแนวคิดใน “ยุคพระเวท” และ “ยุคพราหมณะ”
อย่างไรก็ตาม กระแสแนวคิดเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นของผู้คนในยุคนั้นยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดของกลุ่มที่ปฏิเสธคัมภีร์พระเวทอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเรียกตนเองว่า “สมณะ” (samaṇa) นั่นเอง
ตอนต่อไปมาดูเรื่องของผู้ที่ต้องการจะหลุดพ้นจากสังสารวัฏเช่นกันแต่ปฏิเสธคัมภีร์พระเวท ซึ่งเป็นกลุ่มที่เรียกว่า “สมณะ” กันนะครับ