วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ เรื่องเล่าจากพระไตรปิฎก

เรื่องเล่าจากพระไตรปิฎก
ฤกษ์งาม...ยามดี

โดย ธรรมทัศน์
 


        การได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นการยาก แล้วการที่จะดำรงชีวิตให้เป็นอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ มีจิตใจสูงส่ง มั่นคงในคุณธรรม ดำเนินอยู่บนเส้นทางแห่งอริยมรรค ทางของพระอริยเจ้า เกิดมาสร้างบารมีให้เต็มเปี่ยมบริสุทธิ์บริบูรณ์นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ผู้มีบุญมีดวงปัญญาบริสุทธิ์ มีดวงใจที่ผ่องใสเท่านั้นจึงจะใช้ชีวิตได้อย่างคุ้มค่าเดินหน้าไปสู่จุดหมายปลายทาง ได้อย่างถูกต้องปลอดภัยทั้งภัยในปัจจุบันนี้ ภัยในอบายภูมิ ตลอดจนภัยในสังสารวัฏ เวลาในชีวิตของคนเรานั้นมีอยู่อย่างจำกัด ประเดี๋ยววันประเดี๋ยวคืน ทุกชีวิตต่างก็บ่ายหน้าไปสู่ความชราและความตายกันหมด ปีเก่าได้ผ่านพ้นไป แล้วปีใหม่ก็เข้ามาแทนที่ วันเวลาที่ผ่านไปก็ผ่านไปพร้อมกับนำความแก่ความเจ็บและความตายมาให้กับตัวเราเพิ่มมากขึ้น

     เมื่อถึงวันขึ้นปีใหม่ทั่วทั้งโลกได้มีการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่กันอย่างครึกครื้นเพื่อเป็นนิมิตหมายว่าเราจะได้รับสิ่งที่ดีๆ ให้เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา ส่วนพวกเรานักสร้างบารมี เมื่อปรารภเหตุเนื่องในวาระวันขึ้นปีใหม่แล้วก็ ต้องเฉลิมชัยด้วยการสั่งสมความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป รุ่งเช้าก็ทำบุญตักบาตรรับความเป็นสิริมงคลทำบุญได้ปล่อยสัตว์ปล่อยปลาให้ชีวิต สัตว์เป็นทาน หลายๆ ท่านก็มาวัดมาสมาทานศีลให้บริสุทธิ์ และนั่งสมาธิเจริญภาวนา เมื่อ ทำได้อย่างนี้ จึงจะเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในวาระวันขื้นปีใหม่อย่างมีคุณค่า เสริมสร้างบุญบารมีให้กับตัวเองอย่างแท้จริง

       เรื่องของฤกษ์ดียามดีนั้น มีการเชื่อถือกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลแล้ว แม้พระบรมศาสดาจะตรัสสอนไว้ว่า "สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจในเวลาเช้า เวลาเช้านั้นก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์ เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วย ใจในเวลากลางวัน เวลากลางวันนั้นก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริต ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลาเย็น เวลาเย็นนั้นก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น" แต่ก็ยังมีผู้ที่เชื่อในฤกษ์ยามอยู่ทำให้เสียประโยชน์มาแล้ว ดังเรื่องต่อไปนี้

      มีกุลบุตรชาวบ้านนอกผู้หนึ่งไปขอกุลธิดานางหนึ่งในกรุงสาวัตถีให้แก่ลูกชายของตน นัดหมายวันกันว่าในวันโน้นจักมารับเอาตัวไป ครั้นถึงวันนัด จึงถามอาชีวกผู้เป็นอาจารย์ของตนว่า "พระคุณเจ้าผู้เจริญ วันนี้พวกผมจักทำมงคลอย่างหนึ่ง ฤกษ์ดีไหมครับ อาชีวกนั้นโกรธอยู่แล้วว่า ครั้งแรกเขาไม่ถามเราก่อนเลยมาบัดนี้จึงค่อยถามเรา เราจักต้องสั่งสอนเขาเสียบ้าง จึงพูดแกล้งพูดว่า "วันนี้ฤกษ์ไม่ดี พวกท่านอย่ากระทำการมงคลในวันนี้เลย ถ้าขืนทำจักพินาศใหญ่" พวกมนุษย์ในตระกูลพากันเชื่อ อาชีวกนั้นไม่ไปรับตัวในวันนั้น

         ฝ่ายพวกชาวเมืองจัดการมงคลไว้พร้อมแล้วไม่เห็นพวกนั้นมา จึงยกธิดาให้แก่ตระกูลอื่นไปด้วยการมงคลที่เตรียมไว้นั้นแหละ ครั้นวันรุ่งขึ้นพวกกุลบุตรบ้านนอกก็พากันมาถึง แล้วกล่าวว่า

         "พวกท่านจงส่งตัวเจ้าสาวให้พวกเราเถิด" ทันใดนั้น ชาวเมืองสาวัตถีก็พา กันบริภาษพวกนั้นว่า

      "พวกท่านสมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นคนบ้านนอก ขาดความเป็นผู้ดี เป็นคนเชื่อถือไม่ได้ กำหนดวันไว้แล้วดูหมิ่นเสียไม่มาตามกำหนด เชิญกลับไปตามทางที่มากันนั่นแหละ พวกเรายกเจ้าสาวให้คนอื่นไปแล้ว" พวกชาวบ้านนอก ก็พากันทะเลาะกับชาวเมือง ครั้นไม่ได้เจ้าสาวก็ต้องพากันกลับไป

        เรื่องที่อาชีวกกระทำอันตรายงานมงคลของมนุษย์เหล่านั้น ปรากฏว่ารู้กันทั่วไปในระหว่างภิกษุทั่งหลาย และภิกษุเหล่านั้นประชุมกันในธรรมสภานั่งพูดกันถึงเรื่องนั้น พระบรมศาสดาทรงทราบเรื่องก็ตรัสว่า

       "ดูก่อนภิกษุทั่งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่อาชีวกนั้นทำการขัดขวางงานมงคลของตระกูลนั้น ในกาลก่อนก็ได้กระทำแล้วเหมือนกัน" แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาเล่าให้ฟังว่า ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวย ราชสมบัติในกรุงพาราณสี ชาวพระนครพากันไปสู่ขอธิดาของชาวชนบท กำหนดวันแล้วถามอาชีวกผู้คุ้นเคยกันว่า

        "พระคุณเจ้าผู้เจริญ วันนี้ผมจะกระทำงานมงคลลักอย่างหนึ่ง ฤกษ์ดีไหมขอรับ" อาชีวกนั้นโกรธอยู่แล้วว่า คนพวกนี้กำหนดวันเอาตามพอใจตน บัดนี้กลับถามเราคิดต่อไปว่าในวันนี้เราจักทำการขัดขวางงานของคนเหล่า นั้นเสีย แล้วกล่าวว่า

        "วันนี้ฤกษ์ไม่ดี ถ้ากระทำการมงคล ก็จักพากันถึงความพินาศใหญ่" คนเหล่านั้นพากันเชื่ออาชีวกจึงไม่ไปรับเจ้าสาวชาวชนบท ทราบว่าพวกนั้นไม่มา ก็พูดกันว่า "พวกนั้นกำหนดวันไว้วันนี้แล้วก็ไม่มาธุระอะไรจักต้องคอยคนเหล่านั้น" แล้วก็ยกธิดาให้แก่คนอื่น

        รุ่งขึ้นชาวเมืองพากันมาขอรับเจ้าสาวชาวชนบทก็พากันกล่าวว่า "พวกท่านขึ้นชื่อว่า เป็นชาวเมืองแต่ขาดความเป็นผู้ดี กำหนดวัน ไว้แล้วแต่ไม่มารับเจ้าสาว เพราะพวกท่านไม่มา เราจึงยกให้คนอื่นไป" ชาวเมืองกล่าวว่า "พวกเราถามอาชีวกดู ได้ความว่าฤกษ์ไม่ดี จึงไม่มาท่านจงให้เจ้าสาวแก่พวกเราเถิด"

        ชาวชนบทแย้งว่า "เพราะพวกท่านไม่มากัน พวกเราจึงยกเจ้าสาวให้คนอื่นไปแล้ว คราวนี้จักนำตัวเจ้าสาวที่ให้เขาไปแล้วมาอีกได้อย่างไรเล่า?" เมื่อคนเหล่านั้นโต้เถียงกันไป โต้เถียงกันมาอยู่อย่างนี้ ก็พอดีมีบุรุษผู้เป็น บัณฑิตชาวเมืองคนหนึ่งไปชนบทด้วยกิจการบางอย่าง ได้ยินชาวเมืองเหล่านั้นกล่าวว่า "พวกเราถามอาชีวกแล้วจึงไม่มาเพราะฤกษ์ไม่ดี" ก็พูดว่า

          "ฤกษ์จะมีประโยชน์อะไร เพราะการได้เจ้าสาวก็เป็นฤกษ์อยู่แล้วมิใช่หรือ?" แล้วกล่าวต่อไปว่า "ประโยชน์ผ่านพ้นคนโง่ผู้มัวคอย ฤกษ์ยามอยู่ ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวทั่งหลายจักทำอะไรได้" พวกชาวเมือง ทะเลาะกับพวกนั้นแล้วก็ไม่ได้เจ้าสาวอยู่นั่นเอง เลยพากันจากไป

       เรื่องการถือฤกษ์ยามเราด้องพิจารณา กันอย่างถี่ถ้วน เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วนั่น แหละถือว่าเป็นฤกษ์ยามที่ดี และยิ่งเมื่อปรารภที่จะสร้างความดีแล้ว เวลานั้นนั่นแหละ เป็นเวลาที่ดีในทุกๆ โอกาสทีเดียว เหมือนพระบรมโพธิสัตว์ทั่งหลายเมื่อปรารภเหตุอะไร แล้วท่านก็จะทำบุญสร้างบารมี ท่านทำอย่างนี้ มาตลอดระยะเวลายาวนานนับภพนับชาติไม่ถ้วนนั้น ไม่ว่าจะเป็นวันนักขัตฤกษ์หรือวันมหามงคลอะไรก็แล้วแต่ ท่านก็จะประพฤติปฏิบัติ ให้เป็นเนติแบบแผนคือสั่งสมบุญบารมีไม่ได้ว่างเว้นเลย เพราะสิ่งนี้จะเป็นวิถีทางที่จะนำไปสู่ความเต็มเปียมของชีวิต คือการได้ตรัสรู้ธรรม และนำพาสรรพสัตว์ทั่งหลายไปสู่อายตนนิพพาน วันขึ้นปีใหม่นี้เราควรจะหันมาพิจารณาว่า วันเวลาที่ผ่านไป เราจะให้ผ่านไปพร้อมกับการสร้างบุญบารมีที่เพิ่มพูนมากขึ้นไป และเรามาสร้างความสุขให้เกิดขึ้นด้วยการปฏิบัติธรรมแล้วมาส่งความใสของจิตใจให้ขยายไปสู่ชาวโลก ให้โลกนี้เป็นโลกแก้วที่สวยใสด้วยธรรมภายในกันตลอดไป 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล