อ่านอดีต ขีดอนาคต
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.
ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา (ตอนที่ ๒๐)
ตอนที่ ๒๐ : รูปแบบคณะกรรมการบริหาร (Executive Board) ในสมัยพุทธกาล
ภายหลังจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงปักหลักพระพุทธศาสนาลงในแคว้นมคธเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้มีกุลบุตรผู้มีศรัทธาเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนากันเป็นจำนวนมาก บ้างฟังธรรมแล้วบังเกิดศรัทธา ขอถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะตลอดชีวิต บ้างขอบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา เป็นเหตุให้พระศาสนาของพระชินสีห์ขจรขจายไปทั่วแผ่นดินอินเดียในยุคนั้น
เกี่ยวข้องกับการบรรพชาอุปสมบท ทำให้เราได้เห็นถึงวิวัฒนาการการโอนถ่ายอำนาจ การตัดสินใจจากตัวบุคคลไปสู่รูปแบบของคณะกรรมการบริหาร (Executive Board) ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนาสืบทอดมาถึงปัจจุบันนานกว่า ๒,๖๐๐ ปี โดยมีวิวัฒนาการดังกล่าว ดังต่อไปนี้
รูปแบบที่ ๑ การบวชแบบ “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” ซึ่งเป็นวิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงให้การบวชแก่กุลบุตรด้วยพระองค์เอง ดังเช่นการบวชของพระปัญจวัคคีย์ พระยสะและสหาย พระกัสสปะ ๓ พี่น้องและบริวารผู้เป็นอดีตชฎิล รวมถึงพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะผู้เป็นอัครสาวก (ดูรายละเอียดได้ใน วิ.มหา. ๔/๑๘/๒๕, ๔/๒๘/๓๖, ๔/๓๐-๓๑/๓๘-๔๐, ๔/๕๑-๕๓/๖๑-๖๓, ๔/๖๒/๗๗ แปล.มจร)
รูปแบบที่ ๒ การบวชแบบ “ติสรณคมนูปสัมปทา” ซึ่งเป็นวิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระอรหันตสาวกทำการบวชให้แก่กุลบุตรผู้มีศรัทธา โดยไม่ต้องรอนแรมเดินทางมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์จากแดนไกล (ดูรายละเอียดได้ใน วิ.มหา. ๔/๓๔/๔๒-๔๓ แปล.มจร)
รูปแบบที่ ๓ การบวชแบบ “ญัตติจตุตถกรรมวาจา” ซึ่งเป็นวิธีการบวชให้แก่กุลบุตร โดยพระพุทธองค์ได้ทรงยกเลิกการบวชแบบ “ติสรณคมนูปสัมปทา” แล้วทรงให้อำนาจการตัดสินใจแก่คณะสงฆ์ในรปูแบบของ “คณะกรรมการบรหิาร” นั่นเอง (ดรูายละเอียดได้ใน วิ.มหา. ๔/๖๙-๗๐/๙๗-๙๙ แปล.มจร)
ดังจะเห็นได้ว่า ในระยะเริ่มต้นของการประกาศพระศาสนา อำนาจในการตัดสินใจทั้งหมดจะอยู่ที่พระพุทธองค์เอง และต่อมาอำนาจการตัดสินใจได้ขยายออกไปสู่พระอรหันตสาวก ในระยะนี้เอง แม้จะมีการบวชแบบ “ติสรณคมนูปสัมปทา” (รูปแบบที่ ๒) แต่พระพุทธองค์ก็ยังประทานการบวชแบบ “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” (รูปแบบที่ ๑) อยู่นั่นเอง ครั้นเมื่อพระพุทธศาสนาเริ่มปักหลัก มีหมู่สงฆ์บังเกิดขึ้นมากมายพระพุทธองค์จึงทรงโอนถ่ายอำนาจการตัดสินใจในการรับกุลบุตรเข้ามาสู่พระธรรมวนิยัในรปูแบบของ “คณะกรรมการบริหาร” หรือที่เรียกว่า “ญัตติจตุตถกรรมวาจา” (รปูแบบ ที่ ๓) อันเป็นรูปแบบที่สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน