อ่านอดีต ขีดอนาคต
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.
ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา (ตอนที่ ๓๔)
ตอนที่ ๓๔ : ความไม่ลงรอยกันในการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก
ภายหลังจากการสังคายนาพระธรรมวินัยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประวัติศาสตร์ได้เสร็จสิ้นลงโดยมี พระมหากัสสปะ เป็นประธาน ใช่ว่าหมู่สงฆ์ทั้งปวงจะเห็นด้วยทั้งหมดก็หาไม่
โดยในครั้งนั้น ได้มีหมู่สงฆ์ ๕๐๐ รูป อันมี พระปุราณะ เป็นประธาน จาริกอยู่ทักขิณาคิรีชนบท (ดินแดนทางตอนใต้) เดินทางมายังเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ ได้ทราบถึงเหตุการณ์การสังคายนาพระธรรมวินัยจากพระเถระทั้งหลายในเวฬุวัน จึงได้กล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระทั้งหลายสังคายนาพระธรรมและวินัยดีแล้ว แต่ผมจะทรงจําไว้ตามที่ได้ยินเฉพาะพระพักตร์ ตามที่ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค” (วิ.จู. ๗/๔๔๔/๓๘๕-๓๘๖ ไทย.มจร)
จากคําพูดที่ปรากฏใน พระวินัยปิฎก จุฬวรรค ปัญจสติกขันธกะ นี้ได้แสดงให้เห็นถึงทัศนะของพระปุราณะ คือ เห็นด้วยกับการที่พระมหากัสสปะได้นําหมู่สงฆ์ทําสังคายนา แต่ท่านเลือกที่จะทรงจําพระธรรมวินัยตามที่ได้ยินได้รับมาจากพระผู้มีพระภาคเจ้า กล่าวคือ ไม่ถือตามมติของหมู่สงฆ์ที่เพิ่งทําปฐมสังคายนากันไป นี่คือความไม่ลงรอยกันของหมู่สงฆ์ในครั้งนั้น
นอกจากนี้ ยังมี ธรรมคุปตกวินัย (四分律) และ มหีศาสกวินัย (五分律) ซึ่งเป็นคัมภีร์พระวินัยของนิกาย ธรรมคุปตกะ (法藏部) และ มหีศาสกะ (化地部) ที่แยกออกมาจาก เถรวาท หลังจากพุทธปรินิพพานได้ ๑๐๐-๒๐๐ ปีเศษ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ความไม่ลงรอยนี้เช่นเดียวกัน เพียงแต่เนื้อหาที่กล่าวถึงนี้มีความแตกต่างจาก พระวินัยปิฎก จูฬวรรค กล่าวคือ ธรรมคุปตกวินัย ได้กล่าวว่า เมื่อพระปุราณะทราบถึงความที่พระมหากัสสปะได้ทําปฐมสังคายนา จึงได้พาบริวาร ๕๐๐ รูปมาสู่สํานักของพระมหากัสสปะ และขอให้มีการสาธยายพระธรรมวินัยอีกครั้งหนึ่ง เมื่อจบลง พระปุราณะได้กล่าวว่า “ท่านมหากัสสปะ ผมเห็นด้วย ในทั้งหมดนี้ เว้นไว้เสียแต่เรื่อง (สิกขาบท) ๘ ประการ ท่าน (มหากัสสปะ) ผมได้รับฟังมาจากพระผู้มีพระภาคและยังคงทรงจําได้อย่างแม่นยํา (大德迦葉。我盡忍可此事。唯除八事。大德。我親從佛聞。憶持不忘。)” (T22.968b-c) เช่นเดียวกับใน มหีศาสกวินัย ต่างกันเพียงจํานวนข้อสิกขาบท คือ ๙ ประการเท่านั้น (22.191c)
นี่คือความไม่ลงรอยกันของหมู่สงฆ์ในเรื่องการทําปฐมสังคายนาครั้งนั้น ส่วนว่าสิกขาบท ทั้ง ๗-๘ ประการนี้ คืออะไร เป็นสิกขาบทที่มีปรากฏในคัมภีร์พระวินัยปิฎกของเถรวาทด้วย หรือไม่ เหตุไฉนพระปุราณะจึงได้ทรงจํามาเช่นนี้ โปรดติดตามตอนต่อไป