อ่านอดีต ขีดอนาคต
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.
ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
ตอนที่ ๓๖ : สาเหตุที่อาจทำให้พระปุราณะทรงจำสิกขาบทบางประการต่างไปจากสงฆ์หมู่ใหญ่
สิกขาบทบางประการ (สิกขาบททั้ง ๗-๘ ประการ ตามนัยแห่งพระวินัยของธรรมคุปตกะและมหีศาสกะ) เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตในยามฉุกเฉิน แต่เมื่อสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติจึงได้ทรงยกเลิกไป สำหรับสิกขาบทบางประการที่พระปุราณะกล่าวว่า ได้ทรงจำมาแตกต่างจากนี้ มีความเป็นไปได้ประการหนึ่งที่อาจเป็นช่องว่างให้เกิดขึ้นได้
ในช่วงแรกของการประกาศพระศาสนา พระภิกษุส่วนใหญ่ล้วนเป็นพระอรหันต์ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ได้ทรงบัญญัติพระวินัยขึ้น แต่ต่อมาเมื่อมีกุลบุตรเข้ามาบวชมากขึ้น และมีการทำสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร จึงทำให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทต่าง ๆ ขึ้นตั้งแต่พรรษาที่ ๑๒ เรื่อยมา จนกระทั่งก้าวเข้าสู่พรรษาที่ ๒๐ พระพุทธองค์ทรงจำพรรษา ณ กรุงสาวัตถีเพียงแห่งเดียว โดยประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ๑๙ พรรษา และบุพพาราม ๖ พรรษา ทั้งนี้เพื่อทรงอนุเคราะห์หมู่สงฆ์ที่บวชเข้ามาในภายหลัง ซึ่งอาจจะไม่เคยพบกับพระพุทธองค์เหมือนกับหมู่สงฆ์ในยุคแรก ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ทราบโดยทั่วกันถึงสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า
นอกจากนี้ ยังมีประเพณีที่พระภิกษุผู้จำพรรษาในถิ่นต่าง ๆ เมื่อออกพรรษาแล้ว จะมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่จะได้ศึกษา พระสูตร และ พระวินัย ที่เกิดขึ้นในช่วง ๑ ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่หลังออกพรรษาที่ผ่านมาถึงออกพรรษานี้ และเมื่อพระภิกษุเหล่านี้ได้เดินทางกลับไปสู่ถิ่นของตนเองแล้ว ก็ได้ไปถ่ายทอดต่อให้แก่พระภิกษุผู้ไม่ได้เดินทางมาเข้าเฝ้า จึงเป็นเหตุให้พระภิกษุในยุคนั้น แม้จะกระจายตัวอยู่ในถิ่นต่าง ๆ ก็สามารถทราบถึง พระสูตร และ พระวินัย ที่เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ได้ แม้จะไม่มีอุปกรณ์สื่อสารที่ทันสมัยเหมือนในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีประเพณีอันเป็นเหตุให้ได้ศึกษา พระสูตร และ พระวินัย แบบอัปเดต (update) ดังกล่าว ก็ยังมี ช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างรอยต่อพรรษา กล่าวคือ หมู่สงฆ์ที่อยู่ในกรุงสาวัตถีและปริมณฑล มีโอกาสที่จะได้รับข้อมูลอัปเดตมากกว่าหมู่สงฆ์ในดินแดนชนบท ด้วยเหตุที่ไม่ต้องรอจนกระทั่งออกพรรษา แล้วจึงค่อยเดินทางมาอัปเดตข้อมูล ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงช่องว่างดังกล่าวนี้ ในกรณีของ พระปุราณะ ผู้จาริกอยู่บริเวณ ภูเขาทางตอนใต้ (ทกฺขิณาคิริ 南山) ก็อาจจะพออนุมานได้ว่า ด้วยช่องว่างดังกล่าวนี้ จึงเป็นเหตุให้พระปุราณะทรงจำสิกขาบทบางประการต่างออกไป ดังที่ท่านได้กล่าวว่า “ผมจะทรงจำไว้ตามที่ได้ยินเฉพาะพระพักตร์ ตามที่ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค” (วิ.จู. ๗/๔๔๔/๓๘๖ ไทย.มจร) ก็เป็นไปได้