วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ตอนที่ ๓๗ : ลักษณะพิเศษในการสืบทอดและรักษาพระวินัย

อ่านอดีต ขีดอนาคต
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.

 

ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

640212_63.jpg

ตอนที่ ๓๗ : ลักษณะพิเศษในการสืบทอดและรักษาพระวินัย

          ในครั้งที่ผ่าน ๆ มา เราได้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับการสังคายนาครั้งแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา เพื่อรวบรวมพระธรรมวินัยให้เป็นปึกแผ่น จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้เราเห็นถึงความเห็นต่างในเรื่อง พระวินัย ของหมู่สงฆ์ที่มีพระมหากัสสปะและพระปุราณะเป็นประธาน ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาหลายนิกาย แต่อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ไม่ได้ปรากฏการแบ่งแยกนิกายในพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด

         สำหรับครั้งนี้ เราจะลองมาดูถึง ลักษณะพิเศษในการสืบทอดและรักษาพระวินัย ซึ่งในเรื่องนี้ พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ) ได้กล่าวไว้ในบทความเรื่อง สิกขาบท ในพระปาฏิโมกข์เกิดขึ้นเมื่อใด ในวารสาร ธรรมธารา วารสารวิชาการทางพระพุทธศาสนา (ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ หน้าที่ ๒๔-๒๕) ไว้ได้อย่างน่าสนใจ ดังมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

         ๑. พระวินัย โดยเฉพาะสิกขาบทใน พระปาฏิโมกข์ ส่งผลกระทบถึงชีวิตความเป็นอยู่ของหมู่สงฆ์ และมีผลบังคับใช้กับพระสงฆ์ทุกรูป ต่างจากพระสูตร ที่อาจจะไม่ต้องทราบความครบทุกพระสูตรก็ได้ ดังนั้น การที่ใครจะบัญญัติพระวินัยขึ้นใหม่ แล้วให้หมู่สงฆ์ทั้งหมดปฏิบัติตาม เว้นจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว คงไม่มีใครที่จะสามารถทำได้

     ๒. มีการสวดทบทวนพระปาฏิโมกข์ขึ้นทุกกึ่งเดือน ดังนั้น หมู่สงฆ์จะรับทราบตรงกัน และมีความแม่นยำในจำนวนข้อและเนื้อหาของสิกขาบท หากมีใครไปบัญญัติเพิ่ม หมู่สงฆ์ก็จะรู้ทันที และคงไม่มีใครยอมรับเช่นกัน

         ๓. หลังพุทธปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงตั้งผู้ใดขึ้นเป็นพระศาสดาแทนพระองค์ ดังนั้น จึงไม่มีใครที่มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงได้ แม้หากมีใครคิดที่จะทำ ก็จะมีผลเฉพาะในกลุ่มของตน แต่ไม่สามารถทำให้หมู่สงฆ์ทั้งปวงยอมรับได้

        ดังนั้น การเพิ่ม ลด เปลี่ยนแปลง พระวินัย ในหมู่สงฆ์ จึงไม่ใช่สิ่งที่จะกระทำได้ง่าย ๆ แม้พระวินัยปิฎกของนิกายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการแบ่งแยกนิกายออกไป จะมีเนื้อหาที่แตกต่างกันออกไปบ้าง แต่สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ คือ พระวินัยปิฎกนิกายต่าง ๆ ที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน มีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกันมาก นั่นเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้ว สิกขาบททั้งหลายบัญญัติขึ้นโดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๒๑๘ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๔

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล