วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ หลวงพ่อตอบปัญหา : ทำไมเราต้องเรียนรู้วิธีนำใจกลับมาไว้ในตัว ?

หลวงพ่อตอบปัญหา
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

 

640317_025.jpg

ถาม : ทำไมเราต้องเรียนรู้วิธีนำใจกลับมาไว้ในตัว ?

ตอบ : เรื่องฝึกใจเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญของมนุษย์ทุกคน ใจที่ไม่ถูกฝึกจะเลื่อนไหลไปกับสิ่งหลอกล่อภายนอก ให้หลงเพลินไปกับอารมณ์ต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่ของจริง มีสุขอยู่ประเดี๋ยวประด๋าว ไม่ยั่งยืน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้จริงเรื่องทุกข์และการพ้นทุกข์ ซึ่งเป็นเรื่องชีวิตของตัวเราทุกคน เราจะรู้และเข้าใจความจริงเรื่องทุกข์ได้ เมื่อใจของเราสงบระงับจากความฟุ้งซ่าน จากสิ่งเร้าต่าง ๆ

       วิธีการนำใจกลับมาไว้ในตัว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้มองเข้าไปในตัวเอง ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ได้กับทุกคน เช่นเดียวกับในวันแรกของการบวชเป็นพระภิกษุ ที่พระอุปัชฌาย์จะให้โอวาทแก่พระภิกษุผู้บวชใหม่ เป็นบทฝึกบทแรกสำหรับการฝึกฝนตนเองตามคำสอนในพระพุทธศาสนา โดยให้พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง หรือ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ซึ่งเป็นอวัยวะที่ติดอยู่กับเนื้อกับตัวของเราทุก ๆ คน

        นี่เป็นอุบายขั้นต้นที่จะนำใจที่มักซัดส่ายไปติดกับสิ่งภายนอก ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ สิ่งที่ชอบใจ ไม่ชอบใจทั้งหลายภายนอก เมื่อสามารถนำใจให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว จะเริ่มมองเห็นความจริงว่า ร่างกายที่เราเคยยึดมั่นว่าเป็นของเรา ที่เราเพียรพยายามที่จะรักษาให้มันอยู่ในลักษณะที่เราพึงพอใจ แท้จริงนั้นไม่ใช่ของเรา ผมจากสีดไกลับเป็นสีขาว ขนคิ้วเคยเข้มคมกลับหลุดร่วง เล็บเคยมันวาวกลับซีดเซียว ฟันเคยเรียงสวยกลับโยกเก ผิวหนังเคยเต่งตึงกลับเหี่ยวย่น จะพยายามยื้อให้คงไว้ให้นานเท่าใด สุดท้ายก็หนีความจริงไปไม่ได้ว่า สิ่งเหล่านี้ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว เราไม่สามารถบังคับบัญชาควบคุมหรือรักษาให้เป็นไปดังที่ใจเราต้องการ ทุกสิ่งต่างก็เปลี่ยนแปลงมีความเสื่อมไปตลอดเวลา

       ถ้าใจเราไม่กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เราจะไม่สามารถพิจารณาจนเห็นความจริงเหล่านี้ได้ แต่เมื่อใจกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เราจะมีความกล้าเกิดขึ้นมา คือ กล้าที่จะมองสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง แล้วใจก็จะคลายความผูกพันจากความยึดมั่นถือมั่นผิด ๆ ที่ไม่เป็นจริง แล้วใจจะกลับเข้ามาอยู่ในตัว ในที่ตั้งดั้งเดิมของใจ เมื่อใจอยู่ภายในต่อเนื่องนานเข้า ใจหยุดใจนิ่งถูกส่วน ใจจะมีอานุภาพ ใจจะทั้งใส ทั้งสว่าง จะพบกับความสุขภายในที่เกิดจากใจหยุดใจนิ่ง จะเข้าถึงสิ่งที่เป็นจริง ที่เป็นของเราอย่างแท้จริงที่อยู่ภายใน

     นอกจากบทฝึกขั้นต้นเพื่อให้ใจกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว ยังมีสิ่งที่ต้องฝึกอย่างต่อเนื่อง คือ การพิจารณาอาการหนาว อาการร้อน อาการหิว อาการกระหาย อาการปวดปัสสาวะ อาการปวดอุจจาระ ที่เกิดกับกายของตน ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเตือนพระภิกษุผู้ฝึกตนว่า ต้องพิจารณาอยู่เสมอ เพราะสิ่งนี้จะเป็นอุปการะให้มีความเพียรในการประคองใจให้อยู่ภายในได้สม่ำเสมอ จนทำได้เชี่ยวชาญคล่องแคล่วและสามารถใช้งานใจที่ฝึกดีแล้วได้ตามปรารถนา

       คนทั่วไปอาจจะมองอาการที่เกิดกับร่างกายอยู่ทุกวันเหล่านี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา และยอมรับว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง ซึ่งน้อยคนนักที่จะมองลึกต่อไปว่า อาการเหล่านี้สะท้อนความจริงอะไรแก่ชีวิตเราบ้าง อาการทั้ง ๖ ประการนี้ คือ ความทุกข์ที่เกิดกับร่างกายของเราทุกคน ไม่ยกเว้นกับใครเลย และเกิดขึ้นได้ทุกวัน แม้จะแก้ไขดับทุกข์ไปในคราวที่เกิดนั้นแล้ว แต่ก็กลับเกิดขึ้นมาใหม่ได้อีกเรื่อย ๆ เราควบคุมไม่ให้มันเกิดขึ้นไม่ได้

        อาการเหล่านี้นอกจากจะก่อให้เกิดทุกข์ด้วยตัวมันเองแล้ว ยังเป็นตัวเร่งก่อทุกข์อื่น ๆ อีกมากมาย เพราะทุกข์เหล่านี้เมื่อเกิดขึ้น จะเป็นตัวกระพืออารมณ์ความรู้สึกด้วยอำนาจกิเลสในใจเรา ทั้งโลภะ โทสะ โมหะ ให้ลุกโชนขึ้นมาอีก และจะก่อให้เกิดการทำบาปกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่บาปกรรมที่เกิดขึ้นในใจ ความหงุดหงิด รำคาญใจ ความโมโห ความโกรธเคือง ความผูกพยาบาท ไม่พอใจ เมื่อไม่ได้ดังใจปรารถนา หรือได้ในสิ่งที่ไม่ปรารถนา ความอยากได้สิ่งของของคนอื่น ความอยากได้ที่ไม่มีขีดจำกัด เป็นต้น แล้วก็มักจะไม่หยุดแค่ความคิดในใจ แต่จะแสดงออกมาเป็นบาปกรรมทางวาจา ทางกายต่อไปอีก ยิ่งเป็นการขยายทุกข์ เพิ่มปริมาณความทุกข์ และประเภทความทุกข์อีกมากมาย จากทุกข์เดือดร้อนในตนขยายผลก่อความเดือดร้อนขึ้นในครอบครัว สังคม บ้านเมือง ลุกลามไปทั้งโลก ดังที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้

        เมื่อเราเห็นทุกข์ตามความเป็นจริงอย่างนี้ จะเบื่อหน่าย คลายความผูกพัน คลายความยึดมั่นถือมั่นในกายที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ไม่จีรังยั่งยืน เมื่อใจคลายความผูกพัน ใจจะกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว หยุดนิ่งได้นานขึ้น บ่อยขึ้น ยิ่งอาการทุกข์ทางกายทั้ง ๖ ประการ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราทุกวัน วันละหลาย ๆ ครั้ง ก็จะเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนใจเราได้ง่ายยิ่งขึ้น เพื่อให้เราหมั่นประคับประคองใจให้เหมาะสมที่จะฝึกใจให้เป็นสมาธิต่อไป

       ครั้นเมื่อได้ฝึกใจในอิริยาบถต่าง ๆ ด้วยการหมั่นนึกถึงสิ่งเตือนใจดังกล่าวแล้ว ใจก็จะไม่โลดแล่นไปไกลเหมือนแต่ก่อน เมื่อถึงคราวนั่งสมาธิฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง ใจจะรวมเป็นสมาธิได้ง่าย เข้าถึงความสุขที่แท้จริงที่อยู่ภายใน เข้าถึงดวงธรรม ปัญญา วิชชา แสงสว่าง เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ได้เข้าถึงที่พึ่งที่แท้จริง สามารถสลัดตนให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวงตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปได้โดยง่าย

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล