อ่านอดีต ขีดอนาคต
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.
ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
ตอนที่ ๓๘ : คัมภีร์พระวินัยปิฎกที่สืบทอดมาถึงปัจจุบันกับสาเหตุที่มีจำนวนสิกขาบทไม่เท่ากัน
ในการสืบทอดและรักษาพระวินัยนั้น มีลักษณะพิเศษ คือ ๑) มีผลบังคับใช้กับคณะสงฆ์ทั้งหมด ๒) มีการทบทวนสิกขาบททุกกึ่งเดือน และ ๓) พระพุทธองค์มิได้ทรงตั้งใครเป็นพระศาสดาแทน ด้วยเหตุผลทั้ง ๓ ประการนี้ จึงไม่อาจมีใครที่สามารถเพิ่มเติม ตัดทอน เปลี่ยนแปลงพระวินัยได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนสิกขาบทในพระวินัยปิฎกต่าง ๆ ที่หลงเหลือถึงปัจจุบันมีจำนวนไม่เท่ากัน จึงทำให้นักวิชาการจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า สิกขาบทต่าง ๆ ในพระวินัยปิฎกเกิดหลังสมัยพุทธกาล แต่แท้ที่จริงแล้ว มีเงื่อนงำบางอย่างที่นักวิชาการอาจมองข้ามไป
ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่า คัมภีร์พระวินัยปิฎกที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันกี่ฉบับ ฉบับแรกที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดี คือ พระวินัยปิฎกบาลีของเถรวาทเรา นอกจากนี้ ยังมีพระวินัยอีก ๕ ฉบับของนิกายธรรมคุปตกะ มหีศาสกะ สรวาสติวาท มูลสรวาสติวาท และมหาสางฆิกะ ซึ่งเป็นนิกายที่แบ่งแยกออกไปในช่วง ๑๐๐ ถึง ๒๐๐ ปีหลังพุทธปรินิพพาน (ไม่ใช่มหายาน) โดยจำนวนสิกขาบทโดยรวมพบว่ามีจำนวนไม่เท่ากัน กล่าวคือ พระวินัยปิฎกเถรวาทมีสิกขาบท ๒๒๗ ข้อ ธรรมคุปตกะ ๒๕๐ ข้อ มหีศาสกะ ๒๕๑ ข้อ สรวาสติวาท ๒๕๗ ข้อ มูลสรวาสติวาท ๒๔๙ ข้อ มหาสางฆิกะ ๒๑๘ ข้อ ซึ่งมีจำนวนไม่เท่ากัน หากดูโดยผิวเผินแล้ว อาจทำให้คิดได้ว่า สิกขาบทต่าง ๆ ไม่น่าจะเกิดในสมัยพุทธกาล แต่เกิดในภายหลังที่มีการแบ่งแยกนิกายออกไป เพราะมิฉะนั้นแล้ว คงจะมีจำนวนเท่ากัน แต่เมื่อเราลองมาพิจารณาถึง อาบัติ ๘ หมวด กลับพบว่า ปาราชิก มี ๔ ข้อเท่ากัน สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ ปาฏิเทสนียะ ๔ อธิกรณสมถะ ๗ ก็เท่ากัน มีเพียง ปาจิตตีย์ ที่จำนวนต่างกัน คือ ๙๐ - ๙๒ ซึ่งต่างกันเพียง ๑ - ๒ ข้อเท่านั้น ส่วนหมวดที่ทำให้จำนวนสิกขาบทโดยรวมมีความแตกต่างกันมาก คือ เสขิยวัตร ที่ว่าด้วยมารยาทนั่นเอง
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เสขิยวัตรต่างกันแต่ละนิกาย คือ ในคราวทำสังคายนาครั้งที่ ๑ นั้น มีการกล่าวถึงพระพุทธดำรัสที่ทรงอนุญาตให้เพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ และมติที่พระอรหันต์ผู้เข้าร่วมการสังคายนาเห็นตรงกัน คือ เสขิยวัตรเป็นสิกขาบทเล็กน้อย แม้ในครั้งนั้นจะไม่ได้เพิกถอนสิกขาบทใดออกไป แต่ในภายหลังจากแบ่งแยกนิกายออกไป ได้มีการปรับสิกขาบทในหมวดเสขิยวัตร ด้วยสาเหตุที่ว่า ๑) เพื่อให้เข้ากับบริบทในสังคมและดินแดนนั้น ๆ และ ๒) มีมติตรงกันว่าเสขิยวัตรนี้เป็นสิกขาบทเล็กน้อยที่อาจเพิกถอนได้ ดังที่ปรากฏใน มหาปรินิพพานสูตร และ พระวินัยปิฎกทุกนิกายนั่นเอง (ศึกษาเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง สิกขาบทในพระปาฏิโมกข์เกิดขึ้นเมื่อใด ในวารสาร ธรรมธารา วารสารวิชาการทางพระพุทธศาสนา ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ หน้าที่ ๑๓-๕๔ โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ)