วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ รู้ไหม..การบวชอุทิศชีวิต ของสามเณรเปรียญธรรมวัดพระธรรมกาย มีความเป็นมาอย่างไร ?

บวชอุทิศชีวิต
เรื่อง : พระมหาณัฐวุฒิ ณฏฺฐชโย

 

รู้ไหม..การบวชอุทิศชีวิต
ของสามเณรเปรียญธรรมวัดพระธรรมกาย
มีความเป็นมาอย่างไร ?

    640504_001.jpg

            ปัจจุบันวัดพระธรรมกายเป็นวัดที่มีพระภิกษุมากที่สุด เพราะแต่ละปีมีผู้บวชในโครงการบวชระยะสั้นมากมาย และสุดท้ายก็มีพระจำนวน ไม่น้อยที่ตัดสินใจบวชต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีกำหนดจึงทำให้จำนวนพระในวัดพระธรรมกายมีมากเป็นพัน ๆ รูป
 

640504_002.jpg

                แต่ทว่า..มีโครงการหนึ่งซึ่งเป็นโครงการพิเศษ คือโครงการบวชอุทิศชีวิตโดยเฉพาะแก่สามเณรเปรียญธรรม ซึ่งไม่ใช่ใครจะมาบวชในโครงการนี้ก็ได้ ผู้บวชต้องผ่านเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ทางวัดกำหนดไว้ เช่น ต้องบวชเป็นสามเณร และเรียนจบอย่างน้อย ป.ธ.๓ อีกทั้งยังต้องฝึกตัวมาดีมีผลการปฏิบัติธรรมที่ดีด้วย
 

640504_003.jpg

อะไรคือจุดกำเนิดของโครงการบวชอุทิศชีวิต ?

                 เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ หลังจากสอบบาลีสนามหลวงประจำปีเสร็จเรียบร้อยแล้ว สามเณรได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อธัมมชโยให้ขึ้นไปปฏิบัติธรรม ณ จังหวัดเชียงใหม่ ๑ เดือน ก่อนที่จะเปิดเรียนพระปริยัติธรรมในปีการศึกษาต่อไป ในรุ่นนี้มีสามเณรที่อายุครบบวช ฝึกตัวดี และมีผลการปฏิบัติธรรมดี อีกทั้งมีความตั้งใจอยากจะบวชตลอดชีวิตถึง ๒๒ รูป


640504_004.jpg

             ด้วยเหตุนี้ หลวงพ่อธัมมชโยจึงเมตตาให้ลูกสามเณรกลุ่มนี้บวชอุทิศชีวิตในวันคล้ายวันเกิดของท่านในปีนั้น คือ วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยหลวงพ่อรับเป็นเจ้าภาพบวชให้ทั้งหมดและจัดพิธีอุปสมบท ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร หลังจากนั้นการบวชอุทิศชีวิตก็ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบมาทุกปี


640504_005.jpg

              จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๔๒ หลวงพ่อธัมมชโยเมตตาให้สามเณรเปรียญธรรมที่จะบวชอุทิศชีวิตเลื่อนไปบวชในวันวิสาขบูชา เนื่องจากวันที่ ๒๒ เมษายน ซึ่งเป็นวันคุ้มครองโลก วัดพระธรรมกายมีกิจกรรมงานบุญวันคุ้มครองโลกตลอดทั้งวัน โดยได้นิมนต์พระสงฆ์จากทั่วประเทศมาร่วมงานทำให้ไม่สะดวกในการจัดพิธีบวชอุทิศชีวิต


640504_006.jpg

           สำหรับการบวชอุทิศชีวิตในวันวิสาขบูชานั้น ถือเป็นความโชคดีมีบุญอย่างยิ่งของสามเณรเปรียญธรรมทั้งหลาย ที่ได้บวชในวันที่ดีที่สุดสมกับที่ได้ตั้งปณิธานสละชีวิตไว้ในพระพุทธศาสนาดังโอวาทของหลวงพ่อธัมมชโยที่เคยกล่าวไว้ต่อไปนี้

             “...วันวิสาขบูชาเป็นวันที่สว่างและดีที่สุด คือ วันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชนะมาร ลูกสามเณรของหลวงพ่อจะได้ชนะมาร ปราบมาร ปหานกิเลส ทำวิชชาธรรมกายตามมหาปูชนียาจารย์ไปตลอดทั้งหยาบ ทั้งละเอียด... การตัดสินใจบวชอุทิศชีวิตเหมือนกับเป็นการประกาศศึกว่า เราจะทุ่มทั้งชีวิตของเราไปข้างหน้าโดยไม่เหลียวหลังกลับ เหมือนเราทุบหม้อข้าวสละชีวิตทั้งชีวิตไว้ในพระพุทธศาสนา เมื่อบวชไปแล้วต้องรักษาอุดมการณ์และปณิธานของตนเองสิ่งใดยังไม่สมบูรณ์ เช่น การศึกษาที่ยังไปไม่ถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยค ถ้าเรายังมีความตั้งใจอยู่ก็ให้ไปให้ถึง หรือถ้าใครมีความรู้ความสามารถสติปัญญาไปไม่ถึง ก็ต้องช่วยกันทำงานพระศาสนา...”

 

 

ความในใจของผู้บวชอุทิศชีวิตปีนี้

640504_007.jpg

สามเณรณัฐดนัย เจริญศรี ป.ธ.๖
หลังบวชแล้วจะได้รับฉายาว่า “จริยาชโย”

               สามเณรเป็นผู้โชคดีมาก ที่โยมยายแท้ ๆ ของสามเณรเข้าวัดปฏิบัติธรรมตั้งแต่สมัยบ้านธรรมประสิทธิ์ ด้วยเหตุนี้โยมยายจึงเป็นกำลังหลักในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้คนในครอบครัวอย่างเข้มข้นเรียกได้ว่าตั้งแต่สามเณรจำความได้ก็ ไปแต่วัดจนผูกพันกับวัด และพอปิดเทอมส่วนใหญ่ก็จะมาบวช เช่น บวชที่ถ้ำเขาวง ๒ ครั้ง บวชที่ศูนย์อบรมเยาวชนลพบุรี ๑ ครั้ง และช่วง ป.๕ มาบวชยุวธรรมทายาทในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๕๕ ก็มาบวชในโครงการหน่อแก้วเปรียญธรรม รุ่นที่ ๑

                  ก่อนสามเณรบวช ชีวิตก็คล้ายเด็กทั่วไป คือ ชอบเล่นเกมมาก ๆ แต่ไม่ว่าจะชอบเล่นมากแค่ไหน ก็เล่นได้น้อยมากเมื่อเทียบกับเด็กคนอื่น เพราะโยมยาย โยมแม่และคนในครอบครัว จะมีวิธีการสอนให้เล่นเกมอย่างมีวินัย คือ จะกำหนดเวลาเล่นโดยห้ามเล่นเกินครึ่งชั่วโมง และเวลาจะเล่นเกมต้องแลกกับการทำความดีเพิ่มขึ้น เช่น ทำงานบ้านเพิ่มขึ้นจากปกติ อีกทั้งโยมแม่ของสามเณรยังมีเทคนิคสอนลูกคือ เวลาสามเณรโกรธหรือโมโหจากการเล่นเกมบ้าง ไม่ได้ดั่งใจบ้าง โยมแม่จะพาไปหน้ากระจกแล้วบอกว่า “ดูสิ มียักษ์อยู่ในกระจกด้วย” พอสามเณรเห็นอย่างนี้ก็เลยทำให้คิดได้ แล้วจิตใจก็สงบลง


640504_008.jpg

                  แม้สามเณรมาบวชตั้งแต่ยังเด็ก แต่ก็ปรับตัวเข้ากับหมู่คณะได้ไม่ยาก เพราะโยมยาย โยมแม่ฝึกให้สามเณรมีความรับผิดชอบ ทำอะไรเป็นตั้งแต่เล็ก ๆ เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างจาน นั่งสมาธิครึ่งชั่วโมงกราบเท้ายาย กราบเท้าแม่ก่อนนอนทุกคืน

              ก่อนสามเณรจะตัดสินใจบวชยาว ได้เกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้น คือ ช่วงที่บวชในโครงการหน่อแก้วเปรียญธรรม มีวันหนึ่ง..ขณะที่สามเณรทุกรูปนั่งสมาธิรวมกันอย่างสงบนิ่ง สามเณรลืมตาขึ้นมา ปรากฏว่าภาพแห่งความสงบนิ่งของทุกคนทำให้สามเณรรู้สึกว่ามีพลัง ในตอนนั้นสามเณรบอกตัวเองว่า สามเณรอยากนั่งสมาธิอยู่ในหมู่คณะแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ภาพหมู่คณะแบบนี้ต้องมีสามเณรเป็นหนึ่งในนั้นตลอดไป สามเณรมีหมู่คณะที่ถูกต้องแล้ว หลายคนมีชีวิตที่ดีขึ้นเพราะตัดสินใจเข้ามาอยู่ในเพศภาวะนี้สามเณรคิดว่าชีวิตแบบนี้เป็นชีวิตที่ประเสริฐที่สุดแล้ว

                 หลังจากบวชอุทิศชีวิตแล้ว สามเณรจะตั้งใจเรียนบาลีจนจบ ป.ธ.๙ เพราะอยากเป็นพระอาจารย์สอนบาลี และสอนให้คนเข้าใจชีวิตในวัฏสงสาร เพราะสามเณรอยากเป็นแสงสว่างให้แก่โลกใบนี้ การที่สามเณรมีชีวิตที่ประเสริฐที่สุดแบบนี้ได้ ก็เพราะมีโยมยายโยมแม่ โยมลุง และคนในครอบครัวทุกคนเป็นแสงสว่าง เป็นกัลยาณมิตรให้ และการที่ทุกคนในครอบครัวสามเณรเข้ามาสู่เส้นทางอันประเสริฐนี้ได้ ก็เพราะมีหลวงพ่อ มี
วัดพระธรรมกายครับ...

 

640504_009.jpg

สามเณรธนกร ครุฑอ่ำ ป.ธ.๔
หลังบวชแล้วจะได้รับฉายาว่า “คุตฺตชโย”

                ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๒ โยมแม่บุญธรรมของสามเณรได้ทำหน้าที่กัลยาณมิตรพาโยมพ่อและสามเณรมารู้จักวัดพระธรรมกาย และในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ สามเณรได้บวชที่เขาแก้วเสด็จ รู้สึกว่าชีวิตนักบวชเป็นชีวิตที่ดี และมีความสุขในเส้นทางนี้ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้สามเณรเข้ามาบวชแทบทุกโครงการ เช่น ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ บวชยุวธรรมทายาทและทันทีที่เรียนจบ ป.๖ ก็ตัดสินใจบวชในโครงการหน่อแก้วเปรียญธรรม รุ่นที่ ๑

             สาเหตุที่สามเณรตัดสินใจบวช คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ สามเณรรู้สึกว่าการใช้ชีวิตแบบฆราวาสไม่ใช่ชีวิตที่ทำให้เราพบความสุขที่แท้จริง แต่เต็มไปด้วยภาระ ความกังวลแม้เราจะปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรมะ ก็ทำได้ไม่เต็มที่ เหมือนชีวิตโยมพ่อของสามเณรที่ต้องทำทุกอย่าง รับผิดชอบทุกเรื่อง ทำให้ไม่ปลอดกังวลพอที่จะศึกษาธรรมะได้เต็มที่สามเณรเห็นชีวิตโยมพ่อแล้ว จึงทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจเลือกเส้นทางธรรม


640504_010.jpg

             แต่การเข้ามาบวชในเส้นทางธรรมไม่ใช่เรื่องสบาย เพราะสามเณรต้องฝึกทำทุกอย่าง รับบุญหลายบุญ และยังต้องเรียนบาลีอย่างหนัก แต่ก็มีความสุข และมีแรงบันดาลใจในการทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง เช่น สามเณรได้ริเริ่มทำโครงการดูแลการเรียนการสอนน้อง ๆ สามเณร คือ เปิดโครงการพี่สอนน้อง โดยให้พี่เณรประโยค ๔ ประโยค ๕ ที่สนใจจะเป็นครูมาสอนน้องประโยค ๒ ประโยค ๓

            ช่วงปีแรกยังไม่ชัดเจน แต่ปีนี้ได้รับการสนับสนุนจากพระอาจารย์ผู้ใหญ่ จึงเริ่มดำเนินการ โดยส่วนตัวแล้วสามเณรมีแรงบันดาลใจอยากเป็นครู เพราะประทับใจพระอาจารย์รูปหนึ่ง ท่านเป็นพระอาจารย์สอนบาลีที่วัดสร้อยทอง ท่านพูดกับนักเรียนในห้องว่า ท่านไม่ได้สอนแค่ให้นักเรียนสอบผ่านเท่านั้น แต่ตั้งใจสอนให้นักเรียนไปเป็นครู คำพูดนี้จุดประกายให้สามเณรเอาสิ่งนี้มาเป็นความตั้งใจในชีวิต และหลังจากบวชอุทิศชีวิตแล้ว ก็มุ่งมั่นตั้งใจจะเป็นเปรียญธรรมประโยค ๙ ให้ได้

            ยิ่งใกล้วันบวชอุทิศชีวิต สามเณรก็ยิ่งปลื้ม เพราะเป็นความตั้งใจมาโดยตลอดสามเณรรู้สึกว่านี้คือเป้าหมายหลักในชีวิต อีกทั้งจากเดิมสามเณรเป็นส่วนหนึ่งในการจัดบวชอุทิศชีวิตให้รุ่นพี่ทุกปี ๆ สามเณรก็นับวันรอว่า อยากให้ถึงวันของสามเณรบ้าง เพราะสามเณรเชื่อว่า..การเป็นพระภิกษุจะทำให้ได้ทำหน้าที่ลูกหลวงพ่อ เป็นอายุพระศาสนาทำงานให้พระศาสนาได้เยอะกว่าการเป็นสามเณร...

 

640504_011.jpg

สามเณรวรวุฒิ พุทธธรรม ป.ธ.๕
หลังบวชแล้วจะได้รับฉายาว่า “ปสิฏฺฐชโย”

               ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๕ สามเณรบวชที่วัดแถวบ้าน จากนั้นวัดแถวบ้านก็ให้สามเณรมาเข้าอบรมนวกะ ๑ ในโครงการหน่อแก้วเปรียญธรรม รุ่นที่ ๑

                สามเณรตั้งใจว่า ถ้าบวชแล้วในอนาคตอยากจะทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมะให้เต็มที่ เพราะรู้สึกชอบการเทศน์สอน เอาความรู้เรื่องราวความจริงของชีวิตมาสอนให้ผู้คนได้คิดและพบที่พึ่งภายใน

             ยิ่งใกล้วันบวช สามเณรก็ยิ่งปลื้มกับการที่จะได้บวชอุทิศชีวิต เพราะการอุทิศชีวิต คือการที่ได้ตั้งสัตย์ปฏิญาณว่าจะไม่สึกเลย ซึ่งเหมือนเป็นการถวายกายและใจให้แก่พระพุทธศาสนา และถ้าเราบวชแล้วสมมุติว่าอีก ๒-๓ วันเกิดตายขึ้นมา ก็ถือว่าได้บุญใหญ่จากการบวชอุทิศชีวิตแล้ว และได้ตายในผ้าเหลือง ที่สำคัญยังภูมิใจด้วยว่า เกิดมาชาตินี้เราได้ทำสิ่งที่ยากที่สุดในชีวิตแล้ว

 

640504_012.jpg

สามเณรกล้าตะวัน พุ่มไสว ป.ธ.๔
หลังบวชแล้วจะได้รับฉายาว่า “รวิชโย”

             สามเณรโชคดีมากที่เข้าวัดตั้งแต่อยู่ในท้องโยมแม่ เพราะครอบครัวสามเณรเข้าวัดตั้งแต่สามเณรยังไม่เกิด จากการทำหน้าที่กัลยาณมิตรของหลวงลุง ด้วยเหตุนี้โยมแม่ก็จะปลูกฝังสามเณรตลอดว่า โตขึ้นบวชให้แม่นะ บวชแล้วจะดีอย่างนั้นอย่างนี้ อีกทั้งเวลาพาไปวัด โยมแม่ก็จะถามสามเณรว่า เห็นพระไหม..ลูกอยากเป็นพระที่สง่างามไหมที่สำคัญโยมพ่อโยมแม่จะสอนให้กราบเท้าท่านก่อนนอนทุกคืน หลังกราบเสร็จท่านก็จะลูบหัวแล้วบอกว่า โตขึ้นบวชให้แม่นะลูกนะ ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่สามเณรจะมีความคิดอยากบวชตั้งแต่เล็ก ๆ

                   พอปิดเทอมตอนอนุบาล ๒ สามเณรก็ได้สมัครเข้าโครงการเตรียมยุวธรรมทายาทกับทางศูนย์เด็ก ตอน ป.๑ ก็บวชภาคฤดูร้อนที่ปราจีนบุรี ป.๒ บวชที่ถ้ำเขาวง พอจบ ป.๖ ก็บวชในโครงการหน่อแก้วเปรียญธรรมรุ่นที่ ๑ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕

                  ช่วงวัยเด็กโยมแม่จะให้มาวัด มาเป็นอาสาสมัครตั้งแต่เด็ก แล้วก็ได้มีโอกาสไปยืนถวายการต้อนรับหลวงพ่อ ซึ่งพอหลวงพ่อมาถึง ท่านจะถามว่า ใครจะบวชบ้างจ๊ะตอนนั้นเด็ก ๆ ในกลุ่มทุกคนก็จะตอบพร้อมกันว่า “ผมจะบวชตลอดชีวิตครับ”

                   การมาวัดตั้งแต่เล็ก ๆ สามเณรคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก อย่าคิดว่าเด็กๆ ไม่เข้าใจธรรมะ เพราะธรรมะจะซึมเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ธรรมะจะทำให้สอนตัวเองได้ อย่างตอนเด็ก ๆถ้าโดนเพื่อนแกล้ง เพื่อนล้อ สามเณรก็จะคิดว่าที่เพื่อนแกล้งนั้นเป็นเพราะเขายังเห็นเราอยู่ในสายตา การแกล้งเป็นการที่เพื่อนเข้าหาเราอีกแบบหนึ่ง หรือเป็นวิธีเล่นกับเราอีกอย่างหนึ่ง พอคิดแบบนี้เราก็จะไม่โกรธ ไม่แกล้งคืน แถมยังทำให้เรามีความสุข

                  หลังจากบวชพระแล้ว สามเณรมีเป้าหมายอยากที่จะนั่งสมาธิ อยากเข้าถึงความสุขภายใน เพื่อยืนยันคำสอนของหลวงปู่ หลวงพ่อ ว่าพระธรรมกายภายในมีอยู่จริงจนสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำ 

                     การที่สามเณรตั้งใจบวชอุทิศชีวิตเป็นเพราะอยากทำตัวเองให้ดี แล้วก็อยากให้โยมพ่อโยมแม่ได้บุญกับสามเณรเยอะที่สุดเท่าที่จะเยอะได้

                    สุดท้ายนี้ สามเณรอยากบอกว่า การที่ใครคนหนึ่งจากบ้านมาตั้งแต่เด็ก ๆ และอยู่มาเรื่อย ๆ ว่ายากแล้วนั้น การที่จะอยู่ให้ถึงบวชอุทิศชีวิตได้ถือว่ายิ่งยากกว่า บางทีสามเณรบางรูปมีกำลังใจดีอยากบวชไปเรื่อย ๆ แต่พ่อแม่ไม่เห็นด้วย ให้สึกออกไปก็มีที่มีปัญหาอื่น ๆ จนกระทั่งต้องออกไปก็มี กว่าเราจะผ่านมาถึงจุดนี้ได้ก็ ๘-๙ ปี ที่ต้องทุ่มเทฝึกตัวมา จากวันแรกที่เห็นเพื่อนมาบวชด้วยกันประมาณ ๒๐๐ รูป ผ่านมาอาทิตย์หนึ่งเหลือประมาณ ๑๘๐ รูป ผ่านมาปีหนึ่งเหลือ ๘๐ รูป พอครบอายุบวชพระได้ในปีนี้และมีความตั้งใจบวชอุทิศชีวิตเหลือแค่ ๔ รูปเท่านั้น ดังนั้นคำว่า “บวชอุทิศชีวิต” คือคำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว...

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล