ทบทวนบุญ
เรื่อง : พระมหาศุภณัฐ จนฺทชโย ป.ธ.๙
จุดประทีปแปรอักษรพุทธประวัติ
ถวายเป็นพุทธบูชา
“春秋” ภาษาจีนสั้น ๆ ๒ ตัวอักษรนี้ อ่านว่า “ชุนชิว” แปลว่า “ฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง” ซึ่งดูเหมือนเป็นตัวอักษรที่ใช้บ่งบอกฤดูกาลธรรมดาทั่วไป แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับมีความไม่ธรรมดาและเต็มไปด้วยปรัชญาอันลึกซึ้งแฝงเร้นอยู่ในตัวอักษรทั้ง ๑๘ ขีดนี้ นั่นคือ ใดใดในโลกนี้ เมื่อมีความเกิดขึ้น ท้ายที่สุดย่อมถึงความเสื่อมและสูญสิ้นไป ดั่งใบไม้เมื่อผลิบานแล้ว ถึงเวลาย่อมร่วงโรยลอยหล่นไปเป็นวัฏจักร ทั้งหมดนี้นับเป็นความบังเอิญ และบรรจบกันทางคมความคิดของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำฮวงโห (จีน) และอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ (อินเดีย) ที่เห็นพ้องต้องกันในเรื่องดังกล่าวข้างต้น หรือที่ในทัศนะทางพระพุทธศาสนากล่าวว่า อุปาทะ (การเกิดขึ้น) ฐิติ (การตั้งอยู่) และ ภังคะ (การดับไป) นั่นเอง และเอกบุรุษที่นำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มาพร่ำสอนชี้ทางสว่างจนตกทอดเป็นมรดกธรรมจนถึงยุคของพวกเราท่านทั้งหลายนี้ก็หาใช่ใครอื่นไม่ นั่นคือ “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” นั่นเอง
อนึ่ง นับจากวันที่พระบรมศาสดาเอกของโลกดับขันธปรินิพพาน กาลเวลาล่วงเลยมาแล้ว ๒,๕๖๔ ปี แต่ถึงกระนั้นพุทธศาสนิกชนทั้งหลายยังคงตามระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและปฏิบัติตนตามคำสอนของระพุทธองค์อยู่มิเสื่อมคลาย และเนื่องในวันพระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์ วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ (วันวิสาขบูชา) ปีนี้ นับเป็นวันสำคัญอย่างยิ่งที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะได้มาตามระลึกถึงเหตุการณ์อัศจรรย์ ๓ ประการ ที่บังเกิดขึ้นพร้อมกันในวันเดียวแต่ทว่าต่างวาระเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีที่แล้ว คือ เป็นทั้งวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธองค์ นอกจากนี้ปัจจุบันวันวิสาขบูชายังนับได้ว่าเป็นหนึ่งในวันสำคัญสากลของโลกอีกด้วย
ย้อนไปเมื่อราว ๒๓ ปีที่แล้ว บริเวณชายฝั่งแดนตะวันตกของเกาะลังกา ณ กรุงโคลัมโบ วันที่ ๙-๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑ มีการจัดประชุม International Buddhist Conference ขึ้น ซึ่งมีผู้แทนจากหลากหลายประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนามาเข้าร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น ประเทศบังกลาเทศ จีน ลาว เกาหลีใต้ เวียดนาม ภูฏาน อินโดนีเซีย เนปาล กัมพูชา อินเดีย ปากีสถาน และไทย โดยผู้แทนจากประเทศทั้งหลายเหล่านี้ ต่างตกลงที่จะเสนอให้ องค์การสหประชาชาติ (UN) รับรองและประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดขององค์การสหประชาชาติ
เดิมองค์การสหประชาชาติมีการประกาศวันหยุดเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว และอาจจะก่อให้เกิดการติดขัดเรื่องงบประมาณและการบริหารจัดการแก่องค์การสหประชาชาติได้ ทางผู้เสนอร่างข้อมติ เรื่องการประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดขององค์การสหประชาชาติ โดยมีประเทศศรีลังกาเป็นผู้แทนคณะ จึงตัดสินใจที่จะเสนอร่างข้อมติขอให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลขององค์การสหประชาชาติแทนการเสนอให้เป็นวันหยุด
เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๕๔ พิจารณาระเบียบวาระที่ ๑๗๔ International Recognition of the Day of Vesak โดยมีฉันทามติให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของโลก ซึ่งประการสำคัญที่มติผ่านการรับรองจากสมัชชาสหประชาชาติในครั้งนี้ นั่นก็คือ วันวิสาขบูชา นับเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธองค์ อีกทั้งตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา ที่พระพุทธองค์ทรงเทศนาสั่งสอนนั้น เบื้องต้นล้วนเป็นไปเพื่อสันติภาพและสันติสุขของมนุษยชาติ เป็นเหตุให้มนุษย์ต่างมีเมตตาธรรมและขันติธรรมต่อกันและกัน อันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มนุษย์ โดยเฉพาะชาวอินเดียในยุคนั้นยกเลิกการแบ่งชนชั้นวรรณะ ซึ่งเปรียบเสมือนการเลิกทาสโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ อีกทั้งยังเป็นเหตุให้มนุษย์เลิกเบียดเบียนสัตว์ และคำสอนของพระพุทธองค์ยังเปิดกว้างและเปิดโอกาสให้ผู้คนทุกเชื้อชาติ ศาสนา และเผ่าพันธุ์เข้ามาศึกษาและพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ (เอหิปัสสิโก) ทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนนับได้ว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับที่องค์การสหประชาชาติดำเนินการและมุ่งหวังให้บังเกิดขึ้น
ดังนั้น ปี พ.ศ. ๒๕๖๔ นี้ ด้วยปรารภถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชาตามที่กล่าวมาข้างต้น ทางวัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี จึงจัดกิจกรรมงานบุญต่าง ๆ มากมายทางออนไลน์ โดยเฉพาะแอปพลิเคชันและโปรแกรมซูม (Zoom) ไม่ว่าจะเป็น พิธีปฏิบัติธรรมสาย-บ่าย พิธีถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน การแสดงพระธรรมเทศนา โดยพระมหาคองเขน สิริจนฺโท เป็นต้น นอกจากนี้กาลเวลาล่วงถึงยามพลบค่ำ พิธีจุดวิสาขประทีปเป็นพุทธบูชา ก็ได้เริ่มขึ้น อีกทั้งคณะสงฆ์ยังประชุมรวมกันเจริญพระพุทธมนต์และอธิษฐานจิตแผ่เมตตา พุทธบริษัททั้ง ๔ ก็ได้ร่วมกันสั่งสมบุญราศีช่วงสุดท้ายของวันใน พิธีฉลองชัยชิตัง เม สวดพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ครบ ๓,๔๐๖,๐๐๐,๐๐๐ จบ พร้อมกับลั่นระฆังทองระฆังธรรมเป็นจำนวน ๘๐ ครั้ง ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากันกับจำนวนพระชนมายุของพระบรมศาสดาขึ้น
ในปริโยสานกาลสมัยนี้ ผู้เขียนพร้อมทั้งทีมงาน จึงขอตั้งจิตอนุโมทนาบุญกับศรัทธาสาธุชนทุกท่าน ถึงแม้ในช่วงวิกฤตโรคระบาดเช่นนี้ ก็ยังคงสวมหัวใจของนักสร้างบารมีอันยากจะหาสิ่งใดมาโยกคลอนให้หวั่นไหวได้โดยง่าย เป็นดวงใจที่ไม่ว่าผ่านกาลนานไป ใบไม้จะผลิและบานไปสักกี่ครั้งกี่ครา “การสร้างบารมี” ที่สลักจารจดไว้ในดวงหฤทัย ก็มิอาจถูกคำว่า “ชุนชิว (春秋)” ตามนัยที่กล่าวมาข้างต้น พัดพาให้สูญหายไปได้ไม่ และบุญกุศลที่กระทำ ธรรมที่ประพฤติปฏิบัติดีแล้ว ย่อมนำประโยชน์และความสุขมาให้แด่นักสร้างบารมีทุกท่าน สมดังพระพุทธศาสนสุภาษิตที่มาใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ว่า
ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ
(สํ.ส. (บาลี) ๑๕/ ๒๐๓/ ๕๘)
ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้
(สํ.ส. (ไทย) ๑๕/ ๗๓/ ๘๐)
--------------------------------
สื่อมวลชนชั้นนำหลายแห่งเสนอข่าววันวิสาขบูชา
ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙
มีสื่อมวลชนชั้นนำหลายแห่งได้นำเสนอข่าววันวิสาขบูชาของวัดพระธรรมกาย เช่น Reuters, The New York Times, USNews, Getty Images News, Voice of America, The Straits Times, La Nación, il Post ประเทศอิตาลี, สื่อออนไลน์สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เป็นต้น