วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ พุทธวิธีประเมินความเจริญก้าวหน้าของตนเอง เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา
พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ
(หลวงพ่อทัตตชีโว)


วันอาทิตย์ที่ ๓๑ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๘


 

                  วันนี้ พวกเราพร้อมใจมาสร้างบุญส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับความสวัสดีมีชัยในปีใหม่   เพื่อให้การมาสร้างบุญกุศลครั้งนี้ บังเกิดผลกับตัวเองอย่างเต็มที่ หลวงพ่ออยากจะให้เรามองเห็นตัวเองได้ชัดๆ จึงตั้งใจนำวิธีประเมินความเจริญก้าวหน้าของตัวเอง ตามที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญพระองค์เป็นตัวอย่างมามอบให้พวกเรา เพราะเมื่อพวกเราปฏิบัติตามนี้แล้ว แต่ละวัน ที่ผ่านไป แม้เราจะแก่ด้วยวันเวลา แต่ว่าบุญบารมีของเราก็แก่กล้าตามไปด้วย แล้วบุญบารมีที่แก่กล้าจะไปผลักดัน ความเจริญก้าวหน้า ให้เกิดขึ้นมา ตามความคิด ความปรารถนาของเรานั่นเอง

                  การที่เป็นเช่นนี้ เพราะเราประกอบเหตุบุญไว้ดี เราจึงได้ผลดีตามมา เพราะฉะนั้น ในปีนี้อีกเหมือนกัน เราอยากรู้ว่า เราเจริญก้าวหน้าได้ดีเพียงไหน ก็ต้องมาตามประเมินจากหลักประเมิน ๔ ชุดต่อไปนี้ของพระพุทธองค์

                  ในการประเมินผลนั้น ขอให้เราทำใจเป็นกลางๆ อย่าเข้าข้างหรือหลอกตัวเอง เพื่อเราจะได้ทราบความจริงเกี่ยวกับ การประกอบเหตุบุญของตัวเราให้มากที่สุด โดยอาศัยคำสอบถามที่หลวงพ่อจะให้ดังต่อไปนี้


 

 แ บ บ ท ด ส อ บ ป ร ะ เ มิ น ผ ล ค ว า ม ป ร ะ พ ฤ ติ ตั ว เ อ ง

 

               ในชุดที่ ๑ นี้มีทั้งหมด ๑๔ ข้อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกว่า กรรมกิเลส แปลว่า การกระทำที่เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตใจ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นกับตัวของเราเอง ก็เรียกว่าเป็นเมฆบังจันทร์ของตัวเรา ถ้าบังเกิดขึ้นในครอบครัวก็เป็นสัญญาณว่า ครอบครัวของเราได้เข้าสู่วิกฤตการณ์ และถ้าไปเกิดขึ้นในสังคมใด บอกได้คำเดียวว่าสังคมนั้นมีจุดรั่ว เป็นความพิการของสังคม                สำหรับแบบประเมินชุดแรกนี้ เป็นวิธีการประเมินข้อบกพร่อง ข้อเสียหาย หรือเป็นรอยร้าวฉานของตัวเราเองก็ได้ ของครอบครัว หรือของสังคมก็ได้ รวมทั้งเป็นของประเทศชาติ บ้านเมืองด้วย แต่ในวันนี้ จะมุ่งมาที่การประเมินตัวเองก่อน เพื่อดูว่าใน ๑ ปีที่ผ่านมานี้ เราไปทำผิดอย่างนั้นใช่หรือไม่ใช่ ให้ตอบตัวเองให้ชัดๆ
                ข้อที่    ๑        เรายังมีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอยู่หรือเปล่า ตั้งแต่สัตว์เล็กจนกระทั่งสัตว์ใหญ่ เลยไปถึงคนก็ตาม เรามีเจตนาจะทำร้ายใครบ้างไหม ตอบตัวเองให้ชัด

                ข้อที่    ๒         เราไปลักทรัพย์ใครเขาบ้างไหม หรือมีเจตนาจะเอาทรัพย์สมบัติใครมาในทางที่ไม่ชอบบ้างไหม

                ข้อที่    ๓                   เราไปประพฤติผิดในลูกในเมียในสามีของใครเขาบ้างหรือเปล่า แวะข้างทางไปเรื่อยใช่หรือไม่

               ข้อที่    ๔         เราไปพูดเท็จกับใครเขาเอาไว้บ้างไหม ไม่ว่าจะพูดเท็จกับเพื่อน หรือกับใคร แม้พูดเท็จให้เขาสบายใจ อย่างนี้ก็ไม่ได้                                ทั้ง ๔ ข้อนี้เป็นการประเมินทางด้านกรรมกิเลส ๔ ซึ่งแท้ที่จริงคือศีล ๕ เพียงแต่ตัดข้อสุราออกไป หัวข้อต่อไป หลวงพ่อจะเจาะลึกการประเมินในเรื่องความลำเอียง ลองพิจารณาดูว่าเรามีนิสัยลำเอียงทั้ง ๔ อย่างนี้หรือเปล่า

                ข้อที่    ๕         เราลำเอียงเพราะรักหรือเปล่า ก็คือ ไม่ว่าเขาจะทำผิดอย่างไร ฉันเป็นเข้าข้างว่าไม่ผิดทุกทีไป

                ข้อที่    ๖         เราลำเอียงเพราะชังหรือเปล่า เจ้าคนนี้ ฉันไม่ค่อยจะชอบหน้า ทำอะไร ผิดนิดผิดหน่อย เป็นเล่นงานทันที

                ข้อที่    ๗         เราลำเอียงเพราะโง่หรือเปล่า คือ ไม่ทันคน โดนเขาหลอกเข้าให้ เลยลำเอียงโดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า

                ข้อที่    ๘         เราลำเอียงเพราะกลัวหรือเปล่า บางคนกลัวว่าลูกจะไม่รัก มีอะไรก็ประดังประเดให้ลูกหมด ลูกเลยเป็นลูกบังเกิดเกล้า เสียผู้เสียคนไป อย่างนี้ก็มี                ลำดับต่อมา ลองมาดูว่า เราได้ไปยุ่งเกี่ยวกับปากทางแห่งความฉิบหาย ความพินาศ เรียกว่า อบายมุข ๖ บ้างหรือเปล่า เรามาลองประเมินดูว่า

                ข้อที่    ๙         เราดื่มสุรายาเมาหรือสิ่งเสพติดหรือเปล่า

                ข้อที่    ๑๐        เรายังไปในสถานที่ที่ไม่ควรไปอยู่อีกไหม

            ข้อที่    ๑๑        เราหมกมุ่นในเรื่องบันเทิงเริงรมย์อยู่หรือเปล่า

               ข้อที่    ๑๒        เราเล่นการพนันอยู่หรือเปล่า

                ข้อที่    ๑๓        เรายังคบคนชั่วเป็นมิตรอยู่ไหม

                ข้อที่    ๑๔        เรายังเป็นคนขี้เกียจอยู่หรือเปล่า 
                        ทั้ง ๑๔ ข้อนี้ ถ้าเกิดขึ้นในสังคม ก็บอกว่านี้คือความพิการของสังคม แต่ถ้าเป็นในครอบครัวเรา นี้คือความพิการในครอบครัวของเรา หรือถ้าตัวเราเป็นเองก็เป็นความพิการในตัวเรา ที่ทำให้เราห่างจากหนทางพระนิพพานไปทุกทีๆ และทั้ง ๑๔ ข้อนี้ คือ เหตุแห่งความอัปมงคลทั้งหลายในโลกนี้

 

 แ บ บ ป ร ะ เ มิ น ผ ล เ รื่ อ ง มิ ต ร แ ท้ มิ ต ร เ ที ย ม

 

                         หลังจากที่เราได้ประเมินตนเองจากชุดแรกไปแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ประเด็นต่อมาให้เห็นว่า ความเสียหายทั้งหลายของมนุษย์เรา รวมทั้งความเลวร้ายทั้งหลายในโลกนี้ด้วย ต้นเหตุจริงๆ เริ่มมาจาก "การคบมิตรชั่ว" ด้วยเหตุนี้จึงทรงสั่งสอนให้เลือกคบคนให้เป็นให้ได้                                    พระองค์ทรงแบ่งเพื่อนออกเป็น ๒ ประเภท คือ มิตรแท้ ๔ ประเภท กับมิตรเทียม ๔ ประเภท แต่ละประเภทมีความประพฤติหลักของตัวเองอยู่ ๔ อย่าง รวมเป็นความประพฤติดีของมิตรแท้ ๑๖ อย่าง และความประพฤติชั่วของมิตรเทียม ๑๖ อย่าง สรุปว่าการประเมินผลความเป็นมิตรแท้-มิตรเทียมของคนเราต้องดูจากพฤติกรรม ๓๒ อย่าง หลวงพ่ออยากให้พวกเราลองส่องดูตัวเองกันว่า เราเป็นมิตรแบบไหนกันแน่ มิตรเทียม ๔ ประเภท          มิตรประเภทนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามีอยู่ ๔ ประเภท คือ

 ประเภทที่ ๑ มิตรปอกลอก ลองดูว่า เรามีนิสัยอย่างนี้ไหม
          ๑. คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
          ๒. ยอมเสียแต่น้อย เพื่อหวังเอามาก
          ๓. ไม่รับทำกิจให้เพื่อนในคราวมีภัย
          ๔. คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว

 ประเภทที่ ๒ มิตรดีแต่พูด ลองประเมินดูว่า เรามีนิสัยอย่างนี้ไหม
          ๑. ชอบเอาเรื่องบุญคุณที่เรามีต่อเขามาปราศรัย ผ่านไปนานแล้วก็ยังพูดอยู่
          ๒.            อ้างเรื่องที่ยังมาไม่ถึงมาปราศรัย เช่น มีอะไรขอให้บอก จะจัดการให้แจ๋วไปเลย แต่พอถึงเวลาก็ไม่ช่วย
          ๓. สงเคราะห์ด้วยสิ่งที่หาประโยชน์ไม่ได้ อ้างโน่นอ้างนี่สารพัดจะได้ไม่ต้องให้
          ๔. เมื่อเพื่อนมีกิจ ก็อ้างเหตุขัดข้องทุกที

 ประเภทที่ ๓ มิตรหัวประจบ ลองประเมินดูว่า เรามีนิสัยอย่างนี้ไหม
          ๑. เพื่อนจะทำชั่วก็คล้อยตาม
          ๒. เพื่อนจะทำดีก็คล้อยตาม
          ๓. ต่อหน้าเพื่อนก็สรรเสริญ
          ๔. ลับหลังเพื่อนก็นินทา

ประเภทที่ ๔ มิตรชักชวนในทางที่ฉิบหาย ลองประเมินดูว่า เราเคยมีนิสัยชักชวนเพื่อนทำนองนี้บ้างไหม
          ๑. ชักชวนให้เพื่อนดื่มสุรา
          ๒. ชักชวนไปเที่ยวกลางคืน
          ๓. ชักชวนไปเที่ยวเตร่เสเพล
          ๔. ชักชวนเล่นการพนัน
                   คนเราโดยทั่วไป ถ้ามาถึงจุดนี้ เราเริ่มจะพบแล้วว่า ที่เราว่าเราดีแสนดี ความจริงยังดีไม่จริง มันยังมีข้อบกพร่องอยู่ รู้แล้วจะได้แก้ไขกันเสีย 
มิตรแท้ ๔ ประเภท
                   คราวนี้เราหันมาดูฝ่ายดีบ้างว่า ที่ว่ามิตรแท้นั้น แท้จริงเป็นอย่างไร มิตรแท้หรือมิตรมีอุปการะที่ดีๆ มีอยู่ ๔ ประเภทอีกเหมือนกัน
 ประเภทที่ ๑ มิตรมีอุปการะ ลองประเมินดูว่า เรามีนิสัยอย่างนี้ไหม ดังนี้
          ๑. เมื่อเพื่อนประมาทก็ตักเตือนช่วยเหลือ เป็นกัลยาณมิตรให้
          ๒. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์ของเพื่อนไว้
          ๓. เมื่อเพื่อนมีภัย เป็นที่พึ่งพักพิงให้เพื่อนได้
          ๔. เพิ่มทรัพย์ให้สองเท่า คือให้มากกว่าที่เพื่อนเอ่ยปาก

 ประเภทที่ ๒ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ลองประเมินดูว่า เรามีนิสัยดีๆ อย่างนี้ไหม
          ๑. บอกความลับแก่เพื่อน เพื่อไม่ให้เพื่อนต้องเสียคนเสียของ
          ๒. ปิดความลับของเพื่อน
          ๓. ไม่ละทิ้งในยามอันตราย เมื่อเพื่อนมีอันตราย ไม่ทอดทิ้งเพื่อน
          ๔. แม้ชีวิตก็สละให้ได้ เป็นยังไงก็เป็นกัน

 ประเภทที่ ๓ มิตรมีใจรักใคร่ห่วงใย ลองประเมินดูว่า เรามีนิสัยอย่างนี้ไหม ดังนี้
          ๑. ไม่ยินดีในความเสื่อมของเพื่อน เราเป็นคนอย่างนั้นหรือเปล่า
          ๒. ยินดีในความเจริญของเพื่อน เมื่อเพื่อนได้ดี เรายินดีกับเพื่อนหรือเปล่า
          ๓. ห้ามคนที่ติเตียนเพื่อน ใครเขานินทาเพื่อนก็ช่วยห้ามช่วยแก้ไขแทนเพื่อนหรือเปล่า
          ๔. สรรเสริญคนที่สรรเสริญเพื่อนเรา ใครดีกับเพื่อนเรา ก็นิยมชื่นชมกับคนๆ นั้นด้วย 

ประเภทที่ ๔ มิตรแนะนำประโยชน์ ลองประเมินดูว่า เรามีนิสัยอย่างนี้บ้างไหม
          ๑. ห้ามเพื่อนจากความชั่ว
          ๒. แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี
          ๓. ให้ได้ฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่ยังไม่เคยฟัง
          ๔. บอกทางไปสวรรค์ให้
                          ตกลงเราก็ได้ตะแกรงมาร่อนดูความดี หรือว่าความประพฤติดีของมิตรแท้ ว่ามีอยู่ในตัวของเรากี่ข้อ ครบหมดทั้ง ๑๖ ข้อไหม ถ้าไม่ครบก็ไปทำให้ครบ

 แ บ บ ป ร ะ เ มิ น ผ ล เรื่ อ ง ห ัว ใ จ กั ล ย า ณ มิ ต ร

                         ชุดนี้เป็นชุดที่ ๓ แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นว่า พวกเราที่เข้าวัดก็ล้วนมีจิตใจงามทั้งนั้น อยากจะเป็นกัลยาณมิตรให้กับคนอื่น แต่ครั้นพอไปเป็นกัลยาณมิตรให้กับคนอื่นจริงๆ ด้วยความที่เราเองยังดูคนไม่เป็น บางทีเขาไม่เข้าใจ เลยด่าเอาให้เสียอีก บางทีเขาก็ไล่ออกจากบ้าน เพราะเราดูคนไม่เป็น ไม่ทันคน
                          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนวิธีดูคน อยากจะรู้ว่าใครเป็นอย่างไร ในทางที่เจาะลึกลงไป พระองค์ทรงให้ทำอย่างไร สำหรับประเด็นนี้หลวงพ่ออยากจะให้เอาไว้เจาะดูตัวเองว่าได้มีการพัฒนาตัวเองเป็นขั้นเป็นตอนอย่างไรบ้าง สมกับการที่จะบำเพ็ญหน้าที่กัลยาณมิตรต่อไปหรือไม่ ดังนี้
               ข้อที่    ๑         คนๆ นั้นอยากเห็นพระหรือไม่อยากเห็นพระ ถ้าไม่อยากจะเห็นพระ ก็ต้องมาคิดต่อว่า ทำอย่างไรเขาจึงจะอยากเห็นพระ แล้วก็มีกุศโลบายที่นุ่มนวล
               ข้อที่    ๒         เมื่อเห็นพระแล้ว อยากฟังท่านเทศน์หรือว่าไม่อยากฟัง ถ้าเขาไม่อยากฟังธรรม ต้องหาทางให้เขาอยากฟังธรรมโดยวิธีการแยบคายให้ได้
               ข้อที่             ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจฟังธรรม
 
              ข้อที่             ตั้งใจฟังแล้ว ตั้งใจจำหรือไม่
 
              ข้อที่    ๕         พอจำได้แล้ว นำมาไตร่ตรองหรือเปล่า
               ข้อที่             นำธรรมะที่ไตร่ตรองนั้นมาปฏิบัติหรือเปล่า
               ข้อที่            บอกพรรคพวกเพื่อนฝูง ชักชวนกันมาประพฤติปฏิบัติธรรมตามกัน

 

 แ บ บ ป ร ะ เมิ น ผ ล เรื่ อง ค ว า ม รู้ จั ก จั บ จ่ า ยใ ช้ ส อ ย  

 

                        มาถึงอีกเรื่องหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงสั่งให้ประเมิน คือการประกอบอาชีพ และความรู้จักจับจ่ายใช้สอยของพวกเรา คือมาตรวจสอบดูว่า อาชีพของเราที่ทำอยู่ขณะนี้ สมควรหรือไม่สมควรอย่างไร ครั้นเมื่อได้ทรัพย์มาแล้ว เราจะนำทรัพย์นั้น มาเลี้ยง ตัวเองและสร้างบุญสร้างกุศลได้อย่างไรบ้าง
                          แบบประเมินเรื่องนี้ หลวงพ่อนำมาจากพระไตรปิฎกชุดที่เรียกว่า "กามโภคีสูตร" เรามาพิจารณากันเป็นข้อๆ ไป ขอให้ตั้งใจพิจารณาให้ดีด้วย                          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทรงพิจารณาตัวเองในเรื่องของการจับจ่ายใช้สอยไว้ดังนี้                          พระองค์ทรงให้พิจารณาพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการหาทรัพย์ การใช้ทรัพย์ไว้เป็นข้อๆ ว่า

 ข้อที่ ๑ การแสวงหาทรัพย์ เป็นอย่างไร ข้อนี้แบ่งการพิจารณาออกเป็น ๒ พวก
              ๑.๑) ได้มาแบบชอบธรรม
              ๑.๒) ได้มาแบบไม่ชอบธรรม 

ข้อที่ ๒ การใช้ทรัพย์สำหรับเลี้ยงชีพเลี้ยงชีวิตของเราเป็นอย่างไร ข้อนี้แบ่งการพิจารณาออกเป็นอีก ๒ พวก
              ๒.๑) เอามาเลี้ยงตัวเองอย่างดี
              ๒.๒) ไม่เลี้ยงตน ยอมอด ๆ อยาก ๆ
 ข้อที่ ๓ การใช้ทรัพย์ทำบุญทำทานของเราเป็นย่างไร ข้อนี้ก็ยังแบ่งเป็นอีก ๒ พวก
              ๓.๑) ทำบุญ
              ๓.๒) ไม่ทำบุญ

ข้อที่ ๔ ปัญญาที่จะทำตัวเองให้หลุดให้พ้นจากกิเลสเป็นอย่างไร
 
             สำหรับข้อนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำพฤติกรรมการหาทรัพย์ การใช้ทรัพย์จาก ๓ ข้อข้างต้นมาประกอบด้วย แล้วแบ่งให้เห็นเป็น ๑๐ กลุ่ม เพื่อให้เราพิจารณาว่าการหาทรัพย์ การใช้ทรัพย์ของเรานั้น ยิ่งมีสมบัติ เรายิ่งมีปัญญา ยิ่งมีบุญ หรือว่า ยิ่งมีสมบัติ ยิ่งก่อเวร หรือสร้างบาป

              กลุ่มที่ ๑ หาทรัพย์มาโดยความไม่ชอบธรรม ได้มาแล้วไม่เลี้ยงตน แล้วก็ไม่ยอมทำบุญทำทานอีกด้วย พระองค์ทรงเรียกว่า คนประเภททรัพย์สกปรก อดอยาก แล้วก็ตระหนี่ขี้เหนียวไม่ยอมทำบุญทำทาน เรื่องมีปัญญาไม่มีปัญญา ไม่ต้องพูดแล้ว เพราะว่าไม่มีแน่ ๆ อยู่แล้ว

              กลุ่มที่ ๒ ได้ทรัพย์มาแบบไม่ชอบธรรม ได้มาแล้วเลี้ยงตน แล้วไม่ยอมทำบุญ นั่นคือ ทรัพย์สกปรก กินอิ่ม แต่ว่า ตระหนี่ขี้เหนียว

              กลุ่มที่ ๓ หาทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ได้มาแล้วก็เลี้ยงตน แล้วก็ทำบุญทำทานด้วย นั่นคือทรัพย์สกปรก กินอิ่ม มีโอกาส ก็ทำบุญทำทาน ประเภทนี้จะเรียกว่าผู้ร้าย-ผู้ดี ก็เรียกได้

              กลุ่มที่ ๔ หาทรัพย์โดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง แล้วไม่เลี้ยงตน และไม่ทำบุญ คือ ทรัพย์ก็หากินทั้งสะอาด ทั้งสกปรก แล้วก็อด ๆ อยาก ๆ แถมขี้เหนียวด้วย นี่เป็นอีกพวกหนึ่ง

              กลุ่มที่ ๕ หาทรัพย์โดยชอบธรรมบ้างไม่ชอบธรรมบ้าง แล้วเลี้่ยงตน แต่ไม่ทำบุญ คือ หาเลี้ยงตัวเองทั้งทรัพย์ที่สะอาด และสกปรกแล้วก็เลี้ยงเสียอิ่มหนำสำราญแต่ว่าก็ขี้เหนียวไม่ทำบุญทำทาน

              กลุ่มที่ ๖ หาทรัพย์โดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง แล้วเลี้ยงตน และทำบุญ คือ ทรัพย์สะอาดบ้างสกปรกบ้าง เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ แล้วทำบุญทำทานไม่ขี้เหนียว

              กลุ่มที่ ๗ ได้ทรัพย์มาโดยชอบธรรม แต่ไม่เลี้ยงตน แล้วก็ไม่ทำบุญ นั่นคือเป็นประเภททรัพย์สะอาด แต่ยังอดอยากแล้วก็ตระหนี่

              กลุ่มที่ ๘ ได้ทรัพย์มาโดยชอบธรรม เลี้ยงตน แต่ไม่ทำบุญ นั่นคือ ทรัพย์สะอาดแล้วก็เลี้ยงตนเอง ให้อิ่มหนำสำราญ แต่ว่าตระหนี่

              กลุ่มที่ ๙ ได้ทรัพย์มาโดยชอบธรรม แล้วก็เลี้ยงตน และทำบุญ คือ ทรัพย์ก็สะอาดเลี้ยงให้อิ่มหนำสำราญดีทั้งครอบครัว แล้วก็ใจบุญสุนทานด้วย

              กลุ่มที่ ๑๐ ได้ทรัพย์มาโดยชอบธรรม แล้วก็เลี้ยงตน ทำบุญ มีปัญญาเป็นเครื่องหลุดพ้น นั่นคือทรัพย์สะอาด แล้วก็กินอย่างอิ่มหนำสำราญ ทำบุญด้วย แล้วก็นั่งสมาธิกันตัวตั้งเลย              พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญกลุ่มที่ ๑๐ นี้ และหลวงพ่อก็อยากให้พวกเรายึดเอากลุ่มที่ ๑๐ นี้เป็นต้นแบบในการหาทรัพย์ และใช้ทรัพย์ เพราะนั่นหมายความว่าเรายิ่งมีสมบัติก็ยิ่งมีปัญญา และก็มีบุญบารมีเพิ่มขึ้นอีกด้วย

              สำหรับวันนี้ หลวงพ่อคงฝากให้พวกเรานำแบบการประเมินความเจริญก้าวหน้าของตัีวเองตามพุทธวิธีเช็คตัวเองกันอย่างนี้ ไปประเมินตัวเอง ให้คะแนนตัวเอง แล้วเก็บไว้ที่หัวนอน เพื่อจะได้นำมาดูบ่อย ๆ ใช้เตือนตัวเองด้วย เตือนสมาชิกในครอบครัวด้วย ทั้งเขาและเราจะได้มีความเจริญร่วมกัน

              สุดท้ายนี้        ขอให้ลูกของหลวงพ่อทุกคน จงเป็นผู้ที่ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเองให้มั่นคงอยู่ในเส้นทางโลก และทางธรรม บำเพ็ญตน เป็นกัลยาณมิตรที่ยอดเยี่ยมให้แก่ชาวโลกเป็นขุนพลกล้าของกองทัพธรรม เป็นมหาเศรษฐีใจบุญค้ำจุนพระพุทธศาสนา ตราบถึงที่สุดแห่งธรรมเทอญ
 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๕ ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล