วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ "วิธีให้กำลังใจ.. เวลาไปเยี่ยมหรือไปดูแลญาติที่กำลังป่วยหนัก"

 

 

ถ้าหากเราต้องไปเยี่ยมหรือไปดูแลญาติที่ป่วยหนัก เราควรจะให้กำลังใจเขาอย่างไรดีเจ้าค่ะ ?

หลวงพ่อขอตอบรวมๆ ก็แล้วกัน สำหรับผู้ป่วยทั้งที่ป่วยหนัก และป่วยไม่หนักนั้น แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทด้วยกัน คือ

             ประเภทที่ ๑ ไม่สนใจศึกษาธรรมะและการปฏิบัติธรรม

             ผู้ป่วยซึ่งแต่ไหนแต่ไรมา ไม่เคยสนใจศึกษาธรรมะเลย ในฐานะที่เขากับเราคุ้นเคย สนิทสนม หรือเป็นญาติกันด้วยซ้ำ

             เมื่อเขาป่วย หนัก โอกาสที่จะได้กลับบ้านอีกครั้งหนึ่ง มีหรือไม่มี ก็ยังไม่รู้ อาจจะเสียชีวิตใน คราวนี้ก็ได้ หากปล่อยให้ตายไปเฉยๆ เขาคงไปไม่ค่อยดี เพราะเขาไม่สนใจธรรมะ ไม่ชอบทำบุญ แถมยังสร้างบาปกรรมเอาไว้อีก

             พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า ใครที่ใจขุ่นมัวละโลกไปแล้ว ย่อมมีทุคติเป็นที่ไป ในเมื่อเกิดมาเป็นญาติกันแล้ว เราคงไม่ยอมปล่อยให้เขาไปไม่ดีแน่ๆ

             เราจึงต้องหาทางให้เขาหันมาสนใจธรรมะให้ได้ แต่การที่จะทำให้ ใครคนใดคนหนึ่งสนใจธรรมะได้นั้น ตัวเราเองก็ต้องมีธรรมะในใจพอสมควร แล้วครั้งนี้ถือว่าเป็นการช่วงชิงเวลากัน ทีเดียว เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่เราจะต้องทำคือ ให้กำลังใจเขาก่อน

             ให้กำลังใจในที่นี้ไม่ใช่ไปปลอบใจว่า "คุณยังไม่ตายหรอกนะ"แต่ให้กำลังใจให้เขานึก ถึงความดีที่เคยทำไว้ เพราะคนเราไม่ว่าจะสนใจหรือไม่สนใจธรรมะก็ตาม เมื่อเกิดมาเป็นคนแล้ว คงจะเคยทำความดีกันมาบ้าง ส่วนความไม่ดีของเขาเราอย่าไปพูด

             พูดถึงแต่ความดีที่เขาเคยทำไว้ เช่น คุณเคยบริจาคเงินให้กับโรงพยาบาลนั้น คุณเคยสร้างโต๊ะ สร้างเก้าอี้ ให้กับโรงเรียนนี้ คุณเคยตักบาตรกับพระภิกษุ หรือถ้าไม่เคยตักบาตร คุณก็เคยเลี้ยงดู คุณพ่อคุณแม่มา อะไรเหล่านี้เป็นต้น พูดเพื่อให้เขาได้นึกถึงความดีที่เคยทำมาเสียก่อน ใจของเขาจะได้ฟู

             เมื่อใจของเขาฟูดีแล้ว ก็เป็นเรื่องที่จะต้องให้ความเข้าใจถูกกับเขาต่อไป ว่าขณะที่เขากำลังนอนป่วยอยู่นี้ งานการที่มีอยู่ทั้งหลายก็ตัดใจลืมไปเสียบ้าง

             เพราะอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด อย่าไปกังวลกับมันมากนัก เดี๋ยวจะทำให้ เป็นทุกข์เสียเปล่าๆ คือให้เขารู้จักตัดกังวล แล้วถ้าเขาพอจะฟังธรรมะบทไหนได้ เราก็พูดให้เขาฟังไปพอสมควร

             สิ่งที่จะต้องแนะนำต่อไปก็คือ แนะนำให้เขาทำสมาธิ ไม่ว่าจะทำสมาธิแบบไหน สำนักใด ไม่ว่ากัน ให้เขาทำไปเถอะ จะกำหนดลมหายใจเข้าออก จะกำหนดองค์พระ หรือจะกำหนดดวงแก้วไว้ในตัวก็ได้

             แต่ว่าเนื่องจากเขาไม่ค่อยสนใจธรรมะมาก่อน เราอาจจะต้องพูดในเชิงของวิทยาศาสตร์ เช่น เล่าประสบการณ์ในการทำสมาธิของเราให้เขาฟัง เพื่อเขาจะได้รู้สึกว่าเราไม่ได้ไปสอนเขา

             แล้วให้เขาทดลองทำตามในลักษณะที่ว่า เมื่อทำสมาธิแล้วจะช่วยให้คลายเครียด เมื่อคลายเครียดได้แล้วทีนี้ไม่ว่าจะเป็น ยาฉีด ยากิน หรือยาทา ก็จะออกฤทธิ์ได้เร็ว ออกฤทธิ์ได้เต็มที่ เพราะฉะนั้น โอกาสที่เขาจะหายป่วยก็มี

             แต่ถ้าดูแล้วอาการของเขาหนักมากจริงๆ ชนิดเป็นตายเท่ากัน อย่างนี้ต้องรีบตัดใจบอกให้เขารู้ตัว ถึงเขาไม่ค่อยสนใจธรรมะ แต่ก็ต้องหาทางเอาบุญช่วยบ้าง

             ในเมื่อกายก็ให้คุณหมอรักษาไป ใจก็ให้เขานึก ถึงความดีที่เคยทำมา สมาธิก็ลองทำดูแล้ว เพราะฉะนั้น ตอนนี้ทำบุญทำทานอะไรได้ให้รีบทำ เพื่อเอาบุญมาช่วยแต่ไม่ต้องถึง กับบอกว่าเดี๋ยวตายแล้วจะไม่ได้ทำบุญหรอกนะ

             เพียงแนะนำว่า เขาควรจะทำบุญทำทานที่ไหน แล้วก็ให้ลูก ให้หลาน ให้คนเฝ้าไข้ เอาไปทำตอนนั้นเลย

             ก่อนนอนก็เอาพวกผลไม้ ของแห้ง ของกระป๋อง มาเตรียมไว้ ให้เขาอธิษฐานให้ดี ตอนเช้าก็ให้ใครเอาไปตักบาตรให้ สำหรับคนป่วยหนักประเภทที่ไม่ค่อยจะสนใจธรรมะเท่าไรอย่างนี้ อย่างน้อยเขายังจะได้บุญติดตัวไปบ้าง ซึ่งก็ยังดีกว่าปล่อยให้เขาตายไป โดยไม่ได้ทำบุญอะไรเลย

             ประเภทที่ ๒ สนใจศึกษาธรรมะและปฏิบัติธรรม

             สำหรับคนที่สนใจศึกษาธรรมะ เข้าวัดปฏิบัติธรรม ตักบาตร รักษาศีล สวดมนต์ทำภาวนา มาตลอดแล้วไม่ยาก เพียงแค่ไปช่วยทบทวนถึงเรื่องที่เขาเคยทำบุญทำทาน เคยปฏิบัติธรรม เคยทำความดี มาอย่างมากมายนั้น

             หากว่าเขาทำบุญทำทานไว้เยอะ ใบอนุโมทนามีอยู่เท่าไรก็ให้คนทางบ้านเขานั่นแหละ ไปขนเอามาให้หมด แล้วคนเฝ้าไข้ก็เอามาอ่านทบทวนให้เขาฟัง ใจเขาจะได้อิ่มอยู่ในบุญ

             ยิ่งถ้าเขาเคยสร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน หรือเคยร่วมสร้าง พระธรรมกายประจำตัว พระมหาธรรมกายเจดีย์ ไปเอารูปของสิ่งเหล่านั้นมาให้เขาดู

             ถ้าเป็นผู้ชายเคยบวชมาแล้ว ก็เอารูปพระอุปัชฌาย์ รูปตัวเขาเองสมัยบวชเป็นพระภิกษุ มาตั้งให้ดูเลย ให้ใจเขาอิ่มอยู่ในบุญอย่างนี้ แล้วช่วยกันทบทวนบุญของเขาอยู่เรื่อยไป

             ส่วนบรรยากาศในห้องนั้น เราก็นำเทปธรรมะมาเปิดให้ฟังเป็นช่วงๆ ไม่ว่าจะเป็น เทปสวดมนต์ เทปเทศนาหรือเทปนำนั่งสมาธิก็ได้คือสร้างบรรยากาศ ให้เหมือนอย่างกับจำลองเอาวัดมาไว้ ในห้องคนป่วยนั่นเอง

             ยังไม่พอ ในช่วงเวลาอย่างนี้ ถ้าจะให้ชักชวนให้เขาทำบุญทำทานอะไรเพิ่ม ก็ทำไป เพราะเขาเป็นนักทำบุญอยู่แล้ว อะไรที่เห็นว่าเป็นบุญใหญ่ ซึ่งเขาควรจะได้บุญนี้ แม้จะเป็นเฮือกสุดท้ายเขา ก็น่าจะได้ อย่างนี้ก็ต้องทำ

             ยกตัวอย่าง หลวงพ่อเคยไปเยี่ยมคนไข้ประเภทที่ไม่รู้สึกตัวแล้ว นอนอยู่ในห้องไอซียู ดูเหมือนอย่างกับเป็นเจ้าชาย หรือว่าเจ้าหญิงนิทรา แต่ว่าในกรณีที่เขาเป็นนักปฏิบัติธรรมมาก่อน หลวงพ่อเคยใช้วิธีไปพูดดังๆ ที่ข้างหูของเขาว่า "ได้ยินเสียงไหม ถ้าได้ยินช่วยกะพริบตาด้วย"

             ก็ป่วยหนักขนาดต้องอยู่ห้องไอซียูอย่างนั้น จะกะพริบอะไรได้นักหนา แค่เห็นหางตาขยับสัก นิดหนึ่งก็ดีใจแล้ว เพราะแสดงว่าข้างในยังใช้ได้อยู่ แต่เพื่อให้แน่ใจยิ่งขึ้นก็พูดอีกว่า "ถ้าได้ยินเสียง แล้วจำได้ ช่วยกะพริบตา ๒ ครั้ง"

             พอเห็นเขากะพริบได้ ๒ ครั้ง อย่างนี้เราเป็นต่อแล้ว ให้ทบทวนบุญของเขา โดยจะตะโกน ดังๆ ก็ไม่ว่ากัน เมื่อเขารับบุญได้ เดี๋ยวบุญก็มาหล่อเลี้ยง ที่ว่ากำลังจะไปๆ ยังมีโอกาสกลับมาได้อีกครั้งเลย

             เพราะพวกนี้จะรู้ตัวเป็นครั้งคราว ไม่ได้รู้ตัวตลอดเวลา จึงต้องทบทวนกันเ ป็นช่วงๆ อาจจะทุกๆ ๑๐-๑๕ นาทีก็ได้ เช่น จำได้ไหม คุณเคยทำบุญนั้น ทำบุญนี้ จำได้ไหม เคยไปนั่งสมาธิกันที่นั่น ที่นี่ ก็ว่าไป

             และเดี๋ยวจะเอาผ้าป่าไปทอดที่นั่น เช้านี้จะเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้ไปตักบาตรให้ ตักบาตรเสร็จ ก็กลับมารายงานด้วยว่า ไปตักบาตรให้เขามากี่องค์

             บุญเก่าก็ทบทวน บุญใหม่ก็สร้างขึ้น พอบุญเก่ากับบุญใหม่มาบรรจบกัน อาจจะทำให้เขามีโอกาสหายป่วยได้ ถึงแม้ไม่หายแต่ฉวยบุญใหม่ได้ตอนเฮือกสุดท้าย ก็ยังดี

             อย่างนี้จึงจะสมกับที่เป็นเพื่อน เป็นญาติกัน คือไม่ทิ้งกันแม้กระทั่งวินาทีสุดท้าย แล้วถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ตัวเราเองต้องปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกายเร็วๆ แล้วตามไปส่งเขาให้ถึงวิมานเลยทีเดียว

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล