ตอน เกิดมาทั้งทีทำความดีให้ถึงพร้อม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในปุญญวิปากสูตร ความว่า
“มา ภิกฺขเว ปุญฺญานํ ภายิตฺถ สุขสฺเสตํ ภิกฺขเว อธิวจนํ ยทิทํ ปุญฺญานนฺติ อภิชานามิ โข ปนาหํ ภิกฺขเว ทีฆรตฺตํ อิฏฺฐํ กนฺตํ มนาปํ วิปากํ ปจฺจนุภูตํ
ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน”
บุญเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิต พระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งโลกทั้งปวง ทรงเห็นชัดด้วยญาณทัสนะอันบริสุทธิ์ถึงอานุภาพแห่งบุญ ทรงเห็นอดีตมนุษย์ผู้ทำบาป ต้องไปเสวยทุกข์ในมหานรก และทวยเทพที่กำลังเสวยทิพยสมบัติอยู่ในสุคติโลกสวรรค์ เพราะสร้างบุญมาดี นิพพาน ภพสาม โลกันต์เป็นอย่างไร พระพุทธองค์ทรงเห็นแจ้งแทงตลอดหมด จึงทรงสรุปให้เหล่าพุทธบริษัทได้ทราบว่า “ปุญฺญานิ ปรโลกสฺมึ ปติฏฺฐา โหนฺติ ปาณินํ บุญเท่านั้นเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ในปรโลก”
บรรพบุรุษของเราได้เห็นคุณค่าของบุญ จึงดำเนินชีวิตตามหลักของพระพุทธศาสนา มีการทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนากันมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ประเทศชาติมีแต่ความสงบสุข มีความอุดมสมบูรณ์ตลอดมา
แต่ในปัจจุบันเราให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยีกันมาก มุ่งพัฒนาทางด้านวัตถุ จนลืมพัฒนาจิตใจ ทำให้คนส่วนใหญ่ประมาทในการสั่งสมบุญ ซึ่งจะเป็นเสบียงที่สำคัญในการเดินทางไกลไปสู่ปรโลก บางคนมีความเข้าใจไม่ถูกต้อง คิดว่าบุญบาปไม่มี เพราะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น จึงไม่เชื่อในเรื่องทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว
แต่ผู้รู้ทั้งหลายท่านได้พิสูจน์แล้วว่าบุญบาปมีจริง ทำดีได้ดีจริง ทำชั่วได้ชั่วจริง เพราะไปรู้ไปเห็นได้ด้วยธรรมจักขุและญาณทัสนะที่ละเอียดลึกซึ้ง เกินกว่าวิสัยของปุถุชนจะคิดเองได้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิด เรียกว่า เป็นอจินไตย ดังที่พระพุทธองค์ตรัสเอาไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ อย่างนี้ ไม่ควรคิด ผู้ใดคิด ผู้นั้นพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า จะได้รับความลำบากเปล่า”
อจินไตย ๔ อย่าง ได้แก่ พุทธวิสัย คือ เป็นวิสัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น เช่น การแสดงปาฏิหาริย์ของพระพุทธองค์ เป็นต้น อย่างที่ ๒ คือ ฌานวิสัย เป็นวิสัยของผู้มีฌาน เช่น การเหาะเหินเดินอากาศ
อย่างที่ ๓ คือ วิบากแห่งกรรม เป็นผลของการกระทำ ถ้าทำบุญย่อมได้รับผล คือ ความสุข ถ้าทำบาปย่อมได้รับผล คือ ความทุกข์ และประการสุดท้าย คือ โลกจินดา คือ ความคิดในเรื่องโลก เช่น ใครเป็นผู้สร้างโลก ใครเป็นผู้สร้างดวงอาทิตย์ เป็นต้น
เรื่องเหล่านี้คิดเอาเองด้วยปัญญามนุษย์ไม่ได้ ต้องอาศัยปัญญาอันบริสุทธิ์ของพระธรรมกายภายใน ดังนั้น เรื่องอจินไตยจึงไม่สามารถรู้ได้ด้วยการคิด แต่รู้ได้ด้วยญาณทัสนะ และเห็นได้ด้วยธรรมจักขุของพระธรรมกาย คล้ายกับการรักษาโรคของคนในสมัยก่อน แต่เดิมไม่รู้ว่าโรคต่างๆ เกิดมาจากสาเหตุอะไร เพราะเชื้อโรคไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต่อมาเมื่อมีกล้องจุลทรรศน์ เราจึงสามารถมองเห็นตัวของเชื้อโรคได้
บุญและบาปก็เช่นเดียวกัน เป็นของละเอียดที่เรามองไม่เห็นด้วยตามนุษย์ แต่สามารถเห็นได้ด้วยตาของพระธรรมกาย ผู้ที่เข้าถึงธรรมกายแล้ว จึงจะซาบซึ้งเรื่องของบุญและบาป จะเข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องของกฎแห่งกรรม
เพราะพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของเหตุและผล บุคคลประกอบเหตุอย่างไร ย่อมได้รับผลเช่นนั้น เหมือนการปลูกถั่วย่อมได้ถั่ว ปลูกงาย่อมได้งา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องผลของบุญเอาไว้มากมาย ดังตัวอย่างของผู้ที่รักในการทำบุญและได้ประสบผลบุญ ดังต่อไปนี้
*มก. ปุญญวิปากสูตร เล่ม ๓๗/๑๙๒
*ในสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าอดีตชาติของพระองค์ให้ฟังว่า
ในภพชาติหนึ่งได้เสวยพระชาติเป็นลูกเศรษฐี และเห็นทุกข์เห็นโทษในการครองเรือน จึงได้ทำการบริจาคมหาทานตลอด ๗ วัน ให้กับยาจกและชาวพระนคร พอครบ ๗ วัน จึงทิ้งทุกอย่าง ใครอยากได้อะไรให้มาขนเอาไป จากนั้นจึงเดินทางเข้าป่าหิมพานต์ ออกบวชเป็นดาบส ท่านตั้งใจสมาทานมั่นในศีล และเจริญสมาธิภาวนา บำเพ็ญตบะธรรม ปลีกวิเวกอยู่คนเดียวอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ท่านใช้เวลาไม่นานนัก ได้บรรลุอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้
หลังจากนั้น ท่านตั้งใจเจริญเมตตาจิตตลอด ๗ ปี เมื่อถึงคราวละโลก ได้ไปบังเกิดในพรหมโลก เป็นมหาพรหมผู้มีอานุภาพมาก ไม่ได้กลับมาเกิดในโลกมนุษย์ตลอด ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป หมายถึง โลกนี้เจริญขึ้นสูงสุดและเสื่อมลงต่ำสุดถึง ๗ รอบ ท่านยังเสวยสุขที่เกิดจากฌานสมาบัติ ไม่เคลื่อนไปไหน เมื่อโลกถึงความพินาศ คือ ถูกไฟบรรลัยกัลป์เผาผลาญทำลาย
ท่านได้เข้าถึงพรหมโลกชั้นอาภัสสรา เมื่อโลกยังไม่ถึงความพินาศ ได้เข้าถึงวิมานพรหมอันว่างเปล่า เป็นท้าวมหาพรหม ผู้เป็นใหญ่กว่าพรหมทั้งหมด ใครๆ ครอบงำไม่ได้ เมื่อกาลเวลาผ่านไป ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏะกัป ท่านได้จุติมาบังเกิดเป็นท้าวสักกเทวราชในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ๓๖ ครั้ง
ครั้นเคลื่อนจากการเป็นจอมเทพ ก็มาเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้ตั้งอยู่ในธรรม เป็นธรรมราชา มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ คือ จักรแก้ว แก้วมณี ขุนพลแก้ว ขุนคลังแก้ว นางแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มีบุตรมากกว่าพันคน แต่ละคนล้วนแต่กล้าหาญชาญชัย ย่ำยีข้าศึกได้ สามารถครอบครองปฐพีมณฑลนี้ อันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต โดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาสตราอาวุธ
ท่านสั่งสอนคนในพื้นปฐพีให้ตั้งมั่นในศีลห้า ด้วยความเป็นพระราชาผู้เรืองเดช มีวัตถุเครื่องปลื้มใจมากมาย มีฤทธิ์มีเดชมีอานุภาพมาก มหาชนฟังธรรมแล้วบังเกิดความเลื่อมใส ได้ปฏิบัติตามธรรมที่พระเจ้าจักรพรรดิทรงแนะนำ ต่างมีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป
นี่เป็นเรื่องอานุภาพของบุญที่นำความสุขและความสำเร็จมาให้ คือ ถ้าหากมีบุญมาก เวลามาเกิดจะมาเป็นใหญ่ในภพภูมินั้นๆ โดยไม่ต้องไปแก่งแย่งต่อสู้กับใคร เหมือนกับว่าตำแหน่งเหล่านั้นได้รอคอยผู้มีบุญอยู่แล้ว หากเป็นพรหมจะได้เป็นท้าวมหาพรหม เป็นเทวดาจะได้เป็นท้าวสักกเทวราช เป็นมนุษย์จะได้เป็นจอมจักรพรรดิ
แต่ถ้าบุญลดหลั่นลงมา ฐานะความเป็นอยู่จะด้อยลง เพราะฉะนั้น บุญจึงเป็นตัวแปรของชีวิตที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง ตราบใดที่เรายังไม่หมดกิเลส ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร จึงไม่ควรที่จะประมาทในการดำเนินชีวิต ควรหมั่นสั่งสมบุญ ด้วยการให้ทานอย่างสม่ำเสมอ รักษาศีลให้บริสุทธิ์ และหมั่นเจริญสมาธิภาวนา ทำใจของเราให้หยุดนิ่ง อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อใจของเราหยุดนิ่งได้ถูกส่วน กระแสบุญจะเกิดขึ้นในกลางกาย จะบันดาลให้เราสำเร็จสมปรารถนาในทุกสิ่ง เพราะฉะนั้น มาเกิดทั้งทีควรทำความดีให้ถึงพร้อม อย่าได้เบื่อหน่ายในการสั่งสมบุญ