Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ตอน การเจริญเมตตาจิต
ในเส้นทางของการสร้างบารมี นักสร้างบารมีจะต้องมีจิตประกอบไปด้วยความเมตตา และปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ความเมตตานี้เป็นหนึ่งในบารมี ๑๐ ประการ ที่พระบรมโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญให้บริบูรณ์ จึงจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้
และกระแสแห่งความเมตตานี้จะเกิดขึ้นเมื่อใจเราหยุดนิ่ง มีความสุขความบริสุทธิ์ภายในอย่างเต็มเปี่ยมเท่านั้น ซึ่งต้องเริ่มด้วยการเจริญสมาธิภาวนา ความเมตตาก็คือใจที่บรรจุความปรารถนาดีอย่างเต็มเปี่ยมอยู่ภายใน
กระทั่งทำให้ใจของเราบริสุทธิ์ ปราศจากความขุ่นมัว ความขัดเคืองใจ จนความบริสุทธิ์นั้นปรากฎออกมาเป็นดวงใสสว่างจากกลายกายของเราและแผ่ขยายกว้างออกไปเรื่อย ๆ ไม่มีประมาณ แล้วใจของเราก็จะเบา ละเอียดอ่อน นุ่มนวล ควรแก่การงานทางใจ เหมาะสมที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในอย่างง่าย ๆ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน เมตตาสูตร ว่า
ผู้ใดมีสติมั่นคง เจริญเมตตาอันหาประมาณมิได้ สังโยชน์ของผู้นั้น ผู้เห็นธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส ย่อมเบาบาง หากว่าเขาไม่มีจิตคิดประทุษร้ายสัตว์แม้สักตัวเดียว เจริญเมตตาอยู่ เพราะเจริญเมตตาจิตนั้น ย่อมเป็นมหากุศล
ในกระแสโลกปัจจุบัน มีการรบราฆ่าฟันกันเป็นประจำ ซึ่งปกติของมนุษย์แล้ว ต้องไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน แต่สังคมมนุษย์ในขณะนี้ กลับเห็นการเข่นฆ่าเป็นเรื่องธรรมดา นั่นเป็นเพราะขาดเมตตาธรรม ทำให้ความเดือดร้อน ความวุ่นวาย เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก
วิธีการหนึ่งที่เราพอจะช่วยแก้ไขสถานการณ์โลก ที่กำลังคุกรุ่นอยู่ขณะนี้ได้คือ ให้หมั่นเจริญสมาธิภาวนา ตั้งจิตเมตตาปรารถนาดีต่อทุกๆ ชีวิต แล้วแผ่กระแสแห่งเมตตาธรรมไปยังเพื่อนมนุษย์ทุกคน ให้มีความรักความปรารถนาดีเกิดขึ้นในดวงจิตอันใสบริสุทธิ์ ถ้ามนุษย์มีความปรารถนาดีต่อกันจริงๆ ก็จะคุยกันรู้เรื่อง เมื่อคุยกันรู้เรื่อง ก็ไม่ต้องใช้วิธีที่รุนแรงในการยุติปัญหา สังคมก็จะอยู่กันอย่างสงบสุข
หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญได้กล่าวไว้ว่า
“ความเมตตานี้อัศจรรย์นัก ไม่ใช่ของพอดีพอร้าย ถ้ารู้จักใช้ให้ถูกส่วนแล้วละก็ มีฤทธิ์เดชมากมายนัก จะมีคนรักใคร่สนับสนุน จะทำอะไรก็สำเร็จหมด มารดารักบุตรที่เกิดจากอกของตนเพียงคนเดียวฉันใด ก็ให้เรามีความรัก ความปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายอย่างนั้นเช่นเดียวกัน”
พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงอานิสงส์ของการแผ่เมตตาเอาไว้ ๑๑ ประการ คือ ผู้แผ่เมตตาจิตบ่อย ๆ ย่อมทำให้หลับเป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข ไม่ฝันร้าย หากฝันก็ฝันแต่เรื่องที่เป็นสิริมงคล ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์และเทวาทั้งหลาย
อมนุษย์ไม่เข้าใกล้ เหล่าเทวดาลงปกปักรักษา อันตรายจากไฟ ยาพิษ หรือศัสตราอาวุธ ไม่สามารถมากลํ้ากรายได้ จิตของผู้นั้นย่อมตั้งมั่นอย่างรวดเร็ว จะมีดวงหน้าที่สดใส แววตาแจ่มใส จะเป็นผู้ไม่หลงก่อนละโลก เมื่อยังไม่แทงตลอดในคุณอันยิ่ง ย่อมเข้าถึงพรหมโลก
ในสมัยพุทธกาล มีภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป หลังจากได้เรียนกัมมัฏฐานจากพระบรมศาสดาแล้ว ก่อนจะเข้าพรรษา ได้ทูลลาพระพุทธองค์ไปหาสถานที่จำพรรษา ภิกษุเหล่านั้นจาริกไปในชนบท
แล้วได้ไปพำนักอยู่ใกล้ภูเขาแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนัก ในวันรุ่งขึ้น ท่านได้พากันเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ชาวบ้านเห็นพระมาโปรดเป็นจำนวนมาก ต่างก็เกิดความยินดีว่า เราได้เนื้อนาบุญแล้ว
จึงช่วยกันจัดเตรียมข้าวปลาอาหารมาถวาย ด้วยจิตที่เคารพเลื่อมใส เมื่อพระฉันเสร็จ ญาติโยมก็ได้อ้อนวอนขออาราธนาให้พระทั้ง ๕๐๐ รูปอยู่จำพรรษาใกล้หมู่บ้านนั้นตลอด ๓ เดือน แล้วช่วยกันสร้างกุฏิ ๕๐๐ หลัง
จัดแจงเครื่องอุปโภคบริโภคทุกอย่าง มีเตียง ตั่ง น้ำฉัน น้ำใช้ ครบหมด เพื่อจะได้อำนวยความสะดวกให้ท่านได้บำเพ็ญสมณธรรมได้เต็มที่ โดยไม่ต้องมีเครื่องกังวลใจ
พระภิกษุทุกรูปได้แยกย้ายกันไปบำเพ็ญเพียรตามกุฏิของตน ตั้งใจเจริญสมาธิภาวนาอย่างเอาจริงเอาจัง ในราวป่าที่ภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาอยู่ มีรุกขเทวดาสิงสถิตอยู่ตามต้นไม้ จะมีวิมานซ้อนอยู่
ในคืนแรกเหล่าเทวดาต่างก็คิดว่า พระภิกษุเหล่านี้คงอยู่ไม่กี่วัน แล้วจาริกไปที่อื่น จึงพากันลงจากต้นไม้มาอยู่ข้างล่าง เพราะว่าไม่กล้าอยู่สูงกว่าผู้ทรงศีล ผ่านไปหลายวันแล้ว พระภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจาริกไปที่อื่น
เทวดาเหล่านั้นต่างก็ได้รับความลำบาก จึงคิดหาวิธีขับไล่ให้พระภิกษุไปพำนักที่อื่น ในเวลากลางคืน จึงได้เนรมิตกายมาหลอกหลอนพระภิกษุ ในขณะที่แต่ละรูปเดินจงกรมบำเพ็ญภาวนากันอยู่ บางทีก็เห็นผีหัวขาดบ้าง เห็นรูปยักษ์ที่น่ากลัวยืนอยู่ข้างหน้าทำท่าจะทำร้ายเอาบ้าง บางคืนท่านก็ได้ยินเสียงอมนุษย์ร้องโหยหวนน่าสะพรึงกลัว
บางทีก็ทำทีเหมือนจะตามมาเอาชีวิตของท่าน แม้เวลาจำวัดก็ยังได้กลิ่นเหม็นเน่าเหมือนซากศพที่พองขึ้นอืดจนรู้สึกสะอิดสะเอียน ลมในท้องปั่นป่วน เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นติดต่อกันหลายวัน แต่ละรูปถูกรบกวนอย่างนี้ ทำให้ไม่ได้พักผ่อน ร่างกายก็ซูบผอม เป็นไข้ ไม่สบาย
เมื่อจิตใจของพวกภิกษุเกิดความไม่สงบ หวาดกลัว ฟุ้งซ่านไม่เป็นสมาธิ การบำเพ็ญสมณธรรมก็ไม่ก้าวหน้า มีแต่จะแย่ลงไปทุกวันๆ ท่านจึงได้ปรึกษาหารือกันว่า “ที่แห่งนี้ไม่เป็นสัปปายะเสียแล้ว เราควรจะย้ายไปจำพรรษาในที่แห่งใหม่ดีกว่า”
จึงตัดสินใจเก็บเครื่องบริขาร บาตร จีวร กลับไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี พระผู้มีพระภาคเจ้า ทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้นกลับมา จึงตรัสว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า ภิกษุไม่ควรเที่ยวจาริกไปภายในระหว่างพรรษา เพราะเหตุไรพวกเธอจึงยังจาริกกันอยู่เล่า” ภิกษุเหล่านั้น จึงกราบทูลเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ทรงทราบว่าภิกษุเหล่านี้ไม่ได้แผ่เมตตาให้เหล่าเทวดา
จึงให้โอวาทว่า “พวกเธอจงอยู่ในที่นั้นเถิดและจักได้บรรลุธรรม ถ้าพวกเธอปรารถนาความไม่มีภัยจากเทวดาทั้งหลาย ก็จงตั้งเมตตาจิตให้เกิดขึ้นแก่เทวดาทั้งหลาย เพราะว่าเมตตาธรรมนี้เป็นธรรมาวุธสำหรับภิกษุในพระธรรมวินัยนี้” แล้วทรงสอนวิธีการแผ่เมตตาว่า
“พึงเจริญเมตตาจิตในสัตว์ทั้งหลายว่า ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีแต่ความสุข ปราศจากความทุกข์ทั้งมวล มีความรักและปรารถนาดีต่อกัน เหมือนมารดารักษาบุตรของตนฉะนั้น”
เมื่อภิกษุเหล่านั้นได้ธรรมาวุธจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็มีจิตอาจหาญกลับไปจำพรรษาในราวป่าแห่งเดิมนั้นอีก เมื่อไปแล้วก็หมั่นเจริญเมตตาจิต สวดพระปริตร
ทำให้เทวดาทั้งหลายเกิดความเมตตา มีความรักและปรารถนาดีต่อภิกษุเหล่านั้น จึงมิได้แสดงอาการน่าสะพรึงกลัวอีกต่อไป ทั้งเกิดปีติโสมนัสว่า พระคุณเจ้าทั้งหลาย ได้หวังประโยชน์ใหญ่ให้เกิดแก่พวกเรา ให้พวกเราได้รับบุญกัน เหล่าเทวดาจึงพากันเก็บกวาดเสนาสนะ จัดแจงน้ำร้อนน้ำเย็น จัดการอารักขาให้ภิกษุเหล่านั้นเป็นอย่างดี
เมื่อทุกอย่างสัปปายะ พระภิกษุท่านมีความสุขในการเจริญภาวนา และเจริญเมตตา ทำเมตตานั้นให้เป็นบาท คือ มีอารมณ์จิตที่ประกอบด้วยเมตตาธรรม มีใจหยุดนิ่งตั้งมั่นเป็นเอกัคคตา เกิดสมถะ คือใจหยุดจนกระทั่งเข้าถึงธรรมกายภายใน แล้วเริ่มตั้งวิปัสสนา ยกจิตขึ้นสู่ไตรลักษณ์ ได้บรรลุกายธรรมไปตามลำดับ จนกระทั่งบรรลุกายธรรมอรหัต เป็นพระอรหันต์ภายในพรรษานั้นทั้ง ๕๐๐ รูป
ดังนั้น กระแสแห่งความเมตตา จึงมีอานุภาพมาก ซึ่งผู้หวังการบรรลุธรรมควรจะมีเมตตาจิตเป็นอารมณ์ ฝึกทำใจของเราให้ใสบริสุทธิ์หยุดนิ่ง แล้วแผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายโดยไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง ไม่มีอคติ ให้เป็นอัปปมัญญา
คือเป็นกระแสแห่งความเมตตาที่ไร้ขอบเขต ใจของเราจะได้รู้สึกโล่ง โปร่ง เบา สบาย มีความสุขความเบิกบาน ใจจะเป็นอิสระ ปลอดกังวล สภาพใจอย่างนี้ จึงจะสามารถเข้าถึงธรรมได้อย่างง่าย ๆ เพราะฉะนั้นอย่างน้อยทุกคืนก่อนนอน เราควรแผ่เมตตาเป็นประจำ จะได้มีความสุขตลอดเวลา ทั้งหลับและตื่นกันทุก ๆ คน