ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : ผิดพลาดเพราะลำเอียง (๑)


ธรรมะเพื่อประชาชน : ผิดพลาดเพราะลำเอียง (๑)

Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน

DhammaPP156_04.jpg

ผิดพลาดเพราะลำเอียง ตอน ๑


    
                   มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาความสุข ความอบอุ่นใจและความปลอดภัยในชีวิต ทุกคนจึงพยายามเสาะแสวงหาที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง แต่หลายชีวิตก็ยังไม่ทราบว่า ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงนั้นคือสิ่งใด อยู่ที่ตรงไหน จะเข้าถึงได้ด้วยวิธีการใด จึงแสวงหากันอย่างวุ่นวาย แล้วก็เต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก แต่ถ้าหากทุกคนในโลกได้รู้จักที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด คือพระรัตนตรัยและมีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติธรรม จนกระทั่งกายวาจาใจของทุกๆ คนสะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส ตั้งมั่นอยู่ในกลางกาย เต็มเปี่ยมไปด้วยสติปัญญาอันบริสุทธิ์ เมื่อทำได้เช่นนี้ ชีวิตของทุกคนก็จะเจริญรุ่งเรือง จะปลอดภัยทั้งในโลกนี้และโลกหน้า 

 

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในปฐมอคติสูตรว่า 
         ฉนฺทา โทสาภยา โมหา
         โย ธมฺมํ อติวตฺตติ
         นิหียติ ตสฺส ยโส
         กาฬปกฺเขว จนฺทิมา 

บุคคลใดประพฤติล่วงธรรม เพราะความชอบกัน เพราะความเกลียดชังกัน เพราะความเกรงกลัว เพราะความโง่เขลา ยศของบุคคลนั้น ย่อมเสื่อมไป เหมือนดวงจันทร์ข้างแรมฉะนั้น 

 

                   เหตุแห่งความเสื่อมของหมู่คณะ ของหมู่บ้าน รวมไปถึงประเทศชาติบ้านเมือง ประการสำคัญคืออคติ ความลำเอียงของผู้นำหรือสมาชิกในกลุ่มนั้นๆ ลำเอียงคือ ไม่ตรง เหมือนรำของเรือที่เอียงไปข้างหนึ่ง พอเอียงหนักเข้าก็ล่มจมลงในแม่น้ำ ไม่สามารถบรรทุกคนให้ข้ามฟากไปได้อย่างปลอดภัย หัวใจลำเอียงก็เช่นเดียวกัน เอียงเพราะความรัก ฝ่ายหนึ่งมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง เอียงเพราะเลือกที่รักผลักที่ชัง เอียงเพราะความกลัวภัยบ้าง หรือเพราะความโง่เขาเบาปัญญาของตัวเอง ใจเอียงจึงนำไปสู่ความแตกร้าว ความผิดพลาดต่างๆ อีกมากมาย ก็จะตามมาอย่างไม่จบสิ้น เหมือนดังเรื่องที่หลวงพ่อจะได้นำมาเล่าให้ลูกๆ ได้รับฟังกันในวันนี้นะจ๊ะ

 

                   ในอดีตกาลพระราชาพระนามว่า ยศปาณี เสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีเสนาบดีชื่อกาฬกะ ส่วนพระโพธิสัตว์ เป็นปุโรหิตของพระเจ้ายศปาณี ชื่อธรรมธัช มีช่างกัลบก ผู้แต่งพระศกของพระราชาชื่อว่าฉัตตปาณี พระราชาทรงครองราชโดยทศพิธราชธรรมมาโดยตลอด เวลาผ่านไปกาฬกะเสนาบดีถูกความโลภครอบงำทำให้เกิดอคติ ความลำเอียงเกิดขึ้น

 

                   เมื่อจะวินิจฉัยคดีก็เป็นคนกินสินบน ครั้นรับสินบนแล้ว ก็ทำให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของให้เป็นเจ้าของ ทำคนผิดให้ถูก ทำคนถูกให้ผิด ไม่เหมือนในสมัยแรกๆ ที่เสนาบดีได้ตั้งใจวินิจฉัยด้วยความซื่อสัตย์ มีอยู่ครั้งหนึ่งชายหนุ่มชาวนาผู้น่าสงสารคนหนึ่ง ถูกตัดสินให้แพ้คดีความ เดินสะอึกสะอื้นออกจากศาล ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นฝ่ายถูก แต่กลับถูกเสนาบดีตัดสินให้เป็นฝ่ายผิด อีกทั้งยังถูกปรับสินไหมอีกด้วย จึงรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจหมดหวัง และหมดอาลัยในชีวิต จึงคิดอยากจะข้าตัวตาย เพื่อหนีปัญหา 

 

                   ครั้นมองเห็นพระโพธิสัตว์กำลังไปทำราชการ จึงซบลงแทบเท้าของพระโพธิสัตว์ แล้วเล่าเรื่องที่ตนแพ้คดีให้ฟังและขอให้ท่านปุโรหิตได้เมตตาเป็นที่พึ่งให้แก่ตัวเอง พระโพธิสัตว์รับฟังแล้วก็บังเกิดความสงสาร แม้จะรู้ว่าไม่ใช่หน้าที่ของตัวเองแต่ด้วยใจที่ประกอบไปด้วยกรุณา จึงคิดจะยื่นมือเข้าไปช่วย ได้บอกหนุ่มชาวนาผู้ไร้ที่พึ่งว่า เอาเถิดพ่อหนุ่มท่านอย่าได้ท้อแท้ใจไปเลย เราจะวินิจฉัยคดีของท่านเอง ว่าแล้วก็พาหนุ่มชาวนากลับไปที่ศาล บอกให้มหาชนมาประชุมเพื่อฟังคำวินิจฉัยใหม่

 

                    พระโพธิสัตว์ได้พิจารณาไต่สวนทั้งฝ่ายโจทน์และจำเลย ด้วยสติปัญญาเฉียบแหลม ในที่สุดก็รู้ว่า หนุ่มชาวนาเป็นฝ่ายถูก จึงตัดสินให้ชนะคดี มหาชนต่างแซ่ซ้องสาธุการในความซื่อตรงของท่าน เสียงสาธุการได้ดังกึกก้องไปทั่วโรงวินิจฉัยคดี พระราชาทรงสลับเสียงนั้นแล้วได้ตรัสถามถึงที่มาของเสียงสาธุการ ราชบุรุษก็ได้กราบทูลว่า ขอเดชะธรรมธัชบัณฑิตตัดสินคดี ที่กาฬกะเสนาบดีตัดสินไว้ผิดให้ถูกต้อง นั่นเป็นเสียงแซ่ซ้องสาธุการในการตัดสินคดีของธรรมธัชพระเจ้าข้า

 

                   พระราชาทรงโสมนัสจึงตรัสให้เรียกพระโพธิสัตว์มาเข้าเฝ้า ครั้นทรงไต่ถามแล้ว ก็ทราบว่า ธรรมธัชบัณฑิตได้ศึกษาเนติวิทยาจากสำนักตักศิลามาอย่างแตกฉาน จึงมีราชโองการว่า ตั้งแต่นี้ไป ขอให้ท่านปุโลหิตช่วยตัดสินคดีความ เพื่ออนุเคราะห์ต่อประชาราษฎร์ ให้ได้รับความเป็นธรรม 

 

                   พระโพธิสัตว์ไม่ปรารถนาจะเป็นผู้วินิจฉัยคดี เพราะรู้ว่าจะเกิดปัญหาตามมาภายหลังอีกหลายอย่าง แต่ด้วยพระราชบัญชาที่ขัดไม่ได้ จึงจำเป็นต้องทำตามพระประสงค์ ตั้งแต่นั้นมาพระโพธิสัตว์ก็นั่งบัลลังก์ตัดสินคดี กระทำผู้เป็นเจ้าของให้เป็นเจ้าของ ต้องรับหน้าที่บริหารบ้านเมืองเพิ่มอีก ๑ ตำแหน่ง ท่านทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม จนมีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วทั้งพระนคร ชาวเมืองได้รับความยุติธรรมอย่างถ้วนหน้า ผิดก็ว่ากันไปตามผิด ใครทำถูกก็ยกย่องสรรเสริญ 

 

                   ผ่านไปหลายปีหลังจากกาฬกะเสนาบดีถูกปลด จากตำแหน่งวินิจฉัยคดี ก็เสื่อมจากสินบนที่ตนเคยได้จึงทำให้ภายในใจมีแต่ความคิดริษยา ที่จะแก้แค้นทวงตำแหน่งคืน เมื่อความแค้นสุมอยู่ในใจมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้เพ็ดทูลพระราชาให้บาดหมางกับพระโพธิสัตว์ว่า ข้าแต่มหาราชธรรมธัชบัณฑิตปรารถนาราชสมบัติของพระองค์ ครั้งแรกๆ พระราชาไม่ทรงเชื่อ เพราะเห็นธรรมธัชปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเสมอต้นเสมอปลาย เมื่อเสนาบดีกราบทูลซ้ำอีกว่า หากพระองค์ไม่ทรงเชื่อ ขอจงทรงคอยทอดพระเนตรทางพระแกลในเวลาที่ธรรมธัชบัณฑิตมาเถิด 

 

                   พระราชาเมื่อทรงถูกเสนาบดีเพ็ดทูลยุยงหนักเข้า พระทัยก็เริ่มเอนเอียงเพียงทอดพระเนตรขบวนลูกความของธรรมธัช ก็ทรงเข้าใจว่าเป็นพวกของธรรมธัช ทรงแหนงพระทัยตรัสรำพึงรำพันว่า เราจะทำอย่างไรดี เสนาบดีเมื่อเห็นว่า พระราชาทรงไม่ไว้ใจธรรมธัชแล้ว ก็กราบทูลว่า ขอเดชะก็ควรค่าธรรมธัชบัณฑิตทิ้งเสียพระเจ้าข้า พระราชาทรงสับสนแล้วก็เห็นว่าธรรมธัชยังไม่เคยปฏิบัติผิดต่อพระองค์แม้แต่ครั้งเดียว จึงยังมีพระทัยสงสารไม่ปรารถนาจะฆ่าบัณฑิตผู้นี้ 

 

                   แต่กาฬกะเสนาบดีก็ไม่ยอมลดละความเพียร ที่จะขจัดธรรมธัชให้ได้  จึงใช้วาทศิลป์ยุยงว่า พระองค์ยังไม่ต้องรีบฆ่าธรรมธัชหลอกพระเจ้าข้า มีอุบายอย่างหนึ่ง ขอพระองค์ทรงทดลองให้ธรรมธัชบัณฑิตทำงานอย่างหนึ่งดูเถิด ถ้าหากทำไม่ได้ดังราชประสงค์จึงค่อยรับสั่งให้ประหารชีวิต วิธีการง่ายๆ คือ ธรรมดาอุทยานที่ปลูกสร้างในพื้นดินแข็ง จะให้ผลในสามสี่ ปี ขอพระองค์ตรัสบอกธรรมธัชบัณฑิตให้ทำสวนที่สามารถออกดอกออกผลภายในวันเดียวเถิด


                   พระราชาเมื่อถูกยุยงอคติความลำเอียงก็ได้บังเกิดขึ้นในพระทัยเสียแล้ว จึงรับสั่งธรรมธัชเข้าเฝ้า แล้วตรัสว่า ดูก่อนบัณฑิต เราน่ะประพาสอุทยานเก่ามานานแล้ว บัดนี้ประสงค์จะประพาสอุทยานใหม่ พรุ่งนี้เราจะไปประพาสอุทยาน ท่านจงสร้างอุทยานให้เราเถิด พระโพธิสัตว์จะปฏิเสธในพระราชประสงค์ก็ไม่ได้ จึงจำใจกราบทูลว่า จะทำให้สุดความสามารถ จากนั้นก็กลับไปบ้าน นอนคิดตริตรองหาทางแก้ไข ส่วนว่าท่านธรรมธัชบัณฑิต จะแก้ไขปัญหาที่เหนือความสามารถมนุษย์นี้ได้อย่างไร พรุ่งนี้เรามารับฟังกันต่อไปนะจ๊ะ

 

                    จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า ความลำเอียงน่ะ เป็นสิ่งที่จะต้องขจัดออกจากใจ ถ้าหากเกิดขึ้นมาแล้ว นั่นคือสัญลักษณ์แห่งความแตกแยก และความเดือดร้อนทั้งต่อตัวเองและผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ที่เป็นผู้นำจะต้องฝึกฝนคุณธรรมข้อนี้ให้มากๆ จะได้เป็นคนซื่อตรงเที่ยงธรรมมีใจตั้งมั่นเวลาตัดสินหรือวิเคราะห์คดีใด ก็จะตัดสินได้ถูกต้องไม่ผิดพลาด ไม่เอียงซ้ายเอียงขวา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องเริ่มจากการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ให้ใจบริสุทธิ์เป็นกลางๆ จนเกิดความสว่าง จะนึกคิดพูดทำสิ่งใดก็จะถูกต้องร่องรอยไปตามความเป็นจริง ชีวิตก็ปลอดภัย ยิ่งถ้าหากหยุดนิ่งจนเข้าถึงพระธรรมกายภายใน แสดงว่าใจของเราน่ะไม่เอนเอียงอีกต่อไป มีแต่มุ่งตรงสวนทางพระนิพพานอย่างเดียว ดังนั้นน่ะให้ลูกๆ ทุกคน หมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งให้บริสุทธิ์ผ่องใสกันเป็นประจำทุกวันนะจ๊ะ

 

พระธรรมเทศนา โดย  พระราชำาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล