เตรียมพร้อมก่อนรับประทานอาหาร

วันที่ 29 มค. พ.ศ.2559

เตรียมพร้อมก่อนรับประทานอาหาร

    "เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง"
    เอ...กินข้าวมันยิ่งใหญ่ขนาดนั้นเลยหรือ...ยิ่งใหญ่แน่นอนเพราะ อาหารเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่ขาดไม่ได้ของ
มนุษย์ทุกคน เมื่อเราไม่ได้อยู่ในโลกนี้คนเดียวก่อนรับประทานอาหารแต่ละมื้อจึงมีข้อควรปฏิบัติดังนี้

เชื้อเชิญให้พร้อมหน้า
ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนเสน่ห์ง่ายๆ คือ เชิญชวนทุกคนให้มารับประทานอาหารด้วยกัน โดยเฉพาะถ้าอยู่ที่บ้านต้องให้ครบทุกคนถึงจะเรียกว่าครอบครัวอบอุ่น

 

แสดงน้ำใจ
แสดงน้ำใจโดยการช่วยจัด ช่วยวาง รินน้ำเปล่า แจกระดาษเช็ดปาก วางช้อนส้อม และช้อนกลาง

 

ประมาณในการรับ
ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า "อย่าสั่งอาหารตอนหิว" เพราะสั่งตอนหิวทีไรรับประทานกันไม่หมดทุกที เราอยู่กับท้องของเราทุกวันลองฝึกการประมาณ ตั้งแต่การตักข้าวกันนะ เป็นเรื่องที่เราต้องเจอทุกวันต้องทำทุกวันอยู่แล้ว ถ้าเรายังวางแผนประมาณการอาหารที่เราทานยังไม่ได้ แล้วเราจะวางแผนเรื่องอื่นๆในชีวิตเราได้อย่างไร 

 

ให้เกียรติผู้ใหญ่ 
มารยาทแต่ละประเทศต่างกัน ในเรื่องนี้ ถ้าเป็นญี่ปุ่นการให้เกียรติผู้ใหญ่ต้องให้ผู้น้อยทุกๆคนนั่งให้พร้อมที่โต๊ะอาหาร แล้วจึงเชิญผู้ใหญ่ แต่ถ้าเป็นของคนไทยจะรอผู้ใหญ่มาก่อน เมื่อผู้ใหญ่นั่งโต๊ะแล้วทุกคนจึงจะเข้ามานั่งพร้อมๆกัน  และในฐานะผู้น้อยต้องดูแลบริการตั้งแต่เปิดประตูให้ท่าน เชิญนั่งในมุมที่ดีที่สุด ของโต๊ะอาหาร ดูทางเดินว่าเข้าออกได้สะดวก คอยเลื่อนเก้าอี้ให้ท่านได้นั่งสะดวก เป็นเรื่องเล็กน้อยทั้งนั้น แต่สร้างความรู้สึก ที่แตกต่างให้กับผู้ใหญ่ที่เราทำการต้อนรับ

 

วางตนให้เหมาะกับฐานะ
ถ้าเราเป็นผู้น้อยต้องทำตัวอย่างผู้น้อย คือไม่ลงมือรับประทานอาหารก่อนผู้ใหญ่ ให้สังเกตว่าผู้ใหญ่ที่สุดในที่นั้นคือใคร ให้ท่านเริ่มรับประทานอาหารก่อนเราถึงจะเริ่มรับประทานอาหารตาม ในทางกลับกันถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ก็ควรให้ความเป็นกันเองกับผู้ร่วมรับประทานอาหาร เช่นก่อนรับประทานอาหารให้เชื้อเชิญทุกท่านที่ร่วมวงด้วย และให้ทราบว่าเราต้องเริ่มรับประทานอาหารก่อนเพราะผู้น้อยจะเกรงใจถ้าเรายังไม่เริ่มรับประทานอาหาร 

 

ดูแลผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ
ถ้าเรามีสมาชิกร่วมรับประทานอาหารที่สะดวกน้อยกว่าท่านอื่น เช่นผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ คนป่วย หรือบาดเจ็บควรให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ เช่นที่นั่งเหมาะสมหรือไม่ อยากได้อะไรเพิ่มที่อยู่ไกล เราควรแสดงความช่วยเหลือ

 

พิจารณา
เป็นอริยประเพณีของพุทธศาสนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านมีพระวินัยให้พระภิกษุพิจารณาภัตตาหารก่อนขบฉันบทพิจารณาภัตตาหารของพระภิกษุมีใจความว่า อาหารที่รับประทานนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อบำบัดเวทนาเก่า(ความหิว) และไม่ให้เกิดเวทนาใหม่ (ความจุก) เพื่อให้ร่างกายคงอยู่ได้เป็นปกติ จะไม่รับประทานเพื่อเล่น เพื่อสวยงาม เพื่อประดับตกแต่ง นี่คือเนื้อหาบางส่วน ของบทพิจารณาภัตตาหารของพระ ส่วนฆราวาสก็มีการพิจารณาซึ่งแต่ละสถานการณ์อาจมีเนื้อหาต่างกันออกไป เช่น "ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า ผู้คนอดอยาก มีมากหนักหนา สงสารบรรดา เด็กตาดำๆ"แบบนี้ก็นับเป็นการพิจารณาแบบเด็กนักเรียนได้เหมือนกัน 

 

บูชาข้าวพระ
เป็นประเพณีโบราณของชาวพุทธ เพื่อระลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ท่านปรินิพพานไปนานแล้วที่หลายๆคนเรียกกันว่า "บูชาข้าวพระพุทธ" คือน้อมจิตระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนเราได้น้อมถวายภัตตาหารกับพระองค์ท่านในสมัยที่ท่านยังทรงพระชนมายุพิธีนี้มักอยู่ในงานบุญต่างๆ เช่นขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญบ้านประจำปี โดยมีบทกล่าวขึ้นต้นว่า "อิมัง สูปะพยัญชะนะ..."แต่สำหรับการรับประทานอาหารประจำวันของเราไม่จำเป็นต้องมีบทกล่าวเหมือนในงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ก็ได้ เพียงแต่หลับตาทำสมาธิก่อนรับประทานอาหารน้อมจิตระลึกเหมือนเราถวายภัตตาหารท่าน นึกอธิษฐานจิตจากบุญที่เกิดขึ้นแล้วกล่าวคำลาข้าวพระว่า "เสสังมังคะลัง ยาจามิ" (ใช้ "ยาจามะ" หากอยู่กันหลายๆคน) แล้วเริ่มรับประทานอาหาร

 

----------------------------------------

"หนังสือ 5 ห้องชีวิตเนรมิตนิสัย ฉบับสร้างแรงบันดาลใจ

ทีมงานหลักสูตรโครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก"

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.004705548286438 Mins