ความตาย ใยต้องเศร้า

วันที่ 08 กพ. พ.ศ.2559

ความตาย ใยต้องเศร้า

              สาเหตุที่ตรัสชาดก นครสาวัตถี กฎมพีคนหนึ่งเศร้าโศกเสียใจเพราะพี่ชายตาย พระทศพลเสด็จไปโปรดกฎมพีนั้นว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงสิ่งที่ควรแตกทำลายก็แตกทำลายไป ไม่ควรคิดเสียใจในเรื่องนั้น แม้โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย เมื่อพี่ชายตายไปก็มิได้คิดเสียใจ ทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธกดังนี้..


             ในอดีตกาลนานมา มีชายหนุ่มผู้หนึ่งดูแลบิดามารดาด้วยความกตัญูเสมอมา แต่ทว่ากาลเวลาย่อมกลืนกินสรรพสัตว์ แม้จะเป็นบิดามารดาสุดรักบูชาของชายหนุ่มผู้นี้ก็มิอาจเว้นให้ได้ดังนั้นทั้งสองตายไปแล้ว พี่ชายมาดูแลกิจการแทนบิดามารดา ต่อมาไม่ทันไร พี่ชายก็รีบด่วนป่วยตายตามไปอีกคน คราวนี้หมู่ญาติทั้งหมดต่างร้องห่มร้องไห้ เพราะเพียงไม่กี่วันคนในบ้านก็ตายมากเกินไปแล้ว แต่น้องชายผู้ตายกลับไม่ร้องไห้เลยแม้สักนิด อย่าว่าแต่ร้องไห้ แม้ใบหน้าฉายแววเสียใจสักนิดยังไม่มีปรากฏ ชายหนุ่มไม่ยอมร้องไห้ตามคนอื่น ทำตัวแปลกเช่นนี้ มีหรือจะไม่โดนโพทนาด่าว่าได้ ดังนั้นเวลานี้หมู่ญาติต่างพากันมารุมโพทนาด่าว่าน้องชายผู้ตายกันเป็นการใหญ่

    "ดูเอาเถิดๆ! พวกเราทั้งหลาย จงมาดูคนอะไรใจกระด้างเย็นชาเหลือเกิน ขนาดพี่ชายแท้ๆของตัวตายไป หน้าสยิ้วเสียใจสักนิดก็ไม่มีเลย ช่างใจแข็งกระด้างอะไรปานนี้สงสัยคงจะอยากให้พี่ชายตายเร็วๆ คิดฮุบสมบัติไว้คนเดียวแน่ๆ!"

 

    เมื่อมีคนเปิดประเด็นก็มีคนตาม และดูเหมือนทุกคนจะรอรุมประณามอยู่แล้ว ดังนั้นญาติสนิทๆ ทั้งหมดของชายหนุ่มผู้นี้จึงพากันจ้องมองอย่างเหยียดหยัน คล้ายตำหนิติเตียน พากันเดินมารุมด่าว่า..
"พี่ชายตาย! ทำไมเจ้าไม่ร้องไห้"

    น้องชายผู้ตายสลดใจเหลือประมาณ แต่มิได้สลดใจที่พี่ชายตาย กลับสลดใจในหมู่ญาติพวกนี้เพราะหมู่ญาติพวกนี้ได้ตายไปแล้ว! ผู้ประมาทชื่อว่าคนตาย! ชายหนุ่มจึงค่อยๆ กล่าวอธิบายแก่หมู่ญาติว่า..
"ท่านทั้งหลายยังไม่รู้จักโลกธรรม 8 ประการ เพราะความที่ตนเป็นคนบอดเขลาจึงพากันร้องห่มร้องไห้ว่าพี่ชายของเราตาย ความจริงแม้ตัวฉันเองก็จะต้องตาย เหตุไรท่านทั้งหลายไม่ร้องไห้ถึงฉันผู้จะต้องตายบ้างล่ะ! และแม้ท่านทั้งหลายก็จะตาย แล้วเหตุไรจึงไม่ร้องไห้ถึงตนเองบ้างสังขารทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง ต้องเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา จะหาคงสภาพยืนยงนั้นไม่มีเลยท่านทั้งหลายไม่รู้โลกธรรม 8 จึงได้แผดเสียงร้องไห้กันใหญ่ เอาแต่ร้องไห้ถึงแต่คนตายแล้ว กลับไม่ร้องไห้ให้กับคนที่จะต้องตายสัตว์ทั้งหลายต้องทอดร่างลงสู่ดินทั้งนั้นทุกคนทุกชนชั้นล้วนไม่มีอิสระในสรีระร่างกายนี้เลย ถึงจะเสวยสุขอภิรมย์ชื่นชมร่างกายนี้ก็มีแต่ต้องละทิ้งชีวิตไปทั้งสิ้น แท้ที่จริงสุขและทุกข์ที่แสวงหากันอยู่ในหมู่มนุษย์เป็นของแปรผันไม่จีรังยั่งยืน การคร่ำครวญร่ำไห้ไม่เป็นประโยชน์อันใดสักนิด ไฉนปล่อยให้ความคิดโศกเศร้ามารุมเร้าท่วมทับท่านได้เล่า พวกนักเลงและ
ขี้เมาไม่ทำความเจริญทั้งแก่ตนและคนอื่น เป็นคนพาลห้าวหาญไร้ความขยันหมั่นเพียร เป็นคนโง่งมย่อมสำคัญนักปราชญ์ว่าเป็นคนพาล เมื่อทุกข์เพียงเล็กน้อยเกิดขึ้นก็มัวเสียใจคร่ำครวญร้องไห้เพราะไม่รู้โลกธรรม 8 อย่างถ่องแท้ แล้วมาสำคัญเราว่าเป็นพาล ไม่ยอมร้องไห้ให้เหมือนกันกับเขา"

 

    ญาติทั้งหมดนั่งฟังอย่างสงบจบลงแล้ว ก็หายเศร้าโศก ทำฌาปนกิจเสร็จแล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้านไปทำงานของตนๆ กันตามปกติ..

 

ประชุมชาดก
             พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า บัณฑิตในครั้งนั้นมาเป็นตถาคตแล

 

             จากชาดกเรื่องนี้ ชายหนุ่มฝึกฝนอยู่บนโลกธรรมอย่างช่ำชองชำนาญ จนกระทั่งใจไม่สั่นคลอนไปกับความโศกเศร้า และสามารถทนเสียงกระทบกระเทียบจากผู้อื่นได้ การรักษาใจให้เป็นกลางเช่นนี้นับว่าทำได้ยากยิ่ง เพราะหากยังมีความปรารถนาลามกอยู่ก็ยากที่จะตัดใจไม่อาลัยในโลกธรรมได้ ดังนั้นผู้ที่จะสั่งสมอัธยาศัยแห่งอุเบกขาบารมีจึงต้องหมั่นปลงใจให้ได้เสมอๆ ว่าเราต้องเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา และประสบทุกขเวทนาอย่างแน่นอน แล้วขจัดความปรารถนาลามกออกไปจากใจ ต้องฝึกเป็นผู้ที่เห็นคนตายไม่โศก เป็นโรคร้ายไม่โวยวาย ทรัพย์มลายไม่ปรารมภ์ใครชื่นชมไม่เริงร่า ถูกกล่าวหาไม่นำพา ใครนินทาไม่ซึมเซา ทุกข์รุมเร้าไม่โอดครวญ ประสบผันผวนไม่รวนเร"ความยินดียินร้าย" เป็นอุปสรรคต่อนิสัยให้ใจเป็นกลาง ดังคำเทศนาของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี(สด จนฺทสโร)ที่ได้เทศนาไว้ว่า..
"ถึงเวลาเราดีๆ อยู่ความดีใจเสียใจนี่แหละ ตีอกชกใจ กินยาตาย โดดน้ำตาย ผูกคอตายดีใจเสียใจนี่มันเต็มขีดเต็มส่วนของมันเข้า บังคับอย่างนี้ เพราะฉะนั้นความดีใจเสียใจนี่เป็นมารร้ายทีเดียว ..ถ้าว่าทำใจให้สบาย ให้ชื่นมื่น ให้เย็นอกเย็นใจสบายใจ จะมั่งมีดีจนอะไรก็ช่าง ทำใจให้เบิกบานไว้ ทำใจสบายไว้ ร่างกายมันก็ชุ่มชื่นสบาย ไอ้ดีใจเสียใจมันฆ่ากายมนุษย์อย่างนี้"

 

"นิสัยมักเห็นโทษความหวั่นไหวว่าเป็นของทุกข์ร้อน, ชอบใจที่สงบ ราบเรียบ,สลัด
อารมณ์, ไม่ชอบยินดียินร้ายให้ใจซัดส่ายไปมา, มีใจเสมอกันในสุขและทุกข์ และเห็นโลกธรรม
กระจ่างอยู่ในใจ" ทั้งหมดนี้จึงนับเป็นนิสัยในวิถีนักสร้างบารมีที่นับเนื่องเข้าในอุเบกขาบารมี

-----------------------------------------------

SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.070014985402425 Mins