ปะฏิจจะสะมุปปาทะปาฐะ

วันที่ 11 เมย. พ.ศ.2559

ปะฏิจจะสะมุปปาทะปาฐะ

ปะฏิจจะสะมุปปาทะปาฐะ

      อะวิชชาปัจจะยา สังขารา สังขาระปัจจะยา วิญญาณัง วิญญาณะปัจจะยา นามะรูปัง นามะรูปะปัจจะยา สะฬายะตะนัง สะฬายะตะนะปัจจะยา ผัสโส ผัสสะปัจจะยา เวทะนา เวทะนาปัจจะยา ตัณหา ตัณหาปัจจะยา อุปาทานัง อุปาทานะปัจจะยา ภะโว ภะวะปัจจะยา ชาติ ชาติปัจจะยา ชะรามะระณัง โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสา สัมภะวันติ ฯ เอวะเมตัสสะ เกวะลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ สะมุทะโยโหติฯ

       อะวิชชายะเต๎ววะ อะเสสะวิราคะนิโรธา สังขาระนิโรโธ สังขาระนิโรธา วิญญาณะนิโรโธ วิญญาณะนิโรธา นามะรูปะนิโรโธ นามะรูปะนิโรธา สะฬายะตะนะนิโรโธ สะฬายะตะนะนิโรธา ผัสสะนิโรโธ ผัสสะนิโรธา เวทะนานิโรโธ  เวทะนานิโรธา ตัณหานิโรโธ ตัณหานิโรธา อุปาทานะนิโรโธ อุปาทานะนิโรธา ภะวะนิโรโธ ภะวะนิโรธา ชาตินิโรโธ ชาตินิโรธา ชะรามะระณัง โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสา นิรุชฌันติฯ เอวะเมตัสสะ เกวะลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ นิโรโธ โหติ

 

 

คำแปล ความหมาย ปฏิจจสมุปบาท
(เหตุที่เป็นปัจจัยซึ่งกันและกันให้เกิดทุกข์และดับทุกข์)

 

(ฝ่ายที่เป็นปัจจัยทำให้ทุกข์เกิดขึ้น)

   ความไม่รู้อริยสัจ เป็นเหตุให้พอใจในมนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก เพราะคิดเห็นว่า มนุษยโลก เทวโลก และพรหมโลก มีความสวยสดงดงาม เมื่อมีความพอใจในมนุษยโลกก็คิดอยากเกิด จึงเป็นเหตุให้จิตวิญญาณเข้าปฏิสนธิในครรภ์

   เมื่อจิตวิญญาณเข้าปฏิสนธิในครรภ์แล้ว ก็เกิดมีรูปนามคือร่างกาย เมื่อมีร่างกายแล้ว ก็เกิดมีอายตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายประสาท และใจ 

    เมื่อมีตา หู จมูก ลิ้น กายและใจแล้ว ก็ได้สัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และเรื่องราวต่าง ๆ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนาคือความรู้สึกที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือรู้สึกเฉย ๆ

  เวทนาคือความรู้สึกที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือรู้สึกเฉย ๆ เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาคือความอยากไม่มีที่สิ้นสุด ตัณหาคือความอยากไม่มีที่สิ้นสุดนี้ เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน สิ่งที่ชอบก็ยึดถือว่าดี น่ารัก น่าปรารถนา สิ่งที่ไม่ชอบก็ยึดว่าไม่ดี ไม่น่ารัก ไม่น่าปรารถนา 

     อุปาทานที่ยึดถือว่าสิ่งนั้น ๆ ดีและไม่ดี น่ารักน่าปรารถนาและน่าเกลียดชัง เป็นปัจจัยให้เกิดภพคือที่อันเป็นที่เกิดและเป็นที่อยู่ของหมู่สัตว์  เมื่อมีภพคือที่อันเป็นที่เกิดและที่อยู่แล้ว จึงทำให้มีความเกิดไม่มีสิ้นสุด 

    เมื่อมีความเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ต้องมีความแก่และความตายตามมา และมีความเศร้าโศกคิดถึงสิ่งอันเป็นที่รัก มีความร่ำไรรำพันใฝ่หาสิ่งอันเป็นที่รัก มีความทุกข์เพราะความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก และเพราะไม่สมหวังในสิ่งที่หลงรักหลงชอบใจ มีความเสียใจที่ต้องหมดหวังในการที่จะได้สิ่งอันเป็นที่รักนั้นกลับคืนมา มีความคับแค้นใจในการที่ต้องหมดหวังในสิ่งอันเป็นที่รักนั้น ฯ

      ความเกิดขึ้นแห่งความทุกข์ทั้งปวงนั้น ก็มีด้วยอาการอย่างนี้แล ฯ

 

(ฝ่ายที่เป็นปัจจัยทำให้ทุกข์ดับ)

     เพราะเห็นทุกอย่างในมนุษยโลก เทวโลก และพรหมโลก เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างแท้จริง จึงไม่พอใจและไม่คิดอยากเกิดในมนุษยโลก เทวโลก และพรหมโลกอีกต่อไป มีความพอใจในพระนิพพานอย่างเดียว กิเลสทั้งปวงก็ดับไม่มีเชื้อเหลือ เมื่อกิเลสดับแล้ว จิตวิญญาณก็ดับ ไม่มีการเข้าปฏิสนธิในครรภ์อีกต่อไป

       เมื่อจิตวิญญาณดับแล้ว ก็ไม่มีรูปนามคือร่างกายอีกต่อไป 

       เมื่อไม่มีร่างกายแล้ว ก็ไม่มีอายตนะทั้ง ๖ อีกต่อไป เมื่อไม่มีอายตนะทั้ง ๖ แล้ว ก็ไม่มีการสัมผัสอีกต่อไป 

       เมือไม่มีการสัมผัสแล้ว ก็ไม่มีเวทนาอีกต่อไป เมื่อไม่มีเวทนาแล้ว ก็ไม่มีตัณหาอีกต่อไป

     เมื่อไม่มีตัณหาแล้ว ก็ไม่มีอุปาทานอีกต่อไป เมื่อไม่มีอุปาทานแล้ว ก็ไม่มีภพอันเป็นที่เกิดและที่อยู่อีกต่อไป

       เมื่อไม่มีภพแล้ว ก็ไม่มีความเกิดอีกต่อไป เมื่อไม่มีความเกิดแล้ว ก็ไม่มีความแก่และความตาย ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีความร่ำไรรำพัน ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความเสียใจ ไม่มีความคับแค้นใจ อีกต่อไป ฯ 

         เพราะฉะนั้น ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนั้น ก็มีด้วยอาการอย่างนี้แล ฯ

 

(คำอธิบายปฏิจจสมุปบาทเพิ่มเติม)

     ถ้าพอใจในนมุษยโลก คิดอยากเกิดในนมุษยโลก จะเกิดเป็นมนุษย์ได้ต้องมีบุญคือความดีเพียงพอ คือบุญจากการรักษาศีล ๕ บริสุทธิ์ เป็นต้น 

    ถ้าพอใจในเทวโลก คิดอยากเกิดในเทวโลก จะเกิดเป็นเทวดาได้ ต้องมีบุญคือความดีเพียงพอ คือมีหิริ - ความละอายความชั่ว โอตตัปปะ - ความเกรงกลัวผลของความชั่ว หรือมีการให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น

     ถ้าพอใจในพรหมโลก คิดอยากเกิดในพรหมโลก จะเกิดเป็นพรหมได้ต้องมีบุญคือความดีเพียงพอ คือการให้ทานเป็นปกติ รักษาศีลเป็นปกติ มรพรหมวิหาร ๔ มีการภาวนาเป็นปกติจนทรงฌานสมาบัติ 

 

 


** อ้างอิงจาก หนังสือสวดมนต์แปล วัดจันทาราม (วัดท่าซุง) อ.เมือง จ.อุทัยธานี

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010399341583252 Mins