พระนางรูปนันทาเถรี

วันที่ 27 เมย. พ.ศ.2560

พระนางรูปนันทาเถรี,บทความวาไรตี้,บทความประจำวัน

 

เรื่องพระนางรูปนันทาเถรี

 

สถานที่ตรัส พระเชตวัน

   เล่ากันว่า วันหนึ่งพระนางรูปนันทานั้นทรงดำริ ‘เจ้าพี่ใหญ่ของเราสละสิริราชสมบัติ ออกผนวช เป็น พระพุทธเจ้าผู้อัครบุคคลในโลก, แม้โอรสของพระองค์ทรง นามว่า ‘ราหุลกุมาร’ ก็ผนวชแล้ว, แม้เจ้าพี่ของเรา (คือ เจ้าชายนันทะ) ก็ผนวชแล้ว. แม้พระมารดาของเราก็ทรง ผนวชแล้ว. เมื่อคณะพระญาติมีอยู่เท่านี้ ทรงผนวชแล้ว, แม้เราจะอยู่ในเรือนทำอะไร เราจะผนวชบ้าง.’       

      พระนางเสด็จเข้าไปสู่สำนักภิกษุณีทั้งหลาย แล้วทรงผนวช พระนางทรงผนวชเพราะ ความรักในพระญาติเท่านั้น หาใช่เพราะศรัทธาไม่ แต่เพราะพระนางเป็นผู้มีพระโฉมอันวิไล จึงปรากฏพระนามว่า ‘รูปนันทา.

     พระนางได้ทรงสดับว่า ‘ได้ยินว่า พระศาสดาตรัสว่า ‘รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา, เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา’ จึงไม่เสด็จไป เผชิญพระพักตร์พระศาสดา ด้วยทรงเกรงว่า ‘พระศาสดา จะพึงตรัสโทษในรูปแม้ของเราซึ่งน่าดู น่าเลื่อมใสอย่างนี้.

   ชาวพระนครสาวัตถีถวายทานแต่เช้าตรู่ สมาทานอุโบสถแล้วห่มผ้าสะอาด มีมือถือของหอมและระเบียบ ดอกไม้เป็นต้น ในเวลาเย็นนั้น ประชุมกันฟังธรรมในพระเชตวัน. แม้ภิกษุณีสงฆ์ผู้เกิดฉันทะในพระธรรมเทศนา ของพระศาสดาก็ย่อมไปวิหารฟังธรรม. ชาวพระนครสาวัตถีเหล่านั้น ครั้นฟังธรรมแล้ว เมื่อเข้าไปสู่พระนครก็กล่าวแต่คุณกถาของพระศาสดาเท่านั้นเข้าไป

      สัตว์ในโลกสันนิวาสซึ่งมีประมาณ ๔ จำพวก ที่เห็น พระตถาคตอยู่ ไม่เกิดความเลื่อมใส มีจำนวนน้อยนัก.

      ๑.รูปัปปมาณิกา

        ด้วยว่าจำพวกสัตว์ที่เป็นรูปัปปมาณิกา (ถือรูป เป็นประมาณ) เห็นพระสรีระของพระตถาคต อันประดับแล้วด้วยพระลักษณะและอนุพยัญชนะ มีพระฉวีวรรณ ดุจทองคำ ย่อมเลื่อมใส.

     ๒. โฆสัปปมาณิกา

         พวกโฆสัปปมาณิกา(ถือเสียงเป็นประมาณ)ฟังเสียงประกาศพระคุณของพระศาสดา ซึ่งอาศัยเป็นไปแล้ว ตั้งหลายร้อยชาติ และเสียงประกาศพระธรรมเทศนา อันประกอบด้วยองค์ ๘๒๓ ย่อมเลื่อมใส. เสียงที่ประกอบ ด้วยองค์ ๘ คือ แจ่มใส ๑ ชัดเจน ๑ นุ่มนวล ๑ น่าฟัง ๑ กลมกล่อม ๑ ไม่พร่า ๑ ลึก ๑ มีกังวาน ๑

    ๓. ลูขัปปมาณิกา

       พวกลูขัปปมาณิกา(ถือการปฏิบัติเศร้าหมองเป็นประมาณ)อาศัยความที่พระองค์เป็นผู้เศร้าหมองด้วยปัจจัยทั้งหลายมีจีวรเป็นต้น ย่อมเลื่อมใส.

   ๔. ธัมมัปปมาณิกา

       แม้พวกธัมมัปปมาณิกา (ถือธรรมเป็นประมาณ) ก็ย่อมเลื่อมใสว่า“ศีลของพระทศพลอย่างนี้.สมาธิอย่างนี้. ปัญญาอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าหาผู้เสมอมิได้ ไม่มี ผู้เสมอเท่า หาผู้เสมอเหมือนมิได้ ไม่มีผู้ทัดเทียม ด้วยคุณ ทั้งหลายมีศีลเป็นต้น.”

        เมื่อคนเหล่านั้น พรรณนาคุณของพระตถาคตอยู่ไม่ขาดปาก.

      พระนางรูปนันทาได้สดับคำพรรณนาคุณของพระตถาคต จากสำนักพวกภิกษุณีและพวกอุบาสิกา จึงทรง ดำริว่า ‘คนทั้งหลายย่อมกล่าวชมเจ้าพี่ของเรานักหนาทีเดียว แม้ในวันหนึ่ง พระองค์เมื่อจะตรัสโทษในรูปของเรา จะตรัสได้สักเท่าไร? ถ้าอย่างไร เราพึงไปกับพวกภิกษุณี ไม่แสดงตนเลย เฝ้าพระตถาคตฟังธรรมแล้วพึงกลับมา.’

          พระนางจึงตรัสบอกแก่พวกภิกษุณีว่า “วันนี้ ฉันจะ ไปฟังธรรม.”

    พวกภิกษุณีมีใจยินดีว่า“นานนักหนา การที่พระนางรูปนันทาทรงมีพระประสงค์จะเสด็จไปสู่ที่บำรุงพระศาสดา เกิดขึ้นแล้ว, วันนี้พระศาสดาทรงอาศัยพระนางรูปนันทานี้แล้ว จะทรงแสดงพระธรรมเทศนาอันวิจิตร” ดังนี้แล้ว พาพระนางออกไปแล้ว. ตั้งแต่เวลาที่ออกไป พระนางทรง ดำริว่า ‘เราจะไม่แสดงตนเลย.’

   พระศาสดาทรงดำริว่า ‘วันนี้ รูปนันทาจะมาที่บำรุงของเรา ธรรมเทศนาเช่นไรหนอแล? จะเป็นที่สบายของเธอ’ ทรงตกลงพระหฤทัยว่า ‘รูปนันทานั่น หนักในรูปมีความห่วงใยในร่างกายอย่างรุนแรง การบรรเทาความเมาในรูป ด้วยรูปนั่นแล เป็นที่สบายของเธอ ดุจการบ่งหนามด้วย หนามฉะนั้น.’

     ในเวลาที่พระนางเข้าไปสู่วิหาร ทรงนิรมิตหญิง มีรูปสวยพริ้งผู้หนึ่ง อายุราว ๑๖ ปี นุ่งผ้าแดง ประดับแล้วด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง ถือพัด ยืนถวายงานพัดอยู่ในที่ใกล้พระองค์ ด้วยกำลังพระฤทธิ์, พระศาสดาและพระนาง รูปนันทาเท่านั้น ทรงเห็นรูปหญิงนั้น.

     พระนางเสด็จเข้าไปวิหารพร้อมกับภิกษุณีทั้งหลาย ทรงยืนข้างหลังพวกภิกษุณี ถวายบังคมพระศาสดาด้วย เบญจางคประดิษฐ์ นั่งในระหว่างพวกภิกษุณี ทรงแลดูพระศาสดาตั้งแต่พระบาท ทรงเห็นพระสรีระของพระศาสดา วิจิตรแล้วด้วยพระลักษณะ รุ่งเรืองด้วยอนุพยัญชนะ อันพระรัศมีหนึ่งวาแผ่โดยรอบแล้ว ทรงแลดูพระพักตร์อันมีสิริดุจพระจันทร์เพ็ญ ได้ทรงเห็นรูปหญิงยืนอยู่ในที่ ใกล้แล้ว.

    พระนางทรงแลดูหญิงนั้นแล้ว ทรงแลดูร่างกาย (ของตน รู้สึกว่าตนเหมือนนางกา ซึ่งอยู่ข้างหน้านาง พระยาหงส์ทอง. ตั้งแต่พระนางทรงเห็นรูปที่สำเร็จด้วย ฤทธิ์ทีเดียว พระเนตรทั้งสองของพระนางก็วิงเวียน. พระนางมีจิตอันสิริโฉมของร่างนั้นทั้งหมดดึงดูดไปแล้วว่า ‘โอ ผมของหญิงนี้ ก็งาม, โอ หน้าผากก็งาม’ ดังนี้ ได้ หลงใหลในรูปนั้นอย่างแรงกล้า.

       พระศาสดาทรงทราบความยินดีอย่างสุดซึ้งในรูปนั้นของพระนาง เมื่อจะทรงแสดงธรรม จึงทรงแสดงรูปนั้น ให้ล่วงภาวะของผู้มีอายุ ๑๖ ปี มีอายุราว ๒๐ ปี.

        พระนางรูปนันทาได้ทอดพระเนตร มีจิตเบื่อหน่าย หน่อยหนึ่งว่า “รูปนี้ไม่เหมือน รูปเมื่อก่อนหนอ.”

       พระศาสดาทรงแสดงความแปรเปลี่ยนเพศของหญิงนั้นตามลำดับเทียว คือ เพศหญิงคลอดบุตรครั้งเดียว เพศหญิงกลางคน เพศหญิงแก่ เพศหญิงแก่คร่ำคร่าแล้ว เพราะชรา

      พระนางก็ทรงเบื่อหน่ายรูปนั้น ในเวลาที่ทรุดโทรม เพราะชรา ตามลำดับเหมือนกันว่า ‘โอ รูปนี้หายไปแล้วๆ’ เมื่อทรงเห็นรูปนั้นมีฟันหัก ผมหงอก หลังโกง มีซี่โครงขึ้น ดุจกลอน มีไม้เท้ายันข้างหน้า งกงันอยู่ ก็ทรงเบื่อหน่ายเหลือเกิน.

        พระศาสดาทรงแสดงรูปหญิงนั้นให้เป็นรูปที่ความ เจ็บป่วยครอบงำ ขณะนั้นเอง หญิงนั้นทิ้งไม้เท้าและพัด ใบตาล ร้องเสียงขรม ล้มลงที่ภาคพื้น จมลงในมูตรและกรีสของตน กลิ้งเกลือกไปมา. พระนางรูปนันทาทรงเห็น หญิงนั้นแล้ว ทรงเบื่อหน่ายเต็มที.

       พระศาสดาทรงแสดงมรณะของหญิงนั้นแล้ว. หญิงนั้น ถึงความเป็นศพพองขึ้นในขณะนั้นเอง สายแห่งหนองและ หมู่หนอนไหลออกจากปากแผลทั้ง ๙. ฝูงสัตว์มีกา เป็นต้นรุมแย่งกันกินแล้ว.

         พระนางรูปนันทาทรงพิจารณาซากศพนั้นแล้ว ทรง เห็นร่างกาย ตามสภาพไม่เที่ยงว่า ‘หญิงนี้ถึงความแก่ ถึงความเจ็บ ถึงความตาย ในที่นี้เอง, ความแก่ ความเจ็บ และความตาย จะมาถึงแก่ร่างกายแม้นี้อย่างนั้นเหมือน กัน.’ และเพราะความที่ร่างกายเป็นสภาพที่พระนางทรง เห็นแล้วโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยงนั่นเอง ร่างกายนั้น จึงเป็นอันทรงเห็นแล้วโดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตาทีเดียว.

        ภพทั้งสามปรากฏแก่พระนางดุจถูกไฟเผาลนแล้ว และดุจซากศพอันเขาผูกไว้ที่พระศอ จิตมุ่งตรงต่อกรรมฐาน แล้ว.

        พระศาสดาทรงทราบว่า ‘พระนางทรงคิดเห็นอัตภาพ โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยงแล้ว’ จึงทรงพิจารณาดูว่าพระนางจะสามารถทำที่พึ่งแก่ตนได้เองทีเดียวหรือไม่ หนอแล?’ ทรงเห็นว่า ‘จะไม่อาจ การที่พระนางได้ปัจจัย ภายนอก เสียก่อนจึงจะเหมาะ’ ดังนี้แล้ว

       เมื่อจะทรงแสดงธรรม ด้วยอำนาจธรรมเป็นที่สบาย แห่งพระนาง ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

“นันทา เธอจงดูกายอันกรรมยกขึ้น

อันอาดูรไม่สะอาด เปื่อยเน่า

ไหลออกอยู่ข้างบน ไหลออกอยู่ข้างล่าง

ที่พาลชน ทั้งหลายปรารถนากันนัก;

สรีระของเธอนี้ ฉันใด สรีระของหญิงนั่น ก็ฉันนั้น,

สรีระของหญิงนั่น ฉันใด สรีระของเธอนี้ ก็ฉันนั้น

เธอจงเห็นธาตุทั้งหลายโดยความเป็นของสูญ,

อย่ากลับมาสู่โลกนี้อีก, เธอคลี่คลายความพอใจ

ในภพเสียแล้ว จักเป็นบุคคลผู้สงบเที่ยวไป.”

 

    ได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภพระนาง นันทาภิกษุณี ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.

       พระนางนันทาทรงส่งญาณไปตามกระแสเทศนา บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว.

    พระศาสดาเพื่อจะตรัสสุญญตกรรมฐาน๒๕ เพื่อต้องการอบรมวิปัสสนา เพื่อมรรคผลทั้งสามยิ่งขึ้นไปแก่ พระนาง จึงตรัสว่า “นันทา เธออย่าทำความเข้าใจว่า ‘สาระ ในสรีระนี้ มีอยู่’ เพราะสาระในสรีระนี้แม้เพียงเล็กน้อย ก็ไม่มี, สรีระนี้ อันกรรมยกกระดูก ๓๐๐ ท่อนขึ้น สร้างให้ เป็นนครแห่งกระดูกทั้งหลาย” ดังนี้ แล้วตรัสพระคาถานี้ ว่า

“สรีระอันกรรมทำให้เป็นนครแห่งกระดูก

ทั้งหลาย ฉาบด้วย เนื้อและโลหิต

เป็นที่ตั้งลงแห่งชรา มรณะ มานะและมักขะ”

 

   เมื่อจบเทศนา พระนางรูปนันทาเถรีได้บรรลุพระ อรหัตผล.พระธรรมเทศนาได้เป็นกถามีประโยชน์แก่ มหาชนแล้ว ดังนี้แล.

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.04759316444397 Mins