รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก "เปรียบเทียบรัฐศาสตร์ทางโลกกับทางธรรม"

วันที่ 09 พค. พ.ศ.2560

รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก
"เปรียบเทียบรัฐศาสตร์ทางโลกกับทางธรรม"

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก , รัฐศาสตร์ , เศรษฐกิจ , รัฐศาสตร์ทางโลกกับทางธรรม , รัฐศาสตร์เชิงพุทธ

   ในหัวข้อนี้ จะเปรียบเทียบหลักธรรมาธิปไตยกับการปกครองในยุคปัจจุบัน โดยจะหยิบยกมาเพียงบางประเด็นเท่านั้น คือ ในเรื่องการปกครองโดยคณะบุคคลของแคว้นวัชชี กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน เพราะระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบที่ใช้กันมากที่สุดในยุคนี้ส่วนประเด็นอื่นๆ ได้เปรียบเทียบแทรกไว้ในเนื้อหาบ้างแล้ว

      การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นมีลักษณะบางประการคล้ายกับการปกครองแบบคณะบุคคลของแคว้นวัชชี กล่าวคือ เป็นระบอบที่ไม่ได้ปกครองโดยคนๆ เดียวแบบระบอบกษัตริย์แต่ปกครองโดยคณะบุคคลที่มีสิทธิ์ตัดสินร่วมกัน แต่ทั้งนี้ก็มีความต่างกันตรงที่ระบอบประชาธิปไตยนั้น เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคน มัครเข้าไปเป็นคณะผู้ปกครองประเทศได้ โดยผ่านการเลือกตั้ง แต่การปกครองของแคว้นวัชชีนั้น สงวนสิทธิ์ไว้เฉพาะคณะเจ้าเท่านั้นส่วนกระบวนการปกครองมีความคล้ายคลึงกันคือ ระบอบประชาธิปไตยยกเอารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของการปกครองส่วนแคว้นวัชชียกเอา "ธรรม" ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ เช่น อปริหานิยธรรม เป็นต้น ให้เป็นหลักปฏิบัติสูงสุดของคณะผู้ปกครอง

      ในการจัดสรรอำนาจนั้นก็มีความคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ระบอบประชาธิปไตยแบ่งอำนาจออกเป็น 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการส่วนแคว้นวัชชีนั้นก็มีการจัด สรรอำนาจออกเป็นฝ่ายๆอย่างชัดเจนไม่ก้าวก่ายกัน เท่าที่ปรากฏอยู่ในอรรถกถาพระไตรปิฎกพบว่า มีการแบ่งอำนาจบริหาร และ อำนาจตุลาการชัดเจนมาก คือ คณะเจ้าวัชชีเป็นฝ่ายบริหารโดยมีคัดเลือกตัวแทนคณะเจ้าหนึ่งท่านให้เป็นพระราชา อำนาจตุลาการนั้นเป็นหน้าที่ของ "มหาอำมาตย์" เป็นต้นส่วนอำนาจนิติบัญญัตินั้นไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า มีการ
แบ่งอำนาจนี้ออกไปต่างหากหรือไม่ แต่จากพระดำรั ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ตรัสแก่เจ้าวัชชีทั้งหลายว่า "ไม่บัญญัติข้อที่ไม่เคยบัญญัติไว้ ไม่เพิกถอนข้อที่บัญญัติไว้แล้ว สมาทานวัชชีธรรมแบบโบราณ ตามที่บัญญัติไว้แล้ว ประพฤติกันอยู่"

       พระดำรัสนี้สามารถตีความได้ 2 ประเด็นคือ ประเด็นแรก คือ อำนาจนิติบัญญัติรวมอยูกับอำนาจบริหารของเจ้าวัชชีคณะเดียวกัน ประเด็นที่ อง เจ้าวัชชีแบ่งออกเป็น 2 คณะ คือ คณะที่ทำหน้าที่บริหาร และ คณะที่ทำหน้าที่บัญญัติกฎหมาย จากข้อมูลที่มีอยู่นี้ยังไม่อาจจะสรุปได้ว่าเป็นประเด็นไหนกันแน่ แต่ทั้งนี้อำนาจนิติบัญญัติตามอปริหานิยธรรมนั้นเป็นอำนาจที่ค่อนข้างนิ่งคือ บัญญัติตามประเพณีอันดีงามแต่โบราณของชาววัชชีเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ความเคลื่อนไหวที่สำคัญทางการปกครองจึงอยู่ที่ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการซึ่งมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนเป็นหลัก

    ในส่วนของอำนาจตุลาการของแคว้นวัชชีนั้นยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือ มีการแบ่งอำนาจออกเป็นชั้นๆ คล้ายๆ กับอำนาจตุลาการปัจจุบันที่มีแบ่งเป็น ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา นอกจากนี้ยังมีศาลย่อยอื่นๆ อีกหลายศาล ในอำนาจตุลาการของแคว้นวัชชีนั้นมีการแบ่งออกเป็น 7 ชั้น คือ มหาอำมาตย์ฝ่ายสอบสวน, มหาอำมาตย์ฝ่ายผู้พิพากษา, มหาอำมาตย์ฝ่ายที่ชื่อว่าลูกขุน, มหาอำมาตย์ 8 ตระกูล, เสนาบดี, อุปราช และ พระราชา

       บางคดีก็สิ้นสุดที่มหาอำมาตย์ฝ่ายสอบสวน กล่าวคือ หากฝ่ายนี้สอบสวนจำเลยแล้วพบว่า "บริสุทธิ์" ก็จะปล่อยตัวไป แต่ถ้าสอบสวนแล้วมีข้อมูลที่บ่งบอกว่า "จำเลยผิดจริง" ก็จะส่งจำเลยไปในฝ่ายที่สูงขึ้นตามลำดับจนถึงพระราชา หากพระราชาสอบสวนแล้วพบว่าจำเลยผิดจริง ก็จะโปรดให้เจ้าหน้าที่อ่านคัมภีร์กฎหมายประเพณี ในคัมภีร์กฎหมายประเพณีนั้นเขียนไว้ว่า ผู้ใดทำความผิดชื่อนี้ผู้นั้นจะต้องมีโทษชื่อนี้ พระราชาก็ทรงนำการกระทำของผู้นั้นมาเทียบกับตัวบทกฎหมายนั้นแล้ว ทรงลงโทษตามสมควรแก่ความผิดนั้น

      ประเด็นนี้มีข้อสังเกตว่า พระราชาซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดฝ่ายบริหารนั้น ก็ต้องทำหน้าที่ฝ่ายตุลาการด้วยในกรณีที่ "คดีความ" บางคดีไม่อาจจะระงับได้ในกระบวนการยุติธรรม ชั้นต้น ซึ่งประเด็นนี้ ก็แตกต่างจากระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน ที่ผู้นำฝ่ายบริหารได้แก่ นายกรัฐมนตรี เป็นต้น จะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการตัดสินคดีความเลย

       จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่า มีทั้งส่วนที่เหมือนกัน คล้ายกัน และแตกต่างกันอยู่หลายประการ โดยข้อแตกต่างที่สำคัญที่สุดคือ แคว้นวัชชียึดหลักธรรม ได้แก่ อปริหานิยธรรม เป็นต้น เป็นหัวใจสำคัญในการปกครองประเทศ แต่ระบอบประชาธิปไตยนั้น ยึดรัฐธรรมนูญที่คนซึ่งยังมีกิเลส อยู่ช่วยกันร่างขึ้นเป็นกฎหมายสูงสุดเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการปกครองประเทศ

     จุดอ่อนของประชาธิปไตยและแนวทางแก้ไขหากผู้ปกครองเป็นคนดี มีความสามารถ ระบบการปกครองแบบเผด็จการไม่ว่าจะเป็นโดยบุคคล เช่น ระบอบราชาธิปไตย หรือ โดยหมู่คณะ เช่น ระบอบสังคมนิยม จะสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการของสังคมได้เร็วที่สุด แต่มีความเสี่ยงสูง เพราะคนเราเมื่อยังไม่หมดกิเลส การมีอำนาจสิทธิ์ขาดโดยไม่มีการถ่วงดุล ทำให้มีแนวโน้มการใช้อำนาจในทางมิชอบสูงไปด้วย และหากเป็นอย่างนั้น จะสร้างความเสียหายแก่สังคมได้อย่างมหาศาล

     ในสภาพสังคมโลกปัจจุบันระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นการปกครองที่ใช้อำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน จึงเป็นระบอบการปกครองที่มีความบกพร่องน้อยที่สุด แต่ก็มีจุดอ่อนคือ หากคนหมู่มากถูกชักนำด้วยอำนาจอิทธิพลของสื่อการประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ที่เก่งกาจอำนาจเงิน หรือด้วยอิทธิพลอันใด ทำให้เลือกคนไม่ดี คนขาดความสามารถในการบริหารเข้ามาปกครองประเทศแล้ว ก็อาจสร้างความเสียหายได้มาก ไม่ว่าจะเป็นโดยการคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจรัฐไปในทางมิชอบ หรือการบริหารนำพาประเทศไปในทางที่ผิด การทำให้เกิดความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น

      แนวทางแก้ไขคือ จะต้องให้ความรู้กับประชาชนให้รู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันนักการเมือง ให้คิดตัดสินใจอย่างมีเหตุผล อิงข้อมูลที่เป็นจริงมากกว่าใช้อารมณ์ และสร้างเป็นกระแสร่วมกันของคนทั้งชาติให้ทุกคนยึดธรรมเป็นใหญ่คือ นำหลักธรรมความถูกต้องดีงาม ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ มาเป็นค่านิยมร่วมของสังคม เป็นเครื่องนำทางสังคมไปสู่ทิศทางที่พึงประสงค์ ซึ่งจะทำให้นักการเมืองต้องประพฤติตนอยู่ในกรอบของหลักธรรมนั้นด้วย เพราะมิฉะนั้นประชาชนจะไม่ยอมรับ โดย สรุปคือนำหลักธรรมาธิปไตยมาประยุกต์ใช้กับหลักประชาธิปไตยนั่นเอง

 


*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.024022968610128 Mins