ตรวจครัว ตรวจวัด รักษาสมบัติพระศาสนา
นั่งสามล้อตรวจวัด
ในวัยสูงอายุ ๘๓ ปีของคุณยายท่านยังขยันขันแข็ง กิจวัตร อีกอย่างหนึ่งที่ข้าพเจ้าเห็นคุณยายทำเป็นประจำ คือ การ นั่ง สามล้อตรวจบริเวณต่าง ๆ ภายในวัดทั้งตอนเช้าและตอนเย็น
เวลาประมาณก่อน ๘ โมงเล็กน้อย พี่อุบาสกจะนำสามล้อ มาจอดรับคุณยายที่หน้าห้องเลขา หลังจากคุณยายรับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้ว พี่อารีพันธุ์จะส่งคุณยายขึ้นนั่งรถสามล้อ บางครั้งคุณยายเสร็จเร็วสามล้อยังไม่มา พี่อารีพันธุ์ก็จะพาคุณยาย ค่อย ๆ เดินย่อยอาหาร ไปรอรถสามล้ออยู่ที่ครัว
ตอนเช้าแดดยังไม่จัด คุณยายจะนั่งสามล้อไปทางหน้าวัดซึ่งเป็นฝั่งทิศตะวันออกแล้วจึงอ้อมกลับไปทางหลังวัด ซึ่งมีนั่งรถสามล้อตรวจจากหน้าวัดไปหลังวัดจนกลับมาถึงที่พักประมาณชั่วโมงกว่า ๆ
โดยเฉลี่ยคุณยายจะกลับมาถึงที่พักคือที่ห้องเลขาประมาณ ๙ โมงเช้า จะก่อนหรือหลัง ๙ โมงก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้นพี่อารีพันธุ์มอบหมายหน้าที่ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มารอรับคุณยายเมื่อรถสามล้อมาถึง ดังนั้นก่อนเวลา ๙ โมง ข้าพเจ้าจึง มักออกมายืนที่หน้าห้องเลขา คอยชะเง้อดูตามเส้นทางว่า รถสามล้อคุณยายมาถึงจุดไหนแล้ว เพื่อว่าเมื่อรถสามล้อมาถึงจะได้รับท่านลงจากสามล้อได้ทันที
บางวันรถสามล้อคุณยายก็มาถึงเร็ว แต่บางวัน ๙ โมงกว่าแล้วก็ยังกลับมาไม่ถึง ถ้ารู้สึกว่าช้ากว่าปกติมากข้าพเจ้าจะปั่นจักรยานตามไปดูว่าสามล้อคุณยายอยู่ที่ไหน กำลังประสบเหตุการณ์ใดอยู่ส่วนใหญ่ก็จะพบว่าสามล้อคุณยายจอดอยู่ที่หน้าอาคารสองชั้น (อาคารปุโรหิตา) ซึ่งเป็นที่ทำงานของพระอุบาสก อุบาสิกา คล้ายสำนักงานรวมในปัจจุบัน บางครั้งจะพบท่านนั่งอยู่บนสามล้อที่จอดนิ่งสนิทอยู่ กำลังพูดคุยกับพระหรือเด็กวัด (อุบาสก อุบาสิกา) ที่อยู่แถว ๆ นั้น บางครั้งข้าพเจ้าก็พบแต่สามล้อว่างเปล่าของคุณยายจอดอยู่ เมื่อตามไปดูจึงพบว่า คุณยายท่านเดินเข้าไปตรวจดูข้างในอาคารสองชั้น
คุณยายท่านมักจะแวะมาที่อาคารสองชั้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะวันไหนที่ท่านนั่งสามล้อตรวจวัดแล้วพบเห็นอะไรที่ต้องแก้ไขปรับปรุงท่านก็จะแวะเพื่อที่จะเล่าเรื่องต่าง ๆ ที่ท่านพบเห็นให้พระและเด็กวัดที่ทำงานอยู่ที่นั่นฟัง เพื่อที่ทุกคนจะได้ช่วยกันดูแล ปรับปรุงแก้ไขต่อไปหรือไม่ก็ไปตรวจดูความเรียบร้อยที่อาคาร สองชั้นว่าอยู่กันอย่างไรสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยดีหรือเปล่า
กลับมาจากนั่งสามล้อ คุณยายมักจะมีเรื่องต่าง ๆ ที่คุณยายพบเห็นมาเล่าให้ฟัง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการรักษาสมบัติสงฆ์สิ่งไหนที่ท่านทำได้ท่านกับพี่อุบาสกที่ถีบสามล้อให้ก็จะช่วยกัน ลงมือทำเองทันที
มีอยู่ครั้งหนึ่ง คุณยายท่านกลับมาแล้วเล่าให้ฟังว่า "วันนี้ยายไปปราบหญ้าคากับเป๊าะแป๊ะ (ต้นต้อยติ่ง) มา" ข้าพเจ้าถามคุณยายว่า "คุณยายไปถอนด้วยหรือเปล่าคะ"
คุณยายท่านตอบว่า "ถอนช่วยกันกับประดิษฐ์ (ปัจจุบัน คือพระระดิษฐ์ อริญชโย) ตอนเช้ายายถอนได้ ตอนเย็นยาย อาบน้ำแล้วไม่ถอน นั่งอยู่บนรถดูเฉย ๆ"
คุณยายแม้ท่านจะวัย ๘๐ กว่า ๆ แล้ว แต่ท่านไม่เคยนิ่งเฉยดูดายสิ่งไหนที่ทำได้ท่านจะลงมือทำด้วยตัวท่านเองทันที
บางครั้งหากสิ่งที่ท่านไปพบเห็นนั้น เป็นงานที่หนักเกินแรงหรือเกินกำลังที่ท่านจะทำได้ท่านก็จะดู ๆ และจดจำสถานที่นั้นไว้ แล้วจะนำมาหาวิธีการแก้ไขต่อไปไม่ปล่อยให้ข้ามวัน บางครั้งเมื่อกลับมาถึงที่พัก คุณยายก็จะเอนหลังพัก
คุณยายบอกว่า "พอยายนอนทำใจนิ่ง ๆ ดิ่งธรรมะ ภาพมันก็จะผุดขึ้นมาว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไปมันเห็นในที่"
คุณยายจึงมีวิธีแก้ปัญหาที่ชาญฉลาดยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน เพราะท่านไม่ต้องคิดให้ปวดหัว แต่ว่าผุดให้รู้ขึ้นมาจากธรรมกายภายใน
บางครั้งเมื่อกลับมาถึงแล้วท่านจะเล่าให้ฟังว่า ไปพบตรงนั้นรกรุงรัง ตรงนี้ข้าวของทิ้งไว้จะเสียหาย พร้อมกับบอก ให้ข้าพเจ้าช่วยโทรตามหาบุคคลที่รับผิดชอบดูแล เพื่อแจ้งเรื่องเหล่านั้นให้รับทราบ ซึ่งส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นโทรศัพท์ไปที่สโตร์หน้าวัด ซึ่งในช่วงนั้นเป็นศูนย์รวมของหน่วยงานช่าง งานโยธา งานสุขาภิบาล ฯลฯ และมีคนงานที่มีหน้าที่ดูแลอยู่เป็นจำนวนมากพอสมควร แต่ในบางครั้งเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน โทรศัพท์ ไปบอกก็คงไม่เหมือนท่านไปบอกด้วยตัวเอง
ดังนั้นหลังจากนั่งสามล้อตรวจวัดเสร็จ กลับมาถึงนั่งพักพอหายเหนื่อยแล้ว คุณยายก็จะวนให้พี่อารีพันธุ์ช่วยขับรถพาท่านไปที่สโตร์หน้าวัดอีกครั้งหนึ่งส่วนใหญ่จะไปพบหลวงพี่ฌานาภิญโญ (พระครูปลัดภูเบศ ฌานาภิญโญ) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดูแลงานในส่วนนั้น เมื่อรถคุณยายไปถึง ถ้าหลวงพี่ทราบท่านจะรีบเดินมาหาคุณยายที่รถทันที ด้วยกิริยาที่แสดงความเคารพรัก ขณะเดียวกันนั้น เมื่อคุณยายเห็นท่านก็จะรีบพนมมือไหว้ แล้วกล่าวทักทายท่าน พร้อมกับเล่าสิ่งที่ท่านไป พบเห็นระหว่างนั่งสามล้อตรวจวัดให้หลวงพี่ฟัง
"ท่าน...ยายไปเห็นตรงแถวเนินประดู่ พวกคนงานเขาทำอะไรทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ไว้สำเสร็จแล้วไม่เก็บ..."
แล้วท่านมักจะลงท้ายด้วยประโยคที่เหมือนเป็นการฝากฝังและให้ความไว้วางใจว่า "ท่านช่วยยายดูแลวัดด้วยนะ" ซึ่งเป็นประโยคที่ข้าพเจ้ามักได้ยินท่านพูดอยู่เสมอ ๆ กับพระที่รับผิดชอบงานในส่วนต่าง ๆ ที่ท่านไปพบเจอ
ถ้าคุณยายทำสิ่งใดแล้วท่านจะตามงานของท่านตลอดอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยหรือย่อท้อ มีอยู่ครั้งหนึ่งขณะที่ท่านนั่งสามล้อตรวจวัดท่านสังเกตเห็นว่าที่บริเวณข้าง ๆ กำแพง พื้นหญ้า สีเขียวเป็นรอยทางคนเดิน คุณยายบอกว่าทางที่เขาทำไว้ ให้ใช้เดินก็มีทำไมถึงขี้เกียจ มาเดินลัดสนามแถวนี้ท่านจึงคิด หาวิธีการไม่ให้คนเดินผ่าน โดยให้พี่ประดิษฐ์ทำป้ายมาปักไว้ตรงบริเวณที่คนงานชอบเดินผ่านไปมาว่า "ห้ามเดินผ่าน" เมื่อปักป้ายไว้แล้ว เวลาท่านนั่งสามล้อท่านก็จะแวะเวียน ไปดูอยู่ทุกวัน เมื่อทราบว่าป้ายที่ปักไว้นั้นไม่ได้ผลท่านก็คิดหาวิธีการใหม่ต่อไป
คุณยายท่านจะบอกว่า "เวลายายทำงานอะไร จะค่อย ๆ กระเถิบ ๆ ดูลู่ทาง" แล้วท่านก็ให้พี่ระดิษฐ์หาต้นไม้ที่เป็นหนาม ๆ มาปลูกกั้นตรงทางเดินไว้ ทีนี้คงไม่มีใครกล้าเดินผ่านแล้ว เพราะกลัวเจ้าหนามแหลม ๆ ของต้นไม้ทิ่มแทงเอา
สำหรับคุณยายแล้ว ไม่มีคำว่าผัดวันประกันพรุ่ง ไม่มีคำว่าเอาไว้ก่อน ไม่มีคำว่าทิ้งงาน มีแต่คำว่าติดตามและตามติดคิดสิ่งใดแล้วท่านจะลงมือทำทันที ข้าพเจ้ายังมองไม่เห็นเลยว่า ถ้าท่านได้ลงมือทำสิ่งใดแล้วสิ่งนั้นจะไม่สำเร็จ แม้ท่านจะอยู่ใน วัยใกล้ ๙๐ แล้วก็ตาม เพราะท่านเป็นผู้ที่เพียบพร้อมไปด้วยอิทธิบาท ๔ อย่างครบถ้วน คือ
ฉันทะ เต็มใจทำ
วิริยะ แข็งใจทำ
จิตตะ ตั้งใจทำ
วิมังสา เข้าใจทำ
ท่านจึงเป็นแบบอย่างของผู้มีความสำเร็จเป็นที่ตั้งอย่างแท้จริง
ช่วงหลังคุณยายอายุมากขึ้นและมักจะมึนศีรษะอยู่บ่อย ๆ วันไหนท่านมึนศีรษะก็มักจะงดนั่งสามล้อไปโดยปริยาย ดังนั้น วันไหนคุณยายนั่งสามล้อ พี่อารีพันธุ์จึงมักให้ข้าพเจ้าปั่นรถจักรยานตามสามล้อคุณยายไปด้วยอีกคน
นับเป็นโอกาสอันดียิ่งนัก ที่ข้าพเจ้าจะได้ติดตามคุณยาย ผู้ซึ่งเป็นต้นแบบในเรื่องต่าง ๆ อย่างหาผู้ใดเสมอเหมือนมิได้ ไปชมวัด ตรวจวัด ตามสถานที่ต่าง ๆ
คุณยายบอกว่า "ยายชอบนั่งสามล้อตรวจวัด นั่งสามล้อ มันไม่กระเทือนเหมือนรถอย่างอื่น" และที่สำคัญไม่ว่าคุณยายจะชี้มือไปทางไหนว่าอยากจะไปดูสามล้อก็จะพาคุณยายซอกซอนเข้าไปได้ทุกซอกทุกมุมทั่ววัด
พี่อุบาสกที่ถีบสามล้อให้คุณยายนั่ง ก็จะถีบสามล้อในจังหวะที่พอเหมาะพอดีไปเรื่อย ๆ ไม่เร็วหรือช้าเกินไปรถสามล้อคุณยายจะมีหมอนพิงหลังใบอ้วน ๆ สีขาววางอยู่ เวลาคุณยาย ขึ้นนั่งสามล้อ ก็จะจัดหมอนพิงหลังให้ท่านให้อยู่ในตำแหน่งที่พอดี ดันระหว่างหลังคุณยายกับเบาะไว้ เพื่อว่าระหว่างเวลาที่คุณยาย นั่งสามล้อตรวจวัดจะได้ไม่เมื่อยหลังจนเกินไปเวลาคุณยายนั่ง สามล้อท่านจะนั่งตัวตั้งตรงตลอดสายตาของท่านจะคอยทอด มองดูสองข้างทางในระยะใกล้บ้างไกลบ้าง มือของท่านจะคอย ยกขึ้นชี้ชวนให้ดูสิ่งโน้นสิ่งนี้ พร้อมทั้งเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฟังอย่างมีความสุขและภาคภูมิใจ
"ยายนึกไม่ถึงเลยว่าวัดเราจะมีคนเยอะขนาดนี้ ตอนแรก ที่หลวงพ่อธัมมะบวชยายคิดจะมาสร้างวัด คิดจะเอาสัก ๕๐ ไร่ ตอนนี้ ๒,๐๐๐ ไร่ คนก็จะเต็มแล้ว"
รถสามล้อคุณยายจะเลี้ยวเข้าทางข้าง ๆ อาคารดาวดึงส์ ที่ถนนปูด้วยแผ่นปูน ผ่านแผ่นปูนซึ่งปูเป็นทางเล็ก ๆ ขึ้นสะพานโค้ง อ้อมผ่านหอระฆัง แล้วขึ้นสะพานโค้งอีกครั้ง ก่อนที่จะถึงเนิน ประดู่ ที่เรียกว่า "เนินประดู่" คงเป็นเพราะบริเวณนี้มีต้นประดู่ เขียวครึ้มปกคลุมแน่นหนาเต็มไปหมด บางทีก็จะพบสิ่งของหรือ เศษกิ่งไม้ที่เกะกะอยู่ไม่เป็นที่เป็นทาง แต่ที่พบเห็นอยู่บ่อย ๆ คือ ต้นต้อยติ่งที่คุณยายชอบเรียกว่า ต้นเป๊าะแป๊ะ
คุณยายมักจะบอกให้จอดรถสามล้อ เพื่อจัดการกับวัชพืช เหล่านี้ให้เรียบร้อยเสียก่อน แต่ช่วงหลังคุณยายอายุมากขึ้น สังขารไม่เอื้ออำนวยเท่าใดนักท่านจึงนั่งดูเฉย ๆ อยู่บนรถ
ที่เนินประดู่จะมียุงชุม ถ้าจอดรถนิ่ง ๆ ยุงมักจะมา พี่อุบาสกจึงพยายามหลีกเลี่ยงการจอดสามล้อโดยการชี้ชวนให้ท่าน มองดูตรงจุดอื่นที่ไม่มีต้นเป๊าะแป๊ะหรืออะไรที่รกรุงรัง แต่ก็หา ได้รอดพ้นสายตาของคุณยายไปไม่ ถ้าต้องจอดสามล้อ ข้าพเจ้าจะคอยเอาผ้าไล่ปัดยุงไม่ให้มากัดคุณยายส่วนพี่อุบาสกที่ถีบ สามล้อก็จะไปเก็บพวกเศษกิ่งไม้ที่เกะกะไปกอง ๆ รวมกันไว้ให้ เป็นที่เป็นMาง ต้นเป๊าะแป๊ะก็เช่นเดียวกัน ถ้าเจอคุณยายจะให้ ถอนทันที ถ้าเยอะมาก คุณยายก็จะให้ข้าพเจ้าไปช่วยถอนอีกแรงหนึ่ง
ข้าพเจ้าบอกว่ากลัวยุงจะกัดคุณยายท่านบอกว่า "ไม่เป็นไรเดี๋ยวยายจะขยับขาบ่อย ๆ ยุงจะได้ไม่มากัด" พร้อมทำท่าขยับ ๆ ขาให้ดู คุณยายท่านจะดูบริสุทธิ์และเป็นธรรมาติเช่นนี้เสมอ ข้าพเจ้าก็ไม่ไปไหนไกล นั่งถอนต้นเป๊าะแป๊ะอยู่ใกล้ ๆสามล้อคุณยายนั่นแหละ ถอนบ้าง เอาผ้าไล่ยุง ให้คุณยายบ้าง ข้าพเจ้านึกชื่นชมในความพากเพียรของคุณยาย "ถ้าท่าน ทำสิ่งใดแล้ว ไม่สำเร็จ ไม่เลิกรา" ปราบเป๊าะแป๊ะก็เช่นเดียวกัน ถอนเท่าไรก็ไม่เห็นหมดสักที แต่คุณยายไม่เคยละความพยายาม ที่จะปราบมันให้สำเร็จ คงเหมือนกับกิเลสที่อยู่ในใจ คุณยายก็ไม่เคยละความเพียรพยายามที่จะถอนมันออกไปให้หมด ปราบมันให้สำเร็จเช่นกัน
พอได้จังหวะข้าพเจ้าก็ชวนคุณยายนั่งสามล้อต่อไป จากเนินประดู่ก็มุ่งตรงไปทางหน้าวัด เมื่อมาถึงหน้าวัดจะเห็นประตูเตนเลสส์รูปทรงเรียบง่ายสูงโปร่ง ดูสวยงาม วาววับยาม ต้องแสงแดดในยามเช้า คุณยายท่านชี้ไปที่ประตู
"ประตูข้างหน้าน่ะ ยายไปบอกบุญเขามา พอยายทำประตูเสร็จได้ ยายก็มีความสุข เมื่อก่อนเป็นประตูเหล็กเก่า ๆ ลากไปลากมา ก่อนจะทำยายก็ดูเขาสร้างกำแพง ลงเสาเข็มทำ กำแพงซะแน่นหนา ยายเลยคิดทำประตูถาวร ถ้ากำแพงไม่พังประตูก็ไม่พัง"
คุณยายจะมองดูประตูนั้นด้วยความสุขใจและภาคภูมิใจ ในทุกครั้งที่ผ่าน เหมือนเห็นภาพที่ตอกย้ำทำให้ท่านได้ตามตรึกระลึกนึกถึงบุญกุศลที่ท่านได้ทำมา
เสร็จจากหน้าวัด รถสามล้อของคุณยายก็จะเลี้ยวกลับ มาผ่านอาคารประชาสัมพันธ์(หินอ่อน) ศาลาจาตุมหาราชิกา ตอนช่วงนั้น ก่อนที่คนงานหรือพนักงานจะเข้าทำงาน ก็จะมารวมตัวกันสวดมนต์ทำวัตรเช้าที่ศาลานี้ โดยมีหลวงพี่มาคอยดู ความเรียบร้อย และตรวจเช็ครายชื่อช่วงก่อนที่จะถึงเวลาสวดมนต์หลวงพี่ก็จะพาคนงานที่มาถึงก่อนช่วยกันทำความสะอาด เช็ดถูศาลาบ้าง กวาดใบไม้ตามทางบ้าง พอรถคุณยายผ่านมา คนงานก็จะพากันยกมือไหว้คุณยาย คุณยายท่านก็ยกมือพนม ทักทายกับทุกคน ถ้ามองเห็นอะไรที่พอจะสอนได้ท่านก็จะเมตตาหยุดรถ เพื่อที่จะได้บอกได้สอนคนงานเหล่านั้น
ส่วนใหญ่คุณยายท่านจะสอนให้ทุกคนรู้จักรักษาความ สะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการรักษาสมบัติสงฆ์ เช่น การกวาดเศษใบไม้บนถนน ให้กวาดไปกอง ๆ รวมกันไว้ ไม่ใช่กวาดจากถนนลงมาทิ้งไว้ข้างทาง เมื่อกวาดเสร็จแล้ว เศษใบไม้ที่กอง ๆ ไว้ ให้หาถุงมาใส่เก็บไปทิ้งอย่ากองทิ้งไว้ เดี๋ยวจะมีอะไรมาคุ้ยเขี่ย หรือเวลามีลมแรงมันก็พัดกระจายไปอีก อุปกรณ์ข้าวของต่าง ๆ เมื่อทำเสร็จแล้ว ก็ให้นำไปเก็บไว้ที่เดิม สำหรับคนที่ชอบทำอะไรเลอะ ๆ เทอะ ๆ ไม่รักษาสมบัติสงฆ์ท่าน ก็จะพูดตักเตือนสอน และย้ำแล้วย้ำอีกเป็นพิเศษ
ข้าพเจ้ารู้สึกว่าคนงานรุ่นก่อน ๆ โชคดีที่ได้พบได้เห็นหน้า ได้รับการอบรมสั่งสอนจากคุณยายอยู่บ่อย ๆ คนงานเก่า ๆ บางคน คุณยายยังจดจำชื่อได้เป็นอย่างดี และยังทราบว่ารับผิดชอบงานในส่วนไหนด้วย
พระที่ท่านดูแลคนงานอยู่แถวนั้น ก็มักจะได้รับคำทักทายจากคุณยายอยู่เสมอ ๆ และประโยคที่ได้ยินท่านพูดเป็นประจำคือ "ท่าน ๆช่วยยายเป็นหูเป็นตา คอยบอกคอยสอนคนงานด้วย" หรือไม่ก็ "ท่าน ๆช่วยยายดูแลวัดด้วย" บางทีระหว่าง นั่งรถผ่านไป คุณยายท่านก็จะพูดลอย ๆ ขึ้นมาว่า "พระองค์นี้ ท่านขยัน" เพราะเวลานั่งรถผ่านจะเห็นท่านทำงานอยู่ตลอด
จากนั้นสามล้อของคุณยายก็จะเคลื่อนผ่านเข้ามาในเขต สังฆาวาส ที่โดยปกติจะไม่ค่อยอนุญาตให้บุคคลที่ไม่มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนเข้ามา ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้ามาในเขตสังฆาวาสทุกซอกซอยก็ตอนมาปั่นจักรยานตามสามล้อคุณยายครั้งนี้นี่เอง
ลึกเข้าไปข้างในจะมีโรงนอนเก่า เคยเป็นที่พักของอุบาสก ปัจจุบันคืออาคารมหาพรหม
เขตสังฆาวาสด้านในจะมีกุฏิพระหลังเล็ก ๆสำหรับแค่พออยู่ ๑ รูป ต่อ ๑ หลังสร้างอย่างมั่นคงแข็งแรง กระจายอยู่เป็นจุด ๆ หลายหลังทั่วพื้นที่ แต่ละหลังจะมีถนนเล็ก ๆ ผ่านเชื่อมโยงถึงกัน พระที่อยู่ข้างในนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพระรุ่นแรก บวชมาตั้ง แต่ยังอยู่วัดปากน้ำ หรือมาอยู่วัดเป็นอุบาสกรุ่นแรก ๆ
คุณยายท่านจะจำได้อย่างแม่นยำว่า กุฏิหลังไหนพระรูปไหนอยู่ นี่กุฏิพระหมู (พระรังสฤษดิ์ อิทธิจินฺตโก) นี่กุฏิพระพิพัฒน์ (พระครูสังฆรักษ์พิพัฒน์ จิตสุทโธ) ฯลฯ บริเวณรอบ ๆ กุฏิแต่ ละหลังก็จะมีการดูแลรักษาความสะอาด และเก็บกวาดใบไม้เป็นอย่างดี
จากบริเวณกุฏิพระ อาคารภาวนา รถสามล้อคุณยายก็ จะมาออกตรงถนนเส้นที่ผ่านหน้าอาคารสองชั้นพอดี จากนั้นก็ค่อย ๆ เคลื่อนผ่านกลับมายังที่พัก ใกล้เวลา ๙ โมงเช้าสายมากแล้ว แต่บรรยากาศสองข้างทางที่รถคุณยายเคลื่อนผ่าน ยังสดชื่น ร่มรื่น ด้วยร่มเงาของต้นไม้ตลอดแนวสองข้างทาง
ข้าพเจ้าสังเกตว่า คุณยายดูมีความสุขและเบิกบานใจยิ่งนัก ในยามที่ท่านได้นั่งสามล้อตรวจวัด ภาพที่ท่านได้พบเห็นจาก หน้าวัดถึงท้ายวัด เป็นเหมือนภาพที่ทำให้ท่านได้ตามตรึกระลึกนึกถึงสิ่งที่ท่านได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และบุญกุศลทั้งหลาย ที่ท่านได้ทำมา เพราะสิ่งนั้นสิ่งนี้ ตรงนั้น ตรงนี้ที่ท่านผ่านพบล้วนเริ่มต้นมาจาก "ฝีมือคุณยาย" ผู้ก่อกำเนิดวัดพระธรรมกาย
แม้ในบางครั้งขณะที่ท่านนั่งรถสามล้อ ได้ไปพบเห็นอะไร ที่รกรุงรังไม่เข้าที่เข้าทาง ซึ่งทำให้ท่านต้องเหน็ดเหนื่อยในการคอยบอก คอยสอน คอยจ้ำจี้จ้ำไช แต่ในความเหนื่อยนั้นคุณยายท่านมีความภาคภูมิใจ ที่ได้ตามดูแลรักษาสมบัติพระศาสนาอย่างดีที่สุด เพื่อให้คนรุ่นหลัง ๆ ได้ใช้กันต่อไปดังจะได้ยินจากคำพูดของท่านที่ว่า
"ใครทำอะไร ต้องตามดูแลรักษา ไอ้คนดูแลรักษานี่สิ สำคัญ ดูสิยายสร้างวัดยังตามดูแลรักษา ยายทำไว้ให้หมดต่อไปในอนาคตไม่มียาย ไม่มีหลวงพ่อ ก็คอยแต่ซ่อมแซม อันไหนผุ อันไหนพัง"
ไม่ว่าสามล้อของคุณยายจะไปทางไหน ไม่ว่าที่แห่งนั้นจะห่างไกลจากสายตาผู้คน หรือมีผู้คนสัญจรผ่านไปผ่านมาเป็นประจำก็ตามสถานที่เเห่งนั้นก็จะมีแต่ความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม
แม้ช่วงหลังท่านอายุมากขึ้น จะเปลี่ยนจากการนั่งสามล้อมาเป็นนั่งรถไฟฟ้า ผ่านไปเฉพาะถนนสายใหญ่ ๆ ไม่ได้แวะดูรายละเอียดในแต่ละจุดนาน ๆ เหมือนเมื่อก่อน แต่สิ่งที่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงคือ ระหว่างที่คุณยายนั่งรถชมวัดนั้นสายตา ของท่านที่มองไปตามที่ต่าง ๆ นั้น เต็มไปด้วยความสุข ความปีติ และภาคภูมิใจ จนอดไม่ได้ที่ท่านจะพูดออกมาว่า
"วัดยายสวย เพราะใจยายสวย ใจยายสะอาดบริสุทธิ์ ชาตินี้ยายสร้างวัดชาติต่อไปยายก็จะมาสร้างวัดอีก เก็บเอาคนที่เคยสร้างบุญกับยายไปด้วย เก็บเอาไปให้หมด"