ตรวจครัว

วันที่ 13 พค. พ.ศ.2560

ตรวจครัว

 

           นอกจากท่านจะนั่งรถสามล้อไปตรวจบริเวณต่าง ๆ รอบวัดแล้ว กิจวัตรประจำวันอีกอย่างหนึ่งของคุณยาย คือ การเดิน ไปตรวจดูความเรียบร้อยที่ครัว และบริเวณต่าง ๆ รอบที่พัก ในรัศมีที่ท่านพอจะมีกำลังเรี่ยวแรงเดินไปถึง

           ครัวกับคุณยายเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ออก เพราะครัวเป็นแหล่งหุงหาเสบียงเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของคนทั้งวัด คุณยายจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเพราะ "กองทัพเดินด้วยท้อง" ข้าพเจ้ามักจะได้ยินคุณยายอธิฐานอยู่เสมอ ๆ ว่า

          "ขอให้บุญกุศลช่วยข้าพเจ้า ถ้าหากข้าพเจ้าจะมีข้าทาส บริวารหญิงชายเท่าไร ก็ขอให้มีสมบัติให้เขากินเขาใช้ไม่รู้จักหมดสิ้น มีมาร้อยให้เลี้ยงได้ทั้งร้อย มีมาล้านให้เลี้ยง ได้ทั้งล้าน"

           คุณยายจึงมักเดินไปดูที่ครัวทุกวัน วันละหลายครั้ง แล้วแต่โอกาสตอนเช้าบ้างสายบ้าง บ่ายบ้าง เย็นบ้าง บางวันก็ไปดูครบทั้ง ๔ เวลาเลย และด้วยสาเหตุอีกประการหนึ่ง

           คุณยายท่านบอกว่า "หลวงพ่อบอกว่า ยาย ๆ ดูครัวให้ดี...ยายก็เลยเข้าครัวทุกวัน"คุณยายไม่ว่าท่านจะได้รับมอบหมายงานใดจากหลวงพ่อ ท่านจะทำหน้าที่นั้นอย่างเต็มที่สุดกำลังความสามารถ

           เมื่อมาถึงที่ครัวหน้า คุณยายจะเดินดูความเรียบร้อยก่อน ๑ รอบท่านมักจะสอนอยู่เสมอ ๆ ว่า

            "ข้าวของต้องจัดต้องวางให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ถ้า เราทำอะไรเป็นระเบียบเรียบร้อยสอนคนอื่นก็สอนได้ทำอะไรเราต้องทำให้เป็นระเบียบเรียบร้อยชาติต่อไปเราไปเกิด เราก็จะทำอะไรได้เรียบร้อย ได้พบได้เจอแต่สิ่งที่เรียบร้อย"

            ข้าวของเครื่องใช้ในครัวจะถูกจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นที่เป็นทาง เป็นสัดส่วน เป็นหมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็นจานชาม ช้อน แก้วน้ำ ฯลฯ ภาชนะอันไหนของพระ ของฆราวาส จะถูกจัดแยกโดยชัดเจน ไม่ให้นำมาใช้ปะปนกัน

           การที่ข้าพเจ้าได้เดินตามคุณยายไปในที่ต่าง ๆ ยิ่งทำให้ข้าพเจ้าสังเกตเห็นความเป็นยอด ความพิเศษ ความไม่ธรรมดาของท่าน

           สายตาของคุณยายที่กวาดมองไปตามที่ต่าง ๆ นั้น เฉียบไวและแหลมคม แม้มองไปแค่ปราดเดียว คุณยายก็จะเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ได้หมดทั้งด้านหน้า ด้านข้าง ด้านล่าง ด้านบนข้าพเจ้าแอบนึกเปรียบเทียบอยู่ในใจว่า "ตาคุณยายเหมือนเรดาร์เลย" พอท่านมองไปทางไหน หันไปทางไหน ก็จะจับรายละเอียดแม้จุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ทุกที่ ความสกปรก รกรุงรัง ความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่สามารถเล็ดลอดสายตาคุณยายไปได้เลยช่างผิดกับสายตาของข้าพเจ้าที่ต้องมองแล้วมองอีกหลายครั้ง กว่าจะเห็นอะไรได้เท่ากับคุณยายมองเห็นครั้งเดียว

            นอกจากนี้ตาภายในของท่านก็ทำหน้าที่ได้ไม่แพ้กัน ไม่มีใครปิดบังอะไรคุณยายได้เลย คำว่า ผักชีโรยหน้า จึงไม่มี

            ที่ครัวยามาจะมีตู้สเตนเลสส์สูงขนาดเท่าเอว เป็นแถวเรียงยาวอยู่จำนวนหลายใบทั้งอยู่ในห้องโถงและนอกห้องโถงตรงที่จัดเตรียมอาหารก็จะมีตู้สเตนเลสส์ตั้งเป็นแถวเรียงยาว ๒ แถวทำมุมตั้งฉากกันอยู่ ภายในตู้จะมีภาชนะถ้วยชามต่าง ๆวางเรียง ซ้อนกันอยู่ อย่างเป็นหมวดหมู่และเป็นระเบียบเรียบร้อย คุณยายท่านเล่าว่า

            "เมื่อก่อนจะมีชั้นไม้สำหรับวางคว่ำถ้วยชาม วันดีคืนดีก็มีหมามายกขาเยี่ยวใส่ ยายก็เลยไปบอกบุญตู้สเตนเลสส์เขามา"

            เนื่องจากตู้สเตนเลสส์มีหลายใบ บานประตูปิดเปิดก็มาก การเปิดตู้ก็ต้องจับปิดให้ถูกตำแหน่ง ถูกเหลี่ยม ถูกมุม จึงจะปิดสนิทบางทีเปิดปิดตู้กันด้วยความเร่งรีบ จึงมักมีผู้ปิดตู้ไม่สนิทอยู่เนือง ๆ เวลาคุณยายมา บางครั้งท่านจะคอยมาเดินตรวจดู ตู้ไหนปิดไม่สนิทท่านก็จะคอยขยับปิดใหม่ให้สนิททุกครั้งไปท่าน มักจะเตือนเรื่องการปิดตู้ให้สนิทอยู่เสมอ ๆ

            "ปิดอย่างนี้เดี๋ยวประตูก็พังเร็ว ต้องปิดให้สนิทถ้าปิด ไม่สนิทเดี๋ยวพวกแมลงสาบก็เข้าไปขี้ไปเยี่ยวใส่ เดี๋ยวเราก็เอาถ้วยชามไปใช้ ไปใส่ของกิน"

            พร้อม ๆ กันนั้นท่านก็จะสาธิตวิธีการปิดเปิดตู้ให้ดู

            " เวลาปิด เปิด ให้ระวัง ดูให้มันตรง ๆ ก่อนแล้วถึงปิด" ลิ้นชักตู้สเตนเลสส์ก็เช่นกัน เวลาปิดลิ้นชัก ถ้าไม่ระวัง ผลักเข้าไผแรงนักก็จะเสียงดัง คุณยายท่านก็จะคอยสอน คอยทำให้ดู

           "ให้ปิดเบา ๆทำอะไรให้เบาไม้เบามือทำอะไรไม่เบา ไม้เบามือ เดี๋ยวของก็พังเร็ว"

            คุณยายท่านจะคอยบอกคอยสอน ให้รู้จักใช้ข้าวของอย่าง ระมัดระวังที่สุด แม้แต่บนหลังตู้สเตนเลสส์มีรอยขีดข่วนเล็กน้อย ท่านก็ไม่ได้มองผ่านท่านจะเรียกให้ทุกคนที่ทำงานในที่นั้นมาดู และคอยตักเตือนให้ทุกคนช่วยกันดูแลรักษา ระมัดระวัง และหาวิธีป้องกันไม่ให้มีรอยขีดข่วนนั้นเกิดขึ้นอีก เช่น ถ้ามีข้าวของวางอยู่บนหลังตู้ ห้ามลากสิ่งของนั้นไปมา ให้ใช้วิธียกของขึ้นมาแทน เวลาจะเตรียมอาหาร จะหั่นจะตัดอะไรต้องหาถาดรองเขียงทุกครั้ง และให้ไปจัดเตรียมในพื้นที่ที่ใช้สำหรับจัดเตรียม แทนที่จะมาทำที่หลังตู้สเตนเลสส์

             ที่ครัวคุณยายจะมีพิเศษอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ค่อยจะพบเห็นที่ไหน คือชั้นวางของ เตนเลสส์ ซึ่งมีล้อสำหรับใช้ลากเข็น เคลื่อนย้ายไปมาได้ เดิมทีเป็นชั้นไม้ซึ่งเปียกและผุพังง่าย จึงได้ ดัดแปลงทำเป็นชั้นสเตนเลสส์ซึ่งนานกว่าสำหรับนำมาใช้ที่ครัว รถเข็นชั้นสเตนเลสส์นี้จะมีอยู่หลายคัน แต่ละคันจะมีชั้นอยู่ ๓๔ ชั้น นำมาใช้ในงานต่าง ๆ ได้ เช่น ใช้เป็นที่วางกล้วย วางผลไม้ ใช้เป็นที่วางพักผักที่ล้างเสร็จแล้ว ก่อนที่จะนำมาประกอบอาหาร แต่ที่เห็นใช้บ่อย คือ ใช้เคลื่อนย้ายภาชนะ และใช้เป็นที่คว่ำตากจานชาม ภาชนะทั้งหลายเวลาล้างเสร็จแล้ว

            สำรับของพระที่ฉันเสร็จแล้ว อาหารที่เหลือก็จะถูกนำมาถ่ายเทใส่ภาชนะ เพื่อให้คนได้นำไปรับประทานต่อไปส่วนถ้วย จานชาม ภาชนะของพระที่ฉันเสร็จ จะถูกรวบรวมขึ้นใส่ชั้น เตนเลสส์ที่มีล้อ เสร็จแล้วก็จะลากรถเข็นนี้ไปยังบริเวณอ่างล้างจานซึ่งอยู่ข้างหลัง เวลาเอาของลงอ่างล้างก็จะเอาลงเป็นชุด ๆ จาน ถ้วยชาม ช้อน ฯลฯ เวลาเอาขึ้นตากบนชั้น ก็เอาขึ้นตากเป็นชุด ๆ แล้วคว่ำเรียงอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย จากขนาดเล็กไปใหญ่ เพื่อสะดวกในการจัดเก็บ เป็นแถวของจานแถวของถ้วยชาม แถวของถาด ฯลฯ ช้อนก็จะคว่ำตากทีละคันเรียงเป็นแถว เสร็จแล้วก็ลากรถเข็นชั้นสเตนเลสส์ที่มีภาชนะคว่ำ ตากอยู่ไปจอดตากไว้ในที่ที่มีแดด เมื่อแห้งแล้วก็ลากรถเข้าร่มเก็บภาชนะเข้าตู้ต่อไป

             เนื่องจากชั้นวางของ เตนเลสส์มีล้อลากไปมาได้ บางทีก็มีการใส่ของลากไปครัวทางข้างหลังบ้าง ดังนั้น เวลามาที่ครัวพอเห็นชั้นสเตนเลสส์ คุณยายท่านมักจะบอกว่า "นับดูสิว่าที่ครัวนี้มีกี่คัน อยู่ครบหรือเปล่า ลากไปที่ไหนแล้วต้องเอามาเก็บที่เดิม"

             คุณยายท่านจะละเอียดรอบคอบ คอยตรวจตรา ดูแลรักษาสมบัติทุกชิ้นทุกชนิดอย่างดีที่สุด

            ถ้าวัดเราเปรียบเหมือนครอบครัว ก็คงเป็นครอบครัวที่ใหญ่มาก มีสมาชิกในครอบครัวมาก มีข้าวของเครื่องใช้มากมาย มีคุณยายทำหน้าที่เป็นแม่บ้านได้อย่างดีเยี่ยม หาผู้ใดเสมอเหมือนมิได้ รู้จักจัดเก็บข้าวของให้เป็นระเบียบเรียบร้อย หยิบก็ง่ายหายก็รู้ ดูก็งามตา เมื่อสิ่งของใดหายไปก็รู้จักหา เมื่อของใด ชำรุดเสียหายก็รู้จักซ่อมแซม และรู้จักประมาณในการใช้ของให้ พอเหมาะพอดีสิ่งที่คุณยายทำให้ดูเป็นตัวอย่างนั้น ล้วนเป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้รักษาครอบครัวหรือตระกูลให้มั่งคั่ง และยั่งยืนยาวนาน

             นอกจากนี้ท่านยังได้เมตตาอบรมสั่งสอนสมาชิกในครอบครัวให้ประพฤติฏิบัติตามท่านอยู่เสมอ ๆ โดยไม่เหนื่อยหน่ายในการพร่ำสอน

             แต่บางครั้งท่านก็อดที่จะพูดด้วยความเป็นห่วงคนรุ่นหลังไม่ได้ ตามลักษณะนิสัยของผู้สูงอายุว่า "ดีนะที่ยายอายุยืนคนรุ่นใหม่จะรักษามันได้หรือเปล่า ถ้าไม่มียาย"

              นอกจากเรื่องความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการรู้จักดูแลรักษาข้าวของสมบัติพระศาสนาแล้ว มีอีกเรื่องหนึ่งที่คุณยายไม่ชอบเป็นนักหนา และมักจะคอยตักเตือนอยู่เสมอ ๆ คือ เรื่องการคุยกัน หรือเอะอะเสียงดังในเวลาทำงาน ถ้าท่านพบที่ใดท่านจะเดินเข้าไปตักเตือนทันที การตักเตือนของท่านมีหลายรูปแบบ บางครั้งท่านจะเดินผ่านพร้อมกับทักทายว่า "คุยอะไรกันอยู่" หรือ "บ่นอะไรกันอยู่" แค่นี้ก็เป็นที่รู้กันทุกคนจะเงียบสนิททันที แต่มีบางครั้งก่อนที่คุณยายจะเดินเข้าไปในครัว เสียงพูดคุยกันก็ดังมาตามอากาศจนคุณยายเดินเข้าไปในครัวแล้วก็ยังคุยกันออกรสชาติ โดยไม่มีใคร ทราบว่าคุณยายเดินเข้ามา คุณยายจะเดินไปยังต้นเสียงและมีการตักเตือน ติวเข้มเป็นรายตัวไปเลยก็มี

              คุณยายมักจะสอนอยู่เสมอ ๆ ว่า

              "เวลาทำงาน ให้ตั้งใจทำงาน อย่าทำไปคุยไป เวลาคุยมันต้องคิด ใจมันก็ไปติดอยู่กับเรื่องที่คุย ไหนจะต้องทำงาน รีบ ๆทำให้เสร็จ ทำเสร็จแล้วถึงคุย"

                คุณยายท่านจะเข้มงวดเรื่องนี้มาก ถ้าพบเมื่อไรท่านจะเข้าไปตักเตือนทันที ถ้าได้ยินเสียงเอะอะมะเทิ่งมาจากทางไหนคุณยายมักจะเดินตรงไปทางนั้นก่อนเป็นอันดับแรก

                ความเป็นคนเอาจริงทำอะไรทำจริง ไม่ละทิ้งไปง่าย ๆ ไม่สำเร็จไม่เลิกรา และไม่เบื่อหน่ายในการพร่ำสอนของท่าน จึงทำให้คุณยายเป็นที่เคารพรัก และยำเกรงของทุก ๆ คน

                ที่ครัว คุณยายเปรียบเหมือนเป็นสัญลักษณ์แห่งความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความเงียบสงบ ความมีสติและสำรวมระวัง เพราะทุกครั้งที่คุณยายเดินเข้ามาในครัว จากพนักงานและเด็กวัดผู้เผลอสติทำงานไปคุยกันไปก็จะปิดปากเงียบสนิทมีสติตั้งใจทำงานที่อยู่ข้างหน้า จากพนักงาน และเด็กวัด ผู้ไม่ระมัดระวัง วางข้าวของโครมคราม ระวังบ้างไม่ระวังบ้าง ก็จะทำด้วยความระมัดระวัง วางแต่เบาไม้เบามือ ข้าวของทุกอย่างจะอยู่ในที่ในทาง อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย และสะอาดสะอ้าน

                 แม้คุณยายท่านจะคอยเข้มงวดกวดขันในเรื่องต่าง ๆ อยู่เสมอ แต่ทุกคนที่ได้อยู่ใกล้ชิดคุณยายจะมีความรู้สึกเดียวกันคือ สัมผัสได้ถึงกระแสแห่งความเมตตาปรารถนาดี ความเป็นธรรมชาติ เป็นกันเอง และไม่ถือตัวของท่านทุกคนจึงเคารพรักท่าน อย่างที่สุด ไม่มีความรู้สึกกลัว แต่เป็นความอบอุ่นใจยิ่งนักที่ได้อยู่ใกล้ ๆ คุณยาย นอกจากนี้คุณยายยังจำชื่อผู้ที่ช่วยงานทุกคนที่ครัวได้อย่างแม่นยำ และรู้จักอุนิสัยของแต่ละคนเป็นอย่างดี

                  ตรงมุมสุดตู้สเตนเลสส์ข้างประตูของครัวด้านที่อยู่ฝังแท้งค์น้ำ จะมีเก้าอี้หวายตัวสูงของคุณยายตั้งอยู่ เวลาท่านมาที่ครัว หลังจากตรวจดูความเรียบร้อยเสร็จแล้วท่านมักจะมานั่งพักที่เก้าอี้ตัวนี้ พอคุณยายท่านนั่งเก้าอี้ตัวนี้แล้ว จะมองเห็นบรรยากาศ การทำงานทุกอย่างที่อยู่ในครัว มุมนี้กำลังปอกและจัดผลไม้ มุมนั้นกำลังจัดเตรียมสำรับสำหรับถวายพระ มุมโน้นกำลังปรุงอาหารอยู่หน้าเตา ใครเดินแวะเข้ามาที่ครัวก็จะมองเห็นคุณยาย มาแต่ไกลเลย บางทีมีเจ้าภาพเอาอาหารมาถวายพระ คุณยายท่านก็จะเมตตาพูดคุยทักทายด้วยเป็นอย่างดี

                  คุณยายมักจะนั่งที่ครัวหน้าสักพัก และถ้าไม่เหนื่อยมาก ท่านจะเดินต่อไปที่ครัวหลัง ที่ครัวช่วงนั้นจะมีอุบาสกอุบาสิกาที่ เป็นเจ้าหน้าที่ประจำและพนักงานอยู่ไม่กี่คน แต่ในวันอาทิตย์จะ มีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครมาช่วยงานเป็นจำนวนมากพอสมควร

                  ครัวหลังจะเป็นครัวที่ใช้เตรียมอาหารสำหรับเลี้ยงพระเลี้ยงคนทั้งวัด ตลอดจนทำอาหารเลี้ยงสาธุชนที่มาวัดในวันอาทิตย์ จึงมีอุปกรณ์ข้าวของเยอะแยะมากมาย รวมทั้งวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ใช้ในการเตรียมอาหาร ภาชนะที่ใช้ก็จะมีแต่ขนาดใหญ่ ๆทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นกระทะ หม้อ กะละมัง ฯลฯ

                 นอกจากบริเวณที่ใช้จัดเตรียมอาหารแล้ว ก็จะมีพื้นที่ สำหรับใช้ล้างภาชนะ พวกหม้อ กะละมัง ฯลฯ ภาชนะทั้งหลาย ที่ส่งไปตามจุดต่าง ๆ จะถูกรวบรวมนำกลับมาล้าง และคว่ำตากเรียงเป็นทิวแถวที่ครัวนี้

                 เมื่อคุณยายมาที่ครัวหลังท่านก็จะเดินดู บางครั้งก็เดินลุยเข้าไปในพื้นที่ที่เขากำลังเตรียมประกอบอาหารกัน กำลังล้างภาชนะกันซึ่งเฉอะแฉะ แต่ท่านก็มิได้รังเกียจ บางทีพนักงาน ใหม่คุยกันเสียงดัง ล้างหม้อล้างกะละมังเสียงดังโครมคราม ใช้ข้าวใช้ของไม่ระมัดระวังทิ้ง ๆ ขว้าง ๆส่วนใหญ่ท่านจะบอกกับหลวงพี่อิทธิจินตโกหรือเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ที่อยู่ประจำ ให้ช่วยดูแลอบรม บอกสอนพนักงาน คุณยายบอกว่า "เด็กพวกนี้ยังไม่รู้จัก อะไร นึกว่าไม่ใช่ของตัวเอง จะทำอะไรก็เลยไม่รู้จักระมัดระวัง ไม่รู้จักประหยัด ไม่รู้จักรักษา ให้ช่วยกันสอนช่วยกันเตือน หม้อกะละมังก็เหมือนกัน ถ้าไม่ระวังทำเสียงดังโครมคราม มันก็บุบก็พังเร็ว"

                  คุณยายมาที่ครัวหลังบ่อย หลวงพี่อิทธิจินตโกหรือที่คุณยายเรียกว่า "พระหมู" จึงจัดหาโต๊ะ เก้าอี้สำหรับคุณยายไว้ ประจำที่ครัวชุดหนึ่ง ตั้งไว้อยู่ใกล้ ๆ โต๊ะทำงานของหลวงพี่และโต๊ะทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ครัวซึ่งตั้งเรียงแถวกันอยู่

                  โต๊ะคุณยายจะเหมือนโต๊ะตัวอื่น ๆ แต่เก้าอี้ของคุณยายจะพิเศษกว่าเก้าอี้ตัวอื่น คือเป็นเก้าอี้หมุนได้มี ๔ ขา๑ เพื่อความ ปลอดภัยและมั่นคงในขณะที่คุณยายนั่ง ถ้าท่านเดินมาที่ครัวหลัง ท่านมักจะแวะมานั่งพักที่เก้าอี้ตัวนี้

                 โต๊ะทำงานชุดนี้ถือว่าเป็นที่นั่งของที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สูงสุดของครัวทีเดียว เพราะเวลาที่ท่านเดินตรวจดูความเรียบร้อย แล้วมานั่งที่เก้าอี้ตัวนี้ หรือในระหว่างที่ท่านนั่งเก้าอี้ตัวนี้แล้วมองรอบ ๆท่านจะมีคำชี้แนะดี ๆ ให้หลวงพี่และเจ้าหน้าที่ที่ครัว ได้ฟังอยู่เสมอ ๆ ในการที่จะปรับปรุงงานครัวให้มีการพัฒนาที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

                 บางทีขณะที่นั่งท่านนั่งหมุนเก้าอี้หันหน้าออกไปมองดูทางถนนที่ผ่านครัว เมื่อก่อนไม่ค่อยจะมีรถผ่านไปมาเท่าใดนัก รถที่มารับอาหารในครัวส่วนใหญ่ก็จะเป็นรถซาเล้ง ถ้าเป็นรถยนต์ คุณยายท่านจะให้จอดรถไว้ข้างนอก แล้วจึงขนอาหารออกไปขึ้นรถ

                 เวลา ๑๐ โมงเช้า เป็นเวลาที่คุณยายจะต้องอาบน้ำ คุณ ยายท่านจะดูนาฬิกา พอ ๑๐ โมงท่านจะลุกกลับไปที่ห้องเลขา โดยไม่ต้องเตือน คุณยายเล่าให้ฟังว่าสมัยคุณยายเป็นเด็กอยู่ นครชัยศรีไม่มีนาฬิกาท่านดูเวลาจากตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ตอนเที่ยงดวงอาทิตย์จะอยู่ตรงหัวพอดี

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0070262471834819 Mins