ในรัศมีที่คุณยายเดินไปถึง

วันที่ 17 พค. พ.ศ.2560

ในรัศมีที่คุณยายเดินไปถึง

 

 

              นอกจากที่ครัวแล้ว คุณยายยังชอบเดินไปดูความเรียบร้อยต่าง ๆ บริเวณรอบ ๆ กุฏิ วันละหลายรอบ กุฏิคุณยายจะมีใต้ถุนเตี้ย ๆ พอให้นำสิ่งของเข้าไปวางไว้ได้ จึงใช้เป็นที่เก็บถังอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งอุปกรณ์สำหรับใช้ทำความสะอาด เช่น ไม้กวาดชนิดต่าง ๆ มีทั้งไม้กวาดดอกหญ้า ไม้กวาดทางมะพร้าว ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีบันไดอลูมิเนียมที่พับเก็บได้ วางนอนไว้อยู่ที่ใต้ถุนกุฏิ

              เวลาคุณยายเดินไปดูความเรียบร้อยของกุฏิ บางทีท่านจะขึ้นไปดูข้างบนกุฏิ บางทีท่านก็จะเดินดูบริเวณรอบ ๆ กุฏิสายตาของท่านมักจะเหลือบมองเห็นอะไรที่เป็นจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คนทั่วไปมองผ่านอยู่เสมอ ไม้กวาดที่วางรวมกันอยู่ที่ใต้ถุนกุฏิตรงทางขึ้นบันได ต้องจัดให้เป็นหมวดหมู่ หันหัวหันด้ามไปทางเดียวกัน และด้ามทุก ด้ามจะต้องจัดเรียงให้อยู่ในแนวที่ตรงกัน เมื่อท่านเห็นข้าพเจ้า จัดเสร็จเรียบร้อยท่านจะบอกว่า

             "เอออย่างนี้แหละ ข้าวของต้องเก็บให้เรียบร้อย เกิดกี่ ภพกี่ชาติ เราก็จะได้เจอแต่สิ่งที่เรียบร้อย"

             บันไดอลูมิเนียมก็เช่นเดียวกัน จะมีอยู่ ๒ อัน บันไดสั้นกับบันไดยาว ที่บันไดทุกอันจะมีตัวหนังสือเขียนไว้ว่า "บันไดกุฏิคุณยาย" คุณยายบอกว่ายายให้เขาเขียนตัวหนังสือไว้ ไม่ใช่เพราะหวง แต่เขียนไว้ให้รู้ว่า หากใครเอาไปใช้ที่ไหนแล้วจะได้ เอามาเก็บที่เดิมถูก หรือเวลาบันไดหายไปใครเห็นเขาวางทิ้งไว้ อยู่ที่ไหนจะได้เอามาเก็บได้ถูกที่

             "ข้าวของเอาไปใช้น่ะ ใช้ได้ แต่ใช้แล้ว ต้องเอาไปเก็บไว้ที่เดิม"

             คุณยายท่านจะละเอียดรอบคอบในการดูแลรักษาสมบัติพระศาสนาเช่นนี้เสมอ

             ที่หลังกุฏิคุณยายตรงรางน้ำฝน จะมีตุ่มอยู่ ๑ ใบ รองน้ำ ไว้จนเต็มตุ่มมีฝาปิดด้วยสมัยก่อนคุณยายจะอาบน้ำจากตุ่มใบนี้ เมื่อก่อนฝาปิดตุ่มเป็นฝาอลูมิเนียมเก่า ๆ จึงมีรอยบุบบุ๋มเล็ก ๆ น้อย ๆช่วงหน้าฝนมักจะมีน้ำมาขังอยู่ที่ฝาตุ่ม ตรงที่มีรอยบุบบุ๋ม ดูไปแล้วก็เป็นน้ำเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่คุณยายท่านไม่เคยดูเบา เวลาท่านเดินผ่านท่านจะเหลือบไปดูอยู่เสมอว่ามีน้ำแช่ขังอยู่ที่ฝาตุ่มหรือเล่า ถ้ามีท่านจะคอยเปิดฝาตุ่ม และเทน้ำที่ฝาออกอยู่เสมอทุกครั้งที่ท่านเดินผ่าน

            จุดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ คุณยายไม่เคยมองข้าม และไม่เคยเบื่อหน่ายที่จะทำเลย ถ้าท่านทำสิ่งใดแล้วท่านจะทำอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ

            จากตุ่มน้ำเดินไปอีกไม่กี่ก้าว ก็จะมีราวตากผ้าขี้ริ้วสำหรับใช้เช็ดถูกุฏิ เป็นอีกจุดหนึ่งที่คุณยายท่านมักจะหยุดแวะดูความเรียบร้อยเกือบทุกครั้งที่ท่านเดินผ่าน ที่ราวตากผ้าขี้ริ้วจะมีผ้าตากอยู่เป็นประจำทั้งผืนเล็ก ผืนใหญ่ ผืนบาง ผืนหนา คุณยาย ท่านมักจะแวะเข้าไปดู ไปจัดตรงนั้น ดึงตรงนี้ ให้ผ้าทุกชิ้นตากอย่างเป็นระเบียบสวยงาม แต่ละผืนท่านจะดึงให้เรียบตรง ให้ชายผ้าเสมอกัน ผ้าขี้ริ้วที่กุฏิคุณยายจะซักสะอาดมาก จนข้าพเจ้าแอบขำ ๆ อยู่ในใจว่าสงสัยจะสะอาดกว่าผ้าเช็ดตัวเราซะอีก คุณยายไม่เคยดูถูกว่านี่เป็นผ้าขี้ริ้ว แต่จะให้ความสำคัญและดูแลรักษาเป็นอย่างดี แม้จะเป็นของต่ำต้อยแต่เมื่อได้อยู่ในความดูแลของคุณยาย ของนั้นจะมีรัศมีเปล่งประกาย ดึงดูดตาดึงดูดใจแก่ผู้มาพบเห็นว่า "ใครนะช่างทำอะไรได้ละเอียดประณีต งดงามเช่นนี้"

             ข้าง ๆ ห้องเลขา จะมีห้องน้ำ ๒๐ ห้อง แม้ในวันธรรมดาที่ไม่ค่อยมีคนมาใช้มากนัก เปิดไว้เพียง ๒๓ ห้อง๑ คุณยายท่านก็ไม่เคยที่จะละเลย ถ้ามีโอกาสท่านจะแวะเดินเข้าไปตรวจดูความสะอาดของห้องน้ำแต่ละห้องเสมอสิ่งที่ท่านคอยบอก

            คอยสอนเป็นประจำ คือ การตักน้ำราดส้วม และการดูแลห้องน้ำอย่าให้เปียกแฉะ การเปิดปิดก๊อกน้ำ ถ้ามีขันลอยอยู่ในอ่าง คุณยายก็จะหยิบขึ้นมาคว่ำไว้ที่ขอบอ่าง แต่ส่วนใหญ่ที่คุณยายพบ คือ มักจะมีคนชอบลืมเปิดไฟทิ้งไว้ท่านก็จะคอยตามไปปิดไฟ

            บางครั้งคุณยายท่านเดินดูโน่น ดูนี่ จนเลยไกลไปถึงกุฏิ หลวงพ่อทัตตชีโว ซึ่งอยู่ตรงทางแยกประตู ๓ท่านจะเดินดูรอบ ๆ บริเวณกุฏิทุกอย่างดูเป็นระเบียบเรียบร้อย

            เดินไปทางหลังกุฏิ เห็นมีพื้นที่ว่าง คุณยายจึงให้หาหน่อกล้วยมาลงปลูกไว้ ช่วงที่ปลูกต้นกล้วยใหม่ ๆ คุณยายจะเดินมาดูเกือบทุกวัน แม้ระยะทางจากกุฏิคุณยายมาถึงกุฏิหลวงพ่อจะไกลเมื่อเทียบกับอายุของท่านในวัย  ๘๐ กว่า แต่ด้วยอุปนิสัยของท่าน เมื่อทำสิ่งใดไว้แล้วจะตามดูแลรักษาไม่ละทิ้งไปง่าย ๆ ต้นกล้วยก็เช่นเดียวกันท่านจะตามไปดู

           บางครั้งเดินมาพบสามเณร กำลังรับบุญเก็บกวาดใบไม้รอบ ๆ กุฏิหลวงพ่อทัตตชีโว คุณยายก็ไม่ลืมที่จะยกมือพนมแล้วบอกสามเณรว่า "เณรเอาบุญกับยายช่วยรดน้ำต้นกล้วยให้ยายด้วยนะ" แต่เนื่องด้วยพื้นที่บริเวณนั้นพื้นดินแข็งคล้ายเป็นดินปนหิน ต้นกล้วยจึงไม่ค่อยงาม

           บางวันเสร็จจากตรวจงานที่ครัวหน้า นั่งพักพอหายเหนื่อยแล้ว คุณยายก็จะเดินดูพื้นที่บริเวณรอบ ๆ เลียบเลาะเลยไปทางศาลาลอยน้ำ (ซึ่งเคยสร้างคร่อมคูน้ำติดกับศาลาจาตุ เพื่อใช้เป็นสถานที่รองรับสาธุชนที่มาปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมากขึ้น ๆ จนศาลาจาตุ รองรับไม่พอปัจจุบันนี้ได้รื้อถอนไปแล้ว) ผ่านมาทางห้องน้ำตรงข้างอาคารประชาสัมพันธ์(หินอ่อน) คุณยายก็อด ไม่ได้ที่จะเดินแวะเข้าไปเปิดตรวจดูทั้งห้องน้ำชาย ห้องน้ำหญิงเสร็จแล้วจึงแวะเข้าไปในอาคารประชาสัมพันธ์ เพื่อพูดคุยกับหลวงพี่สุวิชชาโภ (พระครูสมุห์สุวิทย์ สุวิชชาโภ) ซึ่งดูแลอยู่ที่นั่น และถือเป็นโอกาสที่คุณยายจะได้นั่งพักไปในตัว ระหว่างนั้นคุณยายท่านก็จะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้ไปรบกับไอ้เลอะ ๆ เทอะ ๆ มา

            "ท่าน... ยายต้องไปรบกับพวกที่ชอบทำอะไรเลอะ ๆ เทอะ ๆ มาทั้งวัด คนทางโลกเท่าไรนะเขาเกษียณ ยาย  ๘๓ ปี แล้วยังไม่หยุดเลย"

            หลังจากที่ได้คุยกับหลวงพี่และนั่งพักจนหายเหนื่อยแล้ว คุณยายจึงเดินกลับโดยใช้เส้นทางที่ผ่านทางด้านอาคารดาวดึงส์

            อาคารดาวดึงส์นี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้าคุณยายเดินผ่านมาทางนี้ท่านมักจะแวะเข้าไปหยุดยืนดูตรงกระดานที่เขียนกฎระเบียบของวัดไว้ แล้วชี้ไปที่แผ่นกระดาน

            "อ่านให้ยายฟังหน่อย เขาเขียนว่าอย่างไร"

            ข้าพเจ้าก็อ่านให้คุณยายฟัง ตั้งแต่ "ศูนย์พุทธจักร เป็นบุญสถานของพุทธศาสนิกชนทุกท่าน เป็นสถานที่ต้องการความสงบสะอาด เรียบร้อยและสำรวม อันเป็นเอกลักษณ์ของพุทธศาสนา ฉะนั้นโปรดช่วยกันจรรโลงพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง สืบไปด้วยการปฏิบัติตามกฎระเบียบต่อไปนี้อย่างเคร่งครัด..."

            จนบรรทัดสุดท้ายเขียนว่า "บัณฑิตย่อมรับรู้ และปฏิบัติตาม"

            คุณยายบอกว่า

            "ยายเป็นคนวางกฎ วินัย ยายไม่รู้หนังสือ แต่สร้างวัดให้เขาอยู่ วางแผน วางกฎวินัย ไม่รู้ทำได้อย่างไร ข้างในมันสอน บุญเก่ายายคงเยอะ" แล้วท่านก็ค่อย ๆ เดินกลับไปที่พัก

            นี่คือภาพกิจวัตรบางส่วนบางตอนของคุณยายในวัย  ๘๐ กว่าปีท่านช่างขยันขันแข็ง เอาการเอางาน ไม่เคยนิ่งเฉยดูดาย หรือปล่อยเวลาว่างให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์เลย

            สิ่งที่คุณยายทำนั้นมากมายนัก เมื่อเทียบกับวัยและสังขารของท่านซึ่งร่วงโรยไปทุกขณะ แต่ด้วยดวงใจอันกล้าแกร่งที่ไม่เคยเหี่ยวเฉาโรยราของท่านท่านจะทำอย่างเต็มที่และเต็ม กำลังที่ท่านจะทำได้ โดยไม่กลัวความลำบาก เหนื่อยยาก บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าต้องคอยถามท่านว่า "คุณยายเหนื่อยไหมคะ" คุณยายจะตอบด้วยคำพูดช้า ๆ ทีละคำ ด้วยความหนักแน่นและชัดถ้อยชัดคำ อย่างไม่ยอมแพ้และไม่ยอมพักว่า "เหนื่อยแต่ยายสู้" หรือไม่ก็คำตอบที่ว่า

           "เหนื่อย แต่ยายอดทนเอา"

            เป็นคำตอบสั้น ๆ แต่สะท้อนเข้าไปในใจของข้าพเจ้าอย่างไม่รู้ลืม เพราะข้าพเจ้ารู้สึกว่า นี่คือคำตอบที่เปี่ยมไปด้วยความหมายอันยิ่งใหญ่ของ

 

คุณยาย ผู้มีคำว่า "สู้ และอดทน"

แม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าไร

คำว่าสู้และอดทนไม่เคยห่างหายไปจากใจของคุณยายเลย

คุณยายจึงเป็นสุดยอดแบบอย่าง

สุดยอดของวีรสตรียอดนักสู้ ผู้ทรหดอดทน

ที่อยู่ในใจของข้าพเจ้าเสมอมาและตลอดไป

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0016511480013529 Mins