อย่าไปทำตาหวานกับใครนะ
คุณยายท่านเป็นผู้ที่มองเห็นโทษของการครองเรือน และมองเห็นประโยชน์แห่งการประพฤติพรหมจรรย์ท่านจึงมัก พนมมืออธิษฐานว่า
"เกิดมาขอให้ได้ประพฤติพรหมจรรย์
ได้อาศัยท้องเขามาเกิด
ได้เกิดในครอบครัวที่มีศีลธรรม เป็นสัมมาทิฏฐิ" ท่านเป็นผู้ที่สอนตัวเองได้มาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ
" สมัยเด็ก ๆ ยายเห็นพ่อแม่เขาทะเลาะกันแล้ว ยายคิดไม่อยากมีครอบครัว"
ในช่วงที่ข้าพเจ้ามาช่วยงานอุปัฏฐากคุณยายใหม่ ๆ ตอนเย็น ๆ หลังจากนั่งรถสามล้อเสร็จ คุณยายมักจะเดินไปเปลี่ยนอิริยาบถ หรือไปนั่งพักที่บ้านครัวหลัง (เป็นห้องเล็ก ๆ ในอาคาร ที่อยู่ด้านหลังของครัว) ที่นี่มักจะพบ "น้าเล็ก" มานั่งอยู่เป็นเพื่อนคุณยาย
น้าเล็กเป็นคนโสด วัย ๕๐ กว่าปี มีฝีมือทางด้านการทำอาหารอร่อย และเป็นคนที่ขยันขันแข็งมาก เดิมทีเมื่อมาวัดครั้งแรก ๆ น้าเล็กเป็นเจ้าภาพที่มักนำอาหารมาถวายพระที่วัดอยู่เสมอ ๆ คุณยายจึงเรียกว่า "คุณเล็ก" ต่อมาก็เข้ามาช่วย รับบุญทำอาหารที่วัดในช่วงอบรมธรรมทายาทบ้างช่วงวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์บ้าง จนปัจจุบันนี้มาอยู่ประจำที่วัดช่วยทำอาหาร เลี้ยงพระ และหยิบจับงานทุกอย่างที่พอจะช่วยได้ เหมือนเด็กวัดคนหนึ่ง
คุณยายท่านมักจะพูดกับน้าเล็กให้เห็นประโยชน์ของการไม่แต่งงานว่า
"คุณเล็กดีนะ ไม่แต่งงาน เป็นสาวโสดเหมือนยาย
อยู่คนเดียวเหมือนนกน้อย
คิดจะบินไปไหนก็บินไปได้
เหาะไปไหนก็เหาะไปได้
แต่งงานแล้วมันยุ่ง
ไหนจะห่วงลูก ห่วงผัว หาข้าวให้กิน"
ที่บ้านครัวหลังนี้จะมีพี่อุบาสิกาอีกท่านหนึ่งเป็นผู้ดูแล พี่อุบาสิกาท่านนี้เข้ามาช่วยงานตั้งแต่สมัยเริ่มสร้างโบสถ์ เมื่อ เรียนจบแล้ว คุณยายเมตตาให้ทำงานอยู่ที่ธนาคารแห่งหนึ่งที่รังสิต ตอนเย็นเลิกงานกลับมาทำภารกิจส่วนตัวเสร็จแล้ว พี่่ท่านนี้มัก เข้ามานั่งอยู่เป็นเพื่อนคุณยาย ผลัดเปลี่ยนให้พี่อารีพันธุ์ได้ไปทำธุระส่วนตัว
ข้าพเจ้ามักได้ยินคุณยายบอกพี่คนนี้บ่อย ๆ ว่า
"ไอ้ไลสส์ เราอย่าไปทำตาหวานกับใครนะ"
บางครั้ง คุณยายก็ค่อย ๆ เอานิ้วมือเชยคางพี่เขาขึ้นมา เหมือนผู้ใหญ่เอ็นดูลูกหลาน แล้วมองเข้าไปที่ดวงตา ถามยิ้ม ๆ ว่า "เราไปทำตาหวานกับใครมาหรือเปล่า"
คุณยายท่านไม่ได้ถามครั้งเดียว แต่ถามอยู่บ่อย ๆ ด้วยความเมตตา และยังบอกอีกว่า "มีสตางค์อย่าใช้หมด ให้แบ่งทำบุญทำทาน และแบ่งเก็บฝากอาคาร (ธนาคาร) ไว้ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจะได้มีเงิน ซื้อหยูก ซื้อยา"
ข้าพเจ้าคิดเอาเองว่า ที่คุณยายถามบ่อย ๆ คงเป็นเพราะคุณยายเป็นห่วง เพราะพี่เขาทำงานอยู่ข้างนอกวัด และท่านยัง มองไปถึงวันข้างหน้าว่า ถ้าอยู่ตัวคนเดียว ต้องมีปัจจัยส่วน หนึ่งเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน
ครั้นในเวลาต่อมา คุณยายก็บอกกับข้าพเจ้าว่า
"ไอ้ตัวเล็ก เราอย่าไปทำตาหวานกับใครนะ" คุณยายไม่ได้บอกครั้งเดียว แต่บอกเป็นหลาย ๆ ครั้ง จนประโยคนี้ดังก้องแจ่มชัดอยู่ในใจของข้าพเจ้า และวันเวลาทำให้ ข้าพเจ้าซาบซึ้งในคำสอนประโยคนี้มากขึ้น หลังจากตอนแรก ๆ ฟังแบบยิ้ม ๆ ว่า คุณยายพูดภาษาทันสมัย เนื่องจากไม่รู้นัย สำคัญของประโยคนี้
คุณยายมักสอนอยู่เสมอว่า
"อย่าไปทำตาหวานกับใครนะ ผู้หญิงกับผู้ชาย มันรู้กันด้วยลูกกะตา มองกันไป มองกันมา เดี๋ยวมันก็ช็อตกัน มันรู้กันเอง"
คุณยายท่านคงไม่เคยทำตาหวานกับใครหรอก แต่ท่าน คงเคยเห็นคนทำตาหวานกันท่านรู้ทันหมด จึงได้นำมาสอน พวกเรา ท่านยังเล่าให้ฟังถึงสมัยท่านเป็นสาวว่า
"สมัยยายเป็นสาว มีหนุ่มมาเกี้ยว
มีผู้ชายมาคุยอย่างโน้นอย่างนี้
ยายก็บอก ไม่รู้นี่
อย่าไปด่า อย่าไปว่าเขา เดี๋ยวเขาจะแกล้งเอา
บอก "ไม่รู้นี่" ตัดบทไปเลย
ถามบ่อย ๆ เดี๋ยวมันก็เลิกไปเอง
อย่าไปทอดสะพานให้เขา มันขึ้นอยู่กับเรา"
ที่วัดมีกฎระเบียบและข้อควรปฏิบัติมากมายทั้งระหว่าง อุบาสกกับอุบาสิกาทั้งระหว่างพระกับอุบาสิกาหรือญาติโยม ซึ่งระเบียบข้อควรปฏิบัติทั้งหลายเหล่านั้น ล้วนแต่เป็นไปเพื่อเอื้อ อำนวยต่อการประพฤติพรหมจรรย์
แต่ในเรื่องของสายตา เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรู้จักสอนตัวเอง ไม่มีใครมาออกกฎระเบียบข้อบังคับกับเราได้ นอกจากตัวของเราเอง ไม่มีใครมีเวลามาคอยสังเกตและคอยตักเตือน เราได้เท่ากับตัวของเราเอง
ดวงตา สื่อความหมายต่าง ๆ แทนคำพูดได้ ไม่ว่าจะเป็น สายตาที่ผู้อื่นมองเรา หรือสายตาที่เรามองผู้อื่น "ดวงตาคือหน้าต่างของดวงใจ" การมองตากันเพียงแวบเดียว อาจมีความหมายมากกว่าคำพูดร้อยคำพันคำ
คำสอนของคุณยายที่ว่า "อย่าไปทำตาหวานกับใครนะ" จึงเป็นคำสอนที่สอนให้เรารู้จักตัดไฟแต่ต้นลม โดยการสำรวม ระวังในการใช้สายตา ให้มองแต่สิ่งที่ควรจะมองสิ่งไหนไม่ควร มองก็อย่าไปมอง
"ผู้หญิงกับผู้ชาย มองกันไปมองกันมา เดี๋ยวมันก็ช็อตกัน มันรู้กันด้วยลูกกะตา"
การรู้จักตัดไฟแต่ต้นลมนั้นทำให้ไฟมอดดับ ไม่ลุกลามบาน ปลายจนยากที่จะแก้ไข
คุณยายท่านมักสอนให้ลูกศิษย์ลูกหารักการประพฤติพรหมจรรย์ และคอยหาโอกาสบอกสอนตักเตือนไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางไปจากเป้าหมายที่ทุกคนตั้งใจไว้
ในกลุ่มอุบาสกก็เช่นเดียวกัน ถ้าคุณยายมีโอกาสพบเจอ ท่านก็จะเมตตาตักเตือน ในวันเสาร์ก่อนอาทิตย์ต้นเดือนช่วงเช้า มักจะมีกลุ่มอุบาสกมาช่วยกันพัฒนาบริเวณในวัด เก็บกวาดเศษใบไม้ กิ่งไม้ บริเวณใกล้ ๆ กุฏิคุณยาย หรือเช็ด ปีนถู แถวศาลาดุสิตช่วงนี้เป็นช่วงที่อุบาสกมักจะได้พบเจอคุณยาย เพราะคุณยายจะต้องเดินผ่านบริเวณนั้นไปที่ครัว หรือไม่ท่านก็ จะนั่งมองอุบาสกทำงานเงียบ ๆ อยู่ในห้องเลขา แต่บางครั้ง ท่านก็อดใจที่จะเดินออกไปดูหรือไปบอกไปสอนไม่ได้ คุณยายมอง ดูแวบเดียวท่านจะรู้ว่า คนไหนขยัน คนไหนขี้เกียจ คนไหนกวาด ใบไม้เป็น คนไหนกวาดใบไม้ไม่เป็น โดยดูจากการจับไม้กวาด การวางทางของไม้กวาดว่า เอาข้างไหนขึ้นข้างไหนลง
เวลาคุณยายเดินออกไป มักจะมีอุบาสกเข้ามาพนมมือ ไหว้คุณยาย จากแรก ๆ ๒๓ คน พอคุณยายหยุดยืนคุย ก็ มักจะมีอุบาสกบริเวณนั้นค่อย ๆ มารุมล้อม บรรยากาศดูอบอุ่น เป็นกันเอง มีเสียงหัวเราะเป็นระยะ ๆ เป็นความเมตตาที่คุณยาย มักมีให้กับเด็กวัด คุณยายท่านจะบอกสอน หรือทักทายเกี่ยว กับเรื่องทั่วไป
"พวกเราเป็นหนุ่มยังแข็งแรงอยู่ มีอะไรก็รีบ ๆทำไป ทำให้มันเสร็จ อย่าขี้เกียจ"
แม้แต่เรื่องเก็บกวาดใบไม้ท่านก็สอนอย่างละเอียด ขนาดว่าตอนเก็บเอาใบไม้ใส่ถุงไปทิ้ง ก็ให้เก็บเอาแต่ใบไม้ไป อย่าเก็บ เอาดินของวัดติดไปด้วย บางครั้งคุณยายจะเอามือชี้ทีละคน ๆ แล้วบอกว่า "อย่าแอบหนีไปเที่ยวซน ระวังพวกยักขินีจะจับเอาไปกิน"
อุบาสกที่อยู่วัดมานานก็มักจะขอพรกับคุณยายว่า "ขอให้ผมได้บวชเร็ว ๆ" คุณยายก็ตอบว่า "แล้วแต่หลวงพ่อท่านให้บวชเมื่อไร ก็ได้บวชเมื่อนั้นแหละ" คุณยายท่านแน่วแน่ในการประพฤติพรหมจรรย์มากท่านมักจะบอกว่า "เราอย่าไปแต่งงานนะ เวลาตายแล้วไม่ต้องกลัวไม่มีใครเผา เดี๋ยวเขาเหม็นเขาก็หามเอาไปทิ้งเอง ยาย คิดอย่างนี้"
คุณยายแม้เป็นสตรี ก็เป็นสตรีเพียงร่างกาย แต่จิตใจนั้น แข็งแกร่งหนักแน่น มั่นคงเยี่ยงบุรุษอาชาไนยท่านจะมีความสงบนิ่งเฉย ไม่ยินดียินร้าย ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใดง่าย ๆ อุปนิสัยของอิสตรีที่เป็นอุปสรรคต่อการประพฤติพรหมจรรย์หรือการประพฤติปฏิบัติธรรมไม่มีในใจท่าน
ถ้าจะหาบุคคลผู้เป็นแบบอย่างในการประพฤติพรหมจรรย์ คุณยาย คือสุดยอดแบบอย่างท่านหนึ่งในทุก ๆ ด้าน
ทางกาย คุณยายจะสำรวมระวังในการปฏิบัติต่อพระภิกษุสงฆ์เป็นอย่างดีท่านจะวางตัวได้อย่างพอเหมาะพอดีในทุกที่ทุกสถานการณ์
ทางวาจาท่านจะพูดแต่คำจริง พูดแล้วเกิดประโยชน์น้อมนำใจไปแต่ในเรื่องบุญกุศล ไม่มีการพูดเอาหน้า พูดประจบประแจง หรือพูดนินทาว่าร้ายใคร
ทางใจ คุณยายท่านมีใจอยู่แต่ในเรื่องบุญเรื่องกุศล และหมั่นปฏิบัติเจริญภาวนา "ยายคิดอยู่อย่างเดียวว่า จะเอาบุญไปเยอะ ๆ เรื่องอื่นไม่คิด"
ตลอดเวลาที่ได้อยู่ใกล้ชิดคุณยาย
มีความรู้สึกหนึ่งที่ข้าพเจ้าสัมผัสได้
และรู้สึกอยู่ในใจเสมอว่า
คุณยายท่านเป็นผู้ที่มีบุญมาก
และเป็นผู้ที่สั่งสมบุญเก่ามาดี
ท่านสามารถสอนตัวเองได้ในทุก ๆ เรื่อง
อุปนิสัยต่าง ๆ ของคุณยายจึงล้วนแล้วแต่เป็น
อุปนิสัยที่น้อมนำไปสู่ความหลุดพ้นและมรรคผลนิพพาน
แม้กระนั้นท่านก็ยังหมั่นเพิ่มพูนสั่งสมบุญ
และฝึกฝนตนเองอย่างไม่หยุดหย่อน