รู้จักคุณคน

วันที่ 29 พค. พ.ศ.2560

รู้จักคุณคน

 

 

ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี

กตัญญู หมายถึง รู้คุณ ใครทำดีกับเรา เรารู้คุณ

กตเวที หมายถึง การตอบแทนคุณ

 

        พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางมีปัญญามาก เนื่องด้วยพระสารีบุตรมีคุณธรรมพิเศษอีกประการหนึ่ง คือเป็นผู้เลิศด้วยความกตัญญูกตเวที

คุณยาย คือสุดยอดของบุคคลผู้มีความกตัญญูกตเวทีท่านหนึ่ง

         ข้าพเจ้าเคยฟังคุณยายเล่าถึงความตั้งใจอย่างยิ่งของท่าน ที่จะไปตามหาพ่อที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อขอขมาลาโทษ ด้วยแรง แห่งความมุ่งมั่น พากเพียรตั้งใจ และแรงแห่งความกตัญญูรู้คุณ ทำให้ท่านตามหาพ่อพบ และท่านได้ตอบแทนพระคุณพ่อโดยการ ใช้วิชชาธรรมกายไปช่วยพ่อซึ่งจุ่มผุดจุ่มโผล่อยู่ในนรกขึ้นมา

         ข้าพเจ้าเคยฟังคุณยายเล่าถึงตอนที่ได้พยาบาลดูแลคุณยายทองสุก ผู้เป็นครูสอนธรรมะคนแรก และเป็นคนพาคุณยายมาอยู่ที่วัดปากน้ำ คุณยายทองสุกป่วยเป็นมะเร็งที่มดลูกในระยะสุดท้าย คุณยายได้ดูแลพยาบาลคุณยายทองสุกอย่างดีที่สุด โดยไม่ได้รังเกียจน้ำเลือดน้ำหนองที่มีกลิ่นเหม็นคละคลุ้งท่านดูแลพยาบาลอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย

         คุณยายท่านใช้คำว่า "ยายทำจนสุดฤทธิ์" เนื่องเพราะคุณยายทองสุกท่านเป็นผู้มีพระคุณ และเมื่อท่านจะละจากไป คุณยายก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดงานศพให้อย่างสมเกียรติ อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

        กับหลวงพ่อวัดปากน้ำ คุณยายก็ได้ทำหน้าที่ศิษย์ที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อครูบาอาจารย์อย่างที่สุด โดยการเคารพเชื่อฟังปฏิบัติตามคำสอนของท่าน อีกทั้งยังมีความเพียรตั้งใจเพื่อจะได้ แตกฉานในวิชชาธรรมกาย เมื่อแตกฉานแล้วก็ประกาศคุณท่านโดยการ สืบทอดและเผยแผ่วิชชาธรรมกาย

        แม้ในวัยเด็ก ที่กำลังวิ่งซุกซนในท้องนากับสัตว์เลี้ยงที่ท่าน จูงออกไปเลี้ยงทุกเช้า และใช้งานไถนาในหน้าฝน เมื่อสัตว์เลี้ยง นั้นแก่ตัวมาทำนาไม่ไหว ฟันไม่มี ก็เลี้ยงไว้ ไม่ฆ่า ด้วยเห็นคุณ ที่สัตว์นั้นได้เคยทำประโยชน์ให้ คุณยายจะเป็นคนคอยไปหาหญ้าอ่อน ๆ มาป้อนใส่ปากให้มันกินทุกวัน จนกระทั่งมันตายไปเอง ฯลฯ

         เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นเรื่องแห่งความประทับใจใน ความกตัญญูรู้คุณของคุณยาย ที่ข้าพเจ้าได้ฟังมาจากเรื่องราวในอดีตของท่าน และยิ่งเมื่อข้าพเจ้าได้มาใกล้ท่าน ยิ่งเห็นถึงอัธยาศัยแห่งความเป็นผู้มีความกตัญญูรู้คุณของท่าน ซึ่งล้วนแต่ เป็นภาพอันงดงามที่ประทับอยู่ในใจของข้าพเจ้า

         เมื่อข้าพเจ้าได้มีโอกาสติดตามคุณยายไปยังสถานที่ต่าง ๆ ภายในวัด ข้าพเจ้ามักจะได้ยินคุณยายเอ่ยถึงชื่อท่านผู้ใจบุญท่าน นั้นท่านนี้อยู่เสมอ ด้วยความขอบคุณและนึกถึงคุณ ตั้งแต่หน้า วัดถึงท้ายวัด คุณยายจะจำได้หมดว่า แต่ละสิ่งแต่ละอันมีความเป็นมาอย่างไร ใครเป็นคนให้ความอุปถัมภ์ช่วยเหลือ หรือยายไปบอกบุญใครมา จนข้าพเจ้าอดที่จะทึ่งในความสามารถในการ จดจำของคุณยายไม่ได้

"แผ่นดินผืนนี้ ให้คุณหวิน (อุบาสิกาถวิล วัติรางกูล) ไปขอ จะเอาสัก ๕๐ ไร่ เขาให้หมดผืน ๑๙๖ ไร่"

"ประตูหน้าวัด ให้ตาหริ ที่ชอบออกแบบโบสถ์หัวแหลม ๆ ออกแบบให้"

"แถวนี้ ไปขอเรือกรมชล ฯให้มาช่วยขุด"

"ศาลานี้ ให้เจ้าของคอกม้ามาสร้าง"

"ดาวดึงส์ ให้อารีพันธุ์บอกบุญคุณอัปสรมาสร้าง"

"หอระฆัง ให้ไอ้เปียไปบอกที่บ้านมาสร้าง"

"สองชั้น คุณพวง - คุณเรณูสร้าง"

"หลังนี้ คุณสายหยุด  คุณมณฑา"

...และอีกหลายต่อหลายชื่อ

           คุณยายท่านมักกล่าวถึงชื่อต่าง ๆ เหล่านี้ ด้วยความนึกถึง คุณที่ได้มาช่วยยายสร้างวัด และท่านมักจะบอกว่า "ขอให้เขาได้บุญกับยายเยอะ ๆทุกคน" แล้วท่านก็มักจะปิดท้ายประโยคด้วย คำพูดยิ้ม ๆ ว่า

"ยายนะขอเก่ง ขอจนเป็นวัด

ก่อนไปขอ เราก็คิดก่อนว่า เราจะขอมาทำอะไร

เขาก็ได้บุญ เราก็ได้บุญ

กับคนที่มีบุญคุณแล้วยายไม่เคยลืม"

         ข้าพเจ้าประทับใจทุกครั้ง เมื่อคุณยายพบคนเก่าคนแก่ หรือลูกศิษย์ลูกหารุ่นเก่า ๆ แม้คุณยายจะไม่ได้พูดออกมาโดยตรง แต่ดูจากแววตา กริยาท่าทาง และการพูดคุยที่มีรสชาติแห่ง ความคุ้นเคยเป็นกันเอง ให้ความรู้สึกแก่ข้าพเจ้าว่า คุณยายดีใจที่ได้พบ และยังระลึกถึงท่านเหล่านี้อยู่เสมอ

          มีอยู่ครั้งหนึ่ง ในวันอาทิตย์ช่วงบ่าย หลังจากที่คุณยาย รับแขกที่ครัวยามาเสร็จ ระหว่างเดินทางกลับที่พัก คุณยายพบกับคุณป้าถวิล (อุบาสิกาถวิล วัติรางกูล) ซึ่งกำลังรอกราบ พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยอยู่ที่ศาลาดุสิต คุณยายยกมือไหว้ทักทายพร้อมด้วยรอยยิ้ม ต่างฝ่ายต่างเดินเข้ามาหากัน คุณยายเอามือทั้งสองของท่านจับที่มือของคุณป้าถวิลที่ยังพนมค้างอยู่ เขย่าเล็กน้อย ให้ความรู้สึกว่าดีใจที่ได้พบ คุณยายได้พูด คุยทักทายถามถึงทุกข์สุข ก่อนที่จะเดินกลับไปที่พัก เมื่อคุณ

ยายกลับถึงที่พักแล้วท่านจึงพูดถึงความในใจว่า

          "ยายเป็นคนเคารพบุญคุณคนยายเจอคุณหวินที่ศาลายายเห็นแกแล้วอยากไหว้แก นึกถึงความดีของแก คนเขามีบุญคุณ ยายไม่เคยลืม ตายเมื่อไรล่ะ ถึงลืม"

           ดวงใจของคุณยายช่างบริสุทธิ์ใสไม่ได้เจือด้วยทิฏฐิมานะหรือความถือตัวใด ๆ มีแต่ความอ่อนน้อมถ่อมตน นึกถึงคุณความดีของผู้อื่นอยู่เสมอ คุณยายจึงอยู่ในใจและครองใจลูกศิษย์ ลูกหามาทุกรุ่นทุกยุคทุกสมัยอย่างไม่เสื่อมคลายข้าพเจ้าได้มีโอกาสพูดคุยกับคนรุ่นเก่า ๆ เช่น ป้าเข่ง ที่คุณยายชอบเรียก "คุณเข่ง" ผู้ดูแลเรื่องเย็บจีวรถวายพระ ป้าไข่มุกต์ ที่ชอบถักหมวกและผ้าพันคอไหมพรมมาถวายคุณยาย ซึ่งคุณยายบอกว่า "หมวกนี้ ป้าไข่มุกต์แกถักให้ ใช้ดี ใช้เท่าไร ไม่ขาดสักที" และคุณยายท่านก็ใช้หมวกใบนี้เป็นประจำ แม้จะดูว่าเป็น สีออกเก่า ๆ แต่พอเปลี่ยนใบใหม่ให้ใช้ คุณยายเป็นต้องถามหาใบเก่าทุกที

           อีกท่านคือน้าพิกุล ซึ่งเป็นหลานสาวแท้ ๆ ของคุณยาย เป็นลูกของพี่สาวคนโต (ยายเจ๊าะ) น้าพิกุลจะเข้ามาหาคุณยายเป็นประจำทุกเดือน เพื่อมาปลงผม และกราบเยี่ยมท่านไปในตัว คุณยายท่านมักจะถามด้วยความเมตตาและเกรงใจว่า เดินทางมาอย่างไร ลำบากหรือเปล่า เพราะน้าพิกุลต้องนั่งรถเมล์มาหลายต่อ น้าพิกุลก็มักจะตอบคุณยายว่า "ไม่ลำบากหรอก หนูตั้งใจจะมาเยี่ยมคุณยายทุกเดือนจนกว่าหนูจะเดินไม่ไหว"

           ข้าพเจ้ารู้สึกว่าลูกศิษย์ลูกหาคนเก่า ๆ นั้น เคารพรักคุณยาย และเคารพคำบอกคำสอนของคุณยายอย่างที่สุด ไม่ใช่ เคารพอย่างเดียว แต่ท่านเหล่านั้นได้นำมาประพฤติปฏิบัติตาม อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

           ความรู้สึกนึกขอบคุณ และอยากตอบแทนคุณ โดยให้เขา "ได้บุญกับยายเยอะ ๆ" มีอยู่ในใจของคุณยายเสมอ ไม่ว่าเขา ผู้นั้นจะเป็นใคร

           เมื่อมีใครมาช่วยเหลือเอื้ออำนวยความสะดวกทำสิ่ง นั้นสิ่งนี้ให้ท่านท่านมักจะแสดงความรู้สึกขอบคุณอย่างจริงใจกับทุก ๆ คน

           เวลาคุณยายไปไหนมาไหน ข้าพเจ้ามักเห็นคุณยายยก มือไหว้ไปหมดทั้งเป็นการไหว้เพื่อทักทาย และไหว้เพราะรู้สึกขอบคุณ

           คุณยายสามารถยกมือไหว้ยามได้ทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะยามในวัด แต่เป็นทั่วทุกคนในทุกที่ เนื่องด้วยเป็นการไหว้เพื่อทักทาย และเพื่อแสดงความรู้สึกขอบคุณที่เขาเหล่านั้นช่วยอำนวยความสะดวก เปิดที่กั้นถนนให้รถคุณยายผ่านเข้าไป บางครั้งคุณยาย ยังเมตตาต่อยามเหล่านั้น ถามว่า "มีขนมอะไรให้เขาหรือเปล่า" ไม่ว่าจะเป็นยามในวัด หรือยามในสถานที่ต่าง ๆ

           บางครั้ง คุณยายออกไปหาหมอหรือไปทำธุระนอกวัด ระหว่างทางต้องแวะรับประทานอาหารข้างนอกวัด ก็มักจะมีเจ้าภาพช่วยจัดเตรียมและเอื้ออำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้

           คุณยาย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าภาพ เจ้าของบ้าน หรือลูกจ้างในบ้าน ที่ช่วยจัดเตรียมอาหารและเอื้ออำนวยความสะดวกให้คุณยาย คุณยายจะยกมือพนมไหว้ เหมือนเป็นการขอบคุณและบอกว่า "ให้ได้บุญกับยายเยอะ ๆ" เหมือนกันหมด และก่อนที่ท่านจะกลับ มักจะแสดงความขอบคุณ และให้ศีลให้พรเป็นการอำลา

           โดยปกติคุณยายจะเป็นคนที่เกรงใจผู้อื่นอยู่เสมอ เวลาไปบ้านใครท่านก็มักจะเกรงใจ เมื่อตอนอยู่เฉพาะกันเอง คุณยายมักจะแอบกระซิบถามพี่อารีพันธุ์ว่า "เขาจะว่าอะไรหรือเปล่า เรามาใช้บ้านเขา"

           พี่อารีพันธุ์ก็จะตอบว่า "ไม่หรอกค่ะ เขาอยากได้บุญกับยายทุกคน"

           เวลาคุณยายออกไปข้างนอก มักจะมีพี่อุบาสกที่รับหน้าที่ ขับรถให้คุณยายเป็นประจำ แต่บางครั้งพี่อุบาสกท่านนั้นไม่อยู่ต้องหาผู้อื่นมารับแทน ก่อนจะลงจากรถ ข้าพเจ้ามักจะเห็นคุณยายหันไปทางคนขับรถ ยกมือพนมไหว้ ให้ศีลให้พร และขอบคุณแล้วขอบคุณอีกที่ได้มาเอาบุญกับคนแก่ ขับรถให้ยาย ยายขับรถไม่เป็น

            ตามปกติคุณยายท่านจะชอบทำอะไรด้วยตนเอง และท่านมักเกรงใจที่ต้องมีคนไปช่วยทำธุระในเรื่องส่วนตัวให้ท่าน แม้แต่กับข้าพเจ้าซึ่งเป็นเด็กที่มาอุปัฏฐากรับใช้ท่านด้วยความเต็มใจ เวลาที่ข้าพเจ้าได้รับใช้ปรนนิบัติท่าน ข้าพเจ้าจะสัมผัส ได้ถึงความรู้สึกนึกขอบคุณที่คุณยายมีให้ต่อข้าพเจ้าอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นด้วยคำพูด คำสอน คำให้พร หรือแววตา

            ข้าพเจ้ารินน้ำใส่แก้วมาให้คุณยายดื่ม คุณยายรับแก้วไปพร้อมกับพูดว่า "สาธุ"

            ข้าพเจ้าชงยาหอมให้คุณยาย คุณยายรับไปพร้อมกับให้พรว่า "ขอให้เห็นธรรมะใสๆ นะ"

            ข้าพเจ้านวดที่ฝ่าเท้าให้คุณยาย คุณยายพูดด้วยความเกรงใจว่า "เรานะ นวดเท้าให้ยาย นวดเสร็จแล้วต้องไปล้างมือนะ เท้ายาย สกปรก เหยียบพื้น มีขี้ตีนขี้เท้า"

            ข้าพเจ้าพาคุณยายไปห้องน้ำ คุณยายพูดว่า "ให้เราได้บุญกับยายเยอะ ๆ นะ เอาบุญกับคนแก่ ตอนแก่เฒ่ามาเราก็จะมีคนดูแล" ฯลฯ

            จะหาใครเป็นเช่นท่านใจของคุณยายคิดแต่จะขอบคุณและตอบแทนผู้อื่น ที่ได้ทำแม้สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ท่าน แต่ท่านไม่เคยคิดเลยว่า คุณที่ท่านทำแก่ผู้อื่นนั้นมากมายเหลือล้น และยิ่งใหญ่เพียงใด ยากนักที่ใครจะตอบแทนพระคุณของท่านได้หมด

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0017217000325521 Mins