การใช้ห้องน้ำ - ห้องส้วม
ข้าพเจ้าเหมือนเด็กวัดคนอื่น ๆ ไม่ว่าใคร เมื่อมีโอกาสท่านจะจับมือ จูงแขน พาเดินเข้าไปในห้องน้ำ เพื่อสอนถึงวิธี การใช้ห้องน้ำห้อง ส้วม ข้าพเจ้าประทับใจคำสอนของคุณยายมาก คงไม่มีอาจารย์ที่ไหน ที่จะสอนลูกศิษย์ลูกหาในทุกเรื่องได้อย่าง ละเอียดละออถึงเพียงนี้ และคำสอนของท่านยิ่งทำให้ข้าพเจ้า มองเห็นถึงความมีสติรู้จักคิดพิจารณา และดวงปัญญาอันสว่างไสว ของท่านที่ยากนักจะหาผู้ใดเสมอเหมือน
คุณยายท่านสอน "ทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องมีสติคิดพิจารณา ไปด้วยมันถึงจะได้ดี"ท่านจะสอนตั้งแต่ "เวลาจะนั่ง ( ส้วม) ต้องนั่งให้ตรงช่อง เวลาจะตักน้ำขึ้นมาราดต้องตักให้พอดีขัน ถ้าตักน้อยมันก็ราดไม่ลง ถ้าตักจนเต็มขันเวลายกขันขึ้นน้ำก็จะหก ออกมาทำให้ห้องน้ำเปียกแฉะ ต้องตักเพียงค่อนขัน เวลายกน้ำขึ้นต้องยกขันให้พอดี ไม่สูงไม่ต่ำเกินไปแล้วค่อยเทลงไปอย่างนี้ น้ำก็ไม่หกกระเด็นออกมา"
คุณยายค่อย ๆ ตะแคงขันเทน้ำพร้อมทั้งลดระดับขันลงมาเรื่อย ๆ ขณะเทจนขันคว่ำน้ำหมด คุณยายจะสะบัดขันเล็ก น้อยเพื่อให้หยดน้ำหลุดออกจากขันจนหมด ก่อนที่จะหงายขันขึ้นมา"เสร็จแล้วปิดก๊อกน้ำ เอาแต่พอดี ๆปิดหลวมไปน้ำมันก็ยังหยดติ๋ง ๆปิดแน่นเกินไปวงแหวนยางในก๊อกมันก็พังเร็ว ต้องปิดแต่พอดี ๆ ไม่แน่นไม่หลวม"
คุณยายสอนพร้อมทั้งทำให้ดูด้วยความคล่องแคล่ว แลดูท่านจะมีความสุข และมีความยินดียิ่งนักที่ได้สอน ได้ถ่ายทอดสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ให้คนรุ่นหลังได้นำไปประพฤติปฏิบัติตาม
ข้าพเจ้ายืนน้อมตัวมองดูคุณยายสาธิตวิธีใช้ห้องน้ำห้องส้วมด้วยความเลื่อมใสศรัทธา แม้แต่จังหวะ ลีลา ท่าทางการตักน้ำราด ส้วมของคุณยายช่างกลมกลืนงดงาม ดูเหมือนว่างานหยาบของท่าน จะทำให้กลายเป็นงานละเอียดได้เสียทุกอย่าง
ข้าพเจ้ามาไม่ทันตอนที่คุณยายท่านถือขันกับสก๊อตไบร์ท สอนเด็กวัดพาขัดล้างห้องน้ำห้อง ส้วม แต่ข้าพเจ้ามาทันได้ขัดห้องน้ำห้อง ส้วมตามคำบอกสอนของคนรุ่นเก่า ที่ได้รับการถ่ายทอดคำสอนมาจากคุณยายอีกต่อหนึ่ง
ข้าพเจ้ายังจำการมาวัดครั้งแรกของตนเองได้ดีสิ่งที่ข้าพเจ้าประทับใจมากอย่างหนึ่งคือ ห้องน้ำตรงหลังกอไผ่ข้าง อาคารประชาสัมพันธ์(หินอ่อน) ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นห้องน้ำที่วัดไหน สะอาดสะอ้านเช่นนี้มาก่อนเลยสะอาดชนิดที่ข้าพเจ้าคิดว่าตรง พื้นที่ว่างในอาคารห้องน้ำแห้งสะอาดสามารถเข้าไปนั่งเล่นได้ แถมยังมีลมพัดผ่านเย็นสบาย ไม่มีกลิ่นของห้องน้ำโชยมาให้เสียบรรยากาศ และข้าพเจ้ายิ่งประทับใจมากขึ้น เมื่อรุ่นพี่วนมา รับบุญ "ขัดวิมาน"
ในช่วงนั้นวันอาทิตย์ยังจัดพิธีกรรมอยู่ที่ศาลาจาตุมหาราชิกา ตอนบ่ายฟังเทศน์เสร็จแล้ว ก่อนแยกย้ายกันกลับบ้านจะมีบุญต่าง ๆ ให้รับกันมากมาย เช่น บุญแจกน้ำดื่ม บุญเช็ดเสื่อ เช็ดผ้าพลาสติก ฯลฯ หนึ่งในนั้นคือ "บุญขัดวิมาน" เป็นชื่อบุญ ที่เพราะมาก ฟังแล้วอยากทำทันที ความจริงก็คือ การขัดห้องสุขานั่นเอง
เมื่อเราไปช่วยรุ่นพี่ก็สอนวิธีล้าง และเล่าถึงอานิสงส์ให้ ฟังเสร็จสรรพ พร้อมทั้งบอกเคล็ดลับว่า "ยิ่งล้วง (คอห่าน) ลึกยิ่งตรึกใส"
ทุกคนอยู่ในท่าเตรียมพร้อม คือม้วนขากางเกงขึ้นเล็กน้อย แล้วไปรับอุปกรณ์ที่ทางแผนกบุญสถานจัดเตรียมไว้ให้ คือ ขันซึ่งมีน้ำผงซักฟอกละลายอยู่ พร้อมสก๊อตไบร์ท เราเข้าไป จับจองห้องน้ำกันคนละหนึ่งห้อง
จะว่าไปแล้วบุญนี้ก็เป็นที่นิยมทำกัน เพราะจำนวนคนที่ รับบุญเยอะกว่าจำนวนห้องน้ำ คนที่ไม่ได้ขัดในห้องน้ำก็ไปขัด พื้นที่อยู่หน้าห้องน้ำบ้าง ไปขัดอ่างล้างหน้าที่อยู่รอบ ๆ ห้องน้ำ บ้างทุกคนรับบุญกันอย่างขยันขันแข็งช่วยกันคนละไม้ละมือ ด้วยความเบิกบาน สีหน้าของแต่ละคนเต็มไปด้วยรอยยิ้ม
ข้าพเจ้าลงมือขัดตั้งแต่ผนังห้องน้ำลงมาจนถึงพื้นตรงฐานเหยียบ ส้วม ตรงขอบ ตรงซอกเล็กซอกน้อยขัดหมด แล้วค่อย ๆ ขัดลงไปในโถ ส้วม แล้วล้วงลึกลงไปในคอห่าน "ยิ่งล้วงลึก ยิ่งตรึกใส" ในยุคแรก ๆ ใช้มือเปล่า ๆ ไม่มีถุงมือ ใจของข้าพเจ้า ตอนนั้นไม่มีความรังเกียจเลย ใคร ๆ เขาก็ทำกันทั้งนั้น คิดแต่ว่าจะเอาบุญ และห้องน้ำที่นี่ก็สะอาดสะอ้าน น่าขัด น่าถู เสร็จแล้วก็ใช้ขันที่อยู่ในห้องน้ำตักน้ำเปล่าราดฟองผงซักฟอกที่ปกคลุม อยู่จนหายไปหมด เหลือแต่ห้องน้ำและโถส้วมที่สะอาดเอี่ยมอ่อง
ข้าพเจ้าขัดล้างห้องน้ำเสร็จ พร้อมกับใจที่คิดว่าวิมานของข้าพเจ้าคงจะสว่างไสว ข้าพเจ้านั่งรถกลับมหาวิยาลัยด้วย ความรู้สึกโปร่งเบาสบาย ใจอิ่มอยู่ในบุญ มีหลายสิ่งหลายอย่าง ที่ข้าพเจ้าไม่เคยทำ ก็ได้ทำที่วัดแห่งนี้ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ ข้าพเจ้าไม่คิดว่าจะทำได้ก็ทำได้ ณ วัดแห่งนี้
นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังเคยได้ฟังการถ่ายทอดคำสอนของคุณยายเรื่องการใช้ห้องน้ำมาจากพี่อารีพันธุ์ คุณยายท่านสอนว่า "เวลาจะอาบน้ำให้นั่งอาบ แล้วค่อย ๆ ตักน้ำราดตัว จะได้ไม่เสียงดังเวลาอาบน้ำ และน้ำก็จะไม่กระเด็นเปียกแฉะไปไกล เมื่ออาบน้ำเสร็จแล้ว ให้ใช้ผ้าแห้งเช็ดผนังห้องน้ำให้แห้ง" ไม่เคยมี ใครสอนข้าพเจ้าเช่นนี้มาก่อนเลย
เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ทำกันเป็นประจำ เป็นปกติ ในชีวิตประจำวัน วันละหลาย ๆ ครั้ง แต่ใครเล่าที่จะรู้จักคิดพิจารณาและทำได้ละเอียดละออถึงเพียงนี้ เป็นบุญของพวกเรายิ่งนัก ที่มีครูบาอาจารย์เช่นท่านที่ เป็นแบบอย่างและคอยชี้แนะสั่งสอน แม้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงจิตใจที่ใสะอาดบริสุทธิ์ของท่าน