การสร้างรากฐานครอบครัว
" หัวใจครอบครัว "
คนเรานั้น ถ้าหัวใจไม่ทำงาน ก็แสดงว่าเขาตายจากโลกนี้ไปแล้ว ครอบครัวก็เช่นกันถ้าหัวใจของครอบครัวไม่ทำงาน แม้จะอยู่บ้านหลังเดียวกัน แต่ก็เหมือนตายจากความเป็นครอบครัวเดียวกันไปแล้ว การมีครอบครัวที่อบอุ่นและมั่นคง เป็นสุดยอดความปรารถนาของชีวิตแต่งงาน แต่อะไรเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างชีวิตครอบครัว นี่คือสิ่งสำคัญที่คนรักกันต้องรู้ก่อนจะสร้างครอบครัว
ข้อความต่อไปนี้ เป็นเรื่องสำคัญของทุกครอบครัว ใครจะแต่งงาน มีลูก มีภรรยา มีสามี จะต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพราะปัญหาในการครองเรือน ก็ล้วนวนเวียนอยู่ในเรื่องเหล่านี้ ถ้าศึกษาแตกฉาน แล้วจะให้ประโยชน์มาก แต่ถ้าขาดการศึกษา ก็จะพบปัญหาครอบครัวอีกสารพัด เรื่องนั้นก็คือ "ฆราวาสธรรม หัวใจสำคัญของความมั่นคงในครอบครัว"
1. ปัญหาประจำครอบครัว
คนแต่ละคนก่อนจะมาแต่งงาน ก็มีปัญหาจากข้อบกพร่องประจำตัวกันอยู่แล้วแต่เมื่อมารวมเป็นครอบครัว ก็หลีกไม่พ้นที่ข้อบกพร่องของแต่ละคนจะก่อความกระทบกระทั่งต่อกัน ดังนั้น ถ้าครอบครัวใดก็ตาม ขาดฆราวาสธรรมแม้ข้อหนึ่งข้อใด คือ "สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ" ครอบครัวย่อมต้องเกิด 4 ปัญหาใหญ่อย่างแน่นอน นั่นคือ
1) ปัญหาความหวาดระแวงกันและกัน
2) ปัญหาความโง่เขลา ไม่ทันโลก ทันคน ทันกิเลส
3) ปัญหาความเบื่อหน่ายกันเอง
4) ปัญหาความเห็นแก่ตัว
ปัญหาใหญ่ ๆ 4 เรื่องนี้ ทางที่ดีที่สุดคือ อย่าให้เกิดขึ้นในครอบครัวได้ หรือถ้าเกิดขึ้นเมื่อใด ก็ต้องรีบช่วยกันหาทางแก้ไข อย่าปล่อยให้หมักหมมคั่งค้างลุกลามใหญ่โตเพราะปัญหาทั้ง 4 ข้อนั้น เป็นต้นตอที่สร้างปัญหาอื่น ๆ ต่อมาอีกมากมายไม่รู้จบ
ปัญหาแรก "ความหวาดระแวง ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน"
โลกปัจจุบันนี้ แม้อยู่ในครอบครัวเดียวกัน ก็มีโรคชนิดหนึ่งเกิดขึ้นประจำ นั่นคือโรคหวาดระแวง
แม้เป็นสามีภรรยากันแล้ว ก็มิวายหวาดระแวงกันเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แม้แต่เป็นพี่น้องคลานตามกันมาก็ยังระแวงกัน แม้ที่สุดพ่อแม่กับลูก ก็ยังมิวายหวาดระแวงกัน เพราะฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงคนอื่น ที่ไม่ได้มีสายเลือดเดียวกัน ไม่ใช่คนในครอบครัว จะไม่เป็นโรคหวาดระแวงกัน
สาเหตุที่หวาดระแวงกันมีหลายอย่าง บางทีก็หวาดระแวงเพราะความอิจฉาริษยาบางทีก็หวาดระแวงเพราะลำเอียง บางทีก็หวาดระแวงเพราะอีกฝ่ายเอารัดเอาเปรียบ และที่ร้ายแรงคือ หวาดระแวงเพราะเขาขาดความรับผิดชอบ
ไม่ว่าจะระแวงเพราะเหตุใดก็ตาม แต่ที่แน่ ๆ คือยิ่งอยู่ร่วมกันนานเท่าใดปัญหาความระแวงกันในครอบครัวก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
ปัญหาที่สอง "ความโง่เขลา ไม่ทันโลก ทันคน ทันกิเลส"
ปัญหานี้เกิดจากสติปัญญา ความรู้ ความสามารถไม่เท่าเทียมกัน หรือเรียกง่าย ๆ ว่า "โรคโง่"
บางคนคิดจะทำอะไรมักไม่ทันคนอื่นในครอบครัว ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม ของโลกสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ไม่ทัน ไม่ใช่เพราะโง่อะไรนักหนาแต่เพราะคนอื่นในครอบครัวปรับปรุงตัวอยู่ตลอดเวลา เขาพัฒนาตนเองไม่ได้หยุดส่วนตนเองไม่ยอมปรับปรุงแก้ไขเลย เคยอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น เป็นประเภทใคร ๆ ก็เข็นไม่ขึ้น
คนประเภทนี้เองที่มักจะคิดน้อยใจโชคชะตา น้อยใจพี่น้อง น้อยใจพ่อแม่น้อยใจสามี น้อยใจภรรยาว่าไม่รัก เลยไปจนกระทั่งน้อยใจลูกว่าไม่รักตนอีกด้วย แล้วก็ก่อปัญหาแตกความสามัคคีในครอบครัว
ปัญหาที่สาม "ความเบื่อหน่ายกันเอง"
ปัญหาความเบื่อหน่ายกันเอง อาจเรียกง่าย ๆ ว่า "โรคเบื่อคน"
ผู้พิพากษาสมทบท่านหนึ่ง ที่จังหวัดเชียงใหม่เล่าว่า ในอดีตเมื่อผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 18 ปีทำผิด ศาลจะส่งตัวไปไว้สถานพินิจ เพื่อควบคุมความประพฤติ ทันทีที่ศาลสั่ง พ่อแม่ก็จะมาร้องห่มร้องไห้ ขอเอาตัวกลับไปอบรมฝึกหัดขัดเกลาเอง ลูกจะเลวจะชั่วอย่างไรก็ยังรักยังห่วงลูก ขอดูแลแก้ไขด้วยตนเอง ไม่ไว้ใจให้ใครอบรมลูกแทน เพราะเกรงว่าจะทำได้ไม่ดีพอ
แต่เดี๋ยวนี้พอลูกทำผิดขึ้นมา ศาลตามตัวพ่อแม่มาถามว่า "ลูกคุณทำความผิดจะว่าอย่างไร"
พ่อแม่รีบตอบเลย "ก็แล้วแต่ศาล ทำอะไรได้ก็ทำไปเถอะ ไม่รู้จะทำอย่างไรกับเขาแล้ว"เรื่องกลายเป็นอย่างนั้นไปแล้ว
ในสังคมยุคปัจจุบัน มี คนเบื่อแม้กระทั่งลูกของตนเอง
แม้เป็นสมาชิกครอบครัวเดียวกัน ก็ต้องระวังอย่าให้มีโรคเบื่อกันเอง ถ้าในครอบครัวของเรามีใครทำอะไรไม่ถูกต้อง แล้วคนในบ้านเบื่อที่จะตักเตือน เบื่อที่จะพร่ำสอนเบื่อที่จะแนะนำ ก็จะกลายเป็นต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้มีการถ่ายทอดคุณธรรมความดีให้กันและกันคุณธรรมความดีทั้งของเราและของเขาก็จะไม่เพิ่มพูนขึ้น
ความเบื่อหน่ายกันเอง จะเป็นลางแห่งความหายนะของครอบครัว เพราะไม่ช้าจะถึงจุดหนึ่งที่ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างตักเตือนกันไม่ได้
เมื่อเตือนกันไม่ได้ ก็เลยไม่รู้จะทนกันไปทำไม การทะเลาะเบาะแว้งด่าทอ ลงไม้ลงมือกันก็ตามมา
การอยู่ร่วมกันในครอบครัว ควรที่จะเปิดใจอนุญาตให้แต่ละคนในครอบครัวเอ่ยปากตักเตือนตนเองได้แต่เนิ่น ๆ ถ้าหากเห็นว่าทำอะไรไม่ถูก ไม่ควร ไม่โปร่งใสพอ ก็ให้รีบตักเตือนดีกว่ารอให้ทนไม่ไหวก่อน แล้วค่อยมาพูดกัน นั่นก็กลายเป็นเอาภูเขาไฟ องลูกมาระเบิดพร้อมกันนี่เอง
ปัญหาที่สี่ "ความเห็นแก่ตัว"
ปัญหาความเห็นแก่ตัว อาจเรียกง่าย ๆ ว่า "โรคแล้งน้ำใจ"
ธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไป เมื่อไรก็ตามที่มีการอยู่ร่วมกันเกินสามคนขึ้นไป จะเริ่มมีการแบ่งพรรคแบ่งพวก เมื่อในครอบครัวมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกเสียแล้ว หากได้ข้าวของพิเศษอะไรมา ก็จะคำนึงถึงแต่ประโยชน์ของพรรคพวกในบ้านของตนเองก่อน อีกฝ่ายจะเดือดร้อนลำบากอย่างไร ไม่สนใจ ถ้า ถานการณ์เลวร้ายหนักเข้า ๆ แม้พี่น้องคลานตามกันมาก็แตกกันเอง เพราะเชื้อแห่งความเห็นแก่ตัวได้เข้าห่อหุ้มจิตใจจนมืดมิด
ถึงคราวได้ลาภผลน้อยใหญ่อะไรมา ก็จะไม่ยอมปันกันกิน ปันกันใช้ในครอบครัวหนำซ้ำยังเอารัดเอาเปรียบคนอื่น ๆ ในครอบครัวอีก ในที่สุดครอบครัวก็จะแตกแยกเพราะความแล้งน้ำใจ แล้ววันหนึ่งความแตกแยกก็จะลุกลามใหญ่โต กลายเป็นความล่มสลายของครอบครัว
2. ฆราวาสธรรม หัวใจครอบครัว
เมื่อใครก็ตามคิดจะเลือก คู่ชีวิต หรือคิดจะแต่งงานเป็นสามีภรรยาอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว ก็ต้องเตรียมใจว่าไม่สามารถหลบหลีก 4 ปัญหาหลักดังกล่าวได้
การแก้ไขป้องกันปัญหานี้ แม้ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ใช่ไม่มีทางแก้ไขหรือป้องกันเพราะหากแต่ละคนรู้ว่าหัวใจของครอบครัวคืออะไร และทุกคนก็ตั้งใจดูแลหัวใจครอบครัวอย่างดีที่สุดแล้ว ในที่สุดปัญหาเหล่านี้ก็จะหมดไป
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ธรรมะหมวดหนึ่ง ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักการวางรากฐานชีวิตและครอบครัวให้มั่นคง นั่นคือ "ฆราวาสธรรม" ซึ่งประกอบด้วย หลักการ 4 ข้อ คือสัจจะ ทมะ ขันติ และจาคะ ทั้งสี่ข้อนี้เป็น หัวใจครอบครัว
ตามปกติ ถ้าหัวใจของเรายังเต้น เราก็ยังมีชีวิตต่อไป ถ้าตราบใดก็ตามที่สมาชิกแต่ละคนในครอบครัว ยังมีฆราวาสธรรมอยู่ประจำตัว หัวใจของครอบครัวก็ยังคงเต้นอยู่ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่มีทางเกิดขึ้นอย่างแน่นอน มีแต่ครอบครัวที่มั่นคง อบอุ่นสามัคคีกันขึ้นทุกวัน
ฆราวาสธรรมอันประกอบด้วยหัวใจครอบครัว 4 ข้อนั้น มีความสำคัญอย่างไรบ้างและช่วยป้องกันแก้ไขปัญหาประจำครอบครัวอย่างไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นดังนี้
1)สัจจะ แก้ปัญหาความหวาดระแวงกันและกัน
สัจจะ แปลว่า ความจริงใจ ความจริงจัง ตลอดจนความซื่อตรงต่อกันและกัน
ถ้าแปลอย่างนี้หลายคนอาจมองภาพไม่ชัด แต่ถ้าจะแปลเพื่อส่องให้เห็นแนวทางปฏิบัติได้ชัด ๆ ก็ต้องแปลว่าสัจจะ คือ "ความรับผิดชอบ" หรือ "นิสัยรับผิดชอบ"
เมื่อมองในแง่ของความเป็นครอบครัว นิสัยรับผิดชอบของแต่ละคนถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง เพราะถ้าใครขาดนิสัยรับผิดชอบเมื่อไร ความหวาดระแวงต่อกันจะเกิดขึ้นทันที ในทำนองเดียวกัน ถ้าหากใครจะเลือกคู่ครองสิ่งแรกที่ต้องมองให้ชัดเจน ก็คือความรับผิดชอบของคน ๆ นั้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชาย ต้องมองให้ออกว่าเขามีมากพอที่จะรับผิดชอบความเป็นความตาย ความรุ่งเรือง ความล่มสลายของครอบครัวได้หรือไม่
คนมีสัจจะย่อมแสดงความรับผิดชอบออกได้ 4 ด้าน คือ
1) ด้านหน้าที่และการงาน คือ ไม่ว่าจะได้รับหน้าที่มากน้อยเพียงไร งานในแต่ละหน้าที่เหล่านั้น จะยากเย็นแสนเข็ญเพียงใด และสภาวะต่าง ๆ จะไม่เอื้ออำนวยเพียงไรงบประมาณก็มีอยู่จำกัด กำลังคนก็มีอยู่น้อยนิด เวลาก็กระชั้นชิด ความรู้ก็มีอยู่ไม่พอกับงานแม้กระนั้น คนที่มีสัจจะย่อมจะตั้งใจขวนขวายรับผิดชอบด้วยการ "ทำงานชิ้นนั้นให้สำเร็จให้ได้และให้ดีที่สุดด้วย"
2) ด้านคำพูด คือ ต้องเป็นผู้ที่พูดอย่างไร ก็ทำอย่างนั้น และทำอย่างไร ก็ต้องพูดอย่างนั้น ไม่ใช่ทำคืบมาโม้ว่า ทำมากเป็นศอก หรือทำศอกมาโม้ว่าทำมากเป็นวาการกระทำจะต้องตรงกับคำพูดของตัวเองเสมอไป
3) ด้านการคบคน คือ คบค้า มาคมกับใครด้วยความจริงใจ ไม่มีเหลี่ยมคูมีอะไรก็ว่ากันตรง ๆ เตือนกันตรง ๆ ไม่มีเบื้องหน้า เบื้องหลัง ใช้ความจริงใจแลกความจริงใจที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ลำเอียง หรือไม่มีอคติ 4 ประการ ได้แก่ ไม่ลำเอียงเพราะรัก ไม่ลำเอียงเพราะชัง ไม่ลำเอียงเพราะโง่ ไม่ลำเอียงเพราะกลัว
4) ด้านศีลธรรมความดี คือ ในเรื่องส่วนตัว ถือเอาหลักธรรมเป็นใหญ่ไม่ยอมทำในสิ่งที่ผิดศีล ผิดธรรม ผิดประเพณี และผิดกฎหมายของบ้านเมือง จึงปิดคุกตารางปิดนรก และเปิดสวรรค์ให้ตนเองได้อย่างสง่าผ่าเผย
เพราะฉะนั้นเมื่อพิจารณาตามนี้ คนที่มีสัจจะก็คือคนที่มีความรับผิดชอบทั้งต่อหน้าที่การงาน ต่อคำพูด ต่อคนที่คบด้วย และต่อคุณธรรม ซึ่งจะทำให้เป็นคนที่คิด พูดทำสิ่งใด ก็มีความตั้งใจจริงในทุกสิ่งที่คิด พูด และทำนั้นให้ดีที่สุด ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับความรู้ความสามารถ และความดีของตนเองให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป
เพราะฉะนั้นสัจจะของเรานั้นสามารถดูออกได้จาก 4 ด้านนี้ ยิ่งมีมากเท่าไรย่อมแสดงว่าเขามีความรับผิดชอบมากเท่านั้น
เพราะคนประเภทนี้ เขามีหลักง่าย ๆ ประจำใจอยู่เสมอว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องทำให้ดีที่สุด พูดจาอะไรก็ชัดเจนที่สุด จิตใจก็มั่นคงในศีลธรรมที่สุด
คนมีสัจจะ ไม่เฉพาะคนในครอบครัวที่ไว้วางใจ แม้แต่พรรคพวกเพื่อนฝูงก็ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจมาก ความหวาดระแวงที่อาจจะเคยมีมาก่อน ก็จะยิ่งลดน้อยถอยลงไปมากเท่านั้น
แต่ถ้าใครไม่มีสัจจะ ไปที่ใดก็เจอความหวาดระแวง ความไม่น่าเชื่อถือตรงนั้นคนดี ๆ มีแต่คนหลีกหนีไม่อยากเข้าใกล้ ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เพราะกลัวว่าจะพลอยทำให้เขาเสียชื่อเสียงไปด้วย
เพราะฉะนั้น ถ้าคนในครอบครัวไม่มีสัจจะ หรือไม่มีนิสัยรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานต่อคำพูด ต่อบุคคล และต่อศีลธรรมความดี ปัญหาความหวาดระแวงจึงได้เกิดขึ้นมา แล้วจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร
ดังนั้นครอบครัวจะมีรากฐานมั่นคงอยู่ได้ คนในบ้านจะต้องมีสัจจะ เป็นนิสัยที่ 1
2)ทมะ แก้ปัญหาความโง่เขลา ไม่ทันคนทันโลกทันกิเลส
ทมะ แปลว่า รู้จักข่มจิตข่มใจตนเอง
ในทางปฏิบัติ ทมะ หมายถึง ความกระตือรือร้นในการเคี่ยวเข็ญฝึกตนเองอย่างไม่มีข้อแม้เงื่อนไข เพื่อให้ตนเองมีทั้งความรู้ ความสามารถ และความดีเพิ่มพูนมากขึ้นทุกวัน ๆ
ทมะ อาจแปลอีกอย่างเป็นภาษาชาวบ้านพื้น ๆ ง่าย ๆ ว่า รักการฝึกฝนตนเองซึ่งบางทีปู่ย่าตาทวดท่านถึงกับใช้คำว่า "อย่าปล่อยให้ตนเองโง่"
วิธีการที่จะเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ และความดีในเรื่องใดๆ ก็ตามมีการปฏิบัติอยู่ 4 ขั้นตอน คือ
1) ต้องหาครูดีให้เจอ คือ ไม่ว่าใครจะ นใจหรือเพิ่มพูนความรู้เรื่องอะไรให้ตนเองก็ตาม ผู้นั้นจะต้องหาคนที่มีความรู้ความสามารถในด้านนั้น ๆ มาเป็นครูให้ได้ก่อนมิฉะนั้นโอกาสที่จะทำล้มเหลวมีมาก หากหาไม่ได้จริง อย่างน้อยที่สุด ก็ต้องเป็นผู้ที่รู้ในเรื่องเหล่านี้มากที่สุดในภาวะนั้น
2) ต้องฟังคำครู คือ ต้องตั้งใจฟังแล้วฟังอีก ถามแล้วถามอีกจนกระทั่งจับประเด็นได้ว่าสิ่งที่ครูสอนนั้น ทั้งหลักการและวิธีการมีอะไรบ้างอย่างชัดเจน มีความลุ่มลึก
เพียงไร
3) ต้องตรองตามคำครู คือ นำแต่ละประเด็นที่ครูอธิบายแล้วอธิบายอีกอย่างดีแล้ว มาพิจารณาให้เข้าใจเหตุผลทั้งในแง่ของความสำคัญ การใช้งาน ข้อควรระวัง และผลได้ผลเสียที่จะตามมาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
4) ต้องทำตามคำครู คือ หลังจากที่พิจารณาคำครูได้เข้าใจดีแล้ว ว่าที่ถูกต้องและเหมาะสมเป็นอย่างไร ก็ลงมือปฏิบัติตามด้วยความมีสติรอบคอบ ระมัดระวัง ไม่ประมาทพลั้งเผลอจนอาจนำไปสู่ความเสียหายล้มเหลวในบั้นปลายได้
คนที่จะมีความรู้ ความสามารถ ความดีได้เต็มที่ ต้องอาศัยวิธีการนี้เท่านั้นในการฝึกฝนตนเองให้ทันโลก ทันคน ทันกิเลส
แต่แน่นอนว่า การที่จะทำได้อย่างนี้ ต้องทนฝนใจ ข่มใจ และบางครั้งเจ็บเข้าไปในใจเหมือนเลือดไหลซิบ ๆ ออกมา
สาเหตุที่ต้องทนฝนใจ ข่มใจ ก็เพราะ การฝึกใด ๆ ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนนิสัยไม่ชื่อว่าเป็นการฝึกตัว
ยกตัวอย่างเช่น แค่จะแก้นิสัยชอบกินจุบกินจิบ ก็ไม่ใช่ง่าย หรือเพียงแค่นิสัยชอบนอนตื่นสาย พูดไม่เพราะ ชอบเถียงพ่อเถียงแม่ ก็หากุศโลบายมาแก้ไขกันอย่างหนักรวมทั้งการจะฝึกตนเองให้ละเอียดลออ ไม่สะเพร่า ลุ่มลึกไปตามลำดับ จึงไม่ง่าย เพียงแค่ไม่กี่เรื่องนี้ ก็ฝึกฝนตนเองทั้งชาติ ซึ่งยังไม่นับรวมนิสัยอิจฉาตาร้อน ติดเหล้า ติดการพนัน
ดังนั้น ครอบครัวจะมีรากฐานมั่นคงอยู่ได้ ทุกคนในบ้านจะต้องมี ทมะ เป็นนิสัยที่ 2
3) ขันติ แก้ปัญหาความเบื่อหน่ายกันเอง
ขันติ แปลว่า ความอดทน
ทำไมจะต้องอดทน เพราะการที่คนใดคนหนึ่งจะได้ความดีมาเพิ่มให้แก่ตนเองนั้นจะต้องเอาความอดทนแลกมาทั้งนั้น
เมื่อเกิดเป็นคนแล้ว จะต้องอดทนต่ออะไรบ้าง
คำตอบ คือ เรื่องที่ต้องพยายามอดทนให้ได้มีอยู่ 4 เรื่องด้วยกัน คือ
3.1) ต้องอดทนต่อธรรมชาติที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ทนทั้งแดดที่แผดกล้าทั้งลมทั้งฝนที่โหมกระหน่ำ เป็นต้น
3.2) ต้องอดทนต่อทุกขเวทนา คือ อดทนต่อสภาพสังขารร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ทนฝนความเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่โวยวายคร่ำครวญจนเกินเหตุ
3.3) ต้องอดทนต่อการกระทบกระทั่ง คือ อดทนคนอื่น
ความจริงแล้ว เราก็ต้องยอมรับว่า เราเองยังมีข้อบกพร่องที่ทำไปแล้ว ยังรู้สึกขัดใจไม่ได้ดังใจตนเองหลายอย่าง ยิ่งเวลาทำงานเร่งรีบ ต้องการความประณีตมากขึ้นเท่าไร ก็ยังมีเรื่องขัดใจตนเองจนได้
การที่หลายครั้งเราเองก็ยังไม่ค่อยถูกใจตนเอง นั่นคือข้อบกพร่องที่กลายเป็นนิสัยไม่ดี แล้วเราสังเกตไม่เห็น ยังมีอยู่อีกมาก
ข้อบกพร่องของภรรยาสามี ของลูกที่เขามี บวกกับข้อบกพร่องของตนเองเข้าไปอีกยังไงก็ต้องกระทบกระทั่งกัน
เพราะฉะนั้นสามีภรรยาอยู่บ้านหลังเดียวกัน ถึงแม้ว่าเขาจะดีแสนดีอย่างไร ก็ยังต้องมีข้อบกพร่องอยู่ดี ถ้าเราคิดว่าอดทนไม่ได้ ก็ อย่าใจอ่อนไปแต่งงาน
แต่เดี๋ยวนี้มีบางคนหลังจากแต่งงานกันไปแล้ว มักชอบใช้คำว่าสิทธิส่วนบุคคลพอแต่งงานกันแล้ว ก็ยังไปทำเอกสารแบ่งทรัพย์สมบัติ เตรียมแยกกันแล้ว ก็ทำให้มีคำถามเกิดขึ้นมาว่า ถ้าคิดว่าจะทนกันไม่ได้ตั้งแต่แรกอย่างนี้ แล้วไปแต่งกันทำไม
โบราณจึงสั่งนักสั่งหนาว่า ถ้าตกลงปลงใจจะเป็นสามีภรรยากัน "ลิ้นกับฟันต้องกระทบกันแน่"
เพราะฉะนั้น คู่ครองของเราจะดีวิเศษอย่างไร เรื่องกระทบใจต้องมีกันแน่ ถ้าคิดว่าทะเลาะกันแล้ว จะไม่ทนกัน อย่ามาแต่งงานกันเลย แต่ถ้าทำใจได้ คิดว่าจะทนทั้งเขา และญาติฝ่ายเขาให้ได้ ก็ต้องคุยกันให้ดีว่าจะทนกันอย่างไร มากกว่าที่จะไปคุยเรื่องอื่น
คำถามที่ควรจะถามกันและกันก่อนแต่งงาน ก็คือ "คุณแน่ใจหรือว่าจะทนฉันได้"ถ้าไม่แน่ใจว่าจะทนกันได้ อย่าแต่งงานกันเลย เดี๋ยวจะก่อทุกข์ก่อบาปจากคู่รักกลายเป็นคู่แค้นในภายหน้า แยกกันตรงนี้เถิด นี่ควรเป็นคำถามที่ทั้งคู่ควรถามใจตนเองก่อนแต่งงาน
ดังนั้น แทนที่จะไปถามว่าแหวนหมั้นกี่กะรัต เงินสดเท่าไร เรือนหอกี่ล้านสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความมั่นคงสิ่งที่ต้องถามคือ "คุณแน่ใจหรือว่าจะทนฉันได้"
แล้วถ้าคิดให้มากไปกว่านั้น บุคคลที่ต้องอดทนไม่ใช่เฉพาะคู่ของตน แต่ยังต้องอดทนญาติของตนเองในแต่ละฝ่าย พ่อแม่พี่น้องของตนเองในแต่ละฝ่าย ซึ่งล้วนแล้วแต่ตัดไม่ได้ขายไม่ขาด ต้องทนต่อการกระทบกระทั่งกันไปจนตลอดชีวิต
3.4) ต้องอดทนต่อกิเลส คือ การอดทนต่อนิสัยไม่ดีของเราเอง
กิเลสเป็นเชื้อโรคร้ายของใจที่ฝังติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด เวลากำเริบขึ้นมา คอยบีบคั้นบังคับ กัดกร่อนให้เราทำความชั่วต่าง ๆ นานาได้โดยไม่ละอาย แล้วพอเราไปทำเข้า กิเลสก็ปล่อยให้เรารับทุกข์ รับโทษ รับทัณฑ์ เป็นความเดือดร้อนสารพัด เป็นเหตุให้เราต้องมานั่งเสียใจนั่งตำหนิการกระทำของตนเองในภายหลัง
คนที่ทนกิเลสบีบคั้นไม่ไหว ก็กลายเป็นคนที่มีนิสัยไม่ดีมากมายสุดท้ายก็กลายเป็นคนเกียจคร้านการงาน ขาดความรับผิดชอบ ในที่สุดคน ๆ นั้นก็หมดความดี ไปติดอบายมุขอีกสารพัด
อบายมุข เป็นสิ่งเร้าภายนอกที่คอยกระตุ้นกิเลสให้กำเริบ และลุกลามใหญ่โตอยู่ในใจ จนกลายเป็นสันดานชั่ว แก้ได้ยาก
อบายมุขที่ร้ายกาจที่สุด คือ การคบคนพาล เพราะคนพาลเป็นตัวแพร่เชื้อเลวให้แก่บุคคลรอบข้างอย่างไม่ปรานีใคร เพราะกิเลสในใจของเขาได้บีบคั้นให้ตัวเขาตกเป็นทา ของการทำความชั่วต่าง ๆ นานา โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนเสียหายใด ๆ การคบคนพาลก็เหมือนกับการรับเอาเชื้อโรคร้ายทางใจเข้ามาเพิ่มในตนเอง นิสัยดี ๆ ที่เคยมีอยู่ในใจก็จะถูกกิเลสทำลายลง แล้วเปลี่ยนเป็นนิสัยไม่ดีขึ้นมาแทนเพราะว่ากิเลสมีผลต่อนิสัยดี ๆ เช่นนี้ ความอยู่รอดปลอดภัยของครอบครัวในข้อนี้จึงขึ้นอยู่กับเราต้องอดทนต่อกิเล ให้ได้ ด้วยการฝึกฝนตนเองผ่าน 2 เรื่องนี้อย่างเข้มงวด คือ
1) อดทนต่อการควบคุมนิสัยไม่ดีของตนเองไม่ให้ระบาดไปติดคนอื่น เพราะหากอดทนข้อนี้ไม่ได้สามีภรรยาอยู่ด้วยกัน ก็เหมือนยิ่งก่อกรรมทำเวรต่อกันและกันความร้าวฉาน แตกสามัคคี แบ่งพรรคแบ่งพวก กลั่นแกล้งกันในครอบครัวจะตามมามากมาย
2) อดทนต่ออบายมุข 6 คือ การดื่มสุรา การเที่ยวกลางคืน การเที่ยวในสถานบันเทิงเริงรมย์ การเล่นพนัน การคบคนชั่วเป็นมิตร และการเกียจคร้านต่อหน้าที่การงาน เพราะหากอดทนข้อนี้ไม่ได้ เศรษฐกิจในครอบครัวก็พัง ตั้งหลักตั้งฐานไม่ได้
แต่ถ้าทุกคนในครอบครัวฝึกฝนความอดทนต่อกิเล ด้วยการอดทน 2 เรื่องนี้ได้นิสัยของตนเองก็จะดีขึ้น เศรษฐกิจของครอบครัวย่อมมั่นคง พรรคพวกเพื่อนฝูงที่เป็นคนดีย่อมไปมาหาสู่ ปิดประตูจากคนภัย คนพาล และอบายมุขต่าง ๆ ให้ห่างไปจากครอบครัว
ดังนั้นครอบครัวจะมีรากฐานมั่นคงอยู่ได้ คนในบ้านจะต้องมี ขันติ เป็นนิสัยที่ 3
4) จาคะ แก้ปัญหาความเห็นแก่ตัว
จาคะ แปลว่า ความเสียสละ
มี 3 ประเภท
1) สละสิ่งของ
2) สละความสะดวกสบาย
3) สละอารมณ์ที่บูดเน่า ไม่เอามาเก็บฝังใจ และเป็นพื้นฐานไปสู่การทำสมาธิ
ความเสียสละ หมายถึง ความมีน้ำใจต่อการอยู่ร่วมกัน นึกถึงส่วนรวมของครอบครัวเป็นใหญ่
ชีวิตการแต่งงานต้องอาศัยความเสียสละต่อกันและกันอย่างมาก ไม่อย่างนั้นไม่มีทางประคับประคองครอบครัวได้ แล้วยิ่งถ้าครอบครัวใด นอกจากไม่เสียสละ จ้องแต่จะเอารัดเอาเปรียบกันเองในครอบครัวแล้ว ถึงอยู่ด้วยกันก็เหมือนคนบ้านแตกสาแหรกขาด
ความเสียสละขั้นพื้นฐานส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงชีวิตเป็นสำคัญ โดยเฉพาะทั้งสามีภรรยาต้องคำนึงถึงความสุขส่วนรวมในครอบครัวมากกว่าความสุขส่วนตัวตามลำพังเป็นสำคัญ
พื้นฐานการเลี้ยงชีวิต คือ ปัจจัย 4 แต่สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ก่อนการใช้เงินทองซื้อหาปัจจัย 4 ก็คือ ต้องแยกแยะให้ออกระหว่าง ความอยากได้เอาแต่ใจ กับ ความจำเป็นของครอบครัว
ถ้าแยกแยะความจำเป็นกับความอยากได้ไม่ออก ชีวิตครอบครัวก็มีแต่ร้าวฉานซึมลึกลงไปทุก ๆ วัน ในที่สุดก็จะเกิดความรู้สึกว่ามีฝ่ายหนึ่งถูกเอาเปรียบและฝ่ายหนึ่งเห็นแก่ตัว แล้วก็ต่างคนต่างอยู่ ตัวใครตัวท่าน
ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัวที่มีอยู่ด้วยกันสองคนสามีภรรยา ยังไม่มีลูก แล้วรายได้องคนรวมกันก็มีจำกัด แค่ค่าน้ำหอมหรู ๆ ของภรรยา ค่าเหล้า ค่าไวน์ของสามี ก็กระทบกระเทือนกับค่ากินค่าอยู่ทั้งเดือนทันที ความรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบเกิดขึ้น เพราะแยกแยะไม่ได้ว่า อะไรเป็นความอยากส่วนตัว และอะไรเป็นความจำเป็นสำหรับครอบครัว
น้ำหอมแพง ๆ ไม่ใช่ของจำเป็น แต่เป็นของฟุ่มเฟอย เหล้า ไวน์ ก็เป็นอบายมุขเป็นของทำลายสุขภาพ เป็นค่านิยมที่ไม่ถูกต้องของสังคม เพราะฉะนั้น ถ้าทั้งสามีและภรรยามองไม่ออกว่า ของพวกนี้ไม่ใช่ความจำเป็น นั่นคือ ความเห็นแก่ตัว เป็นหายนะของครอบครัว
ชีวิตแต่งงานเป็นชีวิตที่มีงบประมาณจำกัดในเรื่องส่วนตัว ต้องอาศัยความเสียสละเป็นพื้นฐานในการอยู่ร่วมกัน แต่ถ้าปล่อยให้การจับจ่ายใช้ อยล่วงล้ำเข้าไปในเรื่องส่วนตัวกันมากสามีภรรยาก็จะไม่รวมกระเป๋าสตางค์กันแต่ต้นแล้ว นั่นก็เท่ากับเตรียมจะแยกทางตั้งแต่ต้น เพราะไม่มีใครนึกถึงค่าใช้จ่ายส่วนรวมในครอบครัวเลย แล้วจะไปแต่งงานด้วยกันทำไม
เพราะฉะนั้น ถ้ามองของฟุ่มเฟอยเป็นของจำเป็นเมื่อไร งบประมาณในบ้านจะขาดแคลนทันที และนั่นคือ ความเห็นแก่ตัว ที่ก่อปัญหาการอยู่ร่วมกันตามมาอีกมาก
การแต่งงานไม่ใช่ของล้อเล่นสนุกสนานตามอารมณ์หนุ่มสาว เพราะทันทีที่เริ่มต้นแต่งงาน ความรับผิดชอบ ความเปลี่ยนแปลง ความอดทน และความเสียสละจะตามมาทันที
ดังนั้น คนที่คิดจะแต่งงานต้องคิดให้ดีในสองเรื่องนี้ว่า คู่ชีวิตของตนเองมีความพร้อมเพียงไร คือ
1) คู่ชีวิตของเราสามารถฝากผี ฝากไข้ ฝากชีวิตไว้ด้วยกันได้หรือไม่
2) คู่ชีวิตของเรามีความรู้ ความสามารถ และความดีมากพอ ที่จะเลี้ยงครอบครัวให้สุขสบาย เลี้ยงลูกหลานให้เป็นคนดีได้หรือไม่
เพราะสองเรื่องนี้ คือความเสียสละขั้นพื้นฐานของการเป็นครอบครัว
ส่วนมากเดี๋ยวนี้เวลาแต่งงานกัน จะแต่งงานกันตามความต้องการส่วนตัวมากกว่าจะมาคำนึงถึงเหตุผลสองข้อนี้ ทำให้พอแต่งงานมาแล้ว จึงต้องมาเจอปัญหาต่าง ๆ นานามากมายบางรายรุนแรงถึงกับลงไม้ลงมือฆ่าแกงกันก็มี
สำหรับใครที่ยังไม่ได้แต่งงาน หรือกำลังเตรียมจะแต่งงาน ต้องพิจารณาให้มากว่าเมื่อสามีภรรยาแต่งงานกันมาแล้ว ชีวิตนี้ต้องพึ่งกันได้ ถึงคราวป่วย คราวแก่ ต้องดูแลกันได้การแต่งงานจึงเป็นเรื่องที่ต้องพึ่งความเสียสละต่อกันและกันอย่างยิ่ง
ยิ่งกว่านั้นก็คือ เมื่อถึงคราวให้กำเนิดลูกขึ้นมา ทั้งสามีและภรรยายิ่งต้องเสียสละต่อกันและกันเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะตรงนี้เป็นเรื่องของการให้เวลาลูก ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องเตรียมตัวมาแต่ก่อนแต่งงานแล้ว
คนที่พร้อมจะเป็นพ่อแม่คน เขาจะพิจารณาตัวของเขาเองว่า 'เราเองก็มีความรู้ความสามารถ และความดีที่ได้จากการฝึกฝนตนเองมาตลอดชีวิต เนื่องจากเราเองก็ต้องตายในยามแก่ชรา เราก็ต้องได้คนดีมาดูแล ถ้าจะแต่งงานมีครอบครัว ก็ต้องเอาความรู้ ความสามารถและความดีของเราที่มี มาสร้างทายาทดี ๆ เกิดมาในโลกนี้ แล้วเราก็ถ่ายทอดความรู้ ความดีให้แก่เขา เขาจะได้สามารถยืนหยัดอยู่ในโลกนี้ได้ต่อไป'
การแต่งงานไม่ใช่มุ่งเรื่องความสุขทางเนื้อหนังมังสา ของพวกนี้ไม่จีรังยั่งยืนแต่เพราะส่วนมากมุ่งเอาความสุขทางเพศ ถึงได้หย่าร้างกันเป็นว่าเล่น เพราะของพวกนี้มีได้เฉพาะในวัยหนุ่มสาว
พื้นฐานการใช้ชีวิตหลังแต่งงาน ต้องอาศัยความเสียสละต่อกันและกันอย่างมาก ๆถ้าเห็นแก่ตัวกันเมื่อไร เดี๋ยวได้ฆ่าได้แกง ได้หย่าร้างกันทุกที
การเสียสละในฐานะคู่ชีวิตนี้ เป็นการเสียสละเพื่อการดูแลทั้งทางกายและทางจิตใจคือ เลี้ยงกายและเลี้ยงใจให้ดี แล้วชีวิตแต่งงานจะไม่มีฆ่าแกงกัน
เลี้ยงกาย คือ การใช้เงินทองในครอบครัว พึงจับจ่ายใช้สอยเพื่อคนส่วนรวมในบ้านเป็นหลัก แบ่งปันกันกิน แบ่งปันกันใช้ เสียสละความสุขสบายส่วนตัว
เลี้ยงใจ คือ การรู้จักถนอมน้ำใจกันในยามปกติ รู้จักให้กำลังใจกันในยามเผชิญอุปสรรค รู้จักเตือนสติห้ามปรามกันในยามประมาท และมีความซื่อสัตย์ต่อกันและกันอย่างเสมอต้นเสมอปลาย
คู่ชีวิตที่เลี้ยงกายและเลี้ยงใจมาด้วยกันอย่างนี้ ย่อมมีแต่การเสียสละเพื่อส่วนรวมทั้งสละสิ่งของสละความสะดวกสบายสละอารมณ์ที่บูดเน่า บรรยากาศที่ดี ๆ ปรองดองสามัคคีจึงมีอยู่มากมายในครอบครัว
ดังนั้นครอบครัวจะมีรากฐานมั่นคงอยู่ได้ คนในบ้านจะต้องมี จาคะ เป็นนิสัยที่ 4
จากฆราวาสธรรมทั้ง 4 ข้อนี้ ใครก็ตามที่กำลังคิดจะมีคู่ครอง กำลังจะแต่งงาน กำลังสร้างครอบครัว หรือกำลังมีปัญหาครอบครัว ต้องยึดหลักฆราวาสธรรม คือสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เป็นหัวใจของครอบครัว เป็นหัวใจสำคัญที่สมาชิกในครอบครัวจะต้องมีอยู่ประจำตัวรากฐานครอบครัวจึงจะสามารถวางได้มั่นคงตั้งแต่เริ่มแรก แล้วปัญหาต่าง ๆ ในครอบครัวทั้งปัญหาความหวาดระแวง ปัญหาความโง่เขลาไม่ทันโลก ทันคน ทันกิเลสปัญหาความเบื่อหน่ายกันเอง ปัญหาความเห็นแก่ตัว ก็จะไม่เกิดขึ้นในครอบครัวนี้อย่างแน่นอน หัวใจของครอบครัวย่อมยังคงเต้นอยู่ต่อไป
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 001 หลักการสร้างความสุขในครอบครัว
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree