อดออมเพื่ออบายมุข
หนุ่มสาวหลายคนที่จบการศึกษาแล้ว เมื่อแรกเริ่มเข้ามาทำงาน ก็ตั้งใจทำงานเต็มที่มีความวิริยะอุตสาหะอย่างมาก บางวันทำงานล่วงเวลาก็เอา ขอเพียงให้ได้ค่าตอบแทนสูง ๆ ตอนสิ้นเดือน
แต่เมื่อทำงานผ่านไปหลายปี ผลปรากฏว่า แทนที่ฐานะการเงินของเขาจะดีขึ้นแต่กลับมีหนี้สินท่วมท้น กลายเป็นคนยากจนทั้งที่ทำงานหนัก แล้วก็ยังติดนิสัยชอบจ่ายภาษีสังคมหนัก ๆ กับเพื่อนฝูงในแต่ละเดือนอีกด้วย
หลายคนที่เคยเห็นเพื่อนตนเองต้องประสบปัญหาหนี้สินในลักษณะเช่นนี้ก็มีความคิดหาทางช่วยเพื่อนให้พ้นหนี้สิน แต่ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร เพราะเงินก็ของเขา จะใช้จ่ายอะไรเราก็ไม่มีสิทธิก้าวก่าย แต่ถ้าปล่อยระยะยาว เขาต้องตายเพราะหนี้สินแน่ ๆ และไม่อาจทนดูเพื่อนกลายเป็นคนล้มละลายในอนาคต
ผู้เขียนเองก็เคยประสบกับปัญหาอับจนถ้อยคำตักเตือนเพื่อนฝูงเช่นกัน จึงกลับไปเปิดบันทึกคำสอนของหลวงพ่อรูปหนึ่งที่เคยสอนเรื่องสาเหตุที่ทำให้คนเราเสื่อมจากโภคทรัพย์สมบัติ และหลังจากที่ได้อ่านบันทึกคำสอนของท่าน ก็ทำให้รู้ว่าจะหาเหตุผลไปเตือนเขาได้อย่างไร จึงขอคัดลอกเนื้อหาในบันทึกธรรมมาลงไว้ ณ ที่นี้
หลวงพ่อเล่าว่า เมื่อสมัยเป็นหนุ่ม ๆ ยังไม่ได้บวช อายุเกือบจะสามสิบ ท่านก็เคยเจอปัญหาหนี้สินกับตัวเองเหมือนกัน ตัวท่านเองแก้ไม่ได้ ต้องให้คุณแม่มาช่วยแก้ให้ แล้วก็แก้ไขได้สำเร็จด้วย
เมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว หลวงพ่อมีรายได้เดือนละหมื่นกว่าบาท ซึ่งสมัยนั้นค่าเงินแพง เงินหมื่นสมัยก่อน ก็เหมือนกับเงินครึ่งแสนสมัยนี้ หลวงพ่อใช้เงินคนเดียวด้วยแต่ว่ากลับไม่พอใช้
วันหนึ่งคุณแม่ก็เรียกไปคุยเรื่องการใช้เงิน ท่านบอกว่า
"ลูกเอ๊ย รายได้เท่าไหร่ไม่สำคัญสำคัญว่าเหลือเท่าไหร่" หลวงพ่อก็เลยเผลอเถียงไปว่า "โธ่แม่...ได้มากเหลือมาก ได้น้อยมันก็เหลือน้อย"
คุณแม่ก็ตอบกลับมาว่า "ลูกเอ๊ย ในโลกนี้ หลายคนได้มาก แต่เหลือน้อยหรือไม่เหลือเลย แต่ในขณะที่อีกหลายคนเขาได้น้อย แต่เหลือมาก"
เสร็จแล้วคุณแม่ก็ขยายความว่า "ลูกเอ๊ย...ได้มากแล้วเหลือน้อย ก็เหมือนเอาเข่งไปตักน้ำ เมื่อตอนเข่งอยู่ในน้ำ น้ำเต็มเข่งนะลูก แต่พอยกขึ้นมากลับเหลือแต่เข่งเปล่า น้ำไม่มีเหลือ
ส่วนที่ได้น้อยเหลือมากนั้น เหมือนเอากะลาหรือขัน หรือช้อนคันเล็ก ๆ แต่ว่าไม่รั่วไปตักน้ำ เมื่ออยู่ในน้ำน่ะ น้ำก็เต็มกะลาหนึ่ง ขันหนึ่ง ช้อนหนึ่ง แต่ยกขึ้นมาแล้ว ก็ยังมีน้ำเต็มอยู่นั่นเอง
ผู้ที่รายได้มากแต่ว่ายังกินเหล้าอยู่ นี่ก็เป็นรูรั่วอย่างหนึ่ง
เล่นไพ่ ซึ่งเป็นของไม่น่าเล่นก็เล่น นี่ก็เป็นรูรั่วอีกอย่างหนึ่ง
ไปเที่ยวเตร่เา ไปเข้าบาร์ เข้าคลับ ไปเที่ยวในสถานที่ที่ไม่ควรไป ก็เป็นรูรั่วอย่างหนึ่ง
ตกลงแล้ว รูรั่ว ก็คือ อบายมุข
เราเรียนเรื่องอบายมุขกันมามาก แต่ไม่เคยเอาไปปฏิบัติ พอเดือดร้อนก็มาโทษภาษีสังคม อ้างอย่างนี้ไม่จบ"
หลวงพ่อโดนคุณแม่ตำหนิหนัก ๆ วันนั้น ก็เริ่มอุดรูรั่ว อย่างนี้แล้วจึงมีเงินเหลือเดือนละ 5-6 พันบาท ขณะที่ก่อนหน้านั้น ไม่พอใช้
หลวงพ่อยังเล่าอีกว่า เมื่อท่านเข้าวัดครั้งแรก เพราะว่าเพื่อนชวนไปนั่งสมาธิ ช่วงที่เริ่มไปวัดใหม่ ๆ ก็มีเรื่องกระทบกระทั่งกับผู้บังคับบัญชาเหมือนกัน เสร็จแล้ววันนั้น ตอนที่จะไปวัดครั้งแรก คืนก่อนไปก็กินเหล้าเข้าไปด้วย พอตอนเช้าเพิ่งสร่าง ก็ยังตึง ๆ อยู่ พอไปถึงวัดก็มีรุ่นน้องเขามาชวนไปทอดผ้าป่า
รุ่นน้องพูดกับหลวงพ่อว่า
"พี่ทอดผ้าป่ากันนะ บุญจะได้ช่วยให้ก้าวหน้าในการงาน"
เนื่องจากตอนนั้นท่านมีเรื่องใจขุ่นอยู่ในใจ คือขุ่นเกี่ยวกับผู้บังคับบัญชาอยู่แล้วประกอบกับยังไม่สร่างเมาดี ก็ตอบรุ่นน้องกลับไปว่า
"ฮู้ย...บุญไม่เห็นจะช่วยอะไรได้เลย พี่ก็ทำบุญอยู่เป็นประจำ แต่ว่าก็ยังไม่วายมีเรื่องกับผู้บังคับบัญชา บุญช่วยอะไรพี่ไม่ได้หรอก"
ต่อมาคุณยายของท่านทราบเรื่องนี้เข้า ก็เรียกท่านเข้าไปให้ข้อคิดว่า
"ลูกเอ๊ย...ลูกบอกว่าบุญช่วยอะไรไม่ได้ใช่ไหม แล้วปีหนึ่งลูกทำบุญเท่าไหร่"
สมัยนั้นแม้ว่าจะดื่มเหล้า แต่เดือนหนึ่งก็ทำบุญอยู่ 100-200 บาท เป็นประจำท่านก็ตอบคุณยายว่า "ผมทำบุญเดือนหนึ่ง 100-200 บาท ปีหนึ่งเอา 12 คูณเข้าไปก็สัก 2,000-2,500 บาท"
คุณยายของท่านก็ยกมือประนม
"สาธุ ดีแล้วตั้งใจทำต่อไปนะ" ก็นึกว่าเรื่องจะจบแค่นี้ แต่ไม่จบ คุณยายก็ถามอีกว่า
"ลูกสูบบุหรี่หรือเปล่า"
"สูบครับ"
"ค่าบุหรี่ปีหนึ่งเท่าไหร่"
สมัยนั้นท่านสูบบุหรี่ซองละ 6 บาทสูบวันหนึ่งก็ประมาณซองครึ่งถึง 2 ซอง ตัวเองสูบประมาณครึ่งซอง แบ่งพรรคพวกอีก ก็เลยเป็นวันละ 2 ซอง เพราะฉะนั้น ค่าบุหรี่วันหนึ่งอย่างน้อยต้อง 10 บาท พอคำนวณเสร็จ ท่านก็ตอบว่า "ปีหนึ่งก็ประมาณ 3,0004,000 บาท " คุณยายถามต่อ "แล้วลูกกินเหล้าไหม"
"กินครับ"
"แล้วค่าเหล้าที่กินกับเพื่อนล่ะ ลูกเอ๊ย ปีหนึ่งเท่าไหร่"
ท่านบอกว่า พอคุณยายถามประโยคนี้ ท่านถึงกับสะดุ้งเลย แต่ก็ตอบคุณยายว่า "ก็เอา 2 เอา 3 คูณค่าบุหรี่ไปล่ะยาย ปีหนึ่งอย่างน้อยก็ 12,000 บาท นั่นเอง"
คุณยายถามต่อว่า "แล้วลูกไปเที่ยวคลับกับเขาหรือเปล่า"
"เที่ยวครับ"
"ปีหนึ่งหมดเท่าไหร่"
"ก็เอา 2 เอา 3 คูณ ค่าเหล้าเข้าไปล่ะยาย"
ท่านบอกว่า ตอนก่อนบวชนั้น ปี ๆ หนึ่งหมดค่าอบายมุขเหยียบแสนเข้าไปแล้ว
คุณยายท่านเลยสรุปให้ว่า "ลูกทำบุญปีหนึ่ง 2,0002,500 บาท แต่ลูกสร้างบาปปีหนึ่งเป็นแสนแล้ว ลูกยังมีหน้ามาบ่นว่าบุญไม่ช่วย ถ้าตายตอนนี้ ลูกไม่ตกนรกก็นับว่าดีแล้วจะมาบ่นเอาอะไร ลูกน่ะปริญญาได้ทั้งเมืองนอกเมืองไทย ของแค่นี้ลูกคิดไม่ออกจริง ๆ หรือนี่"
พอได้ยินคำสอนของคุณยายที่กระทบใจอย่างรุนแรงเข้าจัง ๆ ท่านก็เลยถึงกับสร่างเมา นั่งซึมทื่อ นั่งเซ่ออยู่พักหนึ่ง
หลวงพ่อท่านบอกว่า "จุดนี้เอง คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลวงพ่อเลิกเหล้าได้ คุณยายพูดไม่กี่คำ แต่คำพูดแค่นี้ของท่าน ทำให้เมื่อกลับมาถึงบ้าน ก็ทุบขวดเหล้าทิ้งเสียจนหมดตั้งแต่นั้นไม่ได้หยิบเหล้ามาดื่มกันอีกเลย
พอเลิกเหล้าได้ก็เลยชวนคนอื่นเลิกเหล้าตาม แล้วพยายามให้ข้อคิดกับทุกคนที่ได้เจอกันว่า พอครบวันเกิด แทนที่จะนึกถึงค่าน้ำนมของแม่ แต่เปล่า กลับไปนึกถึงเหล้าก่อนทุกทีครบรอบวันเกิดแต่ละปี เราน่าจะไปกราบขอบพระคุณแม่ที่ให้กำเนิดเรามา มากกว่าจะเอาเงินไปเลี้ยงเหล้าเพื่อน
อบายมุข ถ้ายังไม่รีบเลิก ก็จะกลายเป็นค่านิยมทางสังคมเลว ๆ ที่ทำให้เราเป็นหนี้พอกพูนขึ้นตามลำดับ และมีเพื่อนชั่ว ๆ มากขึ้น
แต่ถ้าเราเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ เลิกการพนัน เลิกหวยใต้ดิน บนดิน เลิกสิ่งเหล่านี้ได้เพื่อนชั่วจะหมดไป ภาษีสังคมก็ลด แล้วจะมีแต่เพื่อนดี ๆ และเงินก็จะเหลือด้วย"
หลวงพ่อท่านยังบอกอีกว่า "ในอดีต เพราะหลวงพ่อพิจารณามาอย่างนี้ จึงไม่ต้องให้ใครมาตำหนิอะไรมาก ตัดสินใจเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ แล้วเดินหน้าเข้าวัด ศึกษาธรรมะอย่างจริงจังกันเลย ไม่ต้องมาค่อย ๆ ลดละเลิกอะไรต่ออะไรให้เสียเวลา หักดิบตัดใจกันวันนั้นเลย
ถ้าไม่ได้คุณแม่กับคุณยายให้แง่คิด ถ้าไม่เคารพคุณแม่และคุณยาย ก็ไม่มีทางตอบคำถามให้เราได้หรอก วันนี้ลองกลับไปถามเพื่อนเราดูนะว่า การที่เพื่อนของเราติดหนี้สินล้นพ้นตัวน่ะ เพราะเสียค่าอบายมุขมากกว่าค่าเงินเดือนหรือเปล่า หลวงพ่อฝากคำถามไปยังเขาด้วยนะ"
จากคำตอบที่ได้จากบันทึกคำสอนของหลวงพ่อนี้เอง ทำให้เราได้คิดว่าใคร ๆ ก็ตามที่ทุ่มชีวิตทำงานหนักเพื่อเอาเงินทองไปจมกับอบายมุข ก็เท่ากับซื้อหาความหายนะมาให้แก่ชีวิตและหน้าที่การงานของตนเอง และแน่นอนว่าไม่ช้าก็เร็ว เขาต้องล้มละลายเพราะอบายมุขอย่างแน่นอน ใคร ๆ ก็ไม่สามารถช่วยเหลือคนที่จมอยู่ในอบายมุขได้ นอกจากเขาจะหักดิบเลิกอบายมุขด้วยตนเองเท่านั้น
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 001 หลักการสร้างความสุขในครอบครัว
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree