การประคับประคองชีวิตคู่

วันที่ 20 พค. พ.ศ.2560

การประคับประคองชีวิตคู่
 

หลักการสร้างความสุขในครอบครัว , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , การประคับประคองชีวิตคู่

     การฝึกฝนควบคุมอารมณ์ของตนเองมาตั้งแต่ก่อนแต่งงาน  ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการประคับประคองชีวิตคู่ให้อยู่ร่วมกันไปได้ตลอดรอดฝัง แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายไม่เคยฝึกการควบคุมอารมณ์ของตนเองมาก่อน การยกระดับคุณธรรมในจิตใจหลังการแต่งงานย่อมไม่เกิดขึ้นและจะแปรสภาพออกไปในทางทำร้ายจิตใจกันและกันด้วยคำพูดไม่ดีต่าง ๆ นานา และในที่สุดต่างฝ่ายย่อมอดทนอารมณ์ของอีกฝ่ายไม่ได้ การหย่าร้างย่อมเกิดขึ้นได้ในตอนจบการฝึกฝนควบคุมอารมณ์ในจิตใจของตนเองไม่ให้เป็นคนเจ้าอารมณ์มาตั้งแต่ก่อนแต่งงานคือหนทางป้องกันการหย่าร้างได้อย่างดีที่สุด

1. หลักคิดก่อนแต่งงาน
     เรื่องเก่าแก่ที่ไม่ว่าอายุโลกจะผ่านไปอีกกี่ล้านปีก็ตาม  เมื่อสามีภรรยาแต่งงานร่วมชีวิตกันแล้ว  เรื่องที่คนสองคนจะไม่กระทบกระทั่งกันเองเป็นไม่มี หรือเรื่องที่คน องคนจะไม่กระทบกระทั่งกับญาติพี่น้องในวงศ์ตระกูลของทั้งสองฝ่ายนั้นก็เป็นไม่มี ถึงอย่างไรก็ต้องมีการกระทบกระทั่งอย่างแน่นอน

       ลากระทบกระทั่งกันจะทนกันเองไม่ได้  แล้วบ้านหลังนั้น ครอบครัวนั้น ตระกูลนั้น ก็จะมีเรื่องร้อนหู ร้อนตา ร้อนใจ แตกแยกภายในอยู่เป็นระยะ ๆ หาความสงบในชีวิตไม่เจอ

      แต่ถ้าทั้งสามีและภรรยาฝึกการควบคุมอารมณ์ตนเองมาอย่างดีตั้งแต่ก่อนแต่งงานพอถึงคราวที่ต้องกระทบกระทั่งกันเพียงใด ก็ยังรักษาอารมณ์ไว้ได้ ไม่มีติดค้างใจอะไรกับใครกันข้ามวัน บรรยากาศในบ้าน ในครอบครัว ในวงศ์ตระกูลก็จะมีจุดเริ่มต้นของความร่มเย็นเพราะต่างคนก็ต่างพยายามกำจัดนิสัยไม่ดีของตนเองให้หมดไป แล้วนำแต่สิ่งดี ๆ จากคุณธรรมภายในมาถ่ายทอดให้แก่กันและกัน การยอมรับในความดีของกันและกันย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา และนั่นย่อมกลายเป็นความมั่นคงของครอบครัว ความเชิดหน้าชูตาของวงศ์ตระกูลทั้งสองฝ่ายไปทั่วสังคม

     แน่นอนว่าการที่ใครจะควบคุมอารมณ์ตนเองได้ต้องฝึกตนเองมาอย่างดีตั้งแต่ก่อนแต่งงาน ปู่ย่าตาทวดท่านผ่านสิ่งเหล่านี้มาก่อน ท่านจึงให้หลักคิดมุมมองเรื่องการแต่งงานไว้ ดังนี้

    คนที่รู้ตัวว่าหักห้ามความอยากแต่งงานไม่ไหว จำเป็นต้องสร้างองค์ประกอบ 4 ประการนี้ให้เกิดขึ้นก่อน เพื่อเป็นหลักค้ำยันชีวิตแต่งงานให้อยู่ได้ตลอดรอดฝัง นั่นคือ

1) ต้องพึ่งตนเองให้ได้ก่อน
2) ต้องมีหลักการคัดเลือกคนมาเป็นคู่ชีวิต
3) ต้องมีพี่เลี้ยงในการประคับประคองชีวิตคู่
4) ต้องรู้จักขัดเกลาจิตใจให้งาม

   ปู่ย่าตาทวดท่านกำชับว่า ผู้ที่คิดจะแต่งงาน ต้องสร้างองค์ประกอบ 4 อย่างนี้ให้แก่ชีวิตคู่ก่อน แล้วจึงค่อยแต่งงาน จึงจะสามารถรับมือกับหน้าที่และการงานที่ตนเองต้องรับผิดชอบหลังแต่งงานได้ เพราะเมื่อรู้ตัวก่อนเช่นนี้ จะได้เตรียมความรู้ ความสามารถและความดีในการเป็นสามีและภรรยาที่ดี เป็นลูกเขยและลูกสะใภ้ที่ดี และเป็นพ่อแม่ที่ดีของลูกแล้วการมาแต่งงานร่วมชีวิตกัน ฝากชีวิตกัน ก็จะเป็นการยกระดับความรู้ ความสามารถและความดีให้แก่กันและกันการครองรักจึงจะสามารถไปได้ตลอดรอดฝังอย่างที่คาดหวังกันเอาไว้

   ดังนั้น จากนี้ไปจะเป็นการเล่าถึงเหตุผลแต่ละข้อว่าทำไมการแต่งงาน จะต้องมีองค์ประกอบ 4 อย่างนี้ครบถ้วน จึงสามารถครองรักกันไปได้ตลอดรอดฝัง


2. ความคาดหวังจากการแต่งงาน
    ปู่ย่าตาทวดท่านให้เหตุผลอย่างตรงไปตรงมาว่า อันที่จริงแล้ว คนเราที่มาแต่งงานกันนี้ ก็เพราะว่าขาดความมั่นใจในตนเอง ไม่แน่ใจว่าจะยืนหยัดด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเองได้เมื่อขาดความมั่นใจว่าจะพึ่งตนเองได้ ก็เกิดความหวังขึ้นมาว่า ต้องหาคนอื่นมาเป็นที่ยึดที่พึ่งให้แก่ชีวิตของตนเองในเรื่องนั้นเรื่องนี้

    บางคนแต่งงานไป ก็เพราะแอบคาดหวังว่า เขาทำดีกับตนอย่างนั้นอย่างนี้และตนเองก็จะตอบแทนเขาอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เอาเข้าจริง ๆ เขาก็ไม่ได้ทำตามอย่างที่ตนเองคิดตลอด 24 ชั่วโมง และสิ่งที่ตนเองทำให้เขาไปนั้น เขาก็ไม่ได้อยากได้ตลอด 24 ชั่วโมง

   บางคนแต่งงานเพราะอยากได้ภรรยาสวย แต่ก็ปรากฏว่า ที่ว่า วย ๆ ก็ไม่สามารถสวยได้ตลอด 24 ชั่วโมง ความสุขทางเนื้อหนังมังสาไม่ได้มีอยู่นาน ถ้าหวังเพียงเรื่องนี้พอฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดให้เรื่องนี้ไม่ได้ เดี๋ยวก็มีเรื่องนอกใจกันอีก

   บางคนแต่งงานเพราะหลงเสน่ห์ในมารยาท คิดว่าเขาจะสุภาพอย่างนี้ตลอดเวลาแต่ก็ปรากฏว่าที่ว่ามารยาทงาม ๆ ก็ไม่สามารถมารยาทงามได้ 24 ชั่วโมง

    เมื่อความคิดของการแสวงหาคู่ครองออกมาในทำนองพึ่งคนอื่นเป็นหลักเช่นนี้แต่พอเขาเป็นที่พึ่งให้ไม่ได้ จึงต้องทะเลาะเบาะแว้ง ขึ้นโรงขึ้นศาลก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ จึงมีสำนวนออกมาว่า "เพราะหวังผิด จึงต้องผิดหวัง"

    ความคิดที่ถูกต้องก่อนจะแต่งงาน ก็คือ "ตนต้องเป็นที่พึ่งแห่งตนได้" เพราะเมื่อแต่งงานกันมาแล้ว เรื่องที่จะต้องเป็นที่พึ่งให้คนอื่นนั้นมีมาก พูดง่าย ๆ ก็คือเรื่องที่ต้องอดทนกันให้ได้ มันมีมากกว่าเรื่องที่ไม่ต้องอดทนกัน ซึ่งต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ และความดีที่ตนเองมีมาก่อนแต่งงานเป็นหลัก ยิ่งกว่านั้นก็คือ ยังต้องเจองานที่ไม่เคยทำมาก่อนอีกมากมายซึ่งไม่รู้ว่าจะได้ผลออกมาดีหรือไม่ดี โดยเฉพาะงานเป็นพ่อแม่คน ลูกที่เกิดมาก็ยังพึ่งตนไม่ได้มีเรื่องต้องพึ่งพ่อแม่หลายเรื่อง แค่จะทำอย่างไรให้ลูกเติบโตมาอย่างคนที่พึ่งตนเองได้ ก็ต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ และความดีอีกสารพัดทุ่มเทลงไป

    เพราะฉะนั้นคนที่คิดแต่งงานด้วยหวังจะพึ่งคนอื่น จึงเป็นความหวังที่ผิด เพราะคงคิดไม่ถึงว่าเรื่องที่คนอื่นจะพึ่งเรานั้นมีมากกว่าเรื่องที่เราคิดจะไปพึ่งเขานั่นเอง


3. การพึ่งพาตนเอง
   คนที่พึ่งพาตนเองได้ คือคนที่มีความรู้ ความสามารถ และความดีเป็นที่พึ่งให้แก่ตนเองได้ ซึ่งโดยสรุปแล้ว เขาต้องมีฆราวาสธรรม

     คนมีฆราวาสธรรม ย่อมมีนิสัย 4 อย่างประจำตัว

   1. เป็นคนมีนิสัยรับผิดชอบ คือ ทำสิ่งใดแล้ว ต้องทำให้ดีที่สุดทั้งคุณภาพ เวลา งบประมาณ และการดูแลจิตใจคน

   2. เป็นคนมีนิสัยรักการฝึกฝนพัฒนาตนเอง คือ ศึกษาค้นคว้าวิชาการความรู้ต่าง ๆ เพื่อนำมาพัฒนาความรู้ ความสามารถ และความดีของตนเองให้เกิดความก้าวหน้าอยู่เสมอ

    3. เป็นคนมีนิสัยเข้มแข็งอดทน คือ เป็นคนที่ทำอะไรแล้วสามารถอดทนต่ออุปสรรคต่าง ๆ ได้จนกระทั่งงานสำเร็จ ไม่ว่าจะดินฟ้าอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ความเจ็บไข้ได้ป่วยความกระทบกระทั่งระหว่างคนด้วยกัน หรือแม้แต่สิ่งเย้ายวนจิตใจให้ลุ่มหลง ยากต่อการฝืนใจก็สามารถอดทนไว้ได้

    4. เป็นคนมีนิสัยเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว คือ เป็นคนที่ทำอะไรแล้ว นึกถึงความอยู่รอดของส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นการยอม ละสิ่งของของตนเองให้แก่ผู้อื่นที่จำเป็นกว่า การสละความสะดวกสบายมาดูแลส่วนที่คนในบ้านไม่อยากจะรับผิดชอบการสละอารมณ์เน่าบูดที่มีต่อคนอื่นออกไป เพื่อรักษาบรรยากาศภายในบ้านให้ดีสิ่งเหล่านี้ต้องเสียสละความเป็นส่วนตัวเพื่อส่วนรวมทั้งสิ้น และต้องมีติดตัวตั้งแต่อยู่กับพ่อแม่ของตนเองมาก่อนแล้ว ไม่อย่างนั้นออกมาเป็นที่พึ่งให้คนอื่นไม่ได้

    คนที่มีฆราวาสธรรม หรือนิสัยดี ๆ 4 ประการนี้เท่านั้น ถึงจะเป็นที่พึ่งให้ตนเองได้เป็นความคาดหวังของคนอื่นได้ และเป็นหลักให้แก่ครอบครัวได้ ผิดจากนี้ไปไม่มีทางทำได้


4. ความงามสี่ระดับ
   เมื่อปู่ย่าตาทวดสอนให้รู้จักการพึ่งตนเองแล้ว ท่านยังสอนต่อไปอีกว่า ถ้าหากใครหักห้ามใจในการมีคู่ครองไม่ไหว ก็ต้องรู้จักวิธีคัดเลือกคนมาเป็นพ่อแม่ของลูกเราด้วย

  ตามปกติของคนเรานั้น จะตัดสินคนกันแค่ความงามภายนอก เจาะลึกไปไม่ถึงความงามในจิตใจ แต่ปู่ย่าตาทวดสอนให้ดูไปถึงภายในจิตใจ ท่านจึงแบ่งความงามของคนเป็น 4 ระดับ

    ระดับที่ 1 งามอาภรณ์ คือ งามด้วยเครื่องแต่งตัว เครื่องแต่งหน้าทาปาก การไว้ทรงผมสีสันเสื้อผ้า ตามแต่ มัยนิยม ความงามชนิดนี้เป็นความงามชั้นนอกสุด ไม่ช้าก็ล้าสมัยหมดความนิยมชมชอบ เป็นความงามที่สามารถซื้อหาหรือหยิบยืมกันมาได้

    ระดับที่ 2 งามร่างกาย คือ งามด้วยรูปร่าง ผิวพรรณ ใบหน้า ทรงผม นิ้วมือ ฯลฯ เป็นความงามที่ประจำตัวแต่ละบุคคล หยิบยืมกันไม่ได้ แต่ก็ไม่จีรังยั่งยืน มีแต่เหี่ยวชราไปตามวัย และไม่ใช่หลักประกันว่าคนนั้นเป็นคนดีหรือคนชั่ว

  ระดับที่ 3 งามมารยาท คืองามด้วยกิริยาวาจาในการวางตัวให้เหมาะสมกับบุคคลอื่น ๆ เช่น เป็นคนรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะ พูดจาไพเราะ ยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นที่ผูกใจผู้คนไว้ได้ง่าย แต่ทว่ามารยาทเหล่านี้ ถ้าไม่ได้ออกมาจากความจริงใจ ก็กลายมาเป็นความเสแสร้งแกล้งทำกันได้ ดั่งคำโบราณกล่าวเตือนไว้ว่า "ปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ" หรือ "หน้าเนื้อใจเสือ" หรือ "ปากหวานก้นเปรี้ยว"

   ระดับที่ 4 งามจิตใจ คืองามด้วยความดีที่มีอยู่ประจำใจ ซึ่งจะแสดงออกมาผ่านทางความรับผิดชอบในด้านต่าง ๆ ที่เขามีอยู่ประจำตัว โดยจะสังเกตความรับผิดชอบของเขาได้จาก 3 เรื่องนี้เป็นพื้นฐาน คือ

1) การใช้สอยปัจจัย 4
2) กิจวัตรประจำวัน
3) งานการที่ตนเองทำอยู่

    การสังเกตนิสัยคนผ่าน 3 เรื่องนี้ จะเป็นตัวบ่งบอกว่าเรามีนิสัยรับผิดชอบ หรือมักง่าย คนที่มีความรับผิดชอบเท่านั้น ถึงจะเป็นคนที่มีจิตใจงามด้วยศีลธรรม โดยเฉพาะการมีฆราวาสธรรม อันประกอบด้วยสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เป็นธรรมประจำใจของคน ๆ นั้นนั่นเอง

   การมีความรักกับใครสักคนหนึ่งจะดูเพียงงามอาภรณ์ งามรูปร่าง งามมารยาทไม่ได้แต่เพราะชีวิตหลังแต่งงานนั้นสิ่งที่ต้องใช้ในการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวก็คือ ศีลธรรมประจำใจที่แสดงออกมาในรูปนิสัยดี ๆ ประจำตัว เป็นหลักสำคัญที่สุดในการครองเรือน


5. ความสำคัญของที่ปรึกษาเรื่องชีวิตคู่
    เมื่อความงามของคนเรานั้น มี 4 ระดับ แต่ระดับที่มองออกยากที่สุด คือ งามจิตใจเพราะเป็นเรื่องของศีลธรรมที่ซ่อนอยู่ในตัวบุคคล การจะมองออกก็ต้องอาศัยผู้ที่มีประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวในการประคับประคองชีวิตคู่มาก่อน พูดง่าย ๆ คือ การสร้างครอบครัว ก็ต้องมี "ครู" หรือ "พี่เลี้ยง" ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องครอบครัว

    โบราณเวลาใครจะแต่งงานกัน ต้องมีการตั้ง "เฒ่าแก่" ไปสู่ขอ แม้ มัยนี้ก็ยังมีอยู่แต่เดี๋ยวนี้คนที่จะทราบถึงความหมายและหน้าที่ของเฒ่าแก่อย่างแท้จริงนั้น ไม่ค่อยมีคนทราบกันแล้ว

    "เฒ่าแก่" หมายถึง ผู้มีคุณธรรมใหญ่จนกระทั่งใคร ๆ ก็ยอมรับผู้ที่จะมาเป็นเฒ่าแก่ได้ แน่นอนเลยว่าท่านจะต้องมีคุณธรรมมาก จนกระทั่งใคร ๆ ก็ยอมรับ และการที่ท่านมีคุณธรรมมากขึ้นมาได้ ก็เพราะการแต่งงานของท่านประกอบด้วยองค์ประกอบของการครองเรือนทั้ง 4 ข้ออยู่ครบถ้วน นั่นก็คือ

    1) ต้องมีฆราวาสธรรมอยู่ในตัวมาก ๆ มิฉะนั้น ท่านย่อมไม่สามารถเป็นหลักที่พึ่งให้แก่ตนเองและครอบครัวได้

    2) ต้องมองนิสัยคนออก โดยสังเกตบุคคลนั้นผ่านการใช้สอยปัจจัย 4 กิจวัตรประจำวัน งานที่รับผิดชอบ มิฉะนั้นท่านคงไม่สามารถคัดเลือกคู่ครองที่เหมาะสมกับตนเองและมีคุณธรรมมากพอ จนใคร ๆ ในตระกูลก็ยอมรับนับถือท่านและคู่ชีวิตของท่านอย่างเต็มหัวใจ

   3) ต้องมีครูชีวิตหรือพี่เลี้ยงที่ดีคอยให้คำแนะนำการครองเรือน การประคับประคองชีวิตคู่มาก่อน มิฉะนั้น ท่านย่อมไม่สามารถครองคู่กันมาได้ยาวนาน

    4) ต้องเป็นนักฝึกฝนอบรมตนเอง จนกระทั่งสามารถยกระดับศีลธรรมในจิตใจให้สูงส่งขึ้นตามลำดับ มิฉะนั้น ท่านจะไม่มีความรู้ ความสามารถ และความดีมารับผิดชอบ หน้าที่การงานต่าง ๆ หลังชีวิตแต่งงาน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งต้องควบคุมตัวเองและต้องดูแลจิตใจคนจำนวนมาก ถ้าหากระดับศีลธรรมในจิตใจไม่มากพอ โดยเฉพาะความมีเมตตาและความมีน้ำใจเสียสละเพื่อส่วนรวม ท่านย่อมไม่สามารถประคับประคองครอบครัวและวงศ์ตระกูลให้ตลอดรอดฝัง และก้าวมาถึงการยอมรับของสังคมในจุดนี้ได้

  การที่ท่านมีคุณธรรมใหญ่สามารถเป็นหลักให้แก่ลูกหลานวงศ์วานว่านเครือได้เพราะท่านฝึกตนเองและสร้างครอบครัวบนพื้นฐานองค์ประกอบ 4 ประการดังกล่าวนี้เอง

  เพราะฉะนั้น การครองเรือนครองรักจำเป็นต้องมีที่ปรึกษาให้คำแนะนำตั้งแต่การคัดเลือกคู่ครองที่เหมาะสม การทำหน้าที่ของสามีภรรยาที่ดี การทำหน้าที่ลูกเขยลูกสะใภ้ที่ดี การทำหน้าที่พ่อแม่ต่อลูกที่ดี การทำหน้าที่ญาติที่พึงปฏิบัติต่อญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่ายให้ดีการทำหน้าที่ในด้านการงานอาชีพที่ดี และอีกสารพัดหน้าที่ที่ต้องมีจากการเข้าสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมี "เฒ่าแก่" คอยแนะนำชี้แจงทิศทางให้ถูกต้อง ชีวิตครอบครัวจึงจะสงบสุขและอยู่ร่วมกันไปได้ตลอดรอดฝัง

    ดังนั้น การครองเรือนครองรัก ไม่สามารถขาด "เฒ่าแก่" คือ ผู้ใหญ่ที่มีคุณธรรมสูงคอยเป็นที่ปรึกษาแนะนำ และขัดเกลานิสัยใจคอของทั้งสองสามีภรรยาได้ ขาดเมื่อไรการประคับประคองครอบครัวจะผิดทิศผิดทางเมื่อนั้น


6. ธรรมะที่ทำให้จิตใจงาม
  หลังจากที่เราผ่านการทำความเข้าใจในองค์ประกอบทั้งสามข้อแรกไปแล้ว ชีวิตคู่ก็ก้าวมาถึงจุดที่ต้องยกระดับศีลธรรมในจิตใจให้สูงขึ้นและหนักแน่นมั่นคง เพราะหากสามีภรรยาขาดหลักศีลธรรมในการอยู่ร่วมกันแล้ว ย่อมไม่สามารถทำให้ความรักที่มีต่อกันยั่งยืนยาวนานต่อไปได้ เพราะหัวใจของครอบครัว ก็อยู่ที่ศีลธรรมที่เป็นหลักประจำใจของสองสามีภรรยานั่นเอง

    เมื่อตอนก่อนแต่งงาน ก็เป็นช่วงที่เราฝึกตนเองให้เป็นคนที่พึ่งตนเองได้ ปู่ย่าตาทวดได้นำเอาฆราวาสธรรมเป็นบทฝึกให้แก่เรา ครั้นเมื่อแต่งงานมีครอบครัวแล้ว ก็ยังต้องฝึกฆราวาสธรรมให้สูงส่งยิ่งขึ้นไป คุณธรรมในข้อฆราวาสธรรมที่ใช้บ่อยที่สุด และมีผลต่อการประคับประคองชีวิตคู่อย่างมากที่สุด ก็คือ "ขันติ" และ "จาคะ"

    แต่ "ขันติ" ในเที่ยวหลังจากแต่งงานไปแล้วนี้ ก็เป็นการยกระดับขันติที่เน้นหนักไปในเรื่องของ ความอดทนต่อการกระทบกระทั่ง พูดง่าย ๆ คือ ต้องทนข้อเสียของคนอื่นให้ได้เพราะสถานการณ์ที่ไปอยู่ร่วมกันหลังแต่งงานนั้น มีหน้าที่และการงานที่ต้องรับผิดชอบต่อคู่ครอง และการสงเคราะห์ญาติพี่น้องข้างเคียงอีกมากที่ต้องดูแล ซึ่งต้องอดทนกับสารพัดคนที่อยู่ในตระกูลของทั้งสองฝ่ายให้ได้ การอดทนตรงนี้ถูกบังคับว่าต้องยกระดับความอดทนให้สูงขึ้นมามากกว่าก่อนหลายเท่านัก ถึงจะประคับประคองตนเองและครอบครัวให้ผ่านไปได้

    ส่วน "จาคะ" ก็เช่นกัน หลังจากแต่งงานไปแล้ว ก็เป็นการยกระดับจาคะให้แก่กล้ายิ่งขึ้น โดยที่เน้นหนักไปในเรื่อง การสละอารมณ์บูดเน่าออกจากใจ ซึ่งก็คือการทำใจให้สงบพูดง่าย ๆ คือ ต้องขยันนั่งสมาธิ เพื่อกำจัดความขุ่นข้องหมองมัวที่เกิดจากการกระทบกระทั่งในครอบครัวออกไปให้หมดสิ้น เพราะถึงแม้เราจะไม่ชอบบางคนในครอบครัวของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นแต่เราก็ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ อย่าปล่อยปละละเลยให้กลายเป็นการผูกโกรธกัน ต้องสลัดอารมณ์ทิ้งไป อย่าปล่อยไว้ข้ามชั่วโมง เดี๋ยวจะกลายเป็นการลงมือลงไม้ ก่อเวร จองเวรกันไม่จบไม่สิ้น

  จาคะ ในระดับของการกำจัดอารมณ์ที่เน่าบูดภายในจิตใจนี้มีศัพท์ทางพระพุทธศาสนา เรียกอีกอย่างว่า "โสรัจจะ" แปลว่า ชำระใจให้สงบเสงี่ยม

    ดังนั้น เมื่อเจาะจงลงไปในเรื่องของการขัดเกลาจิตใจโดยตรง ปู่ย่าตาทวดของเราจึงมักยกเอาเฉพาะ "ขันติ" กับ "โสรัจจะ" มาเป็นคู่ธรรมะสำหรับขัดเกลาจิตใจให้งามเป็นการย่อความเรื่องฆราวา ธรรม ลงมาเฉพาะในส่วนของการควบคุมจิตใจคนเรานั้น เมื่อตนต้องอดทนแล้ว ก็ต้องพยายามทำใจให้สงบด้วย ความอดทนนั้นมีอาการในลักษณะเหมือนภูเขาไฟอัดอั้นไว้ข้างใน แม้ทนแทบไม่ไหว แต่ก็ต้องทนให้ได้

  ส่วนโสรัจจะเป็นการดับความครุกรุ่นพร้อมระเบิดของภูเขาไฟภายในให้เย็นลงด้วยการหาอุบายต่าง ๆ ที่จะมาสงบใจ ซึ่งไม่มีอุบายใดเกินกว่าการตัดใจจากเรื่องราววุ่นวายด้วยการหลับตาทำภาวนา ปล่อยวางความขุ่นข้องหมองมัว ไม่คิด ไม่สนใจเรื่องกระทบกระทั่งที่ผ่านมา

   คนเรานั้น เมื่อใจสงบแล้ว ก็จะไม่รู้สึกต้องอดทนอะไร กิริยาวาจาที่แสดงออกมาก็ย่อมสงบเสงี่ยมตามไปด้วย เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครที่ได้เข้าใกล้ ก็จะมีความรู้สึกเย็นใจ เพราะสัมผัสได้ถึงจิตใจที่งดงามด้วยความสงบเป็นปกติ ความสงบเย็นของใจที่แผ่ผ่านออกมาสู่ภายนอกนี้เอง ย่อมชนะใจทุกผู้คน

   ดังนั้น การยกระดับศีลธรรมในจิตใจให้สูงขึ้นได้ ต้องอาศัยคุณธรรมหลัก 2 ประการนี้เป็นสำคัญก็คือ "ขันติ" กับ "โสรัจจะ" ซึ่งเรียกว่า ธรรมอันทำให้จิตใจงาม


7. คาถาป้องกันการหย่าร้าง
    เมื่อเราศึกษามาถึงหัวข้อนี้สิ่งที่ปู่ย่าตาทวดท่านมองต่อไป ก็คือ ทำอย่างไร "ขันติ" กับ "โสรัจจะ" จะงอกเงยขึ้นมาในใจได้ ท่านจึงได้นำหลักธรรมชุดนี้มาบัญญัติเป็นคำอุปมาในภาคปฏิบัติไว้เป็นคาถา 4 ประการ ดังนี้ คือ

คาถาที่ 1 ตาเหมือนตาไม้
คาถาที่ 2 หูเหมือนหูกระทะ
คาถาที่ 3 กายเหมือนผ้าเช็ดเท้า
คาถาที่ 4 ใจประดุจแผ่นดิน

   การที่ปู่ย่าตาทวดท่านสามารถนำเอาสิ่งรอบตัวมาอธิบายเป็นธรรมะเพื่อเป็นบทฝึกการทำจิตใจงามด้วยความสงบเย็นได้นี้ แสดงให้เห็นว่า ศีลธรรมในจิตใจของท่านมีความสูงส่งเหลือเกิน โดยท่านให้เหตุผลของแต่ละอุปมาไว้ดังนี้

    1) ตาเหมือนตาไม้ หมายถึง การเลือกดูแต่ในสิ่งที่ควรดูไม่ดูในสิ่งที่ทำให้ร้อนใจไม่คอยเอาตาไปสอดรู้สอดเห็น เพื่อจ้องจับผิดความฉิบหายเดือดร้อนของผู้อื่น มานินทาลับหลังกันอย่างสนุกปาก เพราะจะพาให้ใจเก็บแต่เรื่องร้อนอกร้อนใจเต็มไปหมด และคิดสิ่งดี ๆมีประโยชน์ต่อชีวิตไม่เป็น

     ปู่ย่าตาทวดท่านนำอุปมานี้มาจากการมองเห็น "พะอง"

   พะอง คือ ไม้ไผ่ป่าตัดแขนงให้ยาวพอที่เท้าจะเหยียบขึ้นลงได้สำหรับผูกพาดขึ้นต้นไม้ต่างบันได ถ้าต้นไม้สูงมากก็อาจใช้ไม้ไผ่หลายลำผูกต่อ ๆ กันขึ้นไป

     ชาวบ้านที่อยู่ในดงตาล จะรู้จักประโยชน์ของพะองดีว่าสามารถใช้เป็นบันไดสำหรับขึ้นต้นตาลสูง ๆ ได้

    การทำพะองนั้น ชาวบ้านจะตัดลำไม้ไผ่ยาว ๆ มา แต่ไม่ริดตาไม้ไผ่ออกไป จะตัดเฉพาะแขนงไผ่ให้เหลือสั้น ๆ ยาวสักคืบกว่า ๆ ไว้ตลอดทั้งลำ เพื่อใช้เป็นเหมือนขั้นบันไดเหยียบขึ้นไป ดังนั้น ตาไม้ไผ่จึงต้องแข็งแรงมาก มิฉะนั้น ย่อมรับน้ำหนักคนปีนไม่ไหว

   เวลาชาวบ้านจะขึ้นต้นตาล ก็นำพะองวางพาดกับลำต้น แล้วเหยียบแขนงขึ้นไปถึงยอดตาล ถ้าเป็นต้นตาลเพศผู้ก็กรีดงวงตาล ใช้กระบอกไม้ไผ่รองน้ำหวานมาทำน้ำตาลโตนดถ้าเป็นต้นตาลเพศเมียก็เก็บลูกตาล มาคั้นเอาน้ำลูกตาลผสมแป้ง ทำเป็นขนมตาลขายได้

   ปู่ย่าตาทวดท่านมีใจที่จดจ่ออยู่ในธรรมะ ท่านจึงมองเห็นว่า หัวใจสำคัญของพะองอยู่ที่ตาไม้ไผ่ ยิ่งมีความทนทานอย่างดีเยี่ยมมากเท่าไร ความปลอดภัยในการปีนขึ้นไปเอาวัตถุดิบต่าง ๆ บนยอดตาลลงมาทำประโยชน์ก็มีมากเท่านั้น

  ตาของคนเราก็เหมือนกัน ต้องหัดทำตาให้เหมือนกับตาไม้ไผ่ด้วย เพราะหัวใจสำคัญของการมองเห็น คือ นัยน์ตาของเรานั้น อะไรที่ไม่ควรดูก็อย่าไปดู ไม่เที่ยวไปสอดรู้สอดเห็นเรื่องของชาวบ้านมากนัก ไม่จับผิดเอาเรื่องกับใคร หรือไปทำตาหวานทอดสะพานให้แก่ใคร เพราะจะกลายเป็นนำเรื่องร้อนตาพาร้อนใจเข้ามาในบ้าน

    คนที่ควบคุมตาของตัวเองได้อย่างนี้ ใจย่อมสงบขึ้นอีกมาก และมีสติอยู่กับตัว เวลาคิดสิ่งใด ก็คิดได้แต่เรื่องที่ดีงาม คำพูดที่ใช้กันในบ้านจึงมีแต่เรื่องที่พาไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางจิตใจให้แก่กันและกัน

   ใครที่สำรวมดวงตาได้อย่างที่ปู่ย่าตาทวดแนะนำนี้ ก็ย่อมมีความสามารถในการมองแบบจับถูก ไม่มองแบบจับผิดคิดร้ายในทางใด และไม่สร้างปัญหาชู้สาวตามมาอีกด้วย เท่ากับเป็นการป้องกันการกระทบกระทั่งทางดวงตา และประคับประคองใจให้สงบเย็นเป็นปกติไปในตัว

   ดังนั้น การควบคุมใจให้สงบผ่านทางตาด้วยการฝึกทำ ตาเหมือนตาไม้ จึงเป็นการยกระดับใจให้งดงาม เป็น คาถาป้องกันการหย่าร้างเป็นชั้นที่ 1

    2) หูเหมือนหูกระทะ หมายถึง การเลือกฟังในสิ่งที่ควรฟัง ไม่ใช่เอาหูไปคอยตามฟังเรื่องราวความเดือดร้อนเสื่อมเสียของผู้อื่น หรือคอยจ้องจับผิดว่ามีใครมาแอบนินทาลับหลังบ้าง หรือหากใครมาพูดใส่ความใครให้ฟัง ก็ไม่ใช่หูเบาเชื่อเขาโดยง่าย ควรพิจารณา ไตร่ตรองให้รอบคอบ ฟังหูไว้หู หากเห็นไม่มีประโยชน์ก็ควรรีบเปลี่ยนเรื่องสนทนา มิฉะนั้น นอกจากตัวเราจะกลายเป็นคนโฉดเขลาเบาปัญญาแล้ว ยังจะติดนิสัย มีนิสัยชอบจับผิดนินทาชาวบ้านจากเขาไปด้วย ซึ่งนับเป็นโทษต่อการเพิ่มพูนคุณธรรมความดีของตนเองอย่างมหันต์

   ปู่ย่าตาทวดของเรา ท่านไม่อยากให้ลูกหลานเป็นคนโฉดเขลาเบาปัญญา วัน ๆ ไม่ลงมือทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน ชอบแต่ตะแคงหูจับผิดชาวบ้าน ถ้าเป็นอย่างนี้ไม่มีทางเจริญก้าวหน้าอย่างเด็ดขาด ท่านจึงเตือนด้วยการอุปมาว่า หูเหมือนหูกระทะ คือให้รู้จักเลือกฟังแต่สิ่งที่มีประโยชน์ เพื่อให้เกิดความรู้และความดีในจิตใจของตนเอง

   เวลาเราเข้าครัวก็มองเห็นชัดว่า หน้าที่ของหูกระทะมีไว้สำหรับหิ้วหรือแขวน คุณค่าของหูกระทะจึงอยู่ที่การทำถูกหน้าที่ของมัน หูคนก็เช่นกัน ไม่ได้มีไว้ฟังเรื่องนินทาว่าร้ายชาวบ้าน เพราะความเดือดร้อนเสียหายของชาวบ้าน ไม่ได้มีส่วนทำให้เราเจริญก้าวหน้าขึ้นแต่อย่างใด

   หูของคนเรามีไว้เลือกฟังในสิ่งที่เพิ่มพูนสติปัญญาและคุณธรรมความดีให้แก่ตนเองนี่จึงเรียกว่า ใช้หูถูกหน้าที่

   ดังนั้น เมื่อได้ยินสิ่งใดมาเข้าหู ก็ต้องพิจารณาเลือกฟังให้ดี หากได้ยินแล้วไม่เข้าท่าเข้าที ก็ต้องรู้จักทำหูตนเองให้เป็นหูกระทะเสียบ้าง เรื่องไม่เป็นเรื่องของชาวบ้านจะได้ไม่มารบกวนใจ

   บางคนถูกเขาเอาไปนินทา บังเอิญตนเองไปได้ยินเข้าก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟจะฆ่าแกงกัน ซึ่งถ้าเราทำหูเป็นหูกระทะเสียบ้าง ก็หมดเรื่องไป เรื่องที่นินทาก็จะกลายเป็นลมเป็นแล้งไป

   หรือถ้าเขาแอบเอาเราไปด่าลับหลัง เราไปได้ยินเข้า เราก็อย่าไปเอามาเป็นอารมณ์เขาด่าได้ก็ด่าไป ถ้าเราไม่ไปรับคำด่าเหล่านั้นมาไว้ในใจ คำของเขาก็ต้องคืนไปหาตัวเขาเองนั่นแหละ เพราะเขาด่าเองก็ได้ยินเองคนเดียว

   ปู่ย่าตาทวดท่านยังเตือนต่อไปอีกว่า คนเราถูกด่าแล้วไม่โกรธ อย่าเพิ่งคิดว่าตนเองเก่ง คนที่เก่งกว่านั้นคือ ชมแล้วไม่ยิ้ม ใครชมแล้วไม่ยิ้ม มีแต่นิ่งสุขุม พิจารณาว่าทำไมเขาถึงมาชมเราและที่เขาชมนั้น ชมถูกหรือผิด คนนี้คือคนเก่งจริง ๆ

   คนเราทั่วไปพอได้รับคำชมแล้วอดยิ้มสอดบ้ายอไม่ได้ โดยเฉพาะฝ่ายหญิง เพราะว่าเขาชมแล้วอดยิ้มไม่ได้ ถึงได้ยอมไปอยู่กับเขา ลูกถึงได้เต็มบ้านหลานถึงได้เต็มเมือง พอไปได้ยินคำชมว่า "น้องจ๊ะ น้องจ๋าสวยจริง ๆ เลย" ก็เลยไปเลี้ยงลูกกันเป็นพรวน ถ้าชมแล้วยังเฉยเสียได้ ก็อยู่สบาย ป่านนี้ก็ไม่ต้องปวดหัวเรื่องระแวงสามีนอกใจอะไรทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น คนที่เก่งจริง ๆ คือ คนที่รู้จักพิจารณาเลือกฟังในสิ่งที่ควรฟัง และไม่ฟังในสิ่งที่ไม่ควรฟัง ใจของเขาย่อมสงบสุข

   ดังนั้น คนที่รู้จักควบคุมใจด้วยการฝึกหูเหมือนหูกระทะเสียบ้าง ย่อมมีใจสงบ เท่ากับยกระดับความงามในใจให้สูงส่งขึ้นอีกระดับ นี่คือคาถาป้องกันการหย่าร้างเป็นชั้นที่ 2

   3) กายเหมือนผ้าเช็ดเท้า หมายถึง การลงมือทำความดีอย่างทุ่มเทชีวิตเป็นเดิมพันด้วยความสุจริตกาย วาจา ใจ โดยไม่ถือทิฏฐิมานะใด ๆ และไม่มีข้อแม้เงื่อนไขในการทำความดี

   ปู่ย่าตายายใช้อุปมากายเหมือนผ้าเช็ดเท้ามาสอนเรานี้ เพราะท่านต้องการเตือนให้ได้คิดว่า คนเราจะทำงานอะไรก็ตาม ต้องเป็นงานสุจริต เมื่อรู้ว่าเป็นงานสุจริตแล้ว ต้องทำงานให้เต็มกำลังความรู้ ความสามารถ และความดี ไม่เป็นคนถือเนื้อถือตัว ไม่มีกลัวความลำบาก ทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันทำให้งานออกมาดีที่สุด

   ปู่ย่าตาทวดที่ท่านตั้งใจฝึกฝนตนเองมาด้วยหลักการนี้ เวลาท่านเล่าถึงประวัติของตนเอง ถ้อยคำของท่านจึงเปียมด้วยความภาคภูมิใจของท่านอย่างมาก

  ยกตัวอย่างเช่น เวลาท่านสอนลูกหลานถึงความสุจริต เนื่องจากตลอดชีวิตท่านทำอะไรก็มีแต่ความสุจริตใจมาโดยตลอด เวลาสอนลูกหลาน ท่านก็สามารถพูดได้เต็มที่

   "ตั้งแต่เป็นเด็กมาแล้ว ถ้าถึงคราวที่ปู่ย่าตาทวดจะต้องไปรับจ้างเขาเทกระโถนล้างกระโถนก็เอา เพราะมันเป็นอาชีพบริสุทธิ์ แต่จะให้ไปลักขโมยใครเขา หัวเด็ดตีนขาดไม่ยอมทำ จะทำกายอย่างกับผ้าเช็ดเท้า ใครจะโขกจะสับอย่างไรก็ยอมล่ะ เพื่อให้ได้อาชีพที่สุจริต แต่จะให้ไปโกงไปกินเขา ไม่เอาเด็ดขาด"

    การทำมาหาเลี้ยงคนในครอบครัว เป็นงานหนัก เพราะแต่ละมื้อ ๆ ที่ผ่านไปต้องใช้เงินใช้ทองที่หามาได้ด้วยความยากลำบาก คนที่ถึงเวลาทำงาน ก็ทุ่มเทชีวิตจิตใจไม่บ่น ไม่มีอคติกับใคร ตั้งใจทำงานหาเงินมาอย่างสุจริต ย่อมมีแต่ความภาคภูมิใจในตนเองที่สามารถเลี้ยงครอบครัวด้วยน้ำพักน้ำแรงอันสุจริตได้ ย่อมไม่มีอะไรต้องมาตามตำหนิตนเองในภายหลัง

  ความสงบใจที่เกิดจากการประกอบอาชีพสุจริตนี้ แม้คนอื่นจะมองว่าเป็นอาชีพที่ต้อยต่ำ ก็ไม่มีสิ่งใดที่ต้องละอายใจแม้แต่น้อย มีแต่รู้สึกภาคภูมิใจในชีวิต ความสุจริตใจของตนเองเหมือนกับผ้าเช็ดเท้าที่ตั้งใจทำหน้าที่กำจัดความเปรอะเปอนออกไปจากเท้า โดยไม่มีบ่น ไม่มีรังเกียจ ไม่มีลำเอียงกับใคร คนที่ทำใจให้สงบมาถึงขั้นเอาความซื่อสัตย์สุจริตเป็นหลัก ไม่ถือเนื้อถือตัวเช่นนี้ แม้มีอาชีพต้อยต่ำ แต่ลูกหลานก็กราบไหว้ได้ด้วยความสนิทใจ

    เพราะฉะนั้นบุคคลที่ตั้งใจทำความดี ประกอบอาชีพด้วยความสุจริต ทำกายเหมือนผ้าเช็ดเท้าได้ จิตใจย่อมมีแต่ความเจริญก้าวหน้าสงบเย็น ไม่อิจฉาริษยาใคร มีแต่คุณธรรมภายในที่สูงส่งยิ่งขึ้นไปสามารถกลายเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่ลูกหลานได้อย่างยอดเยี่ยมสมาชิกในครอบครัวย่อมมีแต่ความสุขและภาคภูมิใจที่ตนเองเกิดในตระกูลที่มีความสุจริตเป็นที่ตั้ง

   ดังนั้นคนที่ตั้งใจทำความดี ประกอบอาชีพด้วยความสุจริต ไม่ถือเนื้อถือตัวในการทำความดี ฝึกกายของตนให้ไม่มีเงื่อนไขในการทำความดีเหมือนผ้าเช็ดเท้าได้เช่นนี้ ย่อมมีแต่ความสงบเย็นใจอยู่ภายใน เป็นความภาคภูมิใจของคู่ชีวิตและเป็นบุคคลตัวอย่างของลูกหลานได้ นี่คือคาถาป้องกันการหย่าร้างเป็นชั้นที่ 3

    4) ใจประดุจแผ่นดิน หมายถึง การรักษาใจให้หนักแน่นมั่นคงในการทำความดีโดยไม่มีข้อแม้เงื่อนไข และไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคใด ๆ ทั้งสิ้น

   ปู่ย่าตาทวดหยิบยกธรรมะข้อนี้ขึ้นมา ก็เพราะท่านซาบซึ้งใจดีว่า ในชีวิตของคนเราทั้งๆ ที่ตั้งใจทำความดีอย่างสุดความรู้ความสามารถที่ตนเองมีอยู่ แต่ก็มีบางครั้งต้องเจอกับปัญหารุนแรงที่เกินกว่าจะอดทนไหว แต่ก็ต้องอดทนไว้ให้ได้ พูดง่าย ๆ คือ แม้ทนไม่ได้ก็ต้องทนให้ได้

    จากความจริงในข้อนี้เอง ไม่ว่าจะประสบกับสิ่งที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจก็ตาม เมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ต้องหัดทำใจให้สงบ ไม่หวั่นไหวไปกับความไม่แน่นอนของชีวิต รู้จักตั้งสติให้เป็น เหมือนอย่างกับแผ่นดินที่หนักแน่นไม่หวั่นไหวกับของหอมหรือของเหม็นที่ราดลงไป

  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เคยตรัสถึงความสำคัญของการรักษาใจหนักแน่นมั่นคงเหมือนแผ่นดินกับพระราหุลว่า

    "แผ่นดินนี้ ใครเอาน้ำหอมไปรดไปราดมัน มันดีใจไหม ไม่ดีใจ มันก็เฉย ๆ เอาของเหม็นไปรดไปราด มันก็ไม่ทุกข์ใจ มันเฉย ๆ

   ราหุล...เธอทำใจให้ได้อย่างนั้นแหละ ใครมาทำอะไร เธอก็อย่าไปเอาเรื่องเอาราวกับเขา ตั้งใจปฏิบัติธรรมของเธอไป แล้วเธอจะหมดกิเลสได้เร็ว"

    นั่นก็หมายความว่า ยิ่งประสบทุกข์มากเท่าไร ยิ่งต้องทำใจให้ งบหนักแน่นถ้าเรามีจิตใจที่ งบ ทุกข์มากมายเพียงใดก็กัดกินจิตใจให้ละลายลงไปไม่ได้

   ในทำนองเดียวกัน ยิ่งประสบสุขมากเท่าไร ยิ่งต้องทำใจให้สงบเช่นกัน อย่าดีใจจนเหลิงเดี๋ยวจะกลายเป็นหลงลืมตัว คิดว่าวิเศษกว่าชาวบ้าน

  เพราะฉะนั้นในคราวทุกข์และคราวสุขมากเท่าไร ยิ่งต้องทำใจให้สงบหนักแน่นเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังประสบทุกข์และประสบสุขได้อย่างทันท่วงที

    แต่เนื่องจากใจของคนเราส่วนใหญ่ไม่เหมือนแผ่นดิน แต่เหมือนขี้ผึ้งลนไฟมันอ่อนปวกเปียก ๆ เครียดขึ้งได้ง่าย พอเจอความทุกข์ที่ไม่ได้คาดหมาย ไม่ทันตั้งตัว ก็มักจะหมดอาลัยตายอยากสร้างทุกข์ซ้ำเติมตนเองเข้าไปอีกสารพัด บางทีก็ประชดประชันชีวิตด้วยการทำชีวิตตนเองให้แย่หนักลงไป ยิ่งเพิ่มความทุกข์ให้กับตนเองเข้าไปอีก

   คนที่ตกอยู่ในภาวะแบบนี้ ย่อมมีความรู้สึกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ มันดูสิ้นหวังไปหมด ความเครียด ความกลุ้มกลัด ความกดดันสารพัดต่าง ๆ ที่ตนเองสร้างขึ้นเองในจิตใจมันโหมกระหน่ำเข้ามาทุกทิศทาง พาใจให้เกิดความทุกข์ทับถมเพิ่มขึ้นไปอีก บางคนถึงกับล้มป่วยอาเจียนโลหิตออกมาเป็นชาม ๆ ก็มี และบางคนก็ถึงกับจับแง่คิดผิด ลงมือปลิดชีวิตตนเองไปก็มี

   ปู่ย่าตาทวดของเรา ท่านไม่อยากให้เราทำใจไม่ได้ในคราวที่เจอกับความไม่แน่นอนของชีวิตอย่างไม่ทันตั้งตัว ท่านจึงได้หาข้อคิดสารพัดมาสอนให้เรารู้จักฝึกจิตใจให้เตรียมพร้อมกับการยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นให้ได้ตลอดเวลา เพราะว่า ทุกยุคทุก มัยมาแล้วสิ่งที่แน่นอนในโลกนี้ คือความไม่แน่นอน

   ถ้าหากใครไม่หัดทำใจไว้ล่วงหน้า ไม่หัดมอง ภาพความจริงของโลกใบนี้ให้ออกพอถึงคราวที่เจอความสูญเสียอย่างไม่คาดคิด จิตใจก็อาจจะรับไม่ไหว ดังนั้น เราจึงต้องฝึกทำใจให้เหมือนแผ่นดินให้เป็นเสียแต่เนิ่น ๆ ด้วยการพิจารณาความจริงที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้

    สิ่งที่ต้องเตรียมใจก็คือ ถ้าความผิดหวังมาถึงเราแล้วอย่างไม่ทันตั้งตัว ทำให้เกิดความตกใจ หวาดกลัว กลุ้มกลัด เราก็ต้องพิจารณาถึงความเป็นจริงในโลกนี้ว่าไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืนได้ตลอดกาล มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมไปเป็นธรรมดา แม้แต่ตัวเราเองนี้ ก็หนีความจริงนี้ไปไม่พ้น

   ปู่ย่าตาทวดท่านชี้แนะหนทางปฏิบัติไว้ว่า คนที่จะทำใจให้หนักแน่นประดุจแผ่นดินได้ต้องเข้าใจก่อนว่า โลกมนุษย์ของเราใบนี้มีทั้งสมหวังและผิดหวังเกิดขึ้นตลอดเวลา เพียงแต่ว่าสองสิ่งนี้อะไรจะมาถึงเราก่อนหลังเท่านั้นเอง

 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนว่าสิ่งที่ทำให้คนเราสมหวังและผิดหวังในโลกนี้มีอยู่ 8 อย่าง เรียกว่า "โลกธรรม 8" แบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งทำให้ "จิตไหว" และอีกฝ่ายหนึ่งทำให้ "จิตหวั่น"

    จิตไหว คือ ความคิดปรารถนาอยากได้สิ่งที่รักและสิ่งที่ชอบใจมี 4 อย่าง ได้แก่

1) ลาภ คือ การได้ผลประโยชน์ที่ชอบใจ เช่น ได้บ้าน ได้รถยนต์ ได้สามีภรรยาได้ที่ดิน ได้เพชรนิลจินดาต่าง ๆ
2) ยศ คือ การได้รับตำแหน่ง ฐานะ ได้อำนาจ ได้ความเป็นใหญ่เป็นโต
3) สรรเสริญ คือ การได้ยินคำชื่นชม คำยกย่อง คำสดุดีที่คนอื่นให้เรา
4) สุข คือ ได้รับความสบายกายสบายใจ ความเบิกบานร่าเริง ความบันเทิงใจ

    ทั้ง 4 อย่างนี้ เป็นสิ่งที่คนทั่วไปชอบ แม้ไม่มีก็คิดหา ครั้นหาได้แล้วก็คิดหวงหวงมาก ๆ เข้าก็ห่วง ห่วงมาก ๆ เข้าก็หึง การที่จิตมีอาการหาหวงห่วงหึง อย่างนี้เรียกว่า "ใจไหว"

    จิตหวั่น คือ ความคิดหวาดหวั่นกังวลว่าตนเองจะสูญเสีย หรือต้องพบเจอสิ่งที่ไม่ชอบใจ มี 4 อย่าง ได้แก่

1) เสื่อมลาภ คือ ผลประโยชน์ที่ได้มาแล้วเสียไป เช่น เสียเงิน เสียที่อยู่เสียลูกรัก ภรรยาตายจาก
2) เสื่อมยศ คือ ถูกลดความเป็นใหญ่ ถูกถอดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดอำนาจ
3) นินทา คือ ถูกตำหนิติเตียน ทั้งที่ต่อหน้าหรือลับหลัง
4) ทุกข์ คือ ได้รับความทุกข์ทรมานทั้งทางกายและทางใจ

   ทั้ง 4 ประการนี้ เป็นเรื่องที่คนเราไม่ชอบ ไม่ปรารถนาจะให้เกิดขึ้นกับตนเองเมื่อยังมาไม่ถึง จิตก็หวั่นกลัวว่าสิ่งเหล่านี้จะมา เมื่อมาแล้ว ก็ภาวนาว่าเมื่อไรจะไปเสียทีเมื่อไปแล้วก็ยิ่งหวั่นกลัวว่า จะกลับมาอีก

   เมื่อชีวิตมนุษย์เรา มีทั้งสิ่งที่ทำให้จิตไหว และจิตหวั่นอย่างนี้ ปู่ย่าตาทวดจึงได้สอนให้เรารู้เท่าทันกับ ภาพความเป็นจริงของสถานการณ์ชีวิต ด้วยการทำภาวนาฝึกจิตให้ งบไม่หวั่นไหวในโลกธรรม 8

    วัตถุประสงค์ของการฝึกจิตภาวนา ก็เพื่อให้ใจคุ้นเคยกับความสงบภายในเป็นปกติ

   เมื่อเราต้องพบกับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ตกทุกข์ได้ยาก จิตก็ไม่หวั่นมีสติค้ำยันใจเอาไว้ได้ และเมื่อเราต้องพบกับความได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุข จิตก็ไม่ไหวมีสติสอนตนเองไม่ให้ลุ่มหลงไปกับมัน

  คนที่มีสติทั้งยามทุกข์และยามสุขเช่นนี้ เพราะเขาทำภาวนาฝึกจิตให้ใจมั่นคงประดุจแผ่นดิน เพราะเมื่อใจสงบแล้วย่อมรู้เท่าทันว่า โลกธรรม 8 ที่เกิดขึ้นนั้นไม่เที่ยง ไม่จีรังยั่งยืนอะไร ลาภมีได้ก็เสื่อมได้ ยศตำแหน่งใหญ่โต ก็ไม่ใช่ของเราตลอดไปสรรเสริญ นินทาสุขทุกข์ ทุกคนต้องพบทั้งนั้น และในที่สุดก็ต้องเสื่อมหายไปเป็นธรรมดาตามกฎไตรลักษณ์

    กฎไตรลักษณ์ คือ ความจริงที่เป็นลักษณะประจำตัวของทุกสรรพสิ่งในโลกนี้

  ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้มีคุณสมบัติในตนเองทั้งนั้น ทองคำมีสีสุกอร่ามวาววับ เพชรมีความแข็งแกร่ง กระจกมีความใสใช้สะท้อนเงาออกมาได้ คนเราก็มีความนึกคิดจิตใจ แต่ไม่ว่าจะสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม ล้วนมีลักษณะ 3 อย่างเหมือนกัน นั่นคือ

   1) อนิจจัง หมายถึง ความไม่เที่ยง ไม่หยุดอยู่กับที่ มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆตลอดเวลา เช่น คนเราเมื่อวานกับวันนี้ไม่เหมือนกัน เปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อย ๆ เป็นธรรมดา

   2) ทุกขัง หมายถึง ความเป็นทุกข์ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเป็นทุกข์ร้องไห้น้ำตาตกเท่านั้น แต่หมายถึงคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องแตก ลายไปเป็นธรรมดา เพราะเมื่อโลกไม่เที่ยงต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ แล้ว จุดสิ้นสุดของการเปลี่ยนแปลงก็คือ การแตก ลายมลายไปแม้แต่โลกที่เราอาศัยอยู่นี้ ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งก็ต้องแตกดับทำลายไปเป็นธรรมดา

  3) อนัตตา หมายถึง ความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของใคร หาตัวตนที่แท้จริงไม่ได้ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเรา เช่น เราห้ามความแก่ ความเจ็บ ความตาย ให้เกิดขึ้นแก่เราไม่ได้ แม้แต่ตัวเราที่เราคิดว่าเป็นของเรา เมื่อนำมาแยกธาตุกันจริง ๆ แล้ว เราก็พบเพียงเลือดเนื้อ กระดูก เอ็น หนัง และอวัยวะอื่น ๆ อีกสารพัดที่ประกอบกันขึ้นมา หาตัวจริง ๆ ของเราไม่เจอ มองเห็นเป็นตัวเราอยู่ได้แต่เพียงชั่วคราว พอถึงเวลาก็มลายหายไป ไม่ใช่ตัวตนที่ยั่งยืนไปตลอดกาล

   คนทั้งโลกมองไม่เห็นไตรลักษณ์ในสรรพสิ่ง จึงลุ่มหลง ยินดียินร้าย หวั่นไหวไปในโลกธรรม 8 ประการ จึงต้องตกอยู่ในห้วงทุกข์ตลอดเวลา

  แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็น ทรงรู้ในความจริงของสรรพสิ่งข้อนี้ดี จึงมาสอนให้ชาวโลกรู้จักการทำภาวนาให้ใจสงบนิ่งเหมือนแผ่นดินที่ไม่หวั่นไหวไปกับโลกธรรมทั้งปวง

    ฉะนั้น การที่ปู่ย่าตาทวดสอนให้เรารู้จักทำใจให้หนักแน่นเหมือนแผ่นดินนั้น ก็ เพราะท่านมองโลกและชีวิตมาถึงจุดของความเป็นไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงนี้เอง เพราะโลกธรรม 8 ประการ ไม่ว่าเราจะได้หรือไม่ได้อย่างไรก็ตาม ตัวของเราเองก็ต้องตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์อยู่ดีสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเราก็คือ ต้องฝึกทำใจให้สงบพร้อมพบกับความไม่แน่นอนของชีวิตอยู่ตลอดเวลา เพราะเมื่อทำใจได้อย่างนี้แล้ว หากเกิดสิ่งใดที่ไม่คาดคิดขึ้นกับชีวิต ก็จะสามารถทำใจได้เป็น ทำ ติกลับคืนมาได้เร็ว และสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ในโลกของความเป็นจริง เพราะทั้งสามี ภรรยา ลูกหลาน ล้วนตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์ที่มีความไม่แน่นอนเป็นความแน่นอนเช่นเดียวกับตัวเราทั้งหมดนั่นเอง

   คนที่มองเห็นความจริงของชีวิต และเพียรพยายามรักษาใจให้หนักแน่นไม่หวั่นไหวในโลกธรรมได้ เหมือนแผ่นดินไม่สะทกสะท้านหวั่นไหวในของเหม็นและของหอมเช่นนี้ ย่อมสามารถยกระดับศีลธรรมในจิตใจให้สูงส่งขึ้นไปได้อีกมาก และนี่คือคาถาป้องกันการหย่าร้างเป็นชั้นที่ 4

   สรุป การประคับประคองชีวิตแต่งงานไปให้ได้ตลอดรอดฝังนั้น แท้จริงแล้วเป็นเรื่องของการยกระดับคุณธรรมของตนเองและทุกคนในครอบครัวให้เพิ่มพูนไปด้วยกัน โดยต้องอาศัยองค์ประกอบ 4 ประการ ได้แก่

1) ต้องพึ่งตนเองให้ได้ก่อน
2) ต้องมีหลักการคัดเลือกคนมาเป็นคู่ชีวิต
3) ต้องมีพี่เลี้ยงในการประคับประคองชีวิตคู่
4) ต้องรู้จักขัดเกลาจิตใจให้งาม

    ทั้ง 4 ประการนี้ล้วนเป็นหลักการที่ปู่ย่าตาทวดให้ไว้ เพื่อเป็นแนวทางในการยกระดับคุณธรรมตนเองให้สูงขึ้นตามลำดับ ๆ เพราะการแต่งงานนั้น เมื่อตัดสินใจร่วมชีวิตเป็นคู่ครองกันแล้ว มีหน้าที่และการงานอีกมากรออยู่ข้างหน้า บางอย่างแม้ทนไม่ไหว ก็ต้องทนให้ไหวหากยกระดับคุณธรรมในจิตใจให้รองรับหน้าที่การงานของชีวิตแต่งงานได้ไม่พอแล้ว ก็ยากที่จะไปได้ตลอดรอดฝัง

  ดังนั้น เมื่อชีวิตการแต่งงานก้าวมาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ชีวิตคู่ของคนสองคนจึงเหลืออยู่สองเรื่องหลักที่ต้องฝึกฝนกันต่อไป นั่นคือ อดทนต่อไปให้ได้ และทำใจให้สงบกับทุกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

    ครอบครัวใดก็ตามที่ทั้งสามีภรรยา หรือสมาชิกในวงศ์ตระกูลถือปฏิบัติตามหลักธรรมตามที่ปู่ย่าตาทวดมอบให้เป็นข้อปฏิบัติร่วมกันอย่างนี้ การกระทบกระทั่งในครอบครัวและวงศ์ตระกูลก็จะไม่เกิดขึ้น ต่างคนต่างก็ยกระดับความดีในจิตใจให้สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ปัญหาการหย่าร้างย่อมถูกกำจัดไปในชีวิตสามีภรรยา ลูกย่อมมีที่พึ่งและต้นแบบทางจิตใจ ความสามัคคีในบ้านก็จะมีมาก คุณภาพชีวิตทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจย่อมดีตามจิตใจที่งดงามไปด้วยและถ้าทุกครอบครัวในประเทศไทยทำได้เช่นนี้ ย่อมส่งผลดีต่อคุณภาพของประชากรไทยในโลกนี้อย่างแน่นอน

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 001 หลักการสร้างความสุขในครอบครัว
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.047320020198822 Mins