คลองบางอีแท่น
คลองบางอีแท่นนี้ มีความหมายต่อหลวงพ่อวัดปากน้ำ ตรงที่เป็นสถานที่ที่ ทำให้ท่านตัดสินใจพลิกชีวิตตนเองออกบวช เพื่อแสวงหาธรรม ดังที่เล่า ไว้แล้วในตอนที่สาม เรื่องพ่อค้าเรือข้าว
ตามรอย ตอนนี้จึงขอเสนอสถานที่อยู่ของคลองบางอีแท่น ว่าอยู่ที่ใด ของประเทศไทยในเวลานี้
ตามหลักฐานบันทึกประวัติชีวิต ที่เขียนโดยหลวงพ่อวัดปากน้ำได้เล่าไว้ว่า
"ในระหว่างขายข้าว แล้วนำเรือเปล่ากลับบ้าน เข้าลัดที่คลองบางอีแท่น เหนือตลาดใหม่ แม่น้ำนครไชยศรี จังหวัดนครปฐม ในลัดนี้ไม่สู้ไกลนัก แต่พวกโจรชุกชุม..."
คลองบางอีแท่น เป็นคลองลัดของแม่น้ำท่าจีน หรือแม่น้ำนครชัยศรี ซึ่งเป็นชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งของแม่น้ำท่าจีน ในช่วงที่ผ่านแถบ อ.นครชัยศรี
คลองลัดเป็นคลองที่ช่วยให้ไม่ต้องเดินเรืออ้อมไปตามคุ้งน้ำ ซึ่งเป็นการช่วยย่นระยะเวลาในการเดินเรือได้มาก
สภาพของคลองลัดนั้น ในบางคลองนานปีผ่านไป คลองลัดก็จะกลายเป็นแม่น้ำ เพราะสายน้ำเดินทางในคลองลัด ที่ขุดใหม่ได้สะดวกกว่า จึงกัดเซาะตลิ่งให้กว้างขึ้น กลายเป็นแม่น้ำส่วนแม่น้ำสายเดิมกลายเป็นคลองแทน เช่น คลองอ้อม คลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ในปัจจุบันนี้ เดิมก็คือสายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เมื่อขุดคลองลัดขึ้น แม่น้ำสายเดิมก็กลายเป็นคลอง
พิจารณาดูตามแผนที่ที่ประกอบมาด้วยจะพบว่าปากคลองอ้อมถึงปากคลอง บางกรวยช่วงแม่น้ำที่ผ่านท่าน้ำนนท์ ในอดีตคือคลองลัดปัจจุบันกลายเป็นแม่น้ำแล้ว
ปากคลองบางกอกน้อย ถึงปากคลองบางกอกใหญ่ช่วงแม่น้ำที่ผ่านหน้าวัดพระเชตุพน ในอดีตคือคลองลัดที่ขุดขึ้นในสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราชมีความกว้าง ที่สันนิษฐานกันไว้เพียงไม่เกิน ๖ วา ปัจจุบันกลายเป็นแม่น้ำแล้ว
คลองลัดที่ชื่อว่า คลองบางอีแท่น ซึ่งเป็นเส้นทางลัดของแม่น้ำท่าจีน หากไม่บันทึกเอาไว้ในตอนนี้ นานปีผ่านไป ลำคลองก็อาจจะเปลี่ยน ภาพไป ถ้าไม่กลายเป็นแม่น้ำ ก็อาจจะถูกถมเป็นถนน หรือชื่อเรียกเปลี่ยนแปลงไป จนอาจจะตามหาประวัติ หลวงพ่อวัดปากน้ำในช่วงนี้ไม่พบ
ในปัจจุบันนี้หากถามชาวบ้านทั่วไปถึงคลองบางอีแท่น ก็หาคนรู้จักได้ยาก นอกจากคนเดินเรือเท่านั้น จึงจะพอรู้จักส่วนใหญ่ชาวบ้านก็จะรู้จักแต่ทางรถยนต์
ชื่อของคลองบางอีแท่นปัจจุบันในอำเภอสามพราน ก็ระบุชื่อเรียกเป็นทางราชการว่า คลองลัดบางแท่น
คลองบางอีแท่นนี้อยู่ในเขต อ.สามพราน จ.นครปฐม ซึ่งเป็นช่วงที่แม่น้ำท่าจีน (นครชัยศรี) ไหลผ่าน อ.นครชัยศรี มาเข้าสู่ อ.สามพรานช่วงนี้มีคุ้งน้ำอยู่คุ้งหนึ่ง ชาวบ้านเรียกกันว่า คุ้งข้าวเหนียวบูด ด้วยว่าแต่ก่อนนั้นใช้เรือแจวกัน กว่าจะแจวผ่าน คุ้งนี้ไปได้ ก็ทำเอาข้าวเหนียวบูดทีเดียว
ระยะทางของคลองลัดบางแท่น หรือคลองบางอีแท่นนี้ยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร ซึ่งหากเดินเรืออ้อมคุ้งข้าวเหนียวบูดแล้ว มีความยาวถึงประมาณ ๑๐ กิโลเมตร คลองบางอีแท่น จึงช่วยย่นระยะทางได้ถึง ๘ กิโลเมตร
ปัจจุบันหากจะเดินทางไปยังคลองบางอีแท่น โดยทางเรือจะต้องไปลงเรือที่ ท่าน้ำตรงที่ว่าการอำเภอนครชัยศรี ซึ่งหาเรือได้ยาก ไม่ค่อยจะมีเรือให้เช่า หากหาเรือ ที่นี่ไม่ได้ ก็ต้องเลยไปที่งิ้วรายซึ่งพอจะมีเรืออยู่บ้าง
ใช้เวลาเดินทางด้วยเรือหางยาว จากท่าน้ำตรงที่ว่า การอำเภอนครชัยศรี ถึงปากคลองบางอีแท่น เพียงประมาณ ๑๕ นาที เดินเรือเขาไปอย่างช้าๆ ประมาณ ๗ นาที ก็พ้นช่วงคลองบางอีแท่น ไปออกแม่น้ำท่าจีนอีกด้านหนึ่ง
หากจะเดินทางโดยรถยนต์ ก็มีถนนจากที่ว่าการอำเภอนครชัยศรี เลียบแม่น้ำมาจนถึงคลองบางอีแท่น ก็จะพบสะพานปูนเล็กๆ ข้ามคลองบางอีแท่น
สภาพสองข้างคลองบางอีแท่นยังคงเป็นสวนอยู่บ้าง สวนส้มก็มีสวนอื่นๆ ก็มี ตอนที่หลวงพ่อแล่นเรือผ่านไป ขณะนั้นแถวนี้ก็เป็นสวน แต่คลองคงจะแคบกว่าปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันมีความกว้างประมาณ ๓๐ เมตร หลวงพ่ออธิบายสภาพ คลองไว้ในบันทึก ประวัติชีวิตของท่านว่า
"...แต่พอเข้าลัดไปเล็กน้อย ก็มาคิดแต่ในใจของตัวว่า คลองก็เล็กโจรก็ร้าย ท้ายเรือก็เข้าไล่เลี่ยกับฝัง ไม่ต่ำไม่สูงกว่ากันเท่าไรนัก น่าหวาดเสียวอันตราย.....
เมื่อท่านพ้นลัดคลองบางอีแท่นไปแล้ว จึงได้คิดว่าในชีวิตฆราวาส ที่เกิดมาแสวงหาทรัพย์ แล้วก็ไม่ได้อะไร ตายตามๆ กันไปหมด ตัวท่านเองอายุเพียง ๑๙ ปี ตัดสินใจไม่ แสวงหาทรัพย์เหมือนคนรุ่นเก่าๆท่านตัดสินใจแสวงหาธรรมโดยการออกบวช
หลวงพ่อบวชห่มผ้าเหลือง เมื่ออายุย่างเข้า ๒๒ ปี แต่ท่านกล่าวว่า บวชจริงมาเสียแต่อายุ ๑๙ ปีเศษแล้ว เมื่อผ่าน ลัดคลองบางอีแท่นไปนั่นเอง ในครั้งนั้นหลวงพ่อตั้ง จิตอธิษฐาน ว่า
"ขออย่าให้เราตายเสียก่อน ขอให้บวชเสียก่อนเถิด ถ้าบวชแล้ว จะไม่สึกตลอดชีวิต...."
คลองสายนี้ หลายคนก็ผ่าน หลายคนก็พบกับอันตราย แต่มีเพียงคนเดียวที่ได้คิด จนออกบวชและพบธรรมะที่แท้จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และนำมาแนะนำ สั่งสอนให้กับชาวโลก เป็นเพราะบุญบารมีที่ท่านสั่งสมอบรมมานับชาติไม่ถ้วนสอนให้ ท่านได้คิด แม้มีอายุเพียงแค่ ๑๙ ปี ก็ไม่ได้ประมาทมัวเมา ในชีวิตอย่างวัยรุ่นทั่วๆ ไป คิดๆ ดูแล้วก็ยิ่งทำให้เลื่อมใสในหลวงพ่อมากขึ้นไปอีก