สัมมาสังกัปปะ
สัมมาสังกัปปะหรือความดำริชอบนี้ ในสุตตันตะปริยายได้แบ่งออกเป็น 3 ประการ คือ
1. เนกขัมมสังกัปปะ หมายถึง ความดำริที่จะออกจากกามคุณ
2. อพยาบาทสังกัปปะ หมายถึง ความดำริที่จะไม่เป็นผู้ผูกพยาบาทอาฆาต จองเวรสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
3. อวิหิงสาสังกัปปะ หมายถึง ความดำริที่จะไม่เป็นผู้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง
ในมหาชนกชาดกมีเรื่องปรากฏว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อสมัยยังเป็นพระโพธิสัตว์เจ้า บังเกิดเป็นพระยามหาชนกเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ ในเมืองมิถิลามหานครนั้น มีพระชนมายุยืนถึงหมื่นปี ทรงบำเพ็ญทานบารมี ศีลบารมี ขณะครองราชสมบัติอยู่ประมาณพันปี จึงทรงมีพระทัยปรารถนาจะ ละราชสมบัติ เพื่อเสด็จออกผนวชบำเพ็ญเนกขัมมบารมี แต่พระองค์ก็ทรงปรารภกังวลในราชสมบัติทั้งปวงอันมีอยู่ในมิถิลานคร
ทรงพระปริวิตกว่า เมื่อใดหนอข้าพเจ้าจึงจะสามารถละเมืองมิถิลาอันรุ่งเรืองด้วยปราสาทราชมณเฑียร จตุรงคเสนา และประชาราษฎร์ทั้งปวงไปได้ ได้แต่ทรงมีพระดำริเช่นนี้อยู่นานถึงสี่เดือนความดำริเช่นนี้ย่อมได้ชื่อว่า เนกขัมมสังกัปปะ
ครั้นเมื่อพระองค์ผนวชแล้วเสด็จประทับอยู่ในป่า ทรงเจริญกสิณบริกรรมภาวนา จนบรรลุอภิญญาสมาบัติ อพยาบาทสังกัปปะ และอวิหิงสาสังกัปปะ ก็บริบูรณ์ในกาลนั้นสัมมาสังกัปปะอันเป็นโลกิยะ ก็มีแก่พระมหาชนกดังกล่าวแล้ว
อนึ่ง ความดำริในอารมณ์อันเป็นกุศล คือใคร่ที่จะกระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตทั้ง 3 ประการนี้ ย่อมได้ชื่อว่า มิจฉาสังกัปปะ
ส่วนความดำริในอารมณ์อันเป็นกุศล คือปรารถนาจะบำเพ็ญกายสุจริต วจีสุจริต มโน สุจริต ทั้ง 3 ประการนี้ ย่อมได้ชื่อว่าสัมมาสังกัปปะ ดุจดังเรื่องราวของพระเจ้าธรรมาโศกราชผู้เถลิงถวัลยราชสมบัติในเมืองปาตลีบุตร พระองค์เป็นกษัตริย์ผู้มีอำนาจอาชญาแผ่ไพศาลไปสุดแสนไกลทั้งในอากาศและแผ่นดิน เทพยดาทั้งหลายต่างนำเอาผลาผลเครื่องบริโภคทั้งปวงจากป่าหิมพานต์ ไปถวายพระองค์อยู่เป็นเนืองนิจ เทพยดาบางองค์ก็ตักน้ำมาจากสระอโนดาต ถวายพระองค์วันละเจ็ดหาบส่วนนกแขกเต้านั้นก็คาบข้าวสาลีมาจากสระฉัททันตะ ไปถวายวันละเก้าพันเกวียน เรื่องนี้มีรายละเอียดพิสดารปรากฏอยู่ในนิทานชาดกพระยาธรรมาโศกราช
ตั้งแต่นั้นมาสมเด็จพระเจ้าธรรมาโศกราชจึงทรงมีพระราชดำริที่จะบำเพ็ญทาน จึงอาราธนาพระสงฆ์เข้าไปรับจังหันในพระราชวังวันละหกหมื่นรูปทุกวัน ทั้งยังทรงมีพระราชดำริจะใคร่เห็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อจะถวายสักการบูชา จึงทรงมีรับสั่งให้ไปเชิญพระยากาลนาคราชขึ้นมา (จากบาดาล) เพื่อเนรมิตตนให้เหมือนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วทรงกระทำพิธีสักการบูชารวม 7 วัน นอกจากนี้ยังทรงมีพระดำริจะใคร่รู้พระธรรม ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาทั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ จึงโปรด ฯ ให้สร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขึ้นแปดหมื่นสี่พันองค์สำหรับเป็นที่สักการบูชาของมหาชนทั้งปวง เมื่อสร้างพระเจดีย์และวิหารในอโศการาม3 เสร็จแล้ว จึงทรงมีพระราชดำริจัดพิธีฉลองพระวิหารและพระเจดีย์ทั้งแปดหมื่นสี่พันองค์พร้อมกันในวิหารนั้น
ภายหลังต่อมา พระองค์ยังทรงมีพระราชดำริให้มีธรรมทายาทขึ้นในพระพุทธศาสนาจึงโปรดฯ ให้พระมหินทร์ราชกุมารออกผนวชเป็นพระภิกษุ และให้พระสังฆมิตตาราชธิดาออกผนวชเป็นภิกษุณี พระองค์ทรงมีพระราชดำริจะเป็นองค์อุปถัมภกยกย่องพระพุทธศาสนา จึงโปรด ฯ ให้คณะสงฆ์กระทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่สามสำหรับพระองค์เองนั้น ทรงปฏิบัติตนเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา ทรงดำรงอยู่ในไตรสรณคมน์ คือทรงถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงตกแต่งพระราชสาสน์ไปถึงพระเจ้าเทวานัมปิยดิ ในลังกาทวีป ทรงแนะนำให้พระเจ้ากรุงลังกาตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ แล้วทรงมีพระราชดำริส่งพระมหินทเถระไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลังกาทวีป พร้อมทั้งให้อัญเชิญพระมหาโพธิ์ไปปลูกไว้ในลังกาทวีป อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปยังลังกาทวีป พระราชดำริทั้งปวงแห่งพระเจ้าธรรมาโศกราชนี้ ย่อมบังเกิดแต่กุศลจิตของพระองค์ ย่อมได้ชื่อว่าสัมมาสังกัปปะทั้งสิ้น
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 006 แม่บทแห่งธรรม
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree