ธรรมอันทำให้งาม

วันที่ 19 กค. พ.ศ.2560

ธรรมอันทำให้งาม

พุทธธรรมทีปนี 1 , Dhamma , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , ธรรมอันทำให้งาม , ขันติ , โสรัจจะ

       ธรรมอันทำให้งามทั้งกาย วาจา ใจ มี 2 อย่าง คือ

1. ขันติ ความอดทน
2. โสรัจจะ ความเสงี่ยม

      1. ขันติ หมายถึง ความอดทนอดกลั้น ได้แก่ อดทนต่อราคะ โทสะ โมหะที่เกิดขึ้น อดทนต่อคำล่วงเกินด่าว่าของผู้อื่น อดทนต่อความลำบากตรากตรำและความหนาวร้อน อดทนต่อทุกขเวทนาอันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น ย่อมส่งผลให้หน้าตา กิริยา ท่าทาง และคำพูดงดงาม น่าเคารพนับถือ

      ความอดทน มาจากคำว่า ขันติ หมายถึง การรักษาปกติภาวะของตนไว้ได้ ไม่ว่าจะถูกกระทบกระทั่งด้วยสิ่งอันเป็นที่พึงปรารถนาหรือไม่พึงปรารถนาก็ตาม มีความมั่นคงหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน ซึ่งไม่หวั่นไหวไม่ว่าจะมีคนเทอะไรลงไป ของเสีย ของหอม ของสกปรกหรือของดีงามก็ตาม

    งานทุกชิ้นในโลกไม่ว่าจะเป็นงานเล็กงานใหญ่ ที่สำเร็จขึ้นมาได้นอกจากจะอาศัยปัญญาเป็นตัวนำแล้ว ล้วนต้องอาศัยคุณธรรมข้อหนึ่งเป็นพื้นฐานจึงสำเร็จได้ คุณธรรมข้อนั้นคือขันติ

     ถ้าขาดขันติเสียแล้ว จะไม่มีงานชิ้นใดสำเร็จได้เลย เพราะขันติเป็นคุณธรรมสำหรับทั้งต่อต้านความท้อถอยหดหู่ ขับเคลื่อนเร่งเร้าให้เกิดความขยัน และทำให้เห็นอุปสรรคต่าง ๆ เป็นเครื่องท้าทายความสามารถ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ความสำเร็จของงานทุกชิ้น ทั้งทางโลกและทางธรรม คืออนุสาวรีย์ของขันติทั้งสิ้น

      โดยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ยกเว้นปัญญาแล้ว เราสรรเสริญว่าขันติเป็นคุณธรรมอย่างยิ่ง


1.1 ลักษณะของความอดทนที่ถูกต้อง
     1. ทำหูเหมือนหูกระทะ ทำตาเหมือนตาไม้ไผ่ คือ เมื่อถูกคนพาลด่า ก็ทำราวกับว่าไม่ได้ยิน ทำหูเหมือนหูกระทะ เมื่อเห็นอาการยั่วยุก็ทำราวกับว่าไม่ได้เห็น ทำตาเหมือนตาไม้ไผ่ไม่สนใจใยดี ไม่ปล่อยใจให้เศร้าหมองไปด้วย ใส่ใจสนใจแต่ในเรื่องที่จะทำความเจริญให้แก่ตนเอง เช่น เจริญศีลสมาธิ ปัญญาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

     2. เป็นผู้ไม่ดุร้าย คือสามารถข่มความโกรธไว้ได้ ไม่โกรธ ไม่ทำร้ายทำอันตรายด้วยอำนาจแห่งความโกรธนั้น ผู้ที่โกรธง่ายแสดงว่ายังขาดความอดทน มีคำตรัสของท้าวสักกะเป็นข้อเตือนใจอยู่ว่า

      ผู้ใดโกรธตอบผู้ที่โกรธก่อนแล้ว ผู้นั้นกลับเป็นคนเลวกว่าผู้ที่โกรธก่อน ผู้ที่ไม่โกรธต่อบุคคลผู้กำลังโกรธอยู่ ย่อมชื่อว่า เป็นผู้ชนะสงครามอันชนะได้ยากยิ่ง

      3. ไม่ปลูกน้ำตาให้แก่ใคร ๆ คือ ไม่ก่อทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือเจ็บแค้นใจจนน้ำตาไหล ด้วยอำนาจความเกรี้ยวกราดของเรา

     4. มีใจเบิกบานแจ่มใสอยู่เป็นนิตย์ คือ มีปีติอิ่มเอิบใจเสมอ ๆ ไม่พยาบาท ไม่โทษฟ้า โทษฝน โทษเทวดา โทษโชคชะตา หรือโทษใคร ๆ ทั้งนั้น พยายามอดทนทำการงานทุกอย่างด้วยใจเบิกบาน

      ลักษณะความอดทนนั้น โบราณท่านสอนลูกหลานไว้ย่อ ๆ ว่า

ปิดหูซ้ายขวา         ปิดตาสองข้าง
ปิดปากเสียบ้าง       นอนนั่งสบาย

     คนบางคนขี้เกียจทำงาน บางคนขี้เกียจเรียนหนังสือ บางคนเกะกะเกเร พอมีผู้ว่ากล่าวตักเตือนก็เฉยเสีย แล้วบอกว่าตนเองกำลังบำเพ็ญขันติบารมี อย่างนี้เป็นการเข้าใจผิดตีความหมายของขันติผิดไป ขันติไม่ได้หมายถึงการตกอยู่ในสภาพใดก็ทนอยู่อย่างนั้น

        พวกที่จนก็ทนจนต่อไป ไม่ขวนขวายทำมาหากิน จัดเป็นพวกตายด้าน

        พวกที่โง่ก็ทนโง่ไป ใครสอนให้ก็ไม่เอา จัดเป็นพวกดื้อด้าน

        พวกที่ชั่วแล้วก็ชั่วอีกใครห้ามก็ไม่ฟัง จัดเป็นพวกดื้อดึง

        ลักษณะที่สำคัญยิ่งของขันติ คือตลอดเวลาที่อดทนอยู่นั้น จะต้องมีใจผ่องใสไม่เศร้าหมอง

        เราสรุปลักษณะของขันติโดยย่อได้ดังนี้

1. อดทนถอนตัวหรือหลีกเลี่ยงจากความชั่วให้ได้
2. อดทนทำความดีต่อไป
3. อดทนรักษาใจไว้ไม่ให้เศร้าหมอง


1.2 ประเภทของความอดทน
       ความอดทนแบ่งตามเหตุที่มากระทบได้เป็น 4 ประเภท คือ

      1. อดทนต่อความลำบากตรากตรำ เป็นการอดทนต่อสภาพธรรมชาติ ดินฟ้าอากาศ ความหนาว ความร้อน ฝนตก แดดออก ฯลฯ ก็อดทนทำงานเรื่อยไป ไม่ใช่เอาแต่โทษเทวดาฟ้าดิน หรืออ้างเหตุเหล่านี้แล้วไม่ทำงาน

     2. อดทนต่อทุกขเวทนา เป็นการอดทนต่อการเจ็บไข้ได้ป่วย ความไม่ บายกายของเราเอง ความปวด ความเมื่อย ผู้ที่ขาดความอดทนประเภทนี้ เวลาเจ็บป่วยจะร้องครวญครางพร่ำเพ้อรำพัน หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย ผู้รักษาพยาบาลทำอะไรไม่ทันใจหรือไม่ถูกใจ ก็โกรธง่ายพวกนี้จึงต้องป่วยเป็น 2 เท่า คือ นอกจากจะป่วยกายที่เป็นอยู่แล้ว ยังต้องป่วยใจแถมเข้าไปด้วยทำตัวเป็นที่เบื่อหน่ายแก่ชนทั้งหลาย

      3. อดทนต่อความเจ็บใจ เป็นการอดทนต่อความโกรธ ความไม่พอใจ ความขัดใจ อันเกิดจากคำพูดที่ไม่ชอบใจ กิริยามารยาทที่ไม่งาม การบีบคั้นทั้งจากผู้บังคับบัญชาและลูกน้องความอยุติธรรมต่าง ๆ ในสังคม ระบบงานต่าง ๆ ที่ไม่คล่องตัว ฯลฯ

     คนทั้งหลายในโลกแตกต่างกันมากโดยอัธยาศัยใจคอ โอกาสที่จะได้อย่างใจเรานั้นอย่าพึงคิด เพราะฉะนั้นเมื่อเริ่มเข้าหมู่คนหรือมีคนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ให้เตรียมขันติไว้ต่อต้านความเจ็บใจ

      4. อดทนต่ออำนาจกิเลส เป็นการอดทนต่ออารมณ์อันน่าใคร่ น่าเพลิดเพลินใจ

     อดทนต่อสิ่งที่เราอยากทำแต่ไม่สมควรทำ เช่น อดทนไม่เที่ยวเตร่ ไม่เล่นการพนัน ไม่เสพสิ่งเสพติด ไม่รับสินบน ไม่คอร์รัปชั่น ไม่ผิดลูกเมียเขา ไม่เห่อยศ ไม่บ้าอำนาจ ไม่ขี้โอ่ ไม่ขี้อวด เป็นต้น

     การอดทนข้อนี้ทำได้ยากที่สุด โบราณเปรียบไว้ว่า เขาด่าแล้วไม่โกรธ ว่ายากแล้ว เขาชมแล้วไม่ยิ้ม ยากยิ่งกว่า


1.3 วิธีฝึกความอดทน
    1. ต้องคำนึงถึงหิริโอตตัปปะให้มาก เมื่อมีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปอย่างเต็มที่ ความอดทนย่อมจะเกิดขึ้น ดังตัวอย่างในเรื่องของพระเตมีย์ใบ้

    เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ มีอยู่ชาติหนึ่งพระองค์เกิดเป็นโอรสกษัตริย์นามว่า พระเตมีย์ ขณะอายุได้ 67 ขวบ ได้เห็นพระราชบิดาสั่งประหารโจรโดยใช้ไฟครอกให้ตาย ด้วยบุญบารมีที่ทำมาดีแล้ว ทำให้พระเตมีย์ระลึกชาติได้ว่าภพในอดีตพระองค์ก็เคยเป็นกษัตริย์ และก็เคยประหารโจร ทำให้ต้องตกนรกอยู่ช้านาน จึงคิดว่า ถ้าชาตินี้เราต้องเป็นกษัตริย์อีก ก็ต้องฆ่าโจรอีก แล้วก็จะตกนรกอีก

      ตั้งแต่วันนั้นมา พระเตมีย์จึงแกล้งทำเป็นใบ้ ทำเป็นง่อยเปลี้ยเสียขา ไม่ขยับเขยื้อนร่างกาย พระราชบิดาจะเอาขนมเอาของเล่นมาล่อ ก็ไม่ นใจ จะเอามดมาไต่ไรมากัด เอาไฟมาเผารอบตัวให้ร้อน เอาช้างมาทำท่าจะแทงก็เฉย ครั้นถึงวัยหนุ่ม เอาสาว ๆ สวย ๆ มาล่อก็เฉย เพราะคำนึงถึงภัยในนรก หิริโอตตัปปะเกิดขึ้นเต็มที่ จึงมีความอดทนอยู่ได้

    นานวันเข้าพระราชบิดาเห็นว่า ถ้าเอาพระเตมีย์ไว้ก็จะเป็นกาลกิณีแก่บ้านเมือง จึงสั่งให้คนนำไปประหารเสียนอกเมือง เมื่อออกมาพ้นเมืองแล้ว พระเตมีย์ก็แสดงตัวว่าไม่ได้พิการแต่อย่างใด มีพละกำลังสมบูรณ์พร้อม แล้วก็ออกบวช ต่อมาพระราชบิดา ญาติพี่น้อง ประชาชนก็ได้ออกบวชตามไปด้วย และได้สำเร็จฌานสมาบัติกันเป็นจำนวนมาก

      2. ต้องรู้จักเชิดอารมณ์ที่มากระทบนั้นให้สูงขึ้น คือนึกเสียว่าที่เขาทำแก่เราอย่างนั้นน่ะดีแล้ว เช่น เขาด่าก็นึกเสียว่าดีกว่าเขาตี เขาตีก็นึกเสียว่าดีกว่าเขาฆ่า เมียที่มีชู้ยังดีกว่าเมียที่ฆ่าผัว ผัวมีเมียน้อยก็ยังดีกว่าผัวที่ฆ่าเมียเพราะเห็นแก่หญิงอื่น ถ้าเปรียบกับการชกมวยการสู้แบบนี้ก็คือการหลบหมัดของคู่ต่อสู้ โดยวิธีหมอบลงต่ำให้หมัดเขาคร่อมหัวเราไปเสีย เราไม่เจ็บตัว ตัวอย่างในเรื่องนี้ ดูได้จากพระปุณณเถระ


มองโลกในแง่ดีเพราะมีความอดทน
     พระปุณณะเดิมเป็นชาวสุนาปรันตะ ไปค้าขายที่เมืองสาวัตถี ได้ฟังเทศน์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใสศรัทธาจึงออกบวช ครั้นบวชแล้วการทำสมาธิภาวนาไม่ได้ผล เพราะไม่คุ้นกับสถานที่ ท่านคิดว่าภูมิอากาศที่บ้านเดิมของท่านเหมาะกับตัวท่านมากกว่า จึงทูลลาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสถามว่า "เธอแน่ใจหรือปุณณะคนชาวสุนาปรันตะนั้นดุร้ายมากนัก ทั้งหยาบคายด้วย เธอจะทนไหวหรือ"

        "ไหวพระเจ้าข้า"

        "นี่ปุณณะ ถ้าคนพวกนั้นเขาด่าเธอ เธอจะมีอุบายอย่างไร"

        "ข้าพเจ้าก็คิดว่า ถึงเขาจะด่าก็ยังดีกว่าเขาตบต่อยด้วยมือ พระเจ้าข้า"

        "ถ้าเผื่อเขาต่อยเอาล่ะ ปุณณะ"

        "ก็ยังดีพระเจ้าข้า "ดีกว่าเขาเอาก้อนดินขว้างเอา"

        "ก็ถ้าเขาเอาก้อนดินขว้างเอาล่ะ"

        "ข้าพระองค์ก็จะคิดว่า ก็ยังดีพระเจ้าข้า ดีกว่าเขาเอาไม้ตะพดตีเอา"

        "ถ้าเผื่อเขาหวดด้วยตะพดล่ะ"

        "ก็ยังดีพระเจ้าข้า ดีกว่าถูกเขาแทงหรือฟันด้วยหอกดาบ"

        "เอาล่ะ ถ้าเผื่อคนพวกนั้นเขาจะฆ่าเธอด้วยหอกด้วยดาบล่ะ ปุณณะ"

        "ข้าพระองค์ก็จะคิดว่า มันก็เป็นการดีเหมือนกันพระเจ้าข้า"

        "ดีอย่างไร ปุณณะ"

      "ก็คนบางพวกที่คิดอยากตาย ยังต้องเสียเวลาเที่ยวแสวงหาศัสตราวุธมาฆ่าตัวเอง แต่ข้าพระองค์มีโชคดีกว่าคนพวกนั้น ไม่ต้องเสียเวลาไปเที่ยวหาศั ตราวุธอย่างเขา"

       "ดีมาก ปุณณะ เธอคิดได้ดีมาก เป็นอันตกลง เราอนุญาตให้เธอไปพำนักทำความเพียรที่ตำบลสุนาปรันตะได้"

     พระปุณณะกลับไปเมืองสุนาปรันตะแล้ว ทำความเพียร ในไม่ช้าใจก็หยุดนิ่ง เข้าถึงพระธรรมกายไปตามลำดับ จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

        นี่คือเรื่องของพระปุณณะ นักอดทนตัวอย่าง ซึ่งอดทนได้โดยวิธีเชิดอารมณ์ที่มากระทบนั้นให้สูงขึ้น

      3. ต้องฝึกสมาธิมาก ๆ เพราะทั้งขันติและสมาธิเป็นคุณธรรมที่เกื้อหนุนกัน ขันติจะหนักแน่นก็ต้องมีสมาธิมารองรับสมาธิจะก้าวหน้าก็ต้องมีขันติเป็นพื้นฐาน ขันติอุปมาเหมือนมือซ้ายสมาธิอุปมาเหมือนมือขวาจะล้างมือ มือทั้งสองข้างจะต้องช่วยกันล้าง จึงจะสะอาดดี

     มีตัวอย่างของผู้มีความอดทนเป็นเลิศอีกท่านหนึ่งคือ พระโลม นาคเถระ ท่านเป็นพระที่ทำสมาธิจนสามารถระลึกชาติได้แต่ยังไม่หมดกิเล วันหนึ่งท่านนั่งสมาธิอยู่กลางแจ้ง พอถึงตอนเที่ยงแดดส่องเหงื่อไหลท่วมตัวท่าน พวกลูกศิษย์จึงเรียนท่านว่า "ท่านขอรับ นิมนต์ท่านนั่งในที่ร่มเถิด อากาศเย็นดี" พระเถระกล่าวตอบว่า "คุณ ฉันนั่งในที่นี้ เพราะกลัวต่อความร้อนนั่นเอง" แล้วนั่งพิจารณาอเวจีมหานรกเรื่อยไป เพราะเคยตกนรกมาหลายชาติ เห็นว่าความร้อนในอเวจีที่เคยตก ร้อนกว่านี้หลายร้อยหลายพันเท่า ท่านจึงไม่ลุกหนี ตั้งใจทำสมาธิต่อไป จนในที่สุดได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

      พวกเราก็ควรนำมาเป็นข้อคิดเตือนใจว่าที่อ้างร้อนนักหนาวนัก ขี้เกียจภาวนา ระวังจะไปร้อนหมกไหม้ในอเวจี หนาวเสียดกระดูกในโลกันต์


1.4 อานิสงส์ของความอดทน

1. ทำให้กุศลธรรมทุกชนิดเจริญขึ้นได้
2. ทำให้เป็นคนมีเสน่ห์ เป็นที่รักของคนทั้งหลาย
3. ทำให้ตัดรากเหง้าแห่งความชั่วทั้งหลายได้
4. ทำให้อยู่เย็นเป็นสุขทุกอิริยาบถ
5. ชื่อว่าได้เครื่องประดับอันประเสริฐของนักปราชญ์
6. ทำให้ศีลและสมาธิตั้งมั่น
7. ทำให้ได้พรหมวิหารโดยง่าย
8. ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย
ฯลฯ

บุคคลอดทนต่อคำของผู้สูงกว่าได้ เพราะความกลัว
อดทนถ้อยคำของผู้เสมอกันได้ เพราะเหตุแห่งความแข่งดี
ส่วนผู้ใดในโลกนี้ อดทนต่อคำของคนเลวกว่าได้
สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวว่า ความอดทนนั้นสูงสุด


1.5 ขันติอยู่ที่ไหน
      ในอดีตกาล พระเจ้ากาสีพระนามว่า กลาปุ ทรงครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสีในกาลนั้นพระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ มีทรัพย์สมบัติ 80 โกฏิ เป็นมาณพชื่อว่า กุณฑลกุมาร ครั้นพอเจริญวัยแล้วได้เล่าเรียนศิลปะทุกอย่างในนครตักกศิลา แล้วรวบรวมสมบัติตั้งตัว

     เมื่อบิดามารดาล่วงลับไป จึงมองดูกองทรัพย์แล้วคิดว่า ญาติทั้งหลายของเราทำทรัพย์ให้เกิดขึ้นแล้วไม่ถือเอาไปเลย แต่เราควรจะถือเอาทรัพย์นั้นไป จึงจัดแจงทรัพย์ทั้งหมดให้ทรัพย์แก่คนที่ควรให้ ด้วยอำนาจการให้ทาน แล้วเข้าไปยังป่าหิมพานต์เพื่อบวช และมีชีวิตอยู่ด้วยการฉันผลไม้อยู่เป็นเวลาช้านาน เพื่อต้องการจะเสพร เค็มและรสเปรี้ยว จึงไปยังถิ่นมนุษย์ถึงนครพาราณสีแล้วอยู่ในพระราชอุทยาน

       วันรุ่งขึ้น เที่ยวภิกขาจารไปในนคร พอไปถึงประตูนิเวศน์ของเสนาบดี เสนาบดีเลื่อมใสในอิริยาบถของพระโพธิสัตว์นั้น จึงให้เข้าไปยังเรือน ให้บริโภคโภชนะที่เขาจัดไว้เพื่อตนแล้วให้พักอยู่ในพระราชอุทยาน

      อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้ากลาปุทรงมึนเมาน้ำจัณฑ์มีนางนักสนมห้อมล้อม เสด็จไปยังพระราชอุทยานด้วยพระอิ ริยยศอันยิ่งใหญ่ ให้ลาดพระที่บรรทมบนแผ่นศิลาอันเป็นมงคล แล้วบรรทมเหนือตักของหญิงที่ทรงโปรดคนหนึ่ง หญิงนักฟ้อนทั้งหลายผู้ฉลาดในการขับร้อง การประโคม และการฟ้อนรำ ก็ประกอบการขับร้อง เป็นต้น

     พระเจ้ากลาปุได้มีสมบัติดุจของท้าวสักกเทวราช ก็ทรงบรรทมหลับไป ลำดับนั้นหญิงเหล่านั้นพากันกล่าวว่า พวกเราประกอบการขับร้อง เพื่อประโยชน์แก่พระราชา พระราชากลับทรงบรรทมหลับไปเสีย ประโยชน์อะไรแก่พวกเราด้วยการขับร้องเป็นต้น จึงทิ้งเครื่องดนตรีมีพิณเป็นต้นไว้ในที่นั้น ๆ เอง แล้วหลีกไปยังพระราชอุทยาน

      ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์นั่งอยู่ ดุจช้างซับมันตัวประเสริฐ ยังเวลาให้ล่วงไปด้วยความสุขในบรรพชาอยู่ ณ โคนต้นสาละมีดอกบานสะพรั่งในพระราชอุทยานนั้น ลำดับนั้นหญิงเหล่านั้นหลีกไปยังพระราชอุทยานแล้วเที่ยวไปอยู่ ได้เห็นพระโพธิสัตว์นั้นจึงกล่าวกันว่ามาเถิดท่านทั้งหลาย พระผู้เป็นเจ้าของพวกเราเป็นบรรพชิตนั่งอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง พวกเราจักนั่งฟังอะไร ๆ ในสำนักของพระผู้เป็นเจ้านั้น ตราบเท่าที่พระราชายังไม่ทรงตื่นบรรทม จึงได้ไปไหว้นั่งล้อมแล้วกล่าวว่า "ขอท่านโปรดกล่าวอะไร ๆ ที่ควรกล่าวแก่พวกดิฉันเถิด" พระโพธิสัตว์จึงกล่าวธรรมแก่หญิงเหล่านั้น

     ครั้นพระราชาทรงตื่นบรรทมแล้วไม่เห็นหญิงพวกนั้น จึงตรัสว่า "พวกหญิงถ่อยไปไหน" หญิงคนโปรดนั้นกราบทูลว่า "ข้าแต่มหาราช หญิงเหล่านั้นไปนั่งล้อมดาบสรูปหนึ่ง"

    พระราชาทรงกริ้วถือพระขรรค์ได้รีบเสด็จไปด้วยตั้งพระทัยว่า จักตัดหัวของชฎิลโกงนั้นหญิงเหล่านั้นเห็นพระราชาทรงกริ้วกำลังเสด็จมา ในบรรดาหญิงเหล่านั้น หญิงคนที่โปรดมากไปแย่งเอาพระแสงดาบจากพระหัตถ์ของพระราชา ให้พระราชาสงบระงับ พระราชานั้นเสด็จไปประทับยืนในสำนักของพระโพธิสัตว์แล้วตรัสถามว่า "สมณะ แกมีวาทะว่ากระไร "

       "มหาบพิตร อาตมามีขันติวาทะ กล่าวยกย่องขันติ"

       "ที่ชื่อว่าขันตินั้น คืออะไร "

       "คือความไม่โกรธในเมื่อเขาด่าอยู่ ประหารอยู่ เย้ยหยันอยู่"

  พระราชาตรัสว่า "ประเดี๋ยว เราจักเห็นความมีขันติของแก" แล้วรับสั่งให้เรียกเพชฌฆาตผู้ฆ่าโจรมา เพชฌฆาตนั้นถือขวานและแซ่หนามตามจารีตของตน นุ่งผ้ากาสาวะ สวมพวงมาลัยแดง มาถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลว่า "ข้าพระองค์จะทำอะไร พระเจ้าข้า"

      พระราชาตรัสว่า "เจ้าจงจับดาบสชั่วเยี่ยงโจรนี้ ฉุดให้ล้มลงพื้นแล้วเอาแซ่หนามเฆี่ยนสองพันครั้งในข้างทั้งสี่ คือ ข้างหน้า ข้างหลัง และด้านข้าง ๆ ทั้งสองด้าน" เพชฌฆาตนั้นได้กระทำเหมือนรับสั่งนั้น ผิวของพระโพธิสัตว์ขาด หนังขาด เนื้อขาดโลหิตไหล

        พระราชาตรัสถามอีกว่า "เจ้ามีวาทะว่ากระไร ?"

     พระโพธิสัตว์ทูลว่า "มหาบพิตร อาตมามีวาทะยกย่องขันติ ก็พระองค์สำคัญว่าขันติมีในระหว่างหนังของอาตมา ขันติไม่ได้มีในระหว่างหนังของอาตมา มหาบพิตร ก็ขันติของอาตมาตั้งอยู่เฉพาะภายในหทัย ซึ่งพระองค์ไม่อาจแลเห็น"

       เพชฌฆาตทูลถามอีกว่า "ข้าพระองค์จะทำอะไร "

       พระราชาตรัสว่า "จงตัดมือทั้งสองข้างของดาบสโกงผู้นี้"

     เพชฌฆาตนั้นจับขวานตัดมือทั้งสองข้างแค่ข้อมือ พระราชาตรัสกะเพชฌฆาตนั้นว่า "จงตัดเท้าทั้งสองข้าง" เพชฌฆาตก็ตัดเท้าทั้งสองข้าง โลหิตไหลออกจากปลายมือและปลายเท้าเหมือนรดน้ำครั่งไหลออกจากหม้อทะลุฉะนั้น

        พระราชาตรัสถามอีกว่า "เจ้ามีวาทะว่ากระไร "

       พระโพธิสัตว์ทูลว่า "มหาบพิตร อาตมามีวาทะยกย่องขันติ ก็พระองค์สำคัญว่า ขันติมีอยู่ที่ปลายมือปลายเท้าของอาตมา ขันตินั่นไม่มีอยู่ที่นี้ เพราะขันติของอาตมาตั้งอยู่เฉพาะภายในหทัยอัน ถานที่ลึกซึ้ง"

       พระราชานั้นตรัสว่า "จงตัดหูและจมูกของดาบสนี้" เพชฌฆาตก็ตัดหูและจมูก ทั่วทั้งร่างกายมีแต่โลหิต พระราชาตรัสถามอีกว่า "เจ้ามีวาทะกระไร "

      พระโพธิสัตว์ทูลว่า "มหาบพิตร อาตมามีวาทะยกย่องขันติ แต่พระองค์ได้สำคัญว่า ขันติตั้งอยู่เฉพาะที่ปลายหู ปลายจมูก ขันติของอาตมาตั้งอยู่เฉพาะภายในหทัยอันลึก"

       พระราชาตรัสว่า "เจ้าชฎิลโกง เจ้าเท่านั้นจงนั่งยกเชิดชูขันติของเจ้าเถิด" แล้วเอาพระบาทกระทืบยอดอกแล้วเสด็จหลีกไป

      เมื่อพระราชานั้นเสด็จไปแล้ว เสนาบดีเช็ดโลหิตจากร่างกายของพระโพธิสัตว์ แล้วเก็บรวบรวมปลายมือปลายเท้า ปลายหู และปลายจมูกไว้ที่ชายผ้าสาฎก ค่อย ๆ ประคองให้พระโพธิสัตว์นั่งแล้วไหว้ ได้นั่ง ณส่วนข้างหนึ่งแล้วกล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านจะโกรธ ควรโกรธพระราชาผู้ทำผิดในท่าน ไม่ควรโกรธผู้อื่น"

       พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า "พระราชาพระองค์ใดรับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของอาตมภาพ ขอพระราชาพระองค์นั้นจงทรงพระชนม์ยืนนาน บัณฑิตทั้งหลายเช่นกับอาตมภาพย่อมไม่โกรธเคืองเลย"

      ในกาลที่พระราชาเสด็จออกจากพระราชอุทยาน ลับตาของพระโพธิสัตว์เท่านั้นมหาปฐพีอันหนา สองแสนสี่หมื่นโยชน์นี้ก็แยกออก ประดุจผ้าสาฎกทั้งกว้างทั้งแข็งแตกออกฉะนั้นเปลวไฟจากอเวจีนรกแลบออกมาจับพระราชา เหมือนห่มด้วยผ้ากัมพลแดงที่ตระกูลมอบให้พระราชาเข้าสู่แผ่นดินที่ประตูพระราชอุทยานนั่นเอง แล้วตั้งอยู่เฉพาะในอเวจีมหานรก

      พระโพธิสัตว์ก็ได้ทำกาละในวันนั้นเอง ราชบุรุษและชาวนครทั้งหลายถือของหอม ดอกไม้ ประทีป และธูป มากระทำฌาปนกิจสรีระของพระโพธิสัตว์ส่วนพระเจ้ากาสีหมกไหม้อยู่ในนรกเสวยวิบากอันเผ็ดร้อนของกรรมที่หยาบช้านั้น

      พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะแล้วทรงประชุมชาดกว่า "พระเจ้ากาสีพระนามว่ากลาปุในครั้งนั้น ได้เป็นพระเทวทัต เสนาบดีในครั้งนั้นได้เป็นพระสารีบุตรส่วนดาบสผู้มีวาทะยกย่องขันติในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต"

      การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ในภพชาตินี้ ถือว่าเป็นการบำเพ็ญที่ยิ่งยวด เพราะต้องแลกมาด้วยชีวิต ความจริงแล้วไม่เพียงแต่ชาตินี้เท่านั้นที่ท่านต้องสร้างบารมีด้วยการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แต่ความจริงท่านต้องทำนับภพนับชาติไม่ถ้วน เพราะการจะตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ต้องประกอบด้วยน้ำใจที่ยิ่งใหญ่ ต้องมีความเพียร ต้องมีความอดทนอย่างหาที่สุดมิได้ ผู้ที่ไม่สามารถที่จะอดทนได้แล้ว อย่าพึงหวังที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เลย หรือกระทั่งการบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ก็ตาม หรือแม้แต่การเข้าถึงความสงบ
ภายในเพียงชั่วครู่ ก็ไม่อาจเป็นไปได้

      ฉะนั้น ความอดทนนี้เองจึงเป็นคุณธรรมที่ช่วยประคับประคองให้นักสร้างบารมีทั้งหลายได้ประสบผลสำเร็จ ได้เข้าถึงความสมบูรณ์ที่สุดของชีวิต สืบไป


1.6 โสรัจจะ
     หมายถึง ความสงบเสงี่ยมทางกาย ทางวาจา และทางใจ ในบางแห่งใช้คำว่า อวิโรธนะ ไม่โกรธ ในภาษาไทยว่า ใจเย็น ก็ทำให้งดงามเหมือนกัน

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายสมัยหนึ่งพวกภิกษุได้ทำจิตของเราให้ยินดีเป็นอันมาก เราขอเตือนภิกษุทั้งหลายไว้ในที่นี้ว่า ภิกษุทั้งหลายเราฉันอาหารหนเดียว เมื่อเราฉันอาหารหนเดียวอยู่แล รู้สึกว่ามีอาพาธน้อย ลำบากกายน้อยเบากาย มีกำลัง และอยู่อย่างผาสุก ภิกษุทั้งหลาย ถึงพวกเธอก็จงฉันอาหารหนเดียวเถิด แม้พวกเธอฉันอาหารหนเดียว ก็จะรู้สึกว่ามีอาพาธน้อย ลำบากกายน้อยเบากาย มีกำลัง และอยู่อย่างผาสุก

    ภิกษุทั้งหลาย เราไม่ต้องพร่ำสอนภิกษุเหล่านั้น มีกิจแต่จะทำสติให้เกิดในภิกษุเหล่านั้นเท่านั้น ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนรถที่เทียมด้วยม้าอาชาไนย ม้าที่ได้รับการฝึกมาดีแล้วก็เดินไปตามพื้นที่เรียบ หรือเดินไปตามหนทางใหญ่ 4 แพร่ง ไม่ต้องใช้แส้ เพียงแต่นายสารถีผู้ฝึกหัดที่ฉลาดขึ้นรถ แล้วจับสายบังเหียนด้วยมือซ้าย จับแส้ด้วยมือขวาแล้วก็เตือนให้ม้าวิ่งตรงไปบ้าง ทั้งเลี้ยวกลับไปตามความปรารถนาบ้างฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เราไม่ต้องพร่ำสอนภิกษุทั้งหลายเนือง ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน มีแต่กิจที่จะกระทำ ติให้เกิดในภิกษุเหล่านั้นเท่านั้น ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแม้พวกเธอก็จงละอกุศลธรรมเสีย จงทำความพากเพียรแต่ในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้พวกเธอก็จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้

      ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนป่าไม้สาละป่าใหญ่ ใกล้บ้านหรือนิคม และป่านั้นปกคลุมไปด้วยเหล่าต้นละหุ่ง ชายไร ๆ พึงหวังดีหวังประโยชน์และหวังความปลอดภัยของต้นสาละนั้นเขาจึงตัดต้นรังเล็ก ๆ ที่คดที่ต้นละหุ่ง คอยแย่งโอชาออกนำไปทิ้งเสียภายนอก แผ้วถางภายในป่าให้สะอาดเรียบร้อยแล้ว คอยบำรุงรักษาต้นรังเล็ก ๆ ที่ต้นตรงขึ้นแรงดีไว้ได้โดยชอบ ภิกษุทั้งหลาย ด้วยการกระทำดังที่กล่าวมานี้สมัยต่อมา ป่าไม้รังนั้นก็เจริญงอกงามไพบูลย์ขึ้นโดยลำดับแม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย แม้พวกเธอก็จงละอกุศลธรรมเสีย จงทำความพากเพียรอยู่แต่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเถิด เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้พวกเธอก็จักเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้ถ่ายเดียว

      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ที่กรุงสาวัตถีนี้แหละ มีแม่บ้านคนหนึ่งชื่อว่า เวเทหิกา เกียรติศัพท์อันงามของแม่บ้านเวเทหิกาขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม่บ้านเวเทหิกาเป็นคนเสงี่ยม เจียมตน เยือกเย็น ภิกษุทั้งหลาย ก็แม่บ้านเวเทหิกามีทาสีชื่อ กาลี เป็นคนขยันไม่เกียจคร้าน จัดการงานดี ต่อมานางกาลีได้คิดอย่างนี้ว่า เกียรติศัพท์อันงามของนายหญิงของเราขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม่บ้านเวเทหิกาเป็นคนเสงี่ยม เจียมตน เยือกเย็น ดังนี้นายหญิงของเราไม่ทำความโกรธที่มีอยู่ภายในให้ปรากฏ หรือไม่มีความโกรธอยู่เลย หรือว่านายหญิงของเราไม่ทำความโกรธที่มีอยู่ในภายในให้ปรากฏ ก็เพราะเราจัดการงานทั้งหลายเรียบร้อยดีไม่ใช่ไม่มีความโกรธ อย่ากระนั้นเลย จำเราจะต้องทดลองนายหญิงดู วันรุ่งขึ้นนางกาลีทาสีก็แสร้งลุกขึ้นสาย ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายแม่บ้านเวเทหิกาก็ได้ตวาดนางกาลีทาสีขึ้นว่า "เฮ้ย อีคนใช้ กาลี" นางกาลีจึงขานรับว่า "อะไรเจ้าข้า"

      เว. "เฮ้ย ทำไมเองจึงลุกจนสาย"

      กา. "ไม่เป็นอะไรดอก เจ้าค่ะแม่นาย"

      นางจึงกล่าวอีกว่า "อีคนชั่วร้าย ก็เมื่อไม่เป็นอะไร ทำไมเองจึงลุกขึ้นจนสาย ดังนี้แล้วโกรธ ขัดใจ ก็หน้านิ่วคิ้วขมวด"

    ภิกษุทั้งหลาย ทีนั้นนางกาลีทาสีจึงคิดว่า นายหญิงของเราไม่ทำความโกรธที่มีอยู่ในภายในให้ปรากฏเท่านั้น ไม่ใช่ไม่มีความโกรธ ที่ไม่ทำความโกรธที่มีอยู่ในภายในให้ปรากฏ ก็เพราะเราจัดการงานทั้งหลายเรียบร้อยดี ไม่ใช่ไม่มีความโกรธ อย่ากระนั้นเลย เราจะต้องทดลองนายหญิงให้ยิ่งขึ้นไป ภิกษุทั้งหลาย ถัดจากวันนั้นมา นางกาลีทาสีจึงลุกขึ้นสายกว่านั้นอีก ครั้งนั้นแม่บ้านเวเทหิกา ก็ตวาดนางกาลีทาสีอีกว่า "เฮ้ย อีกาลี"

      กา. "อะไร เจ้าขาแม่นาย"

      เว. "ชิชะ ทำไมเองจึงนอนตื่นสาย"

      กา. "ไม่เป็นอะไรดอก เจ้าค่ะ"

     นางจึงกล่าวอีกว่า "เฮ้ย อีตัวร้าย ก็เมื่อไม่เป็นอะไร ทำไม่เองจึงนอนตื่นสายเล่า"ดังนี้แล้ว โกรธ ขัดใจ ก็แผดเสียงวาจาที่ขัดใจ ภิกษุทั้งหลาย ทีนั้น นางกาลีทาสีจึงคิดว่านายหญิงของเรา ไม่ทำความโกรธที่มีอยู่ในภายในให้ปรากฏเท่านั้น ไม่ใช่ไม่มีความโกรธ ที่ไม่ทำความโกรธที่มีอยู่ในภายในให้ปรากฏ ก็เพราะเราจัดการงานทั้งหลายให้เรียบร้อยดี ไม่ใช่ไม่มีความโกรธ อย่ากระนั้นเลย เราจะต้องทดลองให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก ดังนี้ แต่นั้นมานางกาลีทาสีก็ลุกขึ้นสายกว่าทุกวัน

     ครั้งนั้น แม่บ้านเวเทหิกาผู้นายก็ร้องด่ากราด โกรธจัด จึงคว้าลิ่มประตูปาศีรษะ ด้วยหมายจะทำศีรษะทาสีให้แตก ภิกษุทั้งหลาย คราวนั้นนางกาลีทาสีศีรษะแตก โลหิตไหลโซม จึงเที่ยวโพนทะนาแก่คนบ้านใกล้เคียงว่า "แม่พ่อทั้งหลาย เชิญดูการกระทำของคนเสงี่ยม เจียมตัวเยือกเย็นเอาเถิด ทำไมจึงทำแก่ทาสีคนเดียวอย่างนี้เล่า เพราะโกรธว่านอนตื่นสาย จึงคว้าลิ่มประตูปาเอาศีรษะ ด้วยหมายจะทำลายหัวข้า ดังนี้"

     ภิกษุทั้งหลาย แต่นั้นมา เกียรติศัพท์อันชั่วของแม่บ้านเวเทหิกาก็ขจรไปอย่างนี้ว่าแม่เรือนเวเทหิกา เป็นคนดุร้าย ไม่เจียมตัว ไม่เยือกเย็น แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น เป็นคนสงบเสงี่ยมจัด เป็นคนเจียมตัวจัด เป็นคนเยือกเย็นจัด ได้ก็เพียงชั่วเวลาที่ยังไม่ได้กระทบถ้อยคำอันไม่เป็นที่พอใจเท่านั้น

      ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดเธอกระทบถ้อยคำอันไม่เป็นที่พอใจเข้า ก็ยังเป็นคนสงบเสงี่ยมเจียมตัว เยือกเย็นอยู่ได้ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้นแหละควรทราบว่า เธอเป็นคนสงบเสงี่ยมเป็นคนเจียมตัว เป็นคนเยือกเย็นจริง ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เรียกภิกษุรูปที่เป็นคนว่าง่าย ถึงความเป็นคนว่าง่าย เพราะเหตุได้จีวร บิณฑบาต เสนา นะ แลคิลานปัจจยเภสัชบริขารว่า เป็นคนว่าง่ายเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุรูปนั้น เมื่อไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขารนั้น ก็จะไม่เป็นคนว่าง่าย จะไม่ถึงความเป็นคนว่าง่ายได้

      ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุรูปใดแล มาสักการะเคารพ นอบน้อมพระธรรมอยู่ เป็นคนว่าง่าย ถึงความเป็นคนว่าง่าย เราเรียกภิกษุรูปนั้นว่า เป็นคนว่าง่าย ดังนี้ เพราะฉะนั้นแหละภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้สักการะเคารพ นอบน้อมพระธรรมจักเป็นผู้ว่าง่าย จักถึงความเป็นคนว่าง่าย ดังนี้

      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ 5 ประการ คือ กล่าวโดยกาลอัน มควรหรือไม่สมควร 1 กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง 1 กล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือคำหยาบคาย 1 กล่าวด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ 1 มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว 1

     ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำอ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาชั่ว เราจักอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์ เราจักมีจิตเมตตาไม่มีโทสะในภายในแผ่เมตตาไปถึงบุคคลนั้น และเราจะแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลกทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้ ภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล

      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษถือเอาจอบและตะกร้ามาแล้ว กล่าวอย่างนี้ว่าเราจักกระทำแผ่นดินอันใหญ่นี้ไม่ให้เป็นแผ่นดิน ดังนี้ เขาขุดลงตรงที่นั้น ๆ โกยขี้ดินทิ้งในที่นั้น ๆ บ้วนน้ำลายลงในที่นั้น ๆ แล้วสำทับว่าเองอย่าเป็นแผ่นดิน ๆ ดังนี้ ภิกษุทั้งหลายพวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจักทำแผ่นดินอันใหญ่นี้ไม่ให้เป็นแผ่นดินได้หรือไม่ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ไม่ได้ พระเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าแผ่นดินอันใหญ่นี้ ลึกหาประมาณมิได้ เขาจะทำแผ่นดินอันใหญ่นี้ไม่ให้เป็นแผ่นดินไม่ได้ง่ายเลย ก็แลบุรุษนั้นจะต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเสียเปล่าเป็นแน่แท้ ดังนี้ แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลายทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ 5 ประการ คือ

      กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร 1

      กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง 1

      กล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือคำหยาบคาย 1

      กล่าวด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ 1

      มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว 1

     ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวด้วยถ้อยคำอ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวนเราจักไม่เปล่งวาจาที่ชั่ว เราจักอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์ เราจักมีจิตเมตตา ไม่มีโทสะภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาจิตอันเสมอด้วยแผ่นดิน ไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 007 พุทธธรรมทีปนี 1
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree

 

**บทความ แนะนำ/เกี่ยวข้อง

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0042521993319194 Mins