โอวาทปาฏิโมกข์

วันที่ 19 กค. พ.ศ.2560

โอวาทปาฏิโมกข์

พุทธธรรมทีปนี 1 , Dhamma , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , โอวาทปาฏิโมกข์ , วันมาฆบูชา , หัวใจของพระพุทธศาสนา , วันสถาปนาสันติภาพ

      โอวาทปาฏิโมกข์ คำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนานั้น ได้แก่

สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง       ไม่ทำความชั่วทั้งปวง 1
กุสะลัสสูปะสัมปะทา               ประกอบความดี 1
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง            ทำจิตของตนให้ผ่องใส 1

     มีเนื้อความอย่างเดียวกับโอวาททั้ง 3 ข้อดังต่อไปนี้ เพราะคำว่า บาป อกุศล ทุจริต มีความหมายเหมือนกัน และคำว่า บุญ กุศลสุจริต ก็มีความหมายเหมือนกันใช้แทนกันได้เพราะฉะนั้นโอวาททั้งปวงจึงสรุปลงเป็น 3 ข้อ

1. ไม่ทำความชั่วทั้งปวง คือ เว้นจากความประพฤติชั่วด้วยกาย วาจา ใจ
2. ประกอบความดี คือ ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ
3. ทำจิตใจของตนให้ผ่องใสคือ ทำตนให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองใจ มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น

    โอวาททั้ง 3 นี้ เป็นหนึ่งในหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระสาวก 1,250 องค์ ที่วัดเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ เมื่อวันเพ็ญมาฆมา (เดือน 3) ภายหลังตรัสรู้แล้ว 9 เดือน เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์


1. วันมาฆบูชา วันสถาปนาสันติภาพ
   ย้อนไปในสมัยพุทธกาล พระจันทร์วันเพ็ญเสวยมาฆฤกษ์ ค่ำคืนที่อบอวลด้วยกลิ่นศีลกลิ่นธรรมของพระอรหันต์ขีณาสพ 1,250 รูป ผู้ทรงอภิญญา ที่มานั่งอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ของพระบรมศาสดา ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งต่างเดินทางมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมายทางวาจาแต่รู้กันด้วยญาณทัสสนะอันบริสุทธิ์ เพื่อมาน้อมรับคำสอนอันประเสริฐ ให้เป็นแม่บทในการเผยแผ่พระศาสนาและเป็นหลักในการสร้างสันติภาพโลกที่ยั่งยืน... แม้กาลเวลาจะเคลื่อนคล้อยไปแล้วนานกว่า 2,556 ปี แสงสว่างจากประทีปธรรมของพระบรมไตรโลกนาถ ก็ยังคงส่องสว่างในดวงใจของเหล่ามนุษยชาติเรื่อยมา

     วันมาฆบูชา เป็นวันแห่งความมหัศจรรย์ทางพุทธศาสนา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนมาฆะ คือเดือน 3 หรือเดือน 4 ในปีที่มีอธิกมา คือมีเดือนแปดสองหนนับตั้งแต่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และเริ่มออกสั่งสอนโปรดชาวโลก จนมีพระพุทธสาวกผู้บรรลุธรรมและทำหน้าที่ช่วยกันสร้างสันติภาพโลก ย่ำธรรมเภรีไปยังดินแดนต่าง ๆ อย่างกว้างขวางแต่ครั้นถึงวันเพ็ญเดือน 3 ปรากฏว่าพระพุทธสาวกดังกล่าว พากันเดินทางมาเฝ้าพระพุทธองค์ โดยมิได้นัดหมายกันถึง 1,250 องค์ ซึ่งถือว่าเป็นเหตุอัศจรรย์ยิ่ง วันนี้จึงได้รับการเรียกว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" คือ วันประชุมใหญ่อันประกอบด้วยองค์ 4 ได้แก่

       1. พระภิกษุสงฆ์ซึ่งเป็นพุทธสาวก จำนวน 1,250 องค์ มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
    2. พระพุทธสาวกเหล่านี้ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือเป็นผู้ที่พระพุทธองค์ทรงประทานการอุปสมบทด้วยพระองค์เอง
       3. พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์
       4. วันนั้นเป็นวันเพ็ญ เดือนมาฆะ คือพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์

     พร้อมกันนี้ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ เพื่อประกาศอุดมการณ์หลักการ และวิธีการ ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่ชาวพุทธจะได้ยึดถือเป็นแม่บทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และสร้างสันติภาพโลก อันจะนำไปสู่การหลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏคือการได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เข้าถึงเอกันตบรมสุข


โอวาทปาฏิโมกข์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้แบ่งออกเป็น 3 ตอน ดังนี้
ตอนที่ 1 อุดมการณ์ของชาวพุทธ

    อุดมการณ์ข้อที่ 1 ความอดทน คือความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง คนเราเมื่อเกิดมาแล้วต้องอดทน ตั้งแต่อดทนต่อความลำบากตรากตรำ อดทนต่อทุกขเวทนา อดทนต่อความกระทบกระทั่ง และอดทนต่ออำนาจกิเลส

  อุดมการณ์ข้อที่ 2 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่าเป็นเยี่ยมทรงสอนให้อดทนในการปฏิบัติธรรมเพื่อปราบกิเลสให้หมดสิ้นไป แล้วจะได้ไปเสวยสุขในพระนิพพานอันเป็นสุขล้วน ๆ

   อุดมการณ์ข้อที่ 3 บรรพชิตผู้ฆ่าสัตว์อื่น เบียดเบียนสัตว์อื่นไม่ชื่อว่า สมณะ หมายความว่าผู้สงบหรือผู้ปรารถนาจะไปนิพพานต้องไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ต้องเป็นผู้มีจิตประกอบด้วยเมตตา


ตอนที่ 2 หลักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง
     หลักการข้อที่ 1 การไม่ทำบาปทั้งปวง ด้วยการควบคุมกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ตั้งแต่ไม่คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว กล่าวโดยย่อคือรักษาศีลให้บริสุทธิ์

     หลักการข้อที่ 2 การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม คือทรง อนให้ทำความดีให้ถึงพร้อมทั้ง 3 ทาง คือ กาย วาจา ใจ ความดีทั้ง 10 ประการ (บุญกิริยาวัตถุ 10) ทุ่มเททำให้เต็มที่

     หลักการข้อที่ 3 การกลั่นจิตทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว


ตอนที่ 3 วิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
   วิธีการที่ 1 ไม่ว่าร้ายใคร ไม่โจมตีใคร ไม่โจมตีศาสนาอื่น แต่ให้ใช้ปัญญาบอกเขาว่าพระพุทธศาสนาดีอย่างไร

  วิธีการที่ 2 ไม่ทำร้ายใคร ไม่ใช้กำลังเพื่อไปบังคับให้ใครเชื่อ ไม่ทำร้าย ยึดหลักอหิงสาธรรม คือไม่เบียดเบียน ใช้ปัญญาในการอ้างเหตุผลจนกระทั่งเขาอยากลงมือปฏิบัติด้วยตัวเขาเอง

     วิธีการที่ 3 มีความสำรวมในศีลและมารยาทให้ดี

    วิธีการที่ 4 รู้จักประมาณในการรับประทาน รวมไปถึงการใช้สอยปัจจัยสี่ จะได้เป็นทางมาแห่งความน่าเคารพเลื่อมใสของผู้ได้พบเห็น

     วิธีการที่ 5 นั่งนอนในที่สงบ นักปฏิบัติธรรมต้องรักความสงบและรักในการอยู่ในที่สงบ

     วิธีการที่ 6 ประกอบความเพียรในอธิจิต ต้องหมั่นฝึกสมาธิเพราะคือแก่นของการได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

    โอวาทปาฏิโมกข์ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ ถือว่าเป็นเนติแบบแผนในการกำหนดเส้นทางสู่สันติภาพให้บังเกิดขึ้นแก่โลกอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้มากมายเพียงไร การเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนก็ยังคงยึดหลักการเหล่านี้ ซึ่งจะเป็นหลักวิชชาที่จะทำให้มนุษย์ได้บรรลุธรรมได้เข้าถึงความเต็มเปียมของชีวิต

    ดังนั้น ในวันมาฆบูชาของทุกปี เหล่าพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งโลก ควรจะให้ความสำคัญกับเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์และมาทำบุญกุศลที่วัดข้างบ้าน เพื่อจะได้มีโอกาสรับฟัง "โอวาทปาฏิโมกข์" จากพระสงฆ์ เป็นการทบทวนอมตธรรมล้ำค่าที่พระบรมศาสดาทรงประทานไว้และมาพร้อมใจกันประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนาเพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน รวมทั้งจุดมาฆประทีปเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เราจะได้ชื่อว่า เป็นชาวพุทธที่แท้จริง เป็นผู้ที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง เป็นหลักชัยของชาวโลกต่อไป

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 007 พุทธธรรมทีปนี 1
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.012943232059479 Mins