ฆราวาสธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในอาฬวกสูตร ว่า
"บุคคลใดผู้อยู่ครองเรือนประกอบด้วยศรัทธา มีธรรม 4 ประการนี้ คือ สัจจะ ธรรมะ ธิติ จาคะ บุคคลนั้นแล ละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก"
การอยู่ครองเรือนมีภารกิจที่ต้องทำมาก ชีวิตครอบครัวจะต้องรับผิดชอบหลายสิ่งหลายอย่าง การที่จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้วนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย จำเป็นจะต้องรู้จักวิธีการอยู่ครองเรือนให้สมบูรณ์แบบ ให้ชีวิตดำเนินไปพร้อมกับการสร้างบารมี งานบุญไม่ให้ขาด งานบ้านไม่ให้เสีย ทำหน้าที่ทั้งสองอย่างนี้ให้สมบูรณ์ ถ้าทำไม่พอดี ชีวิตครอบครัวจะระหองระแหง การสร้างบารมีก็จะทำได้ไม่เต็มที่ จะเกิดความไม่เข้าใจกัน เกิดการกระทบกระทั่งกัน และปัญหาอื่น ๆ ก็จะตามมาอีกมากมาย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักในการดำเนินชีวิตสำหรับผู้ครองเรือนไว้ ซึ่งสิ่งสำคัญอันดับแรก คือ ต้องศึกษาเล่าเรียนในศาสตร์ต่าง ๆ ให้เกิดเป็นความรู้ แล้วนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ จะได้เอื้ออำนวยต่อการแสวงหาทรัพย์ เมื่อได้ทรัพย์มาแล้วก็ให้รู้จักเก็บรักษาไว้ไม่ฟุ่มเฟือย ให้อยู่ใกล้คนดี ที่เป็นบัณฑิตเป็นกัลยาณมิตร หาทรัพย์มาได้ก็ให้ใช้ทรัพย์ให้เป็น รู้จักใช้จ่ายแต่พอดี และนำทรัพย์นั้นมาสร้างบุญบารมี
ส่วนใหญ่ชีวิตของการครองเรือนจะมากไปด้วยปัญหาต่าง ๆ นานา เมื่อหาเลี้ยงครอบครัวได้แล้ว ยังต้องแสวงหาชื่อเสียงเกียรติยศให้กับตนเองและวงศ์ตระกูล การจะได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้ จำเป็นจะต้องมีคุณธรรม เบื้องต้นต้องรู้จักเป็นผู้ให้ก่อน เมื่อเราให้ เราจะได้รับคำยกย่อง สรรเสริญ เกียรติยศชื่อเสียงก็จะมาหาเอง
เรื่องเหล่านี้เคยมียักษ์ทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่จุดประสงค์ของยักษ์นั้น ถามเพื่อจะลองภูมิพระพุทธองค์ เพราะปัญหานี้ตอบยาก ไม่มีผู้ใดตอบได้ถูกต้องสมบูรณ์ เนื่องจากยักษ์ได้ฟังมาจากบิดามารดาของตน ซึ่งฟังมาจากพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วนำมาเล่าต่อภายหลังจำได้แค่ปัญหาส่วนคำตอบได้หลงลืมไป จึงเขียนปัญหาลงบนแผ่นทองเก็บไว้ เพื่อคอยถามผู้มีฤทธิ์ที่เหาะเข้ามาในเขตของตน หากตอบไม่ได้ยักษ์จะทำร้าย แล้วเหวี่ยงท่านเหล่านั้นลงทะเล เพื่อเป็นอาหารของสัตว์ในทะเลต่อไป
พระผู้มีพระภาคเจ้าสามารถตอบคำถามของยักษ์ได้หมดทุกข้อ ยักษ์ได้ถามปัญหาข้อแรกว่า "อะไรเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐที่สุดของบุรุษในโลกนี้" พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า "ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐที่สุดของบุรุษในโลกนี้" ยักษ์ถามปัญหาที่ 2 ว่า "อะไรที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้" พระพุทธองค์ตอบว่า "ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้" ยักษ์ทูลถามต่อไปว่า "อะไรเป็นรสยังประโยชน์ให้สำเร็จกว่าร ทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของบุคคลเป็นอยู่อย่างไรว่าประเสริฐที่สุด" ทรงตอบว่า "สัจจะแลเป็นร ยังประโยชน์ให้สำเร็จกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของบุคคลผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญาว่า ประเสริฐที่สุด"
ยักษ์ได้ฟังคำตอบที่ไม่เคยมีใครตอบได้ชัดเจนเช่นนี้มาก่อน ก็เกิดมหาปีติ ถามปัญหาต่อไปอีกว่า "บุคคลจะข้ามโอฆะได้อย่างไร บุคคลจะข้ามอรรณพได้อย่างไร" ทรงตอบว่า "บุคคลย่อมข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ย่อมข้ามอรรณพ คือ ห้วงน้ำแห่งสังสารวัฏได้ด้วยความไม่ประมาท" ยักษ์ถามต่อไปว่า "แล้วทำอย่างไรจึงจะพ้นจากทุกข์ไปได้ อีกทั้งจะบริสุทธิ์ได้อย่างไร" ทรงตอบว่า "บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร และจะเป็นผู้บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา" ยักษ์ก็ถามปัญหาต่อไปอีกว่า "บุคคลย่อมได้ปัญญาอย่างไร" ทรงตอบว่า "บุคคลเชื่อธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อบรรลุพระนิพพาน เป็นผู้ไม่ประมาท มีปัญญาใคร่ครวญพินิจพิจารณา อยู่เสมอ ตั้งใจฟังด้วยความเคารพอย่างดี ย่อมได้ปัญญา ใครก็ตามเมื่อไม่ประมาทในการฟังแล้ว และขณะฟังก็ไตร่ตรองพิจารณา ทั้งฟังด้วยความเคารพ ย่อมจะได้ปัญญาอย่างแน่นอน"
ยักษ์ถามว่า "บุคคลย่อมหาทรัพย์ได้อย่างไร" ทรงตอบว่า "บุคคลผู้มีธุระกระทำสมควรมีความหมั่นย่อมหาทรัพย์ได้" หมายถึงว่า เราต้องมีความรับผิดชอบต่อการงานที่กำลังทำอยู่ต้องทำงานนั้นให้สำเร็จ และต้องทำให้เหมาะสมด้วย ต้องขยันทำไม่หยุดยั้ง ไม่ใช่ว่าเสร็จงานเดียวแล้วเลิกเลย ไม่ยอมทำอย่างอื่นอีก
ยักษ์ได้ถามปัญหาต่อไปว่า "บุคคลย่อมได้ชื่อเสียงอย่างไร" ทรงตอบว่า "บุคคลย่อมได้ชื่อเสียงด้วยสัจจะ เพราะเมื่อเรามีความสัจจริงแล้ว ทั้งจริงต่อหน้าที่การงาน จริงต่อคำพูดของตน จริงต่อบุคคลอื่น และต่อธรรมะแล้ว ย่อมเป็นที่สรรเสริญของมหาชน"
ยักษ์ถามอีกว่า "บุคคลย่อมผูกมิตรทั้งหลายไว้ได้อย่างไร" ทรงแก้ว่า "ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้" หมายถึง มนุษย์ทุกคนในโลกนี้ ล้วนปรารถนาที่จะเป็นที่รักของคนรอบข้าง เป็นที่ยอมรับนับถือของทุก ๆ คน และปรารถนาที่จะได้ยินได้ฟังคำยกย่องสรรเสริญ มากกว่าเสียงนินทาว่าร้าย พระพุทธองค์ทรง อนวิธีที่จะทำตนให้เป็นที่รักของผู้อื่น แล้วผู้นั้นจะเป็นมิตรที่ดีของเราไว้ 4 ประการ
ประการที่หนึ่ง คือ ทาน จะต้องรู้จักการให้ เพราะทุกชีวิตดำรงอยู่ได้ด้วยการให้ หากมนุษย์ทุกคนในโลกรู้จักให้ทาน เสียสละแบ่งปัน ให้อภัยซึ่งกันและกัน ไม่พยาบาทปองร้ายกันโลกนี้จะเกิดความสงบสุขอย่างแน่นอน
นอกจากการให้แล้ว ประการที่สอง ต้องรู้จักพูดจาปราศรัย หัดพูดจาให้ไพเราะนุ่มนวลน่าฟังที่เรียกว่า ปิยวาจา คือ คำพูดที่พูดแล้วเป็นที่รัก ฟังแล้วเกิดกำลังใจ ที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกคนอยากทำความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ไม่พูดจาส่อเสียด ก่อให้เกิดความแตกแยกพูดแต่คำที่ทำให้เกิดความสามัคคี เปรียบเสมือนน้ำทิพย์ชโลมใจ ประสานใจทุก ๆ ดวงให้เป็นหนึ่งเดียว เหมือนน้ำฝนประสานดินเหนียวที่แตกระแหง ให้เป็นผืนแผ่นเดียวกัน
คุณธรรมประการที่สาม คือ อัตถจริยา ต้องรู้จักทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นให้มีน้ำใจประดุจพระโพธิสัตว์ ที่ช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกให้พ้นจากทุกข์ หากรู้ว่าผู้ใดกำลังประสบปัญหา แม้เขาไม่ขอความช่วยเหลือ ก็ให้มีมหากรุณาอาสาเข้าไปช่วย นี่เป็นสิ่งที่แสดงถึงจิตใจที่ดีงาม เป็นจิตใจของนักสร้างบารมีผู้รักในการฝึกฝนอบรมตนเอง ซึ่งนอกจากทำตนให้บริสุทธิ์แล้ว ยังปรารถนาให้โลกบริสุทธิ์ด้วย
ส่วนประการสุดท้าย คือ มานัตตตา ต้องรู้จักวางตัวเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ว่าจะเข้าไปสู่สมาคมไหน ก็ให้รักษาภาวะปกติที่ดีของตนไว้ รักษาใจให้บริสุทธิ์ เป็นกลาง ๆ ไม่หวั่นไหวไปตามกระแสปรับตัวให้เข้าได้กับทุก ๆ คน ควบคุมตนเองด้วยสติและปัญญา แล้วเราจะเป็นที่รักที่พอใจของทุกคน
ยักษ์ได้ถามปัญหาข้อสุดท้ายว่า "บุคคลละจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่นแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศกอย่างไร" ทรงตอบว่า "ผู้ใดมีศรัทธาอยู่ครองเรือน มีธรรม 4 ประการนี้ คือสัจจะ ธรรมะ ธิติ จาคะ ผู้นั้นละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก" คือเมื่อทำครบทั้ง 4 ประการแล้ว ย่อมจะมีความสุขในการอยู่ครองเรือนนั่นเอง เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตอบคำถามได้อย่างแจ่มแจ้งแล้ว ยักษ์ก็ชื่นชมยินดี มีใจเลื่อมใสในพระพุทธองค์เป็นอย่างยิ่ง
จะเห็นได้ว่าสิ่งต่าง ๆ จะดีขึ้นหรือไม่นั้น ขอให้นักศึกษาเริ่มต้นมองที่ตัวเองก่อน แล้วค่อย ๆ มองไปยังบุคคลรอบข้าง ตลอดจนสิ่งแวดล้อมที่ไกลตัวออกไป ถ้านักศึกษาคิดพูดทำแต่สิ่งที่ดี กระแสแห่งความดีจะแผ่ขยายออกไป บรรยากาศที่ดีจะเกิดขึ้นกับคนรอบข้าง กับครอบครัว กับบ้านเมือง จนกระทั่งแผ่ขยายไปทั่วประเทศและทั่วโลก ไม่นานทุกสิ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ถ้าในชีวิตประจำวันนักศึกษาเรียนไปด้วย หรือทำงานไปด้วยทำสิ่งที่ดีงามสร้างบุญสร้างบารมีไปด้วย ปัญหาที่มีอยู่ก็แก้ไขไป โดยคิดว่า นี่ไม่ใช่อุปสรรค แต่เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของชีวิตการศึกษา การทำงานที่จะต้องเจอ ก่อนที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จ
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ให้ใช้สติปัญญาแก้ไขปัญหา วางใจนิ่ง ๆ เมื่อใจสงบจะพบทางออก
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 007 พุทธธรรมทีปนี 1
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree