อริยสัจ

วันที่ 19 กค. พ.ศ.2560

อริยสัจ

พุทธธรรมทีปนี 1 , Dhamma , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , อริยสัจ , ทุกข์ , สมุทัย , นิโรธ  มรรค

     อริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐ มี 4 อย่าง

     1. ทุกข์ หมายถึง ภาวะที่ทนได้ยาก ความทุกข์มีหลายประการ มีทั้งทุกข์จรและทุกข์ประจำ นำมาซึ่งความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ถึงความพลัดพลาดไม่รู้จักจบสิ้น

   2. สมุทัย หมายถึง ตัณหา คือ ความทะยานอยาก ซึ่งเป็นเหตุให้ทุกข์ทั้งปวงเกิด ทั้งที่เป็นกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา

   3. นิโรธ หมายถึง ความดับตัณหาได้โดยสิ้นเชิง เพราะเป็นเหตุดับทุกข์ทั้งปวง เมื่อทุกข์ดับเพราะนิโรธ ความสุขคือนิพพานก็ปรากฏ แต่นิโรธเป็นผลของการดับตัณหา ไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่ใช้ในการดับทุกข์

     4. มรรค หมายถึง ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ โดยปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 ได้แก่เห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) ดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ) เจรจาชอบ (สัมมาวาจา) การงานชอบ (สัมมากัมมันตะ) เลี้ยงชีพชอบ (สัมมาอาชีวะ) เพียรชอบ (สัมมาวายามะ) ตั้งสติชอบ (สัมมาสติ) ตั้งใจชอบ (สัมมาสมาธิ)

     สรุป อริยสัจ 4 สมุทัยกับมรรคเป็นเหตุ ทุกข์กับนิโรธเป็นผล

   1. ทุกข์ ควรกำหนดรู้ ทุกข์ในที่นี้คืออย่างไร ทำไมต้องกำหนดรู้ อย่างไรจึงจะเรียกว่าการกำหนดรู้ เมื่อกำหนดรู้แล้วได้อะไร

    2. สมุทัย ควรละ สมุทัยในที่นี้คืออย่างไร ทำไมต้องละ ทำอย่างไรจึงเรียกว่าละ เมื่อละได้แล้วเป็นอย่างไร

  3. นิโรธ ควรทำให้แจ้ง นิโรธในที่นี้เป็นอย่างไร ทำให้แจ้งคือทำอย่างไร เมื่อทำให้แจ้งได้แล้วจะเป็นอย่างไร

   4. มรรค ควรทำให้มีขึ้น มรรคในที่นี้คืออย่างไร ทำให้มีขึ้นได้อย่างไร เมื่อทำให้มีขึ้นได้แล้วจะเป็นอย่างไร


1. ผู้บรรลุอริยสัจ
      มีวาระพระบาลีที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ความว่า

             "ยงฺกิญฺจิ มุทยธมฺมํ สพฺพนฺต นิโรธธมฺมํ

      สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาสิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา"

 ธรรมะบทนี้มีความหมายลึกซึ้งทีเดียว ผู้ที่สามารถพิจารณาธรรมะบทนี้ได้แสดงว่าตระหนักในกฎของไตรลักษณ์ที่มีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาสรรพสิ่งทั้งหลายเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ตั้งอยู่ได้ไม่นานสุดท้ายก็ต้องเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา อีกประการหนึ่งสิ่งที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา หมายเอาสังขตธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อเกิดขึ้นได้ก็มีวันดับไปได้สมุทยธรรม คือ ธรรมที่เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา เมื่อตัณหาเกิดขึ้นในจิตของเราได้ ก็สามารถที่จะใช้นิโรธธรรม เพื่อดับตัณหาเหล่านั้น ไม่ให้เกิดขึ้นในใจได้อีกต่อไป ผู้ที่พิจารณาเห็นอริยสัจ 4 ได้เช่นนี้ก็คือ ผู้ที่ได้ธรรมจักษุ มีดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน

     มีตัวอย่างของผู้ที่ได้ดวงตาเห็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องของอุบาลีคฤหบดีผู้เป็นศิษย์ของนิครนถ์นาฏบุตร เมื่อได้มีโอกาสถามปัญหาธรรมะกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ทรงพยากรณ์ปัญหาได้อย่างแจ่มแจ้ง ทำให้อุบาลีคฤหสบดีเกิดความซาบซึ้งเลื่อมใสศรัทธา จึงกล่าวขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งถึง 2 ครั้ง แต่พระพุทธองค์ทรงถามย้ำว่า "จงใคร่ครวญให้ดีก่อนแล้วจึงตัดสินใจ การที่บุคคลผู้มีชื่อเสียงเช่นท่าน ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ ย่อมเป็นการดี" การที่ตรัสเช่นนั้น เพราะอุบาลีคฤหบดีเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง และเลื่อมใสพวกนิครนถ์มาช้านาน ถ้ารีบแสดงตนเป็นอุบาสก คนจะครหาได้ว่า พบนิครนถ์ก็ถึงนิครนถ์เป็นสรณะ พบพระก็ขอถึงพระเป็นสรณะ เนื่องจากเคยมีบุคคลผู้มีนิสัยง่อนแง่น มีใจโลเล เคยปฏิบัติเช่นนี้มาก่อน

     เนื่องจากอุบาลีคฤหบดีเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก อีกทั้งตนก็มีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าตั้งแต่แรกพบอยู่แล้ว จึงกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้อยคำที่พระองค์ตรัสเตือนสติมานั้น ยิ่งทำให้ข้าพระองค์มีความชื่นชมยินดีต่อพระองค์ยิ่งนัก เพราะในสมัยก่อนเพียงข้าพระองค์ตัดสินใจประกาศตนเป็นสาวกของอัญญเดียรถีย์ พวกอัญญเดียรถีย์ก็รีบรับเป็นสาวกทันที แล้วพาเที่ยวประกาศทั่วหมู่บ้านนาลันทาว่า "อุบาลีคฤหบดีเป็นสาวกของพวกเราแล้ว" แต่พระผู้มีพระภาคเจ้ากลับตรัสบอกข้าพระองค์ให้ไตร่ตรองให้ดีก่อน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะเป็นครั้งที่ 3 ขอพระผู้มีพระภาคทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป"

    พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า อุบาลีคฤหบดีเป็นผู้มีจิตนุ่มนวลสมควรได้ ดับอมตธรรมที่จะเป็นเหตุให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน จึงเริ่มตรัสอนุปุพพิกถา ซึ่งเป็นพระธรรมเทศนาที่เหมาะสมกับผู้ที่ยังครองเรือน มีความลุ่มลึกไปตามลำดับ เป็นการฟอกจิตใจให้หมดจดเป็นชั้น ๆ จากง่ายไปหายาก เพื่อยกจิตของผู้ฟังให้พร้อมที่จะรับฟังอริยสัจต่อไป ดุจผ้าที่ซักฟอกสะอาดแล้ว ย่อมย้อมสีชนิดต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

     พระพุทธองค์ทรงเริ่มแสดง ทานกถา พรรณนาคุณของการให้ทาน เช่น ทานเป็นเหตุแห่งความสุข เป็นทางมาแห่งสมบัติทั้งหลาย เป็นบุญที่ก่อให้เกิดโภคสมบัติทุกอย่าง

    สีลกถา เป็นการพรรณนาคุณของศีลว่า เป็นที่พึ่ง ที่อาศัย เป็นที่ตั้งแห่งกุศลความดีทั้งปวง เป็นเครื่องเหนี่ยวใจให้ได้ไปสู่สวรรค์ เป็นเครื่องป้องกันภัยในสังสารวัฏ ทำให้ไม่พลัดไปเกิดในอบายภูมิ และทรง อนว่าสมบัติทั้งหลายในโลกนี้และโลกอื่น ล้วนอาศัยศีลเป็นที่พึ่งที่อาศัยทั้งสิ้น

    สัคคกถา ทรงพรรณนาคุณของสวรรค์ว่า เป็นภพที่พรั่งพร้อมด้วยเบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ มีความละเอียดประณีตและสุขมากกว่ากามคุณอันเป็นของมนุษย์ มีความน่ารัก น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ กว่ารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ทุกชนิดในเมืองมนุษย์ ที่ตรัสเช่นนั้น ทรงมีพุทธประสงค์ เพื่อให้ผู้ฟังเบื่อหน่ายในกามคุณอันเป็นของมนุษย์ เพราะผู้ครองเรือนส่วนใหญ่ใจยังข้องเกี่ยวอยู่กับกามคุณ

    กามาทีนวกถา ทรงพรรณนาโทษ และความเศร้าหมองของกามว่า กามนั้นมีคุณเล็กน้อยแต่มีโทษมาก มีความเศร้าหมองมาก มีสุขน้อยแต่มีทุกข์มาก เป็นต้น กามทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นของมนุษย์หรือของทิพย์ ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะนำความสุขมาให้อย่างแท้จริง ล้วนทำให้ใจตกต่ำ และเป็นเหตุให้ข้องเกี่ยวอยู่ในกามภพ กามคุณ คือ เครื่องเหนี่ยวรั้งใจไม่ให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะจึงทำให้ไม่รู้จักความสุขอันเป็นอมตะหรือเป็นบรมสุข

  เนกขัมมานิสังสกถา ทรงแสดงอานิสงส์ในการออกบวช เป็นการพรรณนาคุณของการที่ใจเหินห่างจากเบญจกามคุณว่า มีความปลอดโปร่งโล่งเบาสบาย มีอิสระเสรี เป็นต้นทางที่จะนำไปสู่ การเสวยบรมสุขในพระนิพพาน ซึ่งเป็นเอกันตบรมสุข นั่นคือ ต้องบำเพ็ญเนกขัมมะ เพื่อแสวงหาสุขที่เกิดจากความสงบวิเวกสงัดจากกามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก

     เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า อุบาลีคฤหบดีมีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตผ่องใสเต็มที่แล้ว จึงทรงแสดงสามุกังสิกเทสนา หมายถึง การประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง โดยไม่ต้องมีใครเชื้อเชิญให้แสดง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ด้วยพุทธลีลาอันหาผู้เปรียบมิได้

    ครั้นพระธรรมเทศนาจบลง ธรรมจักษุที่ปราศจากธุลีก็บังเกิดขึ้นแก่อุบาลีคฤหบดีว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาสิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ท่านได้เป็นพระอริยเจ้าผู้มีพระรัตนตรัยภายในเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง ครั้นอุบาลีคฤหบดีได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ก็หมดความสงสัยในพระรัตนตรัย จึงทูลลากลับด้วยจิตที่ผ่องใสมาก และมีความสุขมาก


2. ความหมายของอริยสัจจะ

1. ความจริงที่ประเสริฐ ชื่อว่า อริยสัจจะ หรืออริยสัจ
2. พระอริยะทั้งหลาย ย่อมแทงตลอดอริยสัจจะเหล่านี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า อริยสัจจะ
3. ธรรมที่ทำให้ถึงความเป็นพระอริยะ ชื่อ อริยสัจ
4. ที่ชื่อว่า อริยสัจ เพราะอรรถว่า เป็นสัจจะของพระอริยะดังนี้บ้าง
5. ที่ชื่อว่า อริยสัจ เพราะความที่อริยสัจเหล่านั้น อันพระอริยะตรัสรู้แล้วบ้าง

     1. ทุกข์ ควรกำหนดรู้ ทุกข์ในที่นี้คืออย่างไร ทำไมต้องกำหนดรู้ อย่างไรจึงจะเรียกว่าการกำหนดรู้ เมื่อกำหนดรู้แล้วได้อะไร

ทุกข์ในที่นี้คืออย่างไร
     ทุกข์ คือ ความจริงอย่างประเสริฐ คือ สภาพที่ทนได้ยาก หมายถึง สภาพธรรมที่เกิดดับและทำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ คือ จิต 81 เจตสิก 51 รูป 28 ซึ่งเป็นโลกียธรรมทั้งหมด

ทำไมต้องกำหนดรู้
   ทุกขอริยสัจจะ กิจ คือ ควรกำหนดรู้ ที่เรียกว่า ปริญญากิจ ที่ควรกำหนดรู้ เพราะเราไม่รู้ความจริงว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นแต่เพียงธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ที่เป็นทุกข์ เมื่อไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปที่เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา จึง เป็นทุกข์ประการต่าง ๆ เพราะไม่รู้ความจริง และเพราะไม่รู้ความจริงว่าไม่เที่ยง ด้วยปัญญา ก็ย่อมไม่เห็นโลกตามความเป็นจริงหลงยึดติดในสิ่งที่เป็น มมติ ไม่รู้ความจริงว่ามีแต่ธรรมที่เป็นทุกข์เท่านั้น เมื่อไม่รู้จึงทำบาป เมื่อทำบาปก็ทำให้เกิดในอบายและวนเวียนในสังสารวัฏไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นจึงควรู้ทุกข์ตามความเป็นจริงด้วยปัญญา คือ กำหนดรู้ด้วยปัญญา เพื่อจะได้เห็นทุกข์ตามความเป็นจริง เกิดปัญญาดับกิเลสอันนำมาซึ่งทุกข์

อย่างไรจึงจะเรียกว่าการกำหนดรู้
   เมื่อปัญญาเกิดรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎที่เป็นทุกข์ รู้ความจริงว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา นั่นคือสติปัฏฐานเกิดรู้ความจริงนั่นเอง ชื่อว่า กำหนดรู้แล้ว รู้ด้วยปัญญา โดยไม่มีเราที่จะไปกำหนดรู้

กำหนดรู้แล้วได้อะไร
    เมื่อปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรมสิ่งทีได้ คือ การรู้จักโลกตามความเป็นจริงสิ่งที่ได้ คือ วิชชา ปัญญาเกิด ย่อมละ ความไม่รู้ อวิชชาและกิเลสประการต่าง ๆ ได้ จนดับกิเลสหมดและไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด อันนำมาซึ่งทุกข์


    2. สมุทัย ควรละ สมุทัยในที่นี้คืออย่างไร ทำไมต้องละ ทำอย่างไรจึงเรียกว่าละ เมื่อละได้แล้วเป็นอย่างไร

สมุทัยในที่นี้คืออย่างไร
    สมุทัยอริยสัจ องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิก 1 เป็นความจริงอย่างประเสริฐคือเหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ได้แก่ ตัณหา หรือโลภเจตสิก ซึ่งเป็น ภาพธรรมที่มีลักษณะติดข้อง ทำให้เพลิดเพลินในภพใหม่ เป็นเหตุของการเวียนว่ายตายเกิดต่อไป เป็นโลกียธรรม

ทำไมต้องละ
    ตัณหา คือ สภาพธรรมที่ติดข้อง ต้องการ ที่เป็นโลภะ เพราะมีตัณหา จึงมีความทุกข์ประการต่าง ๆ เพราะนำมาซึ่งโทษ ดังนั้นจึงต้องละ ด้วยเหตุผล 4 ประการ คือ

     1. ทำให้เกิดทุกข์ เพราะอาศัยตัณหา จึงทำให้เกิดทุกข์ใจ ปรารถนาแล้วไม่ได้

   2. เป็นเหตุแห่งทุกข์ เพราะมีตัณหา จึงทำให้เกิดทุกข์ทางกายและใจ เพราะเมื่อมีตัณหาก็ต้องมีการเกิด เมื่อมีการเกิดก็มีร่างกาย มีขันธ์ 5 ก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์กายและใจนานัปประการ

     3. ประกอบสัตว์ไว้ในสังสารทุกข์ เพราะมีตัณหา มีกิเลสก็ไม่สามารถพ้นจากการเกิดได้เลย ก็ต้องเกิดวนเวียนไปในสังสารวัฏไม่มีที่สิ้นสุด จึงเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ไม่ให้พ้นจากการเกิด จากสังสารวัฏ

   4. ขังอยู่ในเรือนจำคือสังสารทุกข์ เพราะมีกิเลสคือ ตัณหา จึงต้องเกิดตาย ไม่สามารถออกจากสังสาวรวัฏที่เรียกว่า คุก เพราะขังสัตว์ไว้ไม่ให้ออกจากการเกิดและตายได้คุกอันละมุนละไม ที่ดูน่าเพลิดเพลิน แต่ถูกขังไว้โดยไม่รู้ตัว อันมีเหตุมาจากตัณหาและกิเลสประการต่าง ๆ

ทำอย่างไรจึงเรียกว่าละ
     ไม่มีตัวเราที่ละ แต่สภาพธรรมฝ่ายดี คือ ปัญญาเกิดขึ้น ที่เป็นปัญญาระดับสูง ระดับมรรคจิต ย่อมละกิเล คือ ตัณหา และผู้ที่จะละกิเลส คือตัณหาได้หมด คือ พระอรหันต์ก็ด้วยปัญญา

เมื่อละได้แล้วเป็นอย่างไร
     เมื่อละเหตุแห่งทุกข์ คือ ตัณหา และอวิชชา ย่อมละบุญและบาปได้ และเป็นปัจจัยไม่ให้ทุกข์ใจอีกเลย ไม่เกิดกิเลสขึ้นในจิตใจ และย่อมทำให้ถึงการไม่เกิดอีก เมื่อปรินิพพาน จุติจิตของพระอรหันต์เกิด ก็ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด อันนำมาซึ่งทุกข์


3. นิโรธ ควรทำให้แจ้ง นิโรธในที่นี้เป็นอย่างไร ทำให้แจ้งคือทำอย่างไร เมื่อทำให้แจ้งได้แล้วจะเป็นอย่างไร

นิโรธในที่นี้เป็นอย่างไร
    นิโรธอริยสัจ องค์ธรรมได้แก่ พระนิพพาน ความจริงอย่างประเสริฐ คือความดับทุกข์ หมายถึง พระนิพพานเป็น ภาพธรรมที่ดับกิเล ดับทุกข์ทั้งปวง เมื่อถึงการดับขันธปรินิพพานแล้ว จะไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีก พระนิพพานเป็นโลกุตตรธรรม พระนิพพานที่เป็นนิโรธสัจจะเป็นสภาพธรรมที่ออกจากอุปธิ คือ สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ประการต่าง ๆ เพราะพระนิพพานไม่เกิด ไม่ดับ จึงไม่ทุกข์

    นิโรธสัจจะ หมายถึง สงัดจากหมู่กิเลสเพราะพระนิพพานเป็นสภาพธรรมที่ปราศจากเครื่องเศร้าหมองที่เป็นกิเลสประการต่าง ๆ และกิลสก็ยินดี ติดข้องไม่ได้ด้วย จึงเป็นสภาพธรรมที่ปราศจากกิเลสปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ พระนิพพานเป็นสภาพธรรมที่มีจิง แต่ไม่มีสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิกและรูปเกิดเลย จึงไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด เพราะพระนิพพานไม่เกิดและดับ เป็นอมตรส พระนิพพานที่เป็นนิโรธสัจจะ ไม่เกิดและไม่ดับ จึงเที่ยง จึงเป็นอมตรส

ทำให้แจ้งคือทำอย่างไร
     ทำให้แจ้ง คือ ประจักษ์ด้วยจิตใจของตนเอง คือ ด้วยใจที่ประกอบด้วยปัญญาระดับสูงที่เป็นโลกุตตระ ย่อมประจักษ์พระนิพพาน ตามความเป็นจริง

เมื่อทำให้แจ้งได้แล้วจะเป็นอย่างไร
      เมื่อทำให้แจ้ง คือ ประจักษ์พระนิพพานแล้ว ย่อมถึงความสงบจากกิเลส


4. มรรค ควรทำให้มีขึ้น มรรคในที่นี้คืออย่างไร ทำให้มีขึ้นได้อย่างไร เมื่อทำให้มีขึ้นได้แล้วจะเป็นอย่างไร

มรรคในที่นี้คืออย่างไร
   มรรคอริยสัจ องค์ธรรมได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ในมรรคจิตตุปบาททั้ง 4 เป็นความจริงอย่างประเสริฐ คือหนทางดับทุกข์ ได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ที่เกิดขึ้นเป็นมรรคสมังคี ทำกิจประหารกิเล เป็น มุจเฉท ทำให้บุคคลที่อบรมมรรคมีองค์ 8 นั้นเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นพระอริยบุคคลตามลำดับขั้น

ทำให้มีขึ้นได้อย่างไร
    กิจของมรรคอริยสัจ คือ ควรเจริญ นั่นคือ ควรทำให้เจริญให้มีขึ้น จากที่ไม่มีก็ให้เกิดขึ้นและที่เกิดขึ้นแล้วก็ทำให้เจริญมากขึ้น ซึ่งการทำให้เจริญให้มีขึ้น ก็ต้องเริ่มจากการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ในเรื่องของสภาพธรรม และอบรมเจริญสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา

เมื่อทำให้มีขึ้นได้แล้วจะเป็นอย่างไร
     1. ทำให้ออกจากสังสารวัฏ อริยมรรค เป็นหนทางที่สามารถดับกิเลสทำให้ไม่มีการเกิดขึ้นของจิตเจตสิกและรูปอีก เพราะคำว่าสังสาร หมายถึง การเกิดขึ้นสืบต่อของสภาพธรรมที่เป็นจิตและเจตสิกต่อไปไม่ขาดสาย ไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นอริยมรรคเมื่อเจริญแล้วก็ทำหน้าที่ละกิเลสทำให้ไม่มีการเกิดขึ้นของจิต เจตสิกอีก จึงออกจากสังสารวัฏได้

    2. เป็นเหตุแห่งพระนิพพานและเห็นพระนิพพาน ผู้ที่เจริญอริยมรรค มรรคสัจจะมรรคจิตเมื่อเกิดขึ้น ย่อมมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ จึงชื่อว่าย่อมเห็นพระนิพพาน และเป็นเหตุแห่งพระนิพพาน

      3. ทำให้พ้นทุกข์ทั้งปวง เพราะเมื่อเจริญอริยมรรค ก็ถึงการดับกิเลสก็ไม่ต้องมีกิเลสที่ทำให้ทุกข์ใจ และเมื่อไม่มีกิเลส ก็ไม่มีการเกิดขึ้นของขันธ์ 5 อีก ก็ไม่ต้องทุกข์กายและทุกข์ประการอื่น ๆ จากการเกิดอีกเลย

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 007 พุทธธรรมทีปนี 1
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0088684995969137 Mins