สิ่งที่ต้องพิจารณาบ่อย ๆ

วันที่ 19 กค. พ.ศ.2560

สิ่งที่ต้องพิจารณาบ่อย ๆ

พุทธธรรมทีปนี 1 , Dhamma , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , สิ่งที่ต้องพิจารณาบ่อย ๆ , อภิณหปัจจเวกขณ์

         อภิณหปัจจเวกขณ์ คือ ข้อปฏิบัติที่ควรพิจารณาทุก ๆ วัน มีอยู่ 5 ประการ ได้แก่

      1. เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นเครื่องบรรเทาความประมาท ความมัวเมา ความลุ่มหลงในวัย ไม่ให้ประมาทในการดำรงชีวิตในแต่ละวัยก่อนความแก่จะมาถึง

         2. เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้ ความเจ็บไข้ได้ป่วยย่อมเกิดขึ้นได้กับทุกคน และความเจ็บมีทั้งรักษาได้และรักษาไม่ได้ปะปนกันไปสักวันหนึ่งเราจะต้องเจ็บแน่นอน ดังนั้นพึงพิจารณาให้ได้ทุก ๆ วัน

        3. เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ความตายไม่มีนิมิตหมายจะตายเมื่อไรไม่มีใครรู้ แต่ที่รู้ ๆ ก่อนตายเราควรทำอะไรให้กับชีวิตที่มีอยู่ เพราะความตายเราหนีไม่พ้นแน่นอน

         4. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น เป็นการย้ำเตือนอยู่ตลอดเวลาว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราทั้งสิ่งชอบใจและไม่ชอบใจ ต่างต้องมีอันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปในที่สุด เป็นการเตรียมใจรับกับ ภาพที่เป็นจริงที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าเราจะรู้ตัว หรือไม่รู้ตัวก็ตามเพื่อป้องกันความเศร้าโศกเสียใจ ให้คลายความยึดมั่นถือมั่นเสีย

         5. เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ เราทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว เราจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

        สรุป การพิจารณาทั้ง 5 ประการนี้ พึงพิจารณาอยู่เนืองนิตย์ จะได้ไม่ประมาทในการเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วได้พบพระพุทธศาสนา


การเจริญมรณานุสติ
        ชีวิตในวันหนึ่ง ๆ ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เปรียบเสมือนหยาดน้ำค้างบนปลายยอดหญ้าเมื่อต้องแสงอาทิตย์ในยามเช้าก็เหือดแห้งหายไปโดยฉับพลัน ชีวิตเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปสู่ความเสื่อม ลายคล้ายฟองน้ำ เมื่อเวลาฝนตกหนักมีฝนหนาเม็ด เกิดเป็นฟองน้ำขึ้น แล้วก็แตกสลายไปในชั่วพริบตาเดียว ช่วงเวลาของชีวิตมนุษย์นั้นสั้นนัก เราไม่ควรประมาท พึงเร่งทำความเพียร เพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางของชีวิต เช่นเดียวกับพระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย

         มีพระคาถาบทหนึ่งในขุททกนิกาย ทสรถชาดก ว่า

"ทหรา จ หิ เย วุฑฺฒา เย พาลา เย จ ปณฺฑิตา
อทฺธา เจว ทลิทฺทา จ สพฺเพ มจฺจุปรายนา

         ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งคนโง่และคนฉลาด ทั้งคนจนและคนรวยล้วนบ่ายหน้าไปหามฤตยูทั้งสิ้น"

       ครั้งหนึ่งพระบรมศาสดาทรงเทศนาโปรดชาวเมืองอาฬวี ให้เจริญมรณานุสติว่า "ท่านทั้งหลายจงพิจารณาว่า ชีวิตของเราไม่ยั่งยืน แต่ความตายเป็นของแน่นอน ตัวเราก็จะต้องตายในที่สุด" ในจำนวนมหาชนที่ฟังธรรมอยู่นั้น มีธิดาของนายช่างหูกคนหนึ่งตั้งใจปฏิบัติตามพุทธโอวาท ด้วยการเจริญมรณานุสติทุกวัน ไม่ว่านางจะทำภารกิจหรือทำการงานอะไร ก็จะนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ทำอยู่อย่างนี้ถึง 3 ปี

        วันหนึ่ง พระบรมศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่ง ได้เห็นกุมาริกานั้นเข้ามาในข่ายพระญาณ ทรงทราบว่ากุมาริกามีอินทรีย์แก่กล้าพอที่จะบรรลุธรรม แต่วันนี้นางจะไม่สามารถรอดพ้นจากความตาย เพราะความตายของปุถุชนย่อมมีคติไม่แน่นอน หากนางได้ฟังธรรมในวันนี้ นางจะได้บรรลุธรรม และเมื่อละโลกก็จะได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต

         ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันไม่มีประมาณ พระพุทธองค์จึงเสด็จไปโปรดนางที่เมืองอาฬวีฝ่ายกุมาริกาเมื่อทราบว่าพระพุทธองค์จะเสด็จมา ก็เกิดความปีติปราโมทย์ มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะไปฟังธรรม แต่เนื่องจากพ่อของนางได้สั่งให้ทอหูกให้เสร็จเสียก่อน นางจึงต้องรีบทอหูกให้เสร็จตามที่พ่อสั่ง เพื่อจะได้ไปฟังธรรม ชาวเมืองอาฬวีได้ถวายภัตตาหารแด่พระบรมศาสดาแล้ว ต่างยืนรอคอยการอนุโมทนาจากพระองค์ แต่พระองค์กลับประทับนิ่ง ไม่ตรัสอะไรเลย เพราะทรงดำริว่า เรามาไกลถึง 30 โยชน์ เพื่อโปรดกุลธิดาช่างหูก แต่นางยังไม่มา เราจะรอจนกว่านางจะมา

       ฝ่ายกุมาริกาขณะที่ทอหูกไป ก็นึกถึงแต่พระบรมศาสดา อยากจะฟังธรรมเป็นอย่างยิ่งหลังจากทอหูกเสร็จแล้ว นางรีบเดินทางมายังที่ฟังธรรม ได้ยืนอยู่ด้านหลังของพุทธบริษัทแลดูพระพุทธองค์ด้วยจิตอันเลื่อมใสนางทราบว่าพระพุทธองค์กำลังรอนางอยู่ จึงรีบเดินเข้าไปในท่ามกลางพุทธบริษัท แล้วก้มลงกราบพระพุทธองค์

          พระองค์ทรงถามกุมาริกาว่า "กุมาริกา เธอมาจากไหน"

          กุมาริกาตอบว่า "ไม่ทราบ พระเจ้าข้า"

          "เธอจักไป ณ ที่ไหน" "ไม่ทราบ พระเจ้าข้า"

          "เธอไม่ทราบหรือ" "ทราบ พระเจ้าข้า"

          "เธอทราบหรือ" "ไม่ทราบ พระเจ้าข้า"

     เมื่อมหาชนได้ยินธิดาช่างหูกตอบเช่นนี้ ก็นึกว่านางพูดเล่นลิ้นกับพระบรมศาสดา จึงเกิดเสียงฮือฮา วิพากษ์วิจารณ์กัน พระบรมศาสดาทรงรู้ข้อกังขาของมหาชน จึงตรัสถามอีกครั้งว่า "กุมาริกา เมื่อเราถามว่าเธอมาจากไหน ทำไมถึงตอบว่า ไม่ทราบ" กุมาริกาจึงทูลว่า "พระองค์ย่อมทรงทราบว่า หม่อมฉันมาจากเรือนช่างหูก แต่ที่พระองค์ตรัสถามนั้น ย่อมประสงค์ว่า ก่อนมาเกิดหม่อมฉันมาจากที่ใด แต่หม่อมฉันไม่ทราบว่าตนเองเกิดมาจากไหน จึงตอบว่าไม่ทราบพระเจ้าข้า"

        พระบรมศาสดาได้ประทานสาธุการแก่กุมาริกานั้นว่า "ดีละ ๆ เธอตอบได้ถูกแล้ว" จากนั้นจึงตรัสถามข้อต่อไป "เมื่อเราถามว่าเธอจะไปไหน ทำไมจึงตอบว่า ไม่ทราบ" "พระองค์ทรงทราบ หม่อมฉันผู้ถือกระเช้าด้ายหลอดเดินไปยังเรือนช่างหูก พระองค์ย่อมประสงค์ถามว่าหม่อมฉันจากโลกนี้ไปแล้ว จะเกิดในที่ใด ก็หม่อมฉันไม่ทราบว่า ตายแล้วจะไปเกิดในที่แห่งใดจึงตอบว่าไม่ทราบ พระเจ้าข้า"

      พระบรมศาสดาได้ประทานสาธุการแก่นางเป็นครั้งที่ 2 แล้วตรัสถามต่อไปว่า "ที่เราถามว่าเธอไม่ทราบหรือ เพราะเหตุไรจึงตอบว่า ทราบ" "หม่อมฉันทราบว่าตนเองจะต้องตายแน่นอน ไม่สามารถรอดพ้นความตายไปได้ จึงกราบทูลอย่างนั้น พระเจ้าข้า"

       แม้ครั้งที่ 3 พระบรมศา ดาทรงประทานสาธุการแก่นาง แล้วตรัสถามถึงข้อต่อไปว่า "ที่เราถามว่าเธอทราบหรือ ทำไมถึงตอบว่า ไม่ทราบ" "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันย่อมทราบว่าตนเองต้องตายแน่นอน แต่ไม่ทราบว่าจะตายในเวลาไหน จึงทูลอย่างนั้น พระเจ้าข้า"

        แม้ครั้งที่ 4 พระบรมศาสดาทรงให้สาธุการแก่นางว่า "ตอบได้ถูกต้องแล้ว เธอแก้ปัญหาที่เราถามได้ถูกแล้ว" จากนั้นได้ตรัสเตือนพุทธบริษัท ให้หมั่นเจริญมรณานุ ติ นึกถึงความตายเนือง ๆ จะได้ไม่ประมาทในวัยและชีวิต แล้วให้เร่งรีบสั่ง มความดี เพราะไม่มีใครรู้ว่าความตายจะเกิดขึ้นเมื่อไร จึงตรัสเตือนให้หมั่นทำความเพียรว่า "พึงรีบทำความเพียรในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยนต่อมฤตยูผู้มีเสนาใหญ่ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย"

      เมื่อจบพระธรรมเทศนา มหาชนได้บรรลุธรรมาภิสมัยเป็นจำนวนมาก ต่างขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะส่วนกุมาริกาได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน จากนั้นนางได้ถวายบังคมลาพระบรมศาสดา

    ฝ่ายบิดาของนางกำลังนั่งหลับอยู่ เมื่อนางไปถึงโรงทอผ้าแล้ว ก็ได้น้อมกระเช้าด้ายหลอดส่งให้บิดา กระเช้าด้ายหลอดกระทบที่ฟืม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องทอผ้า ทำให้เกิดเสียงดัง บิดาตกใจ จึงเผลอไปกระตุกฟมอย่างแรง ปลายฟมกระแทกหน้าอกของนาง ทำให้นางเสียชีวิตในทันที และได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต

      ดังนั้น การเจริญมรณานุสติ หมั่นระลึกนึกถึงความตายบ่อย ๆ จึงมีอานิสงส์มากนึกถึงแล้วเราจะได้ไม่ประมาทในชีวิต จะได้ตั้งใจทำความดีสร้างบุญสร้างบารมีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปถึงเวลาจะละโลก ก็จะไม่กลัว ไม่หวาดหวั่นต่อมรณภัยที่กำลังเกิดขึ้น เหมือนบุคคลเห็นงูพิษขวางอยู่ข้างหน้าในที่ไกล ก็ตั้งสติได้สามารถหาไม้เขี่ยให้พ้นออกจากทางไปได้

       เมื่อเราเห็นเห็นโทษ เห็นภัยในความแก่ ความเจ็บและความตายแล้ว พึงอย่าได้ประมาทให้เร่งรีบทำความดี หมั่นเจริญสมาธิภาวนาอย่าได้ขาด


บรรลุนิพพาน คือการมีสติอย่างแท้จริง
         สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ คิญชกาวสถาราม 1 ในนาทิกคาม ณ ที่นั้นแลพระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

        "ภิกษุทั้งหลาย มรณัสสติที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มากหยั่งลงสู่อมตะ 2 มีอมตะเป็นที่สุด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย ยังเจริญมรณัสสติอยู่หรือไม่"

       เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ก็ยังเจริญมรณัสสติอยู่"

         พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า "ภิกษุ เธอเจริญมรณัสสติอย่างไร"

       ภิกษุกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์มีความคิดอย่างนี้ว่าโอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่ง เราพึงมนสิการ ถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณัสสติอย่างนี้"

        ภิกษุอีกรูปหนึ่งกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ก็ยังเจริญมรณัสสติอยู่"

         พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า "ภิกษุ เธอเจริญมรณัสสติอย่างไร"

       ภิกษุกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์มีความคิดอย่างนี้ว่า โอหนอเราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่ง เราพึงมนสิการ ถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเราพึงทำกิจให้มากหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณัสสติอย่างนี้"

        ภิกษุอีกรูปหนึ่งกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ก็ยังเจริญมรณัสสติอยู่"

        พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า "ภิกษุ เธอเจริญมรณัสสติอย่างไร"

      ภิกษุกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์คิดอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่ง เราพึงมนสิการ ถึงคำสอนของพระผู้มี พระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณัสสติอย่างนี้"

       ภิกษุอีกรูปหนึ่งกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ก็ยังเจริญมรณัสสติอยู่"

        พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า "ภิกษุ เธอเจริญมรณัสสติอย่างไร"

      ภิกษุกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์คิดอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดวันหนึ่ง เราพึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณัสสติอย่างนี้"

        ภิกษุอีกรูปหนึ่งกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ก็ยังเจริญมรณัสสติอยู่"

        พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า "ภิกษุ เธอเจริญมรณัสสติอย่างไร"

       ภิกษุกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์มีความคิดอย่างนี้ว่าโอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะฉันบิณฑบาตมื้อหนึ่ง เราพึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณัสสติอย่างนี้"

        ภิกษุอีกรูปหนึ่งกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ก็ยังเจริญมรณัสสติอยู่"

        พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า "ภิกษุ เธอเจริญมรณัสสติอย่างไร"

       ภิกษุกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มีความคิดอย่างนี้ว่า "โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะเคี้ยวกินคำข้าว 4-5 คำ เราพึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเราพึงทำกิจให้มากหนอ" ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณัสสติอย่างนี้"

      ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ก็ยังเจริญมรณัสสติอยู่"

         พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า "ภิกษุ เธอเจริญมรณัสสติอย่างไร"

        ภิกษุกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์มีความคิดอย่างนี้ว่าโอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะเคี้ยวกินคำข้าว 1 คำ เราพึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณัสสติอย่างนี้"

      ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ก็ยังเจริญมรณัสสติอยู่"

         พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า "ภิกษุ เธอเจริญมรณัสสติอย่างไร"

        ภิกษุกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์มีความคิดอย่างนี้ว่าโอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะลมหายใจเข้าหายใจออก หรือหายใจออกหายใจเข้าเราพึงมนสิการคำ อนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้ มากหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพระองค์เจริญมรณัสสติอย่างนี้"

       เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปใดเจริญมรณัสสติว่า "โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่ง เราพึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ"

     ภิกษุรูปใดเจริญมรณั ติอย่างนี้ว่า "โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดวันหนึ่ง เราพึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ"

    ภิกษุรูปใดเจริญมรณัสติอย่างนี้ว่า "โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะฉันบิณฑบาตมื้อหนึ่ง เราพึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ"

       ภิกษุรูปใดเจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า "โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะเคี้ยวกินคำข้าว 4-5 คำ เราพึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ"

       เรากล่าวว่า ภิกษุเหล่านี้ยังเป็นผู้ประมาทอยู่ ยังเจริญมรณัสสติอย่างเพลาเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย

      ส่วนภิกษุรูปใดเจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า "โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะเคี้ยวกินคำข้าว 1 คำ เราพึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ"

     และภิกษุรูปใดเจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า "โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะลมหายใจเข้าหายใจออก หรือหายใจออกหายใจเข้า เราพึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเราพึงทำกิจให้มากหนอ"

    ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า ภิกษุเหล่านี้เป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ เจริญมรณัสสติอย่างแรงกล้าเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย

       เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า "เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ จักเจริญมรณัสสติอย่างแรงกล้าเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย"

        ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล"

 
มรณัสสตินำชีวิตพ้นภัย
      สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ คิญชกาวสถาราม ในนาทิกคาม ณ ที่นั้นแลพระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า

      "ภิกษุทั้งหลาย มรณัสสติที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มากหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด

       มรณัสสติที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะมีอมตะเป็นที่สุด เป็นอย่างไร

      คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางวันผ่านไป กลางคืนย่างเข้ามา พิจารณาเห็นดังนี้ว่า  "ปัจจัยแห่งความตายของเรามีมากแท้ คือ งูพึงกัดเราก็ได้ แมงป่องพึงต่อยเราก็ได้ หรือตะขาบพึงกัดเราก็ได้ เพราะเหตุนั้น เราพึงตาย เราพึงมีอันตรายนั้น เราพึงพลาดหกล้มก็ได้ ภัตตาหารที่เราฉันแล้วไม่พึงย่อยก็ได้ ดีของเราพึงกำเริบก็ได้ เสมหะของเราพึงกำเริบก็ได้ หรือลมมีพิษดังศัสตราของเราพึงกำเริบก็ได้ เพราะเหตุนั้น เราพึงตาย เราพึงมีอันตรายนั้น" ภิกษุทั้งหลายภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า "บาปอกุศลธรรมที่เรายังละไม่ได้ ซึ่งจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้จะตายในเวลากลางคืนมีอยู่หรือไม่"

      ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า "บาปอกุศลธรรมที่เรายังละไม่ได้ ซึ่งจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้จะตายในเวลากลางคืนยังมีอยู่" ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอยสติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้น

   ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย ติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละบาปอกุศลธรรม เหล่านั้น เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าที่ถูกไฟไหม้ หรือมีศีรษะถูกไฟไหม้ ควรทำ ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอยสติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อดับไฟที่ไหม้ผ้าหรือไฟที่ไหม้ศีรษะนั้น

    ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า "บาปอกุศลธรรมที่เรายังละไม่ได้ ซึ่งจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้จะตายในเวลากลางคืนไม่มี" ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์นั้นแล ตามสำเหนียกในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่เถิด

      ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางคืนผ่านไป กลางวันย่างเข้ามา พิจารณาเห็นดังนี้ว่า "ปัจจัยแห่งความตายของเรามีมากแท้ คือ งูพึงกัดเราก็ได้ แมงป่องพึงต่อยเราก็ได้ หรือตะขาบพึงกัดเราก็ได้ เพราะเหตุนั้น เราพึงตาย เราพึงมีอันตรายนั้น เราพึงพลาดหกล้มก็ได้ ภัตตาหารที่เราฉันแล้วไม่พึงย่อยก็ได้ ดีของเราพึงกำเริบก็ได้ เสมหะของเราพึงกำเริบก็ได้ หรือลมมีพิษดังศัสตราของเราพึงกำเริบ เพราะเหตุนั้น เราพึงตาย เราพึงมีอันตรายนั้น" ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า "บาปอกุศลธรรมที่เรายังละไม่ได้ ซึ่งจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้จะตายในเวลากลางวันมีอยู่หรือไม่"

      ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า "บาปอกุศลธรรมที่เรายังละไม่ได้ ซึ่งจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้จะตายในเวลากลางวันยังมีอยู่" ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายามความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอยสติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้น

   ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอยสติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้น เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าที่ถูกไฟไหม้ หรือมีศีรษะถูกไฟไหม้ พึงทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอยสติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อดับไฟที่ไหม้ผ้าหรือไฟที่ไหม้ศีรษะนั้น

      ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า "บาปอกุศลธรรมที่เรายังละไม่ได้ ซึ่งจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้จะตายในเวลากลางวันไม่มี" ภิกษุนั้น พึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์นั้นแลตามสำเหนียกในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งกลางวันกลางคืนอยู่เถิด

      ภิกษุทั้งหลาย มรณัสสติที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เป็นอย่างนี้แล"

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 007 พุทธธรรมทีปนี 1
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.024463550249736 Mins