เสขิยวัตร หมวดที่ ๒ โภชนปฏิสังยุต (ข้อ ๕ - ๘)

วันที่ 05 เมย. พ.ศ.2561

เสขิยวัตร ต้นบัญญัติมารยาทไทย  หมวดที่ ๒ โภชนปฏิสังยุต (ข้อ ๕ - ๘) หมวดธรรมว่าด้วยมารยาทในการรับประทานอาหาร

เสขิยวัตร
ต้นบัญญัติมารยาทไทย

หมวดที่ ๒ โภชนปฏิสังยุต (ข้อ ๕ - ๘)
หมวดธรรมว่าด้วยมารยาทในการรับประทานอาหาร

ข้อ ๕  “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาตโดยเคารพ”
ข้อ ๖  “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่าเมื่อฉันบิณฑบาต เราจักดูแลแต่ในบาตร”
ข้อ ๗  “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ขุดข้าวสุกให้แหว่ง”
ข้อ ๘  “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันแกงพอสมควรกับข้าวสุก”

--------------------------------------------


ข้อ ๕. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาตโดยเคารพ”

ข้อ ๕. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาตโดยเคารพ”

         อาหารที่บิณฑบาตได้มา ไม่ว่าจะเป็นของคนจนหรือคนรวย ประณีตหรือไม่ประณีต ท่านให้ฉันโดยไม่เลือก แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เป็นการทำ ความลำบากแก่พระมากนัก ญาติโยมควรเอื้อเฟื้อไต่ถามท่านบ้าง เพราะพระบางรูปฉันอาหารเผ็ดจัด รสจัดไม่ได้ จะถามในขณะที่ท่านบิณฑบาตก็ไม่เสียหายอะไร เพราะเป็นเรื่องจำเป็น ถามแบบเป็นการเป็นงานไม่ได้ถามแบบชวนคุย พระท่านตอบได้ ข้อสำคัญต้องระวังคำถามให้ดี อย่าให้ท่านต้องตอบแบบเจาะจงเลือกอาหาร ซึ่งก็ไม่ยากอะไร ถามท่านตรง ๆ เลยว่า

         “หลวงพ่อ หลวงตา อาหารรสจัด ๆ อย่างนี้ฉันได้ไหม…อาหารประเภทนั้นประเภทนี้เป็นอุปสรรค เป็นอันตรายแก่สุขภาพของหลวงพ่อหรือเปล่า…” อย่างนี้ท่านตอบได้ ถ้าเราไม่ไต่ถามท่านบ้าง บางทีเราก็พลาดทำให้ท่านได้รับทุกขเวทนาโดยไม่เจตนา

          นานมาแล้ว หลวงพ่อไปกราบพระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ท่านเล่าให้ฟังว่า สมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งของเรา ท่านมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ของเผ็ด ๆ ท่านฉันไม่ได้ มีอยู่คราวหนึ่งท่านรับนิมนต์ไปฉันอาหารที่บ้านข้าราชการผู้ใหญ่ ปรากฏว่า เขามีแต่อาหารรสจัด เผ็ดจัด จำพวกอาหารขี้เมาทั้งนั้น ท่านรู้เหมือนกันว่าไม่เหมาะกับสุขภาพของท่านแต่ก็ไม่ออกปากว่าอย่างไร เขาจัดให้อย่างไรก็ฉันอย่างนั้น แต่พอกลับถึงวัดก็อาพาธนอนป่วยเป็นเดือน ๆ

         นี้ทั้ง ๆ ที่ตั้งใจทำบุญยังพลาด เพราะฉะนั้นเวลานิมนต์พระมาฉันอาหารที่บ้านก็ดีตักบาตรให้พระก็ดี จัดอาหารรสพอสมควร ๆอย่าให้รสจัดนัก บางองค์สู้ไม่ได้จริง ๆ หรือไม่อย่างนั้นก็ทำน้ำจิ้มรสจัดไว้ต่างหาก สำหรับองค์ที่ชอบฉันอาหารรสจัด ๆ

         แล้วความเชื่อที่ว่า คนที่ตายไปแล้วชอบกินอาหารอะไรแล้วตักบาตรด้วยอาหารชนิดนั้นส่งไปให้ ขอให้รู้ด้วยว่า พระไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์นะ เดี๋ยวผีพ่อชอบกินเหล้า จะเอาเหล้ามาถวายหลวงพ่อเสียอีก

         เรื่องอาหารการกินของพระผู้ใหญ่สูงอายุต้องระวังให้มาก เพราะถ้าไม่หนักหนาสาหัสจริง ๆ ท่านจะไม่พูด ถวายอย่างไรก็ฉันอย่างนั้นแล้วก็เลยทำให้ท่านลำบากลำบน บั่นทอนอายุท่าน พวกเราช่วยเอาใจใส่ท่านด้วยก็แล้วกัน

         หลวงพ่อเองทั้ง ๆ ที่ระวังยังพลาด มีอยู่คราวหนึ่ง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ท่านเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรฯ องค์ที่เวลาอบรมธรรมทายาทของวัดเราท่านก็เมตตารับเอาไปบวชให้ทุกปีนั่นแหละท่านเป็นโรคเบาหวาน แต่เผอิญหลวงพ่อไม่ทราบวันนั้นท่านมาอบรมพระภิกษุที่วัด หลวงพ่อก็ให้เขาจัดน้ำอ้อยมาถวายท่าน เนื่องจากท่านให้ความคุ้นเคย ก็เลยพูดแบบเอ็นดูว่า“นี้แกล้งฆ่ากันนะนี่” แล้วก็อธิบายว่า ท่านฉันของหวานไม่ได้หรอก เนื่องจากเป็นโรคเบาหวาน อย่างน้ำอ้อยนี้ฉันไม่ได้เลย ก็เลยจัดน้ำแข็งเปล่ามาถวายแทน เกือบไปแล้วไหมล่ะ นี้ถ้าเป็นองค์อื่นท่านเกรงใจเราฉันเข้าไปทั้ง ๆ ที่แสลงโรค คงแย่ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย

 

ข้อ ๖. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เมื่อฉันบิณฑบาตเราจักดูแลแต่ในบาตร”

ข้อ ๖. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เมื่อฉันบิณฑบาตเราจักดูแลแต่ในบาตร”

         นี้ก็เป็นมารยาทในการรับประทานอาหารทั่ว ๆ ไป เมื่อเด็ก ๆ โดนแม่ตีก็เรื่องอาหารนี้แหละหลวงพ่อเกิดก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ๒-๓ ปี ฉะนั้นจึงทันได้เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น แล้วบ้านหลวงพ่อเองก็ประสบภัยสงครามกับเขาด้วย ตอนนั้นญี่ปุ่นเข้ามายึดเอาไร่และบ้านเพื่อทำเป็นค่ายทหารของเขา เราก็เลยต้องอพยพ

         ฐานะซึ่งแต่เดิมปานกลาง พอปุบปับถูกไล่ออกจากบ้าน ต้องจากที่ทำกิน ก็จนกรอบทรุดฮวบเลย อาหารการกินฝืดเคืองไปหมดขณะนั้นยังเป็นเด็ก พอเห็นเพื่อน ๆ ที่เขากลับจากโรงเรียนกินไอศกรีม กินนั่นกินนี่ ก็อยากกินกับเขาบ้าง แต่ไม่มีเงินซื้อ ด้วยความเป็นเด็กก็อดมองเขากินไม่ได้
 

ข้อ ๖. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เมื่อฉันบิณฑบาตเราจักดูแลแต่ในบาตร”

         การดูปากคนที่กำลังกินอาหารถือว่าเป็นการเสียมารยาทอย่างแรง ผู้ใหญ่สมัยนั้นไม่ยอมปล่อยให้ลูกหลานมองใครกินอาหารเด็ดขาดที่บ้านโยมแม่ไม่ยอมให้ลูก ๆ มองปากใครกินถ้าเห็นท่านตียับเลย ความที่ถูกเคี่ยวเข็ญมาอย่างนั้น ต่อ ๆ มาก็ดีขึ้น โดนตี ๔-๕ หนวันหลังเห็นใครกินอะไรไม่กล้ามอง ก้มหน้างุดไปเลย

         ฉะนั้น พอโตขึ้นมาก็มีความรู้สึกอย่างหนึ่งว่า เรารู้จักพอ คือ ถูกฝึกให้สันโดษนั่นเอง เรามีฐานะอย่างไรก็พอใจอย่างนั้น นิสัยที่จะไปอิจฉาใครก็เลยไม่มี อิจฉาตาร้อนใครไม่เป็นเพราะเคยอดอาหารมาจนชินแล้ว ถึงลำบากยากเย็นอย่างไรเราก็อยู่ได้

         จากมารยาทเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้เองได้ส่งผลยิ่งใหญ่ต่อมา คือ อิจฉาใครไม่เป็น ใครเขาได้ดิบได้ดีก็สนับสนุน ถึงจะได้ดีกว่าเราก็ไม่นึกอิจฉาเลย บรรพบุรุษของเราท่านฉลาดจริง ๆ

         ในการอบรมลูก ๆ หลาน ๆ มารยาทเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างนี้อย่าปล่อยผ่าน ถึงขาดเงินขาดทองอย่างไรก็อย่าปล่อยให้ลูกหลานไปดูปากชาวบ้านเขากิน ถ้าไม่ระวังกวดขันห้ามปรามเสียแต่ยังเด็ก นิสัยขี้อิจฉาจะพอกพูนขึ้นมาจนแสดงออกอย่างน่าเกลียด หาความสบายใจไม่ได้ตลอดชาติ

 

ข้อ ๗. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ขุดข้าวสุกให้แหว่ง”

ข้อ ๗. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ขุดข้าวสุกให้แหว่ง”

         ท่านหมายความว่า เวลาตักข้าวรับประทานไม่ควรแหวกกองข้าวตรงนั้นตรงนี้จนเว้า ๆ แหว่ง ๆ เขละขละไปทั้งจาน ควรตะล่อมข้าวเป็นคำ ๆ หมั่นปาดขอบกองข้าวให้พูนกลมอยู่ตลอดเวลา จะรับประทานด้วยมือหรือด้วยช้อนก็ควรทำอย่างเดียวกัน เรื่องนี้ถือเป็นมารยาทอย่างหนึ่ง แม้เป็นมารยาทเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็มีคุณค่ามาก นอกจากจะเป็นการฝึกสติแล้ว ยังช่วยส่งเสริมบุคลิกของเราได้เป็นอย่างดี เวลาไปกินข้าวปลาอาหารที่ไหนจะได้ไม่มีใครรังเกียจหลวงปู่วัดปากน้ำเวลาท่านฉันข้าว ข้าวในจานของท่านจะพูนกลมอยู่เสมอ น่าดูมาก เพราะเวลาฉันท่านใช้ช้อนตะล่อมปาดข้าวในจานของท่านตลอดเวลา ดังนั้นกองข้าวจึงดูพูนกลมเหมือนข้าวเหนียวพูนในกะละมัง ไม่มีแหว่ง แต่พวกเราเวลากินไม่ค่อยระวัง เจาะเอาตามใจชอบข้าวจึงแหว่งเป็นแถบ ๆ บางคนก็คุ้ยข้าวเสียกระจายเกลื่อนเป็นไก่เขี่ย เปรอะปากชามยังไม่พอ หกกระเด็นออกมาข้างนอกอีก ไม่งามเลย

         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดมารยาทข้อนี้ไว้สำหรับพระภิกษุ เพราะโดยทั่วไปพระมักฉันอาหารต่อหน้าญาติโยมที่มาทำบุญเป็นจำนวนมาก ขณะที่พระกำลังฉันชาวบ้านไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยนั่งดูพระฉันไปพลาง คุยกันไปพลาง กี่สายตา ๆ ก็มองมาที่พระ ถ้าพระรูปใดเผลอตัวมารยาทขาดไปสักนิด เขาจะนึกตำหนิทันที ทำให้ใจขุ่นมัว ศรัทธาคลอนแคลนได้บุญไม่เต็มที่ บางคนเอาไปวิพากษ์วิจารณ์ต่อแทนที่จะได้บุญล้วน ๆ กลับแบกบาปไปอีก

         การนั่งรับประทานอาหารต่อหน้าคนมาก ๆ นี้ไม่ใช่ของง่ายเลย ตอนหลวงพ่อบวชพรรษาแรก พอเริ่มฉันก็ถูกญาติโยมมองตาแป๋วเล่นเอาเขิน จับช้อนมือไม้สั่นไปหมด ถามพระองค์อื่นว่าเป็นไหม ก็เป็นเหมือนกัน เลยต้องหาทางออกแก้ปัญหาโดยกำหนดลงไปว่าพอพระเริ่มฉันให้โยมสวดมนต์ทำวัตรไปเลยเขาจะได้ไม่นั่งดูพระฉัน แถมยังได้บุญเพราะการสวดมนต์อีก วัดพระธรรมกายทำอย่างนี้ก็เรียบร้อยดีทั้งพระทั้งชาวบ้าน

         ความไม่งามที่เกิดขึ้นขณะที่พระกำลังฉันเท่าที่เจอยังมีอีกหลายอย่าง คือ บางคนชอบเอาพระมาเสี่ยงทาย เช่น เขาจัดอาหารใส่จานมาตั้งถวายพระ ๔-๕ อย่าง แล้วก็ตั้งจิตอธิษฐานเลยว่า ถ้าหลวงพ่อตักอาหารจานนี้เป็นจานแรกแสดงว่าลูกในท้องของเขาจะเป็นชาย ถ้าตักจานนั้นลูกในท้องจะเป็นหญิง ถ้าตักจานโน้นแสดงว่าต่อไปนี้ลูกหมดแล้ว ไม่มีมาเกิดอีก ว่าเข้าไปนั่น

         บางพวกหนักขึ้นไปอีก ส่วนมากเป็นแม่บ้านที่ทำกับข้าวเก่ง ๆ พวกนี้ชอบมาประชันฝีมือกันที่วัด พอพระลงมือฉัน คุณเธอก็จ้องเอา ๆพระท่านก็ไม่รู้ตัวว่าถูกกำหนดให้เป็นกรรมการตัดสิน ท่านก็ฉันไปตามสบาย พอฉันเสร็จแล้วเขายกสำรับกับข้าวเข้าครัวไปก็ได้เรื่อง พวกเธอทั้งหลายมีเรื่องคุยข่มกันมาทีเดียว

         “อุ๊ย..ฝีมือใคร ๆ ก็เทียบฉันไม่ได้หรอกดูสิ…หลวงพ่อฉันแต่ของฉันคนเดียว ของเธอท่านไม่แตะเลย…” แม่นั่นก็เลยหน้างอไป

         ดูนะ ตั้งใจไปทำบุญกลับกลายเป็นไปทะเลาะกันว่าพระฉันของใครมากของใครน้อยไม่น่าเลย พระแต่ละองค์ท่านชอบอาหารเหมือนกันเมื่อไรเล่า บางองค์ก็ชอบอย่างนี้ บางองค์ก็ชอบอย่างนั้น เอาแน่ไม่ได้ ยังอุตส่าห์มีคนเอามาเป็นเรื่องทะเลาะกันจนได้

         เห็นแบบนี้บ่อย ๆ เข้าชักไม่ชอบมาพากลก็เลยหาเรื่องให้สวดมนต์ขณะพระฉันเสียเลยจะได้ไม่มัวมานั่งจับผิด นั่งเสี่ยงทายให้วุ่นวายกันเปล่า ๆ

 

ข้อ ๘. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันแกงพอสมควรกับข้าวสุก”

ข้อ ๘. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันแกงพอสมควรกับข้าวสุก”

         ข้อนี้เป็นเรื่องของการฝึกนิสัยไม่ให้กินกับข้าวเติบ เช่นเดียวกับข้อที่ผ่านมาแล้ว ต่างกันแต่ว่า ข้อแรกเป็นกรณีตั้งเจตนาจะให้ได้กับข้าวมาก ๆ ขณะบิณฑบาต ส่วนข้อนี้เป็นการกำหนดมารยาทขณะกำลังฉันอาหาร ผลที่ได้รับ นอกจากจะไม่เป็นที่รังเกียจของเพื่อนฝูงของชาวบ้านแล้ว ยังสร้างนิสัยประหยัด เป็นผลดีในเชิงเศรษฐกิจด้วย
 

เสขิยวัตร , สารูป , บ่อเกิดของมารยาทไทย , โภชนปฏิสังยุต , ธัมมเทสนาปฏิสังยุต , ปฏิสังยุต , ระเบียบปฏิบัติของพระภิกษุ , เสขิยวัตร หมวดปกิณณ , เสขียวัตรหมวดโภชนปฏิสังยุต , เสขิยวัตร หมวดสารูป , เสขิยวัตร หมวดธัมเทสนาปฎิสังยุต , พระวินัยเบื้องต้น , เสนาสนะ , พระภิกษุ , การครองผ้า , การขบฉัน , สังฆาทิเสส , พระปาฏิโมกข์ , การสวดพิจารณาอาหาร , รู้จักประมาณ , การใช้สรรพนามในหมู่พระ , บิณฑบาต , ปกิณณกะ , มารยาทในการรับประทานอาหาร , พระธรรมเทศนา โดยหลวงพ่อทัตตชีโว , เสขิยวัตร หมวดที่ ๒ โภชนปฏิสังยุต (๕ - ๘) , หมวดที่ ๒ โภชนปฏิสังยุต หมวดธรรมว่าด้วยมารยาทในการรับประทานอาหาร ข้อ ๕  “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาตโดยเคารพ” ข้อ ๖  “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่าเมื่อฉันบิณฑบาต เราจักดูแลแต่ในบาตร” ข้อ ๗  “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ขุดข้าวสุกให้แหว่ง” ข้อ ๘  “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันแกงพอสมควรกับข้าวสุก”

 

 

พระธรรมเทศนา โดยหลวงพ่อทัตตชีโว

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0015781005223592 Mins