ระเบียบปฏิบัติการประกอบพิธีศพ
ระเบียบปฏิบัติการจัดสถานที่ตั้งศพ
สถานที่สมควรจัดเป็นที่ตั้งศพ
ถ้าผู้ตายเป็นผู้ใหญ่แห่งตระกูล และบริเวณบ้านเรือนกว้างขวางเหมาะสมแก่การตั้งศพบำเพ็ญกุศลได้ ก็นิยมจัดตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้าน เพราะโดยมากก็นิยมตั้งศพบำเพ็ญกุศลไว้เป็นเวลานาน อย่างน้อยก็ครบ ๑๐๐ วัน จึงจะทําพิธีพระราชทานเพลิงศพ หรือจึงจะทําพิธีฌาปนกิจศพ
สถานที่ตั้งศพนั้น นิยมพิจารณาเลือกใช้สถานที่และเอกเทศหนึ่งโดยเฉพาะ อันเป็นสถานที่เฉพาะผู้มีความประสงค์จะเคารพศพเท่านั้นจึงเข้าไป ณ สถานที่นั้น ถ้าไม่มีความประสงค์เช่นนั้นก็ไม่เข้าไป ณ สถานที่นั้น และทุกคนที่เข้าไป ณ สถานที่นั้นจะต้องแสดงความเคารพต่อศพนั้นทุกครั้งเพี่อเป็นการยกย่องแก่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว
สถานที่ตั้งศพนั้น ประกอบด้วยสถานที่สำคัญและอุปกรณ์เครื่องใช้เกี่ยวกับพิธีศพ ที่จะต้องจัดเตรียมไว้ให้มีพรักพร้อมดังนี้
๑. สถานที่ตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย
๒. สถานที่ตั้งอาสน์สงฆ์สำหรับพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม
๓. สถานที่ตั้งศพ
๔. สถานที่ตั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์
๕. สถานที่ตั้งรูปของผู้ตาย
๖. อุปกรณ์เครื่องใช้ในพิธีศพ
สถานที่ตั้งโต๊ะหมูบูชาพระรัตนตรัย
โต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป นิยมตั้งไว้ด้านศีรษะของศพและนิยมตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทิศเหนือหรือทิศใต้ทิศใดทิศหนึ่ง แต่ไม่นิยมตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก
นิยมตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูปไว้ทางด้านหัวอาสน์สงฆ์ที่พระสงฆ์นั่งสวดพระอภิธรรม และนิยมตั้งไว้สูงกว่าอาสน์สงฆ์และสูงกว่าที่ตั้งศพพอสมควร
พระพุทธรูปที่บูชานั้น นิยมอัญเชิญพระพุทธรูปบูชาประจำตัวของผู้ตายมาตั้งบูชา (ถ้ามี) ถ้าไม่มี ก็นิยมอัญเชิญพระพุทธรูปที่มีขนาดพอเหมาะกับโต๊ะหมู่บูชา มาตั้งบูชา
เครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัยต่างๆ นิยมจัดทําเช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วในการตั้งศพรดน้ำ และโดยมากก็นิยมนำโต๊ะหมู่บูชาหมู่นั้น มาใช้ตั้งในการตั้งศพบำเพ็ญกุศลต่อไปอีกด้วย
สถานที่ตั้งอาสน์สงฆ์สำหรับพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม
อาสน์สงฆ์สำหรับพระสงฆ์นั่งสวดพระอภิธรรมนั้น นิยมยกขึ้นให้สูงจากพื้นประมาณ ๑ ศอก เป็นพอดี เพื่อยกพระธรรมและพระสงฆ์ขึ้นให้สูงเด่น เหมาะแก่ความเคารพเลื่อมใส
นิยมจัดตั้งอาสน์สงฆ์นี้ไว้ด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป และนิยมจัดตั้งตู้พระอภิธรรมไว้บนอาสน์สงฆ์ข้างหน้าพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม
นิยมจัดเครื่องสักการบูชาพระอภิธรรมอีกส่วนหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งประกอบด้วยเครื่องสักการบูชา ดังนี้
๑. กระถางธูป ๑ ลูก พร้อมตั้งธูป ๓ ดอก
๒. เชิงเทียน ๑ คู่ พร้อมตั้งเทียนขนาดใหญ่พอสมควร
๓. แจกัน ๑ คู่ พร้อมตั้งดอกไม้
เครื่องสักการบูชาพระอภิธรรมนี้ นิยมตั้งไว้บนโต๊ะสูงระดับเดียวกันกับอาสน์สงฆ์ หรือสูงกว่าอาสน์สงฆ์เล็กน้อย โดยตั้งไว้ข้างหน้าอาสน์สงฆ์พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม
ไม่นิยมใช้โต๊ะรองที่สูงมากนัก เพราะเมื่อตั้งเครื่องสักการบูชาแล้วจะบังพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม ตั้งไม่นิยมใช้โต๊ะต่ำมากนัก เพราะดูไม่เหมาะสม
โต๊ะสําหรับตั้งเครื่องสักการบูชาพระอภิธรรมนี้นิยมใช้โต๊ะขนาดกลาง มีขนาดไม่เล็ก หรือใหญ่นัก เพื่อสะดวกแก่การยกเคลื่อนย้ายออกไปทุกครั้ง ก่อนที่จะถวายเครื่องไทยธรรมและทอดผ้าบังสุกุล ประจำทุกคืน
สถานที่ตั้งศพ
สถานที่ตั้งศพนั้น นิยมตั้งหันด้านศีรษะของศพไปทางโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป และนิยมตั้งอยู่ระดับต่ำกว่าโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป หรือมีระดับสูงต่ำไล่เลี่ยกัน
นิยมตั้งศพไว้ ณ สถานที่ข้างใดข้างหนึ่ง อันเป็นสถานที่เหมาะสมสำหรับเป็นที่ประดิษฐานสิ่งที่เคารพ และนิยมตั้งไว้ให้ห่างออกจากข้างฝา เป็นต้น ประมาณ ๑ ศอก เป็นอย่างน้อยเว้นระยะว่างไว้สำหรับเดินได้รอบ เพื่อสะดวกแก่การนำพวงหรีดไปติดประดับตามฝาผนังที่ตั้งศพ เป็นต้น
เบื้องหลังที่ตั้งศพนั้น ถ้าฝาไม่สะอาด นิยมมีผ้าม่านขึงปิดไว้เพื่อความเรียบร้อยสวยงาม และเพื่อเป็นที่แขวนพวงหรีดได้อีกด้วย
สถานที่ตั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ถ้าผู้ตายเคยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นิยมนำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ติดกับหมอนรอง ใส่พานมาตั้งไว้ที่ข้างหน้าที่ตั้งศพนั้นด้วย
ถ้าผู้ตายเป็นข้าราชการ ก็นิยมนําเครื่องแบบใส่พานมาตั้งไว้ที่ข้างหน้าที่ตั้งศพนั้นด้วย โดยตั้งพานรองเครื่องราชอิสริ-ยาภรณ์ไว้ด้านศีรษะของศพ ตั้งพานรองเครื่องแบบไว้ด้านเท้าของศพ และนิยมมีโต๊ะเล็ก ๆ สำหรับตั้งรองรับให้สูงขึ้นพอสมควร
สถานที่ตั้งรูปของผู้ตาย
รูปของผู้ตายนั้น นิยมตั้งไว้ด้านเท้าของศพ ข้างเครื่องตั้งศพ และรูปที่นำมาดังนั้น นิยมรูปที่มีขนาดใหญ่พอสมควรไม่นิยมนํารูปเล็กเกินไปมาตั้ง เพราะไม่น่าดู ทั้งจะเป็นการประจานเจ้าภาพว่าเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว ไม่ยกย่องผู้ตายเท่าที่ควร
อปกรณ์เครื่องใช้ในพิธีศพ
อุปกรณ์เครื่องใช้ในพิธีศพนั้น ซึ่งเจ้าภาพจะต้องจัดเตรียมไว้ให้มีพรักพร้อม มีรายการดังนี้
๑. ผ้าภูษาโยง ๒ ผืน
๒. ด้ายสายโยง ๒ ม้วน
๓. เครื่องทองน้อย ๒ ที่
๔. ภาชนะสำหรับกรวดน้ำ ๒ ที่
๕. เครื่องสักการบูชาศพ ๑ ชุด
๖. กระถางธูปขนาดใหญ่ พร้อมด้วยตะเกียงเล็ก ๑ ที่
๗. โต๊ะรองกราบ ๑ ที่
ผ้าภูษาโยง นิยมใช้ ๒ ผืน คือ สำหรับต่อเชื่อมโยงจากด้ายสายโยงที่โยงจากมือขวาของศพ ทอดลงมาจากปากหีบศพวางไว้ที่พานซึ่งตั้งอยุ่ที่โต๊ะเครื่องตั้งหน้าศพ ๑ ผืน และอีกผืนหนึ่งสำหรับต่อเชื่อมกับด้ายสายโยงที่โยงมาจากศพใส่พานตั้งไว้ที่หัวอาสน์สงฆ์เพื่อใช้ทอดผ้าบังสุกุล
ด้ายสายโยง ๒ ม้วน สำหรับใช้โยงจากมือขวาของศพมาเชื่อมกับผ้าภูษาโยงที่ตั้งหน้าศพสายหนึ่ง และโยงมาเชื่อมกับผ้าภูษาโยงที่หัวอาสน์สงฆ์อีกสายหนี่ง เพื่อใช้ทอดผ้าบังสุกุล
เครื่องทองน้อย นิยมใช้ ๒ ที่ คือ จัดตั้งไว้ที่โต๊ะเครื่องตั้งหน้าศพ สำหรับผู้ตายบูชาพระธรรม ๑ ที่ และอีกที่หนึ่งจัดเตรียมไว้สำหรับประธานพิธี หรือเจ้าภาพ จุดบูชาพระธรรมเมื่อคราวมีพระธรรมเทศนา
ภาชนะสำหรับกรวดน้ำ นิยมจัดเตรียมไว้อย่างน้อย ๒ ที่ สำหรับใช้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย เมื่อพระสงฆ์อนุโมทนาและถือกันว่าการกรวดน้ำด้วยภาชนะสําหรับใช้กรวดน้ำโดยเฉพาะเป็นการให้เกียรติแก่ท่านผู้ล่วงลับไปด้วย
เครื่องสักการบูชาศพหนึ่งชุด นิยมจัดตั้งไว้ที่โต๊ะเครื่องตั้งหน้าศพ สำหรับประธานพิธี หรือเจ้าภาพ จุดบูชาศพก่อนที่จะบําเพ็ญกุศลอุทิศให้ เครื่องสักการบูชาศพนั้นประกอบด้วยสิ่งของดังนี้
๑. กระถางธูป ๑ ลูก พร้อมด้วยธูป ๑ ดอก
๒. เชิงเทิยน ๑ คู่ พร้อมด้วยเทียน ๒ เล่ม
๓. แจกัน ๑ คู่ พร้อมด้วยดอกไม้
กระถางธูปขนาดใหญ่ พร้อมด้วยตะเกียงเล็ก หรือเทียนชนวน และมีธูปจํานวนมากพอสมควร นิยมจัดเตรียมไว้ที่หน้าเครื่องตั้งศพ สำหรับผู้มาเคารพศพ จะได้ใช้จุดบูชาศพตามประเพณีนิยม
โต๊ะรองกราบ ๑ ที่ นิยมจัดตั้งไว้ที่ข้างหน้าเครื่องตั้งศพสำหรับเป็นที่รองกราบของผู้เป็นประธานพิธี หรือเจ้าภาพในการบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ผู้ตาย