ระเบียบปฏิบัติการทำบุญเก็บอัฐิ

วันที่ 26 พค. พ.ศ.2561

ระเบียบปฏิบัติการประกอบพิธีศพ
ระเบียบปฏิบัติการทำบุญเก็บอัฐิ
 

พระรัตนตรัย , พุทธศาสนิกชน , ระเบียบปฏิบัติของชาวพุทธ , วัฒนธรรมชาวพุทธ , ชาวพุทธ , ประเพณีชาวพุทธ , culture , ระเบียบปฏิบัติการประกอบพิธีศพ , ระเบียบปฏิบัติการเชิญผู้มีเกียรติขึ้นทอดผ้าบังสุกุลที่เมรุ , ที่บูชาพระรัตนตรัย , หิ้งพระ , ที่บูชาพระ , ห้องพระ , พระพุทธเจ้า , พระสงฆ์ , พระธรรม , Buddhist practice  , สมาธิ , Meditation  , ทำบุญ , อัฐิ , พิธีศพ , งานศพ , ระเบียบปฏิบัติการทำบุญเก็บอัฐิ


การเตรียมอุปกรณ์เครื่องใช้ในพิธี
         ในพิธีการทำบุญเก็บอัฐินั้น นิยมจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องใช้ไว้ให้มีพรักพร้อมก่อนถึงเวลาทำบุญ ดังต่อไปนี้ คือ

๑. โกศสําหรับใส่อัฐิ
๒. กล่องโลหะ คือ ลุ้ง หรือหีบไม้ สำหรับใส่อัฐิที่เหลือและอังคาร
๓. ผ้าขาวสำหรับห่อกล่องโลหะ คือ ลุ้ง หรือหีบไม้
๔. ผ้าสําหรับทอดบังสุกุลก่อนเก็บอัฐิ
๕. อาหารคาวหวาน สำหรับถวายพระสงฆ์
๖. นิมนต์พระสงฆ์ พิจารณาผ้าบังสุกุล ก่อนเก็บอัฐิการกำหนดเวลาเก็บอัฐิ

         การกำหนดเวลาเก็บอัฐินั้น นิยมปฏิบัติกันโดยมาก แบ่งออกได้เป็น ๒ แบบ คือ

๑. ทําพิธีเก็บอัฐิ ตอนเย็น วันเผานั้น หรือ
๒. ทําพิธีเก็บอัฐิ ตอนเช้า วันรุ่งขึ้น

         การทําพิธีเก็บอัฐิ ตอนเย็น วันเผานั้น นิยมปฏิบัติในงานพระราชทานเพลิงศพ หรืองานฌาปนกิจศพที่จัดให้มีการทำบุญฉลองอัฐิติดต่อกันไปจากงานเผาศพนั้น เพื่อรวบรัดงานบำเพ็ญกุศลให้แล้วเสร็จภายในวันเผานั้นเลยทีเดียวไม่ต้องกังวลใจอีกต่อไป

         การทำพิธีเก็บอัฐิตอนเช้า วันรุ่งขึ้นนั้น นิยมปฏิบัติในงานเผาศพที่เจ้าภาพมีความประสงค์จะบำเพ็ญกุศลทำบุญอัฐิในวันรุ่งขึ้น หรือยังไม่จัดงานทำบุญอัฐิก่อน เพราะยังไม่พร้อมด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม

         ในการทำบุญเก็บอัฐิตอนเช้าวันรุ่งขึ้นนี้ นิยมจัดอาหารคาวและหวานใส่หาบ โดยจัดใส่สำรับคาว ๓ ที่ จัดใส่สำรับหวาน ๓ ที่ แล้วจัดคนหาบ ๓ คน เดินเวียนรอบเชิงตะกอน ๓ รอบและขณะเดินเวียนรอบเชิงตะกอนนั้น นิยมกู่เรียกหากัน แล้วนำอาหารที่หาบมานั้น ไปถวายพระสงฆ์ที่นิมนต์มาพิจารณาบังสุกุลอัฐิ

          พิธีการจัดอาหารคาวและหวานใส่สำรับ แล้วให้คนหาบไปถวายพระสงฆ์ ๓ ที่ อย่างนี้ นิยมเรียกกันว่า "พิธีสามหาบ"

          ความจริง ขณะที่คนหาบเดินเวียนรอบเชิงตะกอน ๓ รอบ และกู่เรียกหากันนั้น เป็นวิธีปฏิบัติสมัยโบราณ ซึ่งจำเป็นจะต้องทำอย่างนั้น

         เพราะสมัยโบราณ บ้านเมืองยังเป็นป่าดงพงพีเป็นส่วนมาก และนิยมนำศพไปเผาในป่าที่ห่างไกลออกไปจากบ้านเรือน ระยะทางเดินจากบ้านไปถึงป่าช้าที่เผาศพนั้นเป็นระยะทางที่ไกลมากพอสมควร

         ในการเดินป่านั้น จำเป็นจะต้องมีเครื่องหมายเป็นที่สังเกตเพื่อป้องกันไม่ให้หลงทาง ในพิธีนำศพไปป่าช้าจึงนิยมมีการปักธงเป็นเครื่องหมายไปตลอดทางด้วย เพื่อจะได้เดินทางกลับไม่หลงทางนั้นเอง และยังนิยมปฏิบัติกันสืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้

         ความนิยมในการจัดอาหารคาวหวานใส่หาบ ๆ ไป ก็เพราะหนทางไกล ถ้าจะแบกสำรับไปกว่าจะถึงก็เมื่อยล้า เพราะมีคําพังเพยว่า "หาบดีกว่าคอน นอนดีกว่านั่ง" จึงนิยมหาบไป

         ความนิยมในการต้องหาบเวียนรอบเชิงตะกอนนั้น ก็เพราะการเดินในป่าซึ่งมากไปด้วยต้นไม้ปิดบังสายตา ทำให้มองเห็นไปได้ไม่ไกล กว่าจะหาสถานที่เผาศพพบก็ต้องเดินเวียนหาอยู่หลายรอบ

         ขณะที่เดินหาบเวียนรอบเชิงตะกอนนั้น นิยมกู่เรียกหากันนั้น ก็เพราะการเดินป่านั้น ชั่วระยะห่างกันไม่กี่เส้นก็มองไม่เห็นกันแล้ว เกรงว่าจะพลัดหลงกัน จึงต้องกู่เรียกหากันไปตลอดทาง

         ประเพณีเหล่านี้ ล้วนมีดวามจำเป็นมากในสมัยโบราณโน้น แต่ล่วงเลยมาถึงสมัยปัจจุบันนี้บ้านเมืองเจริญแล้ว ความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้นก็หมดไปแล้ว

         เพราะฉะนั้น ในพิธีทำบุญเก็บอัฐินั้นสมควรปฏิบัติเฉพาะพิธีกรรมที่จำเป็นและมีประโยชน์ กล่าวคือ การจัดสำรับคาวหวานไปถวายพระสงฆ์ที่นิมนต์มาพิจารณาบังสุกุลอัฐินั้นแหละเป็นข้อมุ่งหมายที่สำคัญ

         ส่วนการนำสำรับไปนั้นสะดวกอย่างใดก็ควรนำไปอย่างนั้นไม่จำเป็นจะต้องจัดไล่หาบแล้วเดินหาบเสมอไป และไม่จำเป็นจะต้องกู่เรียกหากัน เพราะมองเห็นกันอยู่แล้ว

         เรื่องเช่นนี้ ขอฝากท่านผู้พึงพินิจพิจารณาดูว่าควรหรือไม่ควรประการใด แล้วปฏิบัติตามความเหมาะสมแก่เหตุการณ์และสถานที่นั้น ๆ จึงจะเป็นผู้สมควรได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ประพฤติอย่างมีเหตุผลสมกับภาวะของชาวพุทธอย่างแท้จริง


วิธีปฏิบัติในการเก็บอัฐิ
        ในพิธีการเก็บอัฐินั้น สัปเหร่อนิยมทำพิธีแปรรูป คือ นำเอาอัฐิของผู้ตายที่เผาแล้วนั้นมาวางเป็นรูปร่าง เป็นโครงร่างโดยวางโครงร่างให้หันหัวไปทางทิศตะวันตก แล้วนิมนต์ให้พระสงฆ์พิจารณาบังสุกุลด้วยคำพิจารณา บังสุกุลตายก่อน แล้วแปรรูปโครงร่างกระดูกให้หันหัวกลับไปทางทิศตะวันออก แล้วนิมนต์ให้พระสงฆ์พิจารณา บังสุกุลเป็น อีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงให้เจ้าภาพงานเก็บอัฐิใส่โกศจนพอแก่ความต้องการ โดยเลือกเก็บอัฐิจากส่วนแห่งร่างกาย ๖ แห่ง คือ

๑. กระดูกกะโหลกศีรษะ ๑ ชิ้น
๒. กระดูกแขนทั้งสองข้าง ๒ ชิ้น
๓. กระดูกขาทั้งสองข้าง ๒ ชิ้น และ
๔. กระดูกซี่โครงหน้าอก ๑ ชิ้น

         ส่วนอัฐิที่เหลือรวมทั้งอังคาร (ขี้เถ้า) ทั้งหมดนิยมกวาดรวมเก็บใส่กล่องโลหะ คือ ลุ้ง หรือหีบไม้ แล้วเอาผ้าขาวห่อเก็บไว้

         เมื่อเก็บอัฐิเสร็จแล้ว จึงนำอาหารคาวหวานไปถวายพระสงฆ์ที่นิมนต์มาพิจารณาบังสุกุล เป็นเสร็จพิธีเก็บอัฐิ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015460018316905 Mins