ระเบียบปฏิบัติการประกอบพิธีศพ
ระเบียบปฏิบัติการทำบุญบรรจุอัฐิ
การกำหนดวันทำบุญบรรจุอัฐิ
การกำหนดวันทำบุญบรรจุอัฐินั้น นิยมปฏิบัติกันทั่วไป คือ เมื่อเจ้าของงานมีพร้อมทั้งศรัทธาทั้งโภคทรัพย์ ทั้งวงศาคณาญาติก็พร้อมทุกประการแล้ว เมื่อใด ก็จัดงานทำบุญบรรจุอัฐิเมื่อนั้นการเตรียมอุปกรณ์เครื่องใช้ในการทำบุญบรรจุอัฐิ
ในการจัดงานทำบุญบรรจุอัฐินั้น นิยมจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องใช้ในพิธีไว้ให้ทีพรักพร้อมก่อนถึงวันและเวลาประกอบพิธีดังต่อไปนี้ คือ
๑. ผ้าไตร หรีอผ้าสบง หรือผ้าเช็ดตัว หรือผ้าเช็ดหน้าอย่างใดอย่างหนึ่ง สำหรับใช้ทอดให้พระสงฆ์พิจารณาบังสุกุลก่อนบรรจุอัฐิ มีจำนวนมากเท่าจำนวนพระสงฆ์ที่นิมนต์มาสวดพระพุทธมนต์นั้น
๒. น้ำอบไทย สำหรับใช้สรงอัฐิ จำนวน ๑ ขวดเป็นอย่างน้อย
๓. ธูป นิยมใช้ธูปหอม มีจำนวนมากเพียงพอแก่ผู้มาร่วมพีธีบรรจุอัฐินั้น (คนละ ๑ ดอก)
๔. กระถางธูป ๑ ลูก สำหรับใช้ปักธูปสักการบูชาอัฐินั้น
๕. เหรียญเงิน ๑ บาท หรือเหรียญเงิน ๕ บาท มีจำนวนมากพอสมควร สำหรับบรรจุพร้อมกับอัฐินั้น
สถานที่บรรจุอัฐิ
สถานที่สำหรับบรรจุอัฐินั้น เจ้าภาพมีความประสงค์จะบรรจุอัฐิ ณ สถานที่ใด เมื่อไร จะต้องติดต่อสอบถามตกลงกับทางวัดหรือเจ้าหน้าที่สถานที่บรรจุอัฐินั้น พร้อมทั้งจะต้องเตรียมอุปกรณ์เครื่องใช้ในพิธีบรรจุอัฐิ มีอะไรบ้าง ไว้ล่วงหน้าก่อนเพื่อความสะดวกด้วยกันทุกฝ่าย
การจัดงานทำบุญบรรจุอัฐิ
การจัดงานทำบุญบรรจุอัฐินั้น นิยมปฏิบัติพิธีทำบุญเช่นเดียวกับพิธีทำบุญทั่วไปนั้นเอง แต่มีความนิยมต่างกันบ้างเพียงบางประการ เช่นเดียวกับการจัดงานทำบุญฉลองอัฐิดังกล่าวมาแล้วนั้นเอง
วิธีปฏิบัติในการบรรจุอัฐิ
วิธีปฏิบัติในการบรรจุอัฐินั้น นิยมปฏิบัติกันโดยมากดังต่อไปนี้
๑. การสรงน้ำอัฐิ โดยบุตรธิดา วงศาคณาญาติและผู้มาร่วมพิธีทุกคน ประพรมอัฐิด้วยน้ำอบไทย พร้อมกับใส่เหรียญเงินบาทลงในภาชนะบรรจุอัฐินั้น จนครบทุกคนที่มาร่วมพิธี
๒. อัญเชิญอัฐิเข้าบรรจุ ณ สถานที่สำหรับบรรจุนั้น
๓. เจ้าภาพแจกธูป (ที่จุดไฟแล้ว)ให้แก่ผู้มาร่วมพิธีทุกคน (คนละ ๑ ดอก) ผู้เป็นประธานพิธีนำสักการบูชาอัฐิ โดยถือธูปประณมมือยกขึ้นให้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองจรดอยู่ที่ดั้งจมูก ปลายนิ้วชี้ทั้งสองจรดอยู่ระหว่างคิ้ว พร้อมกับนึกอธิษฐานในใจว่า "ขอจงอยู่เป็นสุข ๆ เถิด'' จบแล้ว ปักธูปไว้ ณ กระถางสําหรับปักธูปนั้น แล้วน้อมตัวลงยกมือไหว้อีกครั้ง แม้ผู้มาร่วมพิธีทุกคนก็นิยมปฏิบัติเช่นเดียวกัน เป็นเสร็จพิธี