ต้นตำรับอาสนะสองชั้น
หลวงพ่อมีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง จึงใคร่ขอฝากไว้กับพระอาจารย์พี่เลี้ยงของสามเณรด้วย ขณะนี้สังเกตเห็นมีสามเณรหลายรูป นั่งหลังงอในขณะกําลังฉัน การนั่งหลังงอของสามเณรคงจะมีหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น
๑. กล้ามเนื้อเส้นเอ็นไม่แข็งแรง ซึ่งเรื่องนี้สามารถแก้ใขได้ด้วยการออกกำลังให้มากขึ้น โดยอาจจะให้มาช่วยกันทำงานโยธา เช่น เข็นรถดั้มพ์ ซ่อมถนนทางเดิน เป็นต้นหรืองานดูแลเสนาสนะ ปัด กวาด เช็ด ถู หรือมาช่วยกันทำอะไรก็ได้ตามความเหมาะสม เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง
๒. อยู่ในอิริยาบถที่ผิดธรรมชาติบ่อย ๆ ซึ่งธรรมชาติของคนปกติแนวแกนของกระดูกสันหลังต้องอยู่ในแนวตรง แต่ความเผอเรอ รวมทั้งมีนิสัยตามใจตัวเอง มักอยู่ในอิริยาบถที่ ผิดท่า เช่น เวลายืน เดิน นั่ง มักจะปล่อยให้หลังงอบ่อย ๆ ถ้าปล่อยไว้เช่นนี้ต่อไปภายหน้า เมื่ออายุมากขึ้นจะพบกับปัญหาหลังค่อมงอ ปวดหลัง
๓. โครงสร้างของร่างกายผิดปกติ อาจเป็นมาแต่กำเนิดหรือเป็นผลสืบเนื่องจากการเลี้ยงดูในวัยทารก ขณะที่อยู่ในวัยทารกสามเณรเหล่านี้ อาจได้รับอาหารประเภทแคลเซี่ยม
กับประเภทโปรตีนไม่เพียงพอ หรืออาจจะถูกปล่อยให้นอนดึก จนเป็นนิสัยตั้งแต่ยังเล็ก การนอนดึกทำให้ร่างกายเสียเกลือแร่มาก โดยเฉพาะสูญเสียแคลเซี่ยมไปกับปัสสาวะมาก เข้าลักษณะการใช้ร่างกายสมบุกสมบันเกินไป (Over load) ซึ่งก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โครงสร้างกระดูกอ่อนแอไม่แข็งแรง แต่สาเหตุหลัก ๆ ที่สำคัญก็คือ วัยเด็กคงจะซนมาก วิ่งหกล้ม ตกจากที่สูง เป็นต้น ร่างกายไต้วับการกระทบกระแทกบ่อย ๆ จึงมีผลทำให้โครงสร้างของร่างกายบิดเบี้ยวผิดไปจากโครงสร้างของคนปกติ
๔. นั่งไม่เป็น มีคำที่เรามักใช้กันอยู่คำหนึ่งว่า "คนเราไม่มีหาง" ตามธรรมดาสัตว์ที่มีหาง เมื่อเวลามันนั่ง มันก็จะใช้ช่วงโคนหางของมันหนุนก้น จึงทำให้มันนั่งได้มั่นคง แต่คนไม่มีหางและทั่วไปลักษณะของร่างกายไม่สมบูรณ์อยู่แล้ว จำต้องมีอะไรมาช่วยหนุนกันให้นั่งได้สบายและมั่นคง
ปู่ย่าตาทวดของเราเวลาไปนอกบ้าน เขาจะมีผ้าขาวม้าผืนหนึ่ง เวลาจะนั่ง ก็จะพับครึ่งผ้าขาวม้า แล้วก็จะพับอีกครึ่งหนึ่งตามยาว จากนั้นก็จะม้วนให้สูงพอสมควร แล้วใช้หนุนกันด้านหลังปุ่มของกระดูกเชิงกราน ที่ทำหน้าที่รองรับน้ำหนักตัวขณะนั่ง (ทดลองนั่งลงบนฝ่ามือ จะรู้สีกว่ามีปุ่มกระดูกกดลงมาที่ฝ่ามือ นั่นแหละปมกระดูกเชิงกราน) ให้เสมือนเป็นพนักพิงก้นนั่นเอง ทำเช่นนี้แล้วจะช่วยทำให้นั่งตัวตรงได้สบายขึ้น พวกเราอาจจะเอาผ้าขนหนู ลองทำดูก็ได้
นี่คือ ที่มาของการออกแบบอาสนะสองชั้น อย่างที่ใช้กันอยู่ในวัดของเราขณะนี้ คือช่วงหลังที่สูงเอาไว้สำหรับนั่ง ส่วนช่วงล่างที่บาง เอาไว้รองตาตุ่มป้องกันไม่ให้ตาตุ่มเจ็บ ทำให้นั่งสบายขึ้น