รู้ทันโรคจากภาวะปกติของร่างกาย
๑. ภาวะปกติของร่างกาย หมายถึงอะไร
ภาวะปกติของร่างกาย หมายถึง ภาวะที่ร่างกายไม่เจ็บป่วยระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างสมบูรณ์ตามธรรมชาติ
ตามธรรมชาตินั้น อวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เจริญเติบโตและพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กับระบบและกลไกการทำงานที่ถูกกำหนดขึ้น เพื่อให้สามารถดูแลตนเองให้มีชีวิตรอดอยู่อย่างเป็นปกติสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บไปจนตลอดอายุขัย
๒. ความเจ็บป่วย คืออะไร
ความเจ็บป่วย คือ ภาวะที่ระบบและกลไกการทำงานต่าง ๆ ภายในส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนของร่างกายไม่สามารถดำเนินไปตามปกติได้ อย่างไรก็ตาม เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยนั้น อาจมาจากทั้งปัจจัยภายนอกร่างกายและปัจจัยภายในร่างกาย
เหตุปัจจัยภายนอกร่างกาย ได้แก่ เชื้อโรคต่าง ๆ อาหารการกิน (ตั้งแต่กินอาหารมากเกินไป กินอาหารไม่เพียงพอกินอาหารไม่มีประโยชน์) สารเคมี สารมีพิษต่างๆ รวมกระทั่งร่างกายถูกกระทบกระแทก (รถชน หกล้ม ฯลฯ) ตลอดจนสิ่งแวดล้อมไม่ดี อากาศไม่บริสุทธิ์ เป็นต้น เหตุปัจจัยภายนอกเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ร่างกายเกิดการเจ็บป่วยขึ้นได้ เพราะทำให้เซลล์และเนื้อเยื่อผิดปกติ จนทำให้ระบบหรือกลไกการทำงานภายในร่างกายบกพร่องผิดปกติไป
เหตุปัจจัยภายในร่างกาย การที่จะเข้าใจเหตุปัจจัยภายในได้ชัดเจนนั้น จำเป็นต้องทราบความจริงว่า ธรรมชาติได้สร้างร่างกาย ให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงปัจจัยภายนอกได้ระดับหนึ่งทีเดียว เช่น เรื่องอาหาร คนเราสามารถอดอาหารได้เป็นสัปดาห์ก็ไม่ตาย หรือคนเผ่าเอสกิโมแทบจะไม่เคยกินผักเลย กินแต่เนื้อ กินแต่ปลา เขาก็มีชีวิตอยู่ได้ เป็นต้น นั้นแสดงว่า ระบบและกลไกภายในร่างกายที่อยู่ในภาวะปกติ ย่อมมีความสามารถ และความพยายามในการปรับตัว พัฒนาตัวเองต่อสู้กับเหตุปัจจัยภายนอก เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด เมื่อเข้าใจความจริงนี้แล้ว ก็จะเข้าใจได้ว่า ระบบและกลไกภายในร่างกายนี้หากผิดปกติเสียเอง แม้จะไม่มีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องก็ย่อมส่งผลให้ร่างกายเจ็บป่วยขึ้นได้เช่นกัน
เพราะฉะนั้น เมื่อระบบและกลไกต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างสมบูรณ์ เป็นปกติอยู่เสมอจึงถือได้ว่าเป็นปัจจัยภายในร่างกายที่สำคัญในการคุ้มครองป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยผลก็คือ ร่างกายของเราจะสามารถดำรงอยู่ในภาวะปกติตลอดเวลา
๓. ทำไมจึงต้องศึกษาภาวะปกติของร่างกาย
๓.๑. เพื่อให้เข้าใจถึงปัจจัยและกลไกที่ทำให้ร่างกายเป็นปกติ
คนส่วนใหญ่ เวลาพูดถึงเรื่องการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงก็มักจะไปมองว่า กินอาหารอย่างไร ออกกำลังกายอย่างไร เป็นต้น
แม้ในตำราแพทย์ โดยทั่วไปก็จะกล่าวเฉพาะลักษณะและหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ อีกทั้งมักเน้นว่า โรคเกิดมาได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น โรคปวดข้อ ก็อธิบายว่า โรคนี้เกิดจากข้ออักเสบ หรือข้อเสื่อม คือ บอกสาเหตุของโรคทันที โดยมิได้มีการอธิบายให้เข้าใจถึงสภาพธรรมชาติของข้อ ในขณะที่ยังไม่เกิดอาการปวดว่า มี
การทำงานตามปกติเป็นอย่างไร เช่น เมื่อเข่าข้างซ้ายเกิดอาการปวดขึ้นก็ไม่มีคำอธิบายว่า ทำไมก่อนหน้านี้เข่าข้างซ้ายจึงไม่ปวดหรือทำไมเข่าข้างขวาขณะนี้จึงไม่ปวดดังเช่นเข่าข้างซ้าย เป็นต้น คือไม่มีการอธิบายว่า อวัยวะต่างๆ ทำงานกันอย่างไร จึงได้เป็นปกติอีกทั้งยังไม่พบว่า ได้มีการศึกษาเรื่องเหล่านี้กันอย่างจริงจัง
จากการถามคำถามว่า "ทำไม" ซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ นี่เองจึงทำให้เกิดแนวการศึกษาในมุมมองใหม่ มองกลับเข้าไปให้ถึงแก่นว่าร่างกายคนเราทำงานกันอย่างไร จึงส่งผลให้สุขภาพดีเป็นปกติได้
๓.๒. เพื่อประยุกต์ใช้ในการป้องกันและรักษาร่างกายให้เป็นปกติอยู่เสมอ
การที่คนเราจะสามารถป้องกันและรักษาร่างกายให้เป็นปกติอยู่เสมอได้ จำเป็นต้องเข้าใจหลักสำคัญที่ทำให้ร่างกายดำรงอยู่ในภาวะปกติ เข้าใจว่า ภาวะปกติของร่างกายมีระบบการทำงานอย่างไร ถ้าการทำงานของร่างกายออกนอกระบบการทำงานปกติเมื่อใด ร่างกายก็จะเกิดอาการเจ็บปวยเมื่อนั้น เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วย หรือเมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นแล้ว ก็ต้องยอนกลับไปศึกษาทบทวนให้เข้าใจความจริงตามธรรมชาติดังกล่าว แล้วปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับหลักการและระบบการทำงานของร่างกายปกติ ความเจ็บป่วยก็จะไม่เกิดขึ้น หรือเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะหายไป แม้ไม่หายขาดก็ย่อมจะทุเลาลงอย่างแน่นอน