สมาธิสั้นเเก้ได้

วันที่ 17 สค. พ.ศ.2563

สมาธิสั้นเเก้ได้

                 

                       ในปัจจุบันได้มีการพูดถึงโรคสมาธิสั้นมากขึ้น โรคสมาธิสั้น คือ อาการของคนที่มีสมาธิในการทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ได้ไม่นาน ทำเรื่องนี้อยู่ เดี่ยวก็กระโดดไปทำเรื่องอื่น เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

19929-01.jpg

                      จนบางทีตัวเองก็ไม่สามารถควบคุมได้ มักจะพบในวัยเด็ก แต่พอโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว อาการโรคนี้ส่วนใหญ่มักจะลดน้อยลง แต่ก็มีบ้างในบางคน ที่แม้จะเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังเป็นโรคสมาธิสั้นอยู่

                      แล้วทำไมในช่วงนี้จึงพบอาการของโรคสมาธิสั้นมากขึ้น

โรคสมาธิสั้นมีที่มาจาก 2 สาเหตุ นั่นคือ

1. ลักษณะทางพันธุกรรมไม่เหมือนคนอื่น อาจจะเกิดจากลักษณะของสมอง ลักษณะของสารจากเซลประสาท การหมุนเวียนของเลือด แรงขับของหัวใจ ฮอร์โมน ไม่เหมือนคนอื่น ทำให้มีแนวโน้มที่จะมีอาการสมาธิสั้น

2. เกิดจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในยุคปัจจุบันที่มีสิ่งเร้ามากระตุ้นมากขึ้น ถ้าเราสังเกตดูจะพบว่า หลังจากที่เทคโนโลยีมีการพัฒนามากขึ้น สิ่งเร้ารอบตัวเรามีเพิ่มมากขึ้น สมัยก่อนสักสิบปีที่แล้ว โทรทัศน์ยังมีแต่ชนิดที่เป็นขาวดำ

19929-02.jpg

                    เวลาจะเปลี่ยนช่องแต่ละครั้งก็ต้องลุกจากเก้าอี้ไปที่โทรทัศน์ แล้วก็บิดช่องไปช่องอื่น บางคนขี้เกียจบิด ก็ทนนั่งดูโฆษณา เพราะคิดว่าสักพักเดียวก็เข้าเรื่อง ก็ดูต่อไปอย่างนั้นแหละ แต่ทันทีที่มีรีโมทคอนโทรลเข้ามา การเปลี่ยนช่อง ไม่ต้องลุกจากเก้าอี้ เพียงแค่กดรีโมทเท่านั้น

                    พอดูๆ ไปมีโฆษณาคั่น ถ้าไม่สนใจไม่อยากดู ก็เพียงกดรีโมทคอนโทรลเปลี่ยนช่องไปช่องอื่น บางทีดูช่องอื่น แล้วชอบเนื้อหา ชักเริ่มสนใจ เลยดูต่อ เรื่องเก่าไม่กลับไปดูแล้ว เรื่องเก่ายังดูไม่ทันจบ ก็ไปดูเรื่องใหม่ ทำอย่างนี้บ่อย ๆ ก็กลายเป็นคนที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคสมาธิสั้น

                     แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ ซึ่งถือเป็นสื่อที่เข้าถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศ ยังพบว่า คอลัมนิสต์ ที่เขียนเรื่องราวในคอลัมน์ต่าง ๆ ยังต้องปรับวิธีการเขียนใหม่ ถ้าเขียนย่อหน้าหนึ่งยาว 10-20 บรรทัด คนจะเริ่มขี้เกียจอ่าน

                     เขาจึงเปลี่ยนวิธีการเขียนเป็นย่อหน้าละ 2-3 บรรทัด เพราะว่าคนส่วนใหญ่คุ้นกับการอ่านแบบสั้นๆ แล้วก็เปลี่ยนเรื่อง ยิ่งกว่านั้นพอมีเครื่องเล่นเทป มีอินเตอร์เน็ต เข้ามาอำนวยความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต

                     เราพบว่าคนจำนวนไม่น้อย ทำงานไปด้วยเปิดเพลงไปด้วย เปิดโทรทัศน์ไปด้วย บางทีก็เปิดคอมพิวเตอร์ เปิดอินเตอร์เน็ตไปด้วย ใจเดี๋ยวก็คิดเรื่องงาน เดี๋ยวก็ไปสนใจเพลง เดี๋ยวก็แว๊บไปดูอินเตอร์เน็ต และนี่แหละคือ ผลของการที่สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง

                     จึงทำให้คนมีแนวโน้มจะเป็นคนสมาธิสั้นมากขึ้น พอเรารู้สาเหตุอย่างนี้ ก็จะแก้ได้ง่ายขึ้น ด้วยการแก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวันก่อน

-ใครที่มีนิสัย ดูหนังสือหรือทำงานแล้วต้องเปิดเพลงไปด้วย ให้พยายามแก้นิสัยนั้น เวลาดูหนังสือ ก็ให้จดจ่อดูหนังสือเลย ไม่เปิดเพลง ไม่เปิดโทรทัศน์ ไม่เปิดอินเตอร์เน็ต

-ทำงานทีละอย่างๆ ให้เสร็จเป็นชิ้นๆ

-จัดสิ่งของรอบตัวเราให้เป็นระบบระเบียบ เพราะเมื่อจัดสิ่งของให้เป็นระเบียบแล้ว ความคิดของเราก็จะเป็นระเบียบไปด้วย

-วางแผนจัดตารางเวลา และพยายามทำตามแผนที่วางไว้

-พยายามหาที่ทำงานเงียบๆ เพราะจะทำให้มีสมาธิจดจ่อต่อการทำงานชิ้นนั้นๆ โดยไม่มีใครเข้ามารบกวนบ่อยๆ

-หาเวลาอ่านหนังสือเรื่องยาว จะทำให้เราได้จดจ่อเรื่องเดียวนานๆ

-หาเวลาออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายจะทำให้สมดุลของร่างกายดีขึ้น เป็นการแก้สมาธิสั้นที่มีสาเหตุจากร่างกายด้วย

19929-03.jpg

-อย่าอดนอน เพราะว่าการอดนอน จะทำให้รู้สึกสะโหลสะเหล สติก็จะไม่ค่อยดี ถึงคราวจะควบคุมตัวเองก็จะควบคุมได้ไม่เต็มที่ หลับให้เต็มอิ่มทุกวันดีกว่า

                 เมื่อเราออกกำลังกาย จัดตารางเวลาชีวิต จัดสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราให้ดีแล้ว แนวโน้มสมาธิสั้นก็จะสามารถแก้ไขได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อย่าลืมนั่งสมาธิควบคู่ไปด้วย เพราะจะทำให้เราได้ฝึกสติ เมื่อเอาใจจดจ่อนิ่งๆ เป็นสมาธิอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นวิธีแก้สมาธิสั้นโดยตรงที่ดีที่สุด

                 อย่างอื่นที่กล่าวมาข้างต้นยังถือเป็นวิธีการแก้ทางอ้อม แต่ถ้าบางคนสมาธิสั้น อยู่ๆ ให้นั่งสมาธินานๆ เลยมันจะนั่งไม่ลง มันจะกระสับกระส่ายทนไม่ไหว ให้ค่อยๆ เริ่มทำ ทีละนิด

19929-04.jpg

                     อาศัยการสวดมนต์ร่วมด้วย พอเริ่มคุ้นอาการสมาธิสั้นก็จะค่อยๆ ลดลง อยู่ในเกณฑ์ที่เราสามารถควบคุมได้

                    ท่านใดที่รู้สึกกังวลกับอาการสมาธิสั้นของตนเอง หรือมีลูกหลานสมาธิสั้น กลัวว่าจะไม่สามารถประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานขอ อย่าวิตกจนเกินเหตุ พอเข้าใจสาเหตุดังที่กล่าวมาแล้วและค่อยๆ ปรับปรุงแก้ไข ก็จะสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้เช่นกัน

 

ยกตัวอย่างเช่น นักประดิษฐ์ชั้นยอดและเป็นบุคคลสำคัญของโลก

                      โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) จริงๆ แล้วเอดิสัน เป็นคนสมาธิสั้น แต่ด้วยความที่ตั้งใจฝึกอย่างจริงจัง สุดท้ายเขาสามารถทำให้ทุกคนเห็นว่าทุกอย่างล้วนอยู่ที่ใจทั้งสิ้น

                    เมื่อเขาประดิษฐ์อะไรใจก็จดจ่อเรื่องนั้น ทำเสร็จแล้วค่อยไปทำเรื่องอื่นต่อก็ไม่เป็นไร แถมเขายังสามารถปรับเอาอาการสมาธิสั้นของตนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อีกด้วย ด้วยการทดลองประดิษฐ์หลอดไฟ

                     ซึ่งต้องทดลองไส้หลอดไฟเป็นหมื่นๆ ชนิด ถ้าเป็นคนปกติก็อาจจะหมดความอดทนไปแล้ว การทดลองนี้เกิดจากการที่เขาพบว่า ไฟฟ้าสามารถเคลื่อนที่ได้แล้วถ้าเกิดผ่านเส้นใยบางๆ แล้ว จะทำให้ไฟฟ้าเรืองแสงขึ้นมาได้

                      จึงพยายามหาว่าจะใช้อะไรมาทำไส้หลอดไฟดี ทดลองเป็นหมื่นอย่าง อย่างนี้ไม่ได้ผล ก็เปลี่ยนไปทดลองอีกอย่าง ไปเรื่อยๆ จนค้นพบในที่สุดว่า ทองแดง และทังสเตน (tungsten) สามารถเป็นตัวนำไฟฟ้าได้ดี เหมาะที่จะนำมาใช้ทำไส้หลอดไฟ

                      ถือว่า เอดิสัน ได้ใช้อาการสมาธิสั้นของตัวเอง มาใช้ในการทดลองจนประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงไปทั่วโลก

19929-05.jpg

                   ฉะนั้นเมื่อเป็นโรคสมาธิสั้น อย่าไปกังวลจนเกินเหตุ ให้ฝึกจดจ่อทำทีละเรื่อง ฝึกสมาธิควบคู่ในชีวิตประจำวัน

                   ต่อให้เราเป็นโรคสมาธิสั้นที่เกิดจากร่างกาย จากกรรมพันธุ์ ก็จะสามารถแก้ไขให้ทุเลาเบาบางอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถทำงานที่เหมาะกับนิสัยของตน แล้วสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับตัวของเรา ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ แล้วก็มนุษยชาติได้เช่นกัน

เจริญพร

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.035140232245127 Mins