พิษร้าย ในโลกดิจิทัล
“ดิจิทัลดีท็อกซ์” เป็นศัพท์ใหม่ที่ถูกคิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ขนาดที่ว่าพจนานุกรมอ๊อกซฟอร์ด (Oxford) ได้บรรจุศัพท์คำว่า “ดิจิทัลดีท็อกซ์” ลงในพจนานุกรมฉบับใหม่เรียบร้อยแล้ว
ความหมายจริง ๆ ของดิจิทัลดีท็อกซ์คือ การที่เราหยุดใช้เครื่องมือดิจิทัลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ปฏิเสธการเข้าไปในโลกออนไลน์ทั้งหลาย หยุดจากการใช้สิ่งเหล่านี้ชั่วคราว
และให้ความสำคัญกับผู้คนรอบข้าง ก้าวออกจากโลกเสมือนจริง หรือเราเรียกว่า “ไซเบอร์สเปซ” (Cyberspace) แล้วกลับเข้ามาอยู่ในโลกของความเป็นจริง แต่ถ้าจะให้คำจำกัดความสั้น ๆลงไปกว่านั้นอีกก็เหมือนกับว่าเป็นการ “ถอนพิษจากอาการติดดิจิทัล” นั่นเอง
จริง ๆ แล้วอาการจมหายไปในโลกดิจิทัลเกิดขึ้นกับคนเรามาจริง ๆ ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง ในสมัยก่อนมีอินเทอร์เน็ตที่เราใช้ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะตลอดจนโน้ตบุ๊ก ซึ่งเป็นช่วงสั้น ๆ เพราะว่าเราไม่สามารถนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวันได้
เราขึ้นรถลงเรืออย่างมากก็เอาโน้ตบุ๊กไปด้วย แต่การที่จะเปิดโน้ตบุ๊กมันต้องเป็นเรื่องที่ตั้งใจ เปิดขึ้นมาเป็นกิจจะลักษณะ ต้องเปิดเครื่อง ต้องเข้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์รู้สึกว่าอะไรมันยังค่อนข้างยุ่งยากพอสมควรคือ ต้องมีธุระจำเป็นจริง ๆ เราถึงจะเปิดมันขึ้นมา
แต่อาการติดดิจิทัลของคนเราได้เกิดขึ้นมาเต็มที่ เมื่อมีสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตเกิดขึ้น เพราะเราสามารถนำสมาร์ตโฟนกับแท็บเล็ต ติดตัวไปไหนมาไหนได้ตลอดเวลาและใช้งานได้สะดวกรวดเร็วเหมือนโทรศัพท์มือถือ
ถึงคราวก็มีไลน์ส่งมาบ้าง มีเฟซบุ๊กส่งมาบ้าง มีอินสตาแกรมส่งมาบ้าง มีวอทแอพส่งมาบ้าง มีแอปพลิเคชันใหม่ ๆ มากมายที่ใช้เป็นเครื่องมือการสื่อสารสารพัดชนิดอยู่ในสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต
พอเสียงเตือนดังขึ้นปุ๊บก็มีข้อมูลส่งมาปั๊บ เราก็รู้สึกอดไม่ได้ที่ต้องหยิบขึ้นมาดูสิว่าใครส่งข้อความอะไรมาให้เราพอเปิดดูสักพักก็อดไม่ได้ว่าต้องตอบกลับไป ทำไปทำมาก็ชินจนกระทั่งเกิดเป็นโรคขาดดิจิทัลไม่ได้นั่นเอง
บางคนวางสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตไว้ข้างหมอนเลยนอนหลับไปกับเครื่องมือดิจิทัลนั่นแหละ ดูมันจนกระทั่งเคลิ้มหลับไป ตื่นมางัวเงีย ๆ ยังไม่ทันเข้าห้องน้ำก็หยิบเครื่องมือดิจิทัลมาเปิดดูอีก
เด็กอังกฤษอายุตํ่ากว่า 8 ปี มีสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเองมากกว่า 3,500,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากทีเดียว ปรากฏว่าส่งผลให้เกิดคลินิกดิจิทัลขึ้นเต็มไปหมด เชื่อหรือไม่ว่า เด็กอายุน้อยสุดที่เข้ารับการรักษาโรคติดดิจิทัลมีอายุเพียง 4 ปี
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กคือ เมื่อคุณแม่หยิบแท็บเล็ตออกไปจากมือของเขา เขาจะมีอาการอาเจียนทันที เขารู้สึกว่าขาดเครื่องมือดิจิทัลไม่ได้เลย ไม่เฉพาะกับเด็ก ผู้ใหญ่เองก็เป็นโรคติดดิจิทัลจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วมันรบกวนชีวิตของเรามากทีเดียว
อาตมภาพนึกถึงสมัยเรียนหนังสือที่ญี่ปุ่น มีเพื่อนรุ่นพี่ที่เป็นพระเกาหลี ท่านบอกว่าตอนท่านเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ท่านต้องถอดสายโทรศัพท์บ้านทิ้งเลย เพราะประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ในสมัยนั้นยังไม่มีสมาร์ตโฟน มีแต่โทรศัพท์บ้าน
ท่านบอกว่ามีโทรศัพท์เข้ามาวันหนึ่งประมาณ 3 ครั้ง ท่านเขียนวิทยานิพนธ์ไม่ได้เพราะเสียสมาธิ รู้สึกว่าถูกรบกวน กว่าจะเขียนต้องตั้งหลักมาก ๆ พออารมณ์กำลังต่อเนื่องเสียงโทรศัพท์ก็แทรกเข้ามา ต้องรับสายคุยเรื่องอื่น 5 – 10 นาที พอกลับมาต่อไม่ติดแล้ว เพราะฉะนั้น ทางออกของท่านคือถอดสายโทรศัพท์ทิ้งไปเลย เพราะงานการเขียนวิทยานิพนธ์ต้องการสมาธิอย่างสูง
ถ้าเราทำงานอย่างอื่น ถึงแม้อาจจะไม่ต้องการสมาธิและความต่อเนื่องเท่ากับการเขียนวิทยานิพนธ์ แต่ก็สามารถสะท้อนเปรียบเทียบได้ว่า การที่เรากำลังคิดเรื่องงานอยู่ หรือกำลังประชุม กำลังทำกิจใด ๆ ระหว่างทำงานอยู่
เดี๋ยวก็มีเสียงสัญญาณเข้ามาแล้วเราเปิดดู อีกสัก 5 นาที 10 นาทีเสียงเรียกติ๊ด ๆ เข้ามาก็ต้องเปิดดูอีกแล้ว เท่ากับมีเรื่องแทรกที่ทำให้เราเสียสมาธิชั่วโมงหนึ่งตั้งหลายครั้ง วันหนึ่งตั้งหลายสิบครั้งประสิทธิภาพในการทำงานของเราก็ลดลงไปมาก แล้วสะสมเป็นความเครียด
เนื่องจากใจคนเราเปลี่ยนไปเรื่องโน้นทีเรื่องนี้ทีกำลังจะจดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ถูกดึงออกไปอีกแล้วต้องรวบรวมสมาธิกลับมาใหม่ ไม่นานก็ถูกดึงไปอีกแล้ว
จึงเกิดเป็นความเครียดสะสมอยู่ในใจ แล้วก็ส่งผลออกมาเป็นอาการป่วย บางคนมีอาการเหม่อลอยบ้าง ซึมเศร้าบ้างประสิทธิภาพในการทำงานลดลงบ้าง นอนไม่หลับบ้างจนกระทั่งต้องไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษา
เพราะฉะนั้น ในยุคสมัยนี้จึงมีคำว่า “ดิจิทัลดีท็อกซ์”เกิดขึ้น เพื่อเป็นการหยุดใช้สิ่งเหล่านี้ไว้ชั่วคราว โดยโรงแรมในแคริบเบียนเริ่มเรื่องนี้ขึ้นมาก่อน
โรงแรมซึ่งตั้งอยู่ในหมู่เกาะกลางแคริบเบียนกล้าทดลองว่า ถ้าพื้นที่ในโรงแรมปลอดดิจิทัล ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตแล้ว จะได้ผลตอบรับจากลูกค้าดีหรือไม่
เขาคิดว่าลูกค้าน่าจะต้องการมาพักผ่อนอย่างสบายใจและรู้สึกอิสระเสรี แต่ถ้าสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าถึงพื้นที่ ในมือยังมีโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต ผู้คนก็ยังคงถูกรบกวน
ก็ไม่ต่างอะไรกับตอนอยู่ในเมืองเลย ไม่ว่าที่ใดในโลกถ้ามีสัญญาณเครือข่ายดิจิทัล สิ่งเหล่านี้ก็ยังมาถึงได้ตลอดเวลาปรากฏว่าโรงแรมได้รับความนิยมฮิตติดตลาด มีลูกค้ามาเข้าพักมากกว่าเก่า เพราะพวกเขารู้สึกชอบที่ชีวิตโปร่งโล่งและรู้สึกมีความสุขจริง ๆ
เมื่อโรงแรมนี้มีนโยบายปลอดสัญญาณอินเทอร์เน็ตผู้เข้าพักไม่ได้ติดต่อกับใคร ถึงคราวมีใครถาม ก็มีเหตุผลตอบเขาได้ว่า เผอิญไปพักที่โรงแรมนั้นแล้วไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตเลย ลูกค้าที่เข้าพักก็ชอบใจ
พอประสบความสำเร็จ โรงแรมอื่น ๆ จึงทำตามบ้างรวมถึงโรงแรมในตัวเมืองในย่านธุรกิจก็มีหลาย ๆ แห่ง บางแห่งไม่ถึงขนาดตัดขาด แต่จูงใจลูกค้าว่าถ้าใครนำโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตฝากไว้ที่เคาน์เตอร์โรงแรมจะได้รับบัตรกำนัล เมื่อซื้อสินค้าก็มีส่วนลดให้เพื่อเป็นการจูงใจ เกิดเป็นกระแสฮิตไปทั่วโลก
บางคนบอกว่ามันยากมากที่จะออกห่างจากโลกดิจิทัลความจริงไม่ได้ยากเกินไปเลยเพราะว่าสิ่งเหล่านี้เพิ่งเกิดกับมนุษย์มาแค่ไม่กี่ปีเท่านั้น ก่อนหน้านี้ชีวิตเราไม่มีสมาร์ตโฟน ไม่มีแท็บเล็ต เราก็อยู่ได้ไม่เดือดร้อนอะไร ความเคยชินเป็นของใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ถ้าจะแก้กันจริง ๆ ก็แก้ได้ ขอให้ตัดใจจากสิ่งเหล่านี้จริง ๆ เท่านั้นเอง
บางคนบอกว่าเป็นห่วงงาน ถ้าปิดการสื่อสารไปไม่ได้ติดต่อพูดคุยกับใคร เขาอาจจะมีเรื่องงานสำคัญ ๆ ติดต่อมาก็ได้ ถ้าเราคิดอย่างนี้แล้วในสมัยก่อนไม่ยิ่งแย่กว่าหรืออย่าว่าแต่สมาร์ตโฟนเลย
โทรศัพท์มือถือก็ยังไม่มี มีแต่โทรศัพท์บ้านจะติดต่อกับใครก็ต้องรอค่ำ ๆ ให้เขากลับมาบ้านก่อนแล้วค่อยโทรศัพท์คุยกัน เราก็ยังใช้ชีวิตอยู่ได้ หรือยุคก่อนหน้านั้นที่มนุษย์ยังไม่มีโทรศัพท์ใช้ จะติดต่อทางไกลก็ต้องใช้โทรเลข หรือเขียนจดหมาย 2 - 3 วัน กว่าจะถึงแล้วกว่าผู้รับจะตอบกลับมาอีกใช้เวลาเป็นอาทิตย์ เราก็ยังใช้ชีวิตอยู่กันได้
ชีวิตไม่จำเป็นต้องเร่งร้อนหรือเร่งรัดตนเองขนาดนั้น บางทีมันเป็นเพียงกระแสสังคม
พอเราตามกระแสไปแล้วก็ถูกพัดพาไปโดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าเรารู้จักตัดใจก็จะพบว่า จริงๆ แล้วเราสามารถทำได้ไม่ยากเกินไป หวนกลับมาให้ความสำคัญกับผู้คนรอบๆ ตัวเราเถอะ
เจริญพร
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ