ปฐมเทศนา (ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร)
ปฐมเทศนาที่ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นี้ มีชื่อปรากฏในพระไตรปิฎกว่า "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร''
การที่พระสัทธรรมเทศนาสูตรนี้ ได้รับการขนานนามดังกล่าว ก็เนื่องด้วยปฐมเทศนานี้
เปรียบประดุจธรรมราชรถ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนาจะใช้บรรทุกสรรพเวไนยสัตว์ทั้งหลาย
ออกจากห้วงวัฏสงสารไปสู่แดนเกษม คือ พระอมตนิพพาน โดยมีพระพุทธองค์ทรงเป็นสารถีเอง
จากหลักฐานอันมีปรากฏอยู่นั้นจะพบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เป็นปฐมแล้ว มิได้ตรัสแสดงพระสูตรนี้อีกเลย ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา
แห่งการตรัสเทศนาเผยแผ่พระศาสนานั้น ล้วนแต่ทรงแสดงธรรมกถา ขยายความแห่งปฐมเทศนาในแต่ละ
หมวดโดยเอกเทศ ยิ่งกว่านั้น เป็นที่ทราบกันทั่วไปในหมู่นักปราชญ์ทั้งหลายว่า การตรัสเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
เป็นปฐมนี้ คือเป็นพระประเพณีแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกนั้นเป็นเทศนาธรรม ซึ่งพระอานนท์เถระ
เป็นผู้แสดงถ่ายทอดอีกต่อหนึ่ง โดยท่านได้ปฏิญาณว่า ท่านได้สดับมาโดยตรง เฉพาะพระพักตร์องค์
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การที่พระอานนท์เถระกล่าวปฏิญาณแช่นนั้น เนื่องมาจากในวันที่ท่านได้รับ
คัดเลือกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำนั้น ก่อนที่ท่านจะน้อมรับหน้าที่ ท่านได้
กราบทูลขอพรจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๘ ประการด้วยกัน และสำหรับพรประการสุดท้าย ท่านได้
กราบทูลว่า ถ้าพระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องใด ณ ที่ใด โดยท่านไม่มีโอกาสได้ฟัง ก็ขอ
พระพุทธองค์ได้โปรดตรัสเทศนาเรื่องนั้นซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เป็นการเฉพาะสำหรับท่าน ดังนั้นการที่
พระอานนท์เถระปฏิญาณว่า ท่านได้สดับมาโดยตรงเฉพาะพระพักตร์ ย่อมหมายความว่า พระพุทธองค์
ตรัสเทศนาเล่าเรื่องแก่พระอานนท์เถระเป็นการเฉพาะ
เชิงอรรถ
พระสูตรและอรรถกถาแปล, พระวินัยปิฎก มหาวรรค, เล่ม ๖, หน้า ๔๔.