๒. ประเภทของศีล
กล่าวโดยสรุปมี ๓ ประเภท คือ
๒.๑) ศีล ๕ (เบญจศีล, นิจศีล, จุลศีล)
เป็นศีลพื้นฐานอันสำคัญยิ่ง เพราะการที่เราจะรักษาความเป็นปกติของมนุษย์เอาไว้ได้นั้น จะต้องรักษาศีล ๕ เป็นอย่างน้อย
๒.๒) ศีล ๘ (อุโบสถศีล, มัชฌิมศีล)
เป็นศีลที่รักษาในวันอุโบสถ (วันพระ) หรือในโอกาสพิเศษตามที่ต้องการ เพื่อเป็นการยกจิตใจให้ประณีตยิ่งขึ้น
๒.๓) ปาริสุทธิศีล (มหาศีล)
เป็นศีลสำหรับผู้ที่มุ่งสู่ความบริสุทธิ์และความสงบสุขของชีวิต เช่น พระภิกษุในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นการเกื้อกูลต่อการทำภูมิจิตให้สูงยิ่งขึ้นไป มี ๔ ประการ คือ
(๑) ปาฏิโมกขสังวรศีล คือ การสำรวมในพระปาฏิโมกข์ (ศีล ๒๒๗ ข้อ) ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ศีลข้อนี้สำเร็จได้ด้วยศรัทธา
(๒) อินทรียสังวรศีล คือ การสำรวมในอินทรีย์ ๖ อันประกอบด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กล่าวคือ ไม่ให้ยินดียินร้ายในการเห็นรูป ฟังเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส การสัมผัส หรือในการรับรู้อารมณ์ต่างๆ ด้วยใจ หมายความว่า สำรวมระวังไม่ให้บาปอกุศลครอบงำ ศีลข้อนี้สำเร็จได้ด้วยสติ
(๓) อาชีวปาริสุทธิศีล คือ การเลี้ยงชีพโดยทางที่ชอบธรรม บริสุทธิ์ ไม่หลอกลวงผู้อื่นศีลข้อนี้สำเร็จได้ด้วยวิริยะ
(๔) ปัจจยสันนิสิตศีลคือ การพิจารณาปัจจัยสี่ อันได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ก่อนที่จะบริโภค เพื่อใช้สอยปัจจัยสี่ด้วยการพิจารณาให้เกิดประโยชน์และมีคุณค่าอย่างแท้จริง ซีลข้อนี้สำเร็จได้ด้วยปัญญา
ปาริสุทธิศีลทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นคุณธรรมที่จะช่วยประคับประคองชีวิตของบรรพชิตให้มีความหมดจดผ่องใสและร่มเย็นเป็นสุขในทุกเวลา