ตายนคาถา
บทเตือนสติไม่ให้ประมาทจนหลงทำกรรมชั่ว
ฉินทะ โสตัง ปะรักกัมมะ, กาเม ปะนูทะ พ๎ราห๎มะณะ,
ท่านจงพยายามตัดตัณหาเพียงดังกระแสนํ้าเสีย, จงถ่ายถอนกามทั้งหลายเสียเถิดนะพราหมณ์ ;
นัปปะหายะ มุนิ กาเม, เนกัตตะมุปะปัชชะติ,
เพราะมุนีไม่ละกามทั้งหลายแล้ว,จะเข้าถึงความเป็นคนผู้เดียวไม่ได้ ;
กะยิรา เจ กะยิราเถนัง, ทัฬหะเมนัง ปะรักกะเม,
ถ้าจะทำ ก็พึงทำกิจนั้นเถิด แต่พึงบากบั่นทำกิจนั้น ให้จริง ;
สิถิโล หิ ปะริพพาโช, ภิยโย อากิระเต ระชัง,
เพราะสมณธรรมเครื่องละเว้นที่ย่อหย่อน, ยิ่งโปรยโทษดุจธุลีลง ;
อะกะตัง ทุกกะฏัง เสยโย, ปัจฉา ตัปปะติ ทุกกะฏัง,
ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า, เพราะความชั่วย่อมเผาผลาญในภายหลัง ;
กะตัญจะ สุกะตัง เสยโย, ยัง กัต๎วา นานุตัปปะติ,
ความดีทำนั่นแหละดีกว่า, เพราะทำแล้วย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง ;
กุโส ยะถา ทุคคะหิโต, หัตถะเมวานุกันตะติ,
หญ้าคาอันบุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือนั่นเอง ฉันใด ;
สามัญญัง ทุปปะรามัฏฐัง, นิระยายูปะกัฑฒะติ,
คุณเครื่องเป็นสมณะอันบรรพชิตลูบคลำแล้วชั่ว, ย่อมฉุดไปนรก ฉันนั้น ;
ยังกิญจิ สิถิลัง กัมมัง, สังกิลิฏฐัญจะ ยัง วะตัง, สังกัสสะรัง พ๎รัห๎มะจะริยัง, นะ ตัง โหติ มะหัปผะลันติ.
การงานอันใดอันหนึ่งที่ย่อหย่อนด้วย, วัตรอันใดที่เศร้าหมองแล้วด้วย, พรหมจรรย์อันใด ที่ตนระลึกด้วยความรังเกียจด้วย, กิจ ๓ อย่างนั้น ย่อมเป็นของไม่มีผลมาก ดังนี้.