กัลยาณมิตรคือใคร

วันที่ 26 เมย. พ.ศ.2564

กัลยาณมิตรคือใคร

 

640426_b.jpg


                กัลยาณมิตร หมายถึง มิตรดี คือ มิตรแท้ผู้มีความปรารถนา ดีแก่เราจริง ๆ มี ๔ ประเภทด้วยกันตามความรู้ความสามารถ และศีลธรรมประจำใจที่ท่านฝึกได้จนกลายเป็นคุณสมบัติประจำ ตัวท่าน คือ


                          ๑. มิตรมีอุปการะ ได้แก่ ผู้เต็มใจช่วยป้องกันเพื่อนและ สมบัติของเพื่อน และให้เพื่อนพึ่งพาอาศัยได้ตลอด


                          ๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ได้แก่ ผู้เป็นคนเปิดเผย แต่เก็บความลับของเพื่อนได้ ไม่ละทิ้งกันในยามยาก สามารถตายแทนกันได้
                          ๓. มิตรแนะประโยชน์ ได้แก่ ผู้กล้าขัดใจห้ามเพื่อนมิให้ทำผิด แนะนำแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงามให้


                         ๔. มิตรมีความรักใคร่ ได้แก่ เพื่อนตาย ยอมสุขทุกข์ด้วยกันพร้อมโต้ตอบคนที่ติเตียนใส่ร้ายป้ายสีเพื่อน
 

               มิตรที่มีลักษณะ ๔ ประการนี้ โดยลึก ๆ ในจิตใจของท่านแล้ว ท่านย่อมเป็นผู้รู้จริง ฝึกตนเองมาดีจริงในระดับใดระดับหนึ่ง สมแก่ อายุ การศึกษา หน้าที่ การงาน ตำแหน่งของท่าน ท่านจึงพึ่งตนเอง และเป็นที่พึ่งให้ผู้อื่นได้ เนื่องจากท่านผ่านการฝึกตนให้มีฆราวาส ธรรม ๔ มาอย่างช่ำชองแล้ว คือ

 

                          ๑. มีสัจจะ ท่านได้ฝึกฝนตนให้ทำอะไรก็ทำจริง ไม่ทำเล่น ๆ เพื่อให้สิ่งที่ทำนั้นดีจริง หรือเกิดความดีขึ้นมาจริง


                          ๒. มีทมะ ท่านได้ฝึกฝนตนให้ช่างสังเกต มุ่งมั่นฝึกตนให้ รอบรู้จริงในทุกสิ่งที่ควรรู้ หรือที่ต้องรับผิดชอบ จนเกิดเป็นปัญญา ประจำตน


                          ๓. มีขันติ ท่านได้ฝึกฝนตนให้ทรหดอดทนกับทุกสถานการณ์ ได้จริง ทำให้ท่านขยัน และตั้งหลักฐานได้มั่นคง


                          ๔. มีจาคะ ท่านได้ฝึกฝนตนให้เป็นนักเสียสละ ยินดีสละ ทั้งทรัพย์ สละทั้งความรู้ให้แก่ผู้สมควร และสามารถสละอารมณ์ ขุ่นมัวได้ดี ท่านจึงแจ่มใสเป็นนิจ กล้าเสียสละชีวิตปกป้องคนดีและ ความดี


                ท่านไม่เคยถือตัวยกตัวข่มใคร มีแต่ความอ่อนโยน โอบอ้อม อารีกับทุกคน และที่น่าเคารพมาก คือ ท่านยึดถือหลักการศึกษาว่า “ความรู้ หากเกิดกับคนนิสัยเสียเป็นพาล มีแต่จะนำ ความฉิบหายมาให้ เพราะเขาจะนำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิดเกิดโทษ” ถึงคราวถ่ายทอดให้ความรู้ผู้ใด ท่านจึงเข้มงวดกวดขัน ตั้งใจฝึกความประพฤติ ผู้นั้นให้ดีงามตามท่านก่อน เพื่อเป็นหลักประกันว่า เมื่อผู้นั้น ได้ความรู้จากท่านแล้ว จะนำความรู้นั้น ๆ ไปใช้ทำแต่ความดีเท่านั้น เพื่อให้โลกประสบแต่สันติสุขตลอดกาล

 

 

 

สัจจะต่อความดี อานุภาพพลิกโลก

พระเผด็จ ทตฺตชีโว

คณะวิพากษ์ คณะจัดทำต้นฉบับและหนังสือ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.035488351186117 Mins